เครื่องจักสานล้านนาเสริมมงคล
ภาคเหนือ หรือล้านนาไทยเป็นดินแดนที่มีศิลปวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเป็นของตนเองเป็นเหตุให้เครื่องจักสานในภาคเหนือมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่น
การทำเครื่องจักสานพื้นบ้านภาคเหนือ หรือล้านนาไทยเป็นอาชีพที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ เครื่องจักสานที่ทำขึ้นไม่ได้มีเฉพาะแต่เครื่องใช้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีของเล่น ของประดับตกแต่ง เช่น โมบายที่สานจากไม้ไผ่ หรือใบลาน เป็นต้น และนอกเหนือไปจากนั้น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ทำให้เครื่องจักสานบางชนิดสามารถเสริมสิริมงคลให้กับผู้ครอบครองอีกด้วย เช่น เครื่องจักสานรูปสัตว์มงคล เช่น ม้า ปลา นก เป็นต้น โดยจะทำเป้นเครื่องแขวนหรือติดไว้ในบ้านเรือน ร้านค้า ห้องทำงาน เพื่อเสริมมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว
คติความเชื่อบางส่วนของชาวล้านนาสะท้อนออกมาในรูปแบบของพิธีกรรมและเครื่องรางของขลังต่างๆ เช่นพิธีสืบชะตา พระเครื่อง ตะกรุด หรือแม้กระทั่งเครื่องจักสานเสริมสิริมงคล ตัวอย่างเช่น พิธีกรรมของคนล้านนาในการสร้างบ้านหลังใหม่ จะต้องมีการขึ้นท้าวทั้งสี่ มีการขึ้นเสาเอก จากนั้นเมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้วก็จะมีการทำบุญซึ่งในวันก่อนวันทำบุญ จะมีวันที่ชาวบ้านช่วยกันเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เรียกว่า “วันดา” ซึ่งในวันดานี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้มีวิชาอาคม จะพากันมาช่วยสานตะแหลว เรียกว่า ตะแหลว 9 ชั้น สานจากไม้ไผ่ และสานสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น ม้า นก ปลา เต่า กุ้งหรือกั้ง เป็นต้น โดยใช้ไม้ไผ่จักเป็นเส้นบางๆ เรียกว่า ตอก และใช้ใบลาน ใบตาล หรือใบมะพร้าว มาสานเป็นสัตว์ดังกล่าวเพื่อเตรียมนำมาประดับประดา ตกแต่งบ้านใหม่ ให้เป็นสิริมงคลกับผู้อยู่อาศัย ความเชื่อเหล่านี้ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสมัยปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน
ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 3311.27 KB)