OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การวัดและประเมินพัฒนาการอนุบาล

98961
การวัดและประเมินพัฒนาการอนุบาล

การวัดและประเมินผล


  • การเรียนรู้ เป็นประสบการณ์ตรงที่กระตุ้นการทำงานของสมองเด็กโดยตรง
  • การประเมิน เป็นการพยายามวัดผลการพัฒนา/การเรียนรู้ในเวลาที่กำหนด

การประเมินผล


เป็นกระบวนการที่ผู้สอนต้องการวัดผลดูว่า เด็กมีพัฒนาการเพียงใด หลังจากครูจัดกิจกรรมและประสบการณ์ต่าง ๆ ให้ การประเมินผลที่ดีต้องติดตามดูกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการตัดสินว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ ต้องเน้นกระบวนการและการพัฒนาก้าวหน้าของตัวเด็ก มากกว่าจะตัดสินออกมาว่าเด็กมีคะแนนเท่าไร จากการสอบหรือการประเมินในครั้งนั้น


คุณคือนักประเมินผล


  • คุณรู้ดีว่าการประเมินพัฒนาการเด็กจะทำได้โดยการจดบันทึกพฤติกรรมต่อเนื่องกันหลายครั้ง แล้วดูว่าแนวโน้มเด็กเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
  • คุณรู้ว่าการกำหนดวันสอบจะวัดผลเด็กเพียงครั้งเดียว วันเดียว ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการประเมิน
  • คุณได้จดบันทึกไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้นเทอมว่าเด็กๆ มีพัฒนาการแต่ละด้านมากน้อยแค่ไหน ทำสิ่งนั้นๆ ได้เมื่ออายุเท่าไร
  • คุณนำพัฒนาการของเด็ก ณ วันประเมินมาเปรียบเทียบกับพัฒนาการของเด็กที่บันทึกไว้ครั้งแรก คุณสามารถเขียนรายงานเปรียบเทียบพัฒนาการนั้นให้ผู้ปกครองเข้าใจพัฒนาการ และจุดอ่อนจุดแข็งของเด็ก
  • คุณตรวจสอบดูจุดอ่อนต่างๆของเด็ก วางจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาเขาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้แบบประเมินเป็นข้อมูลสำคัญ
  • คุณได้ใช้ข้อมูลทฤษฎีพัฒนาการเด็กมาเป็นตัวตั้ง แล้วพัฒนาเปรียบเทียบกับพัฒนาการของเด็ก ดูว่าเด็กอยู่ในมาตรฐาน ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือว่า ก้าวหน้ากว่ามาตรฐาน
  • คุณออกแบบประเมินพัฒนาการอย่างละเอียดทุกด้าน และค่อยๆ ทำการประเมินตามสภาพการณ์จริง โดยไม่เน้นการเรียนเด็กมาสอบอย่างเป็นทางการ แบบประเมินของคุณอ้างอิงอยู่กับหลักสูตรและกิจกรรมที่ทำงานตลอดปี
  • คุณเน้นการประเมินผ่านกระบวนการปฏิบัติการของร่างกาย การลงมือทำของเด็ก ไม่เน้นการประเมินโดยใช้เอกสารและข้อสอบ
  • คุณรู้ดีว่าเด็กทำไม่ได้ ตอบไม่ได้ ไม่ตอบ เพราะอะไร ทำไมเขาทำไม่ได้ คุณตัดสินใจว่า เด็กต้องการเรียนรู้อะไร เพื่อจะพัฒนาก้าวหน้าขึ้น
  • คุณได้ให้โอกาสเด็กอธิบายว่า ทำไมเขาทำสิ่งนี้ เขาคิดอะไรอยู่ เขาต้องการบอกอะไร ถัดไปจากนี้ เขาจะก้าวไปสู่อะไร คุณร่วมพูดคุยกับเด็กอย่างดี เป็นผู้รับฟังที่ดี ไม่เป็นฝ่ายพูดทุกอย่างเสียเองและทำตัวเป็นผู้ตัดสินตลอดเวลา
  • คุณได้ยกตัวอย่างให้เด็กเห็นว่า พัฒนาการด้านต่างๆ นั้น เราก้าวไปถึงได้ มีวิธีการที่จะก้าวไปถึงแน่นอน คุณให้กำลังใจเด็กเสมอ
  • คุณวิเคราะห์เด็กได้จากพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมา และคุณได้ใช้ข้อมูลจากพฤติกรรมนั้นมาวางแผนการเรียนขั้นต่อไปของเด็ก
  • คุณช่วยเหลือเด็กให้เข้าใจว่า คุณต้องการรู้อะไร คุณถามเรื่องนั้นทำไม
  • คุณสนใจที่จะประเมินเด็กในกลุ่มเล็กๆ จัดเวลาสนทนากับเด็กเป็นกลุ่มและรายบุคคล เด็กแต่ละคนมีโอกาสพูดอธิบาย แสดงสิ่งที่เขารู้ให้คุณทราบในกลุ่มที่เล็กลง แทนที่จะมีแต่การประเมินทั้งห้องพร้อมกัน
  • คุณไม่เคยทำให้เด็กรู้สึกแย่ คุณทำให้เด็กรู้สึกไม่หมดหวัง สิ้นกำลังใจ ตรงข้ามเด็กมีความหวังว่าเขามรทางที่จะพัฒนาตัวเองได้ เกิดความเชื่อมั่นว่าเขาจะก้าวต่อไป
  • คุณทำการประเมินการเรียนรู้ของเด็ก โดยพิจารณาดูความก้าวหน้าของตัวเขาเทียบกับกับจุดหมายที่แผนการสอนกำหนด ไม่ใช่เอาเด็กเก่งที่สุดเป็นตัวตั้ง

คำถามที่ใช้ในการประเมินเพื่อพัฒนา
ใช้คำถามต่อไปนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบและกระตุ้นการคิดของเด็ก


  • สิ่งเหล่านี้เหมือนกันอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต่างกันอย่างไร
  • เราจะแบ่งกลุ่ม หรือจัดกลุ่มสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร มีกี่วิธีที่จะจัดได้ ลองจัดดูซิ
  • ทำไมหนูจึงแบ่งหรือจัดกลุ่มด้วยวิธีนี้ ลองอธิบายซิ ลองทำวิธีอื่นดูซิ
  • หนูรู้ได้อย่างไรว่าถูก/ผิด ลองอธิบายซิ
  • หนูสังเกตเห็นไหมว่า สิ่งนี้มีอะไรผิดปกติบ้าง
  • หนูคิดอย่างไร ทำไมถึงคิดอย่างนี้
  • ที่เห็นอยู่นี้/ที่ทำอยู่นี้ หนูคิดว่าอันไหนดีที่สุด/แย่ที่สุด ลองอธิบายซิ
  • สิ่งนี้เกิดมาจากไหน ใครทำมันขึ้นมา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเรา ....
  • เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ทำอย่างไรจะเสร็จลงได้
  • หนูกำลังทำอะไรอยู่ หนูต้องการผลแบบไหน คิดว่าผลจะเป็นอย่างไร ถ้าเราเปลี่ยนจาก .... เป็น .... อะไรจะเกิดขึ้น
  • หนูเห็นด้วยไหมว่า .....ทำไม
  • ลองเล่าให้ฟังดูซิว่า .....

การประเมินพัฒนาการเด็ก


การประเมินพัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว


ตรวจสอบว่า ...


  • เด็กทำอะไรได้แล้วบ้าง
  • เด็กทำสิ่งนี้ได้หรือยัง (เช่น วิ่งสลับขา วิ่งพร้อมอุปกรณ์)
  • เด็กทำได้ดีระดับไหน
  • เด็กทำได้นานเท่าไหร่
  • ทำไมเด็กยังทำสิ่งนี้ไม่ได้ (เช่น เล่นภาพต่อ 50 ภาพ)
  • พัฒนาการของเด็กแตกต่างไปย่างไรเปรียบเทียบกับการประเมินครั้งก่อน
  • ขั้นตอนใดที่เด็กข้ามไปและไม่ได้ทำ
  • เด็กมีสมาธิดีแค่ไหนในการทำสิ่งนั้น
  • พัฒนาการขั้นต่อไปที่เด็กควรได้ลงมือทำคืออะไร


การประเมินพัฒนาการด้านภาษา


ตรวจสอบว่า ...


  • เด็กฟังเป็นหรือยัง ฟังเรื่องนี้ .... เข้าใจหรือไม่
  • เด็กฟังเรื่องที่อ่านให้ฟังได้นานแค่ไหน (กี่นาที) มีสมาธิในการฟังหรือไม่
  • เด็กชอบฟังหรือไม่ ชอบฟังการอ่านหนังสือประเภทใด
  • เด็กพูดสื่อสารสิ่งที่คิดออกมาได้ไหม สื่อสารได้ดีเพียงใด
  • เด็กอ่านหรือจดจำเรื่องราวในหนังสือจนอ่านได้ ทั้งๆที่สะกดยังไม่ได้ แล้วหรือยัง ถ้าทำได้ ได้แค่ไหน
  • เด็กชอบเข้ามุมอ่านหนังสือหรือเปล่า เมื่อเข้ามุมอ่าน หนูอ่านหนังสืออะไรบ้าง อ่านประเภทไหน
  • เด็กชอบเขียนหรือไม่
  • ในทุกข้อข้างต้น พัฒนาการของเด็กเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด เปรียบเทียบกับการประเมินครั้งก่อน


การประเมินพัฒนาการด้านศิลปะและการสร้างสรรค์


ตรวจสอบว่า ...


  • เด็กทำกิจกรรม วาด ปั้น ตัด เย็บ ได้หรือยัง ได้แค่ไหน
  • เด็กใช้เครื่องมือทำงานศิลปะเป็นหรือยัง
  • เด็กทำงานศิลปะด้วยความตั้งใจและอดทนแค่ไหน
  • เด็กรู้จักชื่นชมงานศิลปะหรือไม่ รู้แค่ไหน
  • เด็กสื่อสารความหมายออกมาในงานศิลปะได้แค่ไหน เพียงใด
  • เด็กกล้าริเริ่มทำงานศิลปะตามความคิดของตัวเองไหม ทำแบบไหน


การประเมินพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ


ตรวจสอบว่า...


  • เด็กรู้จักจัดการเวลาของตัวเองหรือยัง
  • เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ได้เพียงใดขณะเจอเหตุการณ์ เรื่องราวที่ผันแปรไป พอใจ/ไม่พอใจ เสียใจ/โมโห
  • เด็กรู้จักการรอหรือยัง
  • เด็กรู้จักขอบคุณ ขอโทษหรือยัง ใช้คำในสถานการณ์ที่ควรใช้หรือยัง
  • เด็กรู้จักแบ่งปันและเก็บรักษาสิ่งของหรือไม่ รู้แค่ไหน
  • เด็กรู้จักการอยู่กับคนอื่น และอยู่ได้อย่างดีหรือไม่
  • เด็กทำงานร่วมกับคนอื่นจนสำเร็จลุล่วงได้หรือไม่ มีปัญหาอะไรบ้าง
  • เด็กรู้จักหัวเราะขบขัน เศร้าใจในเรื่องน่าเศร้าหรือไม่

การประเมินพัฒนาการด้านการคิด


ตรวจสอบว่า...


  • เด็กสื่อสารสิ่งที่คิดออกมาได้หรือไม่ สื่อสารได้ดีแค่ไหน
  • เด็กอธิบายเหตุผลของสิ่งที่ทำได้หรือไม่
  • เด็กอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่พบได้หรือไม่
  • เด็กตัดสินใจได้ไหมว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนั้นชอบ สิ่งนี้ไม่ชอบ
  • เด็กให้เหตุผลได้ไหมว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดี เพราะอะไร
  • เด็กเล่นของเล่นต่างๆ แบบซับซ้อนขึ้นหรือไม่ พัฒนาจากง่ายไปยากหรือไม่
  • เมื่อกำหนดเกมต่างๆ ให้เล่น เด็กสามารถเล่นได้และแก้ปัญหาได้หรือไม่
  • เด็กจำแนก จัดกลุ่ม วัตถุสิ่งของต่างๆ ได้หรือไม่


เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning