OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ธนา อุทัยภัตรากูร ชายผู้เปลี่ยนดินและไม้ไผ่ให้เป็นบ้าน

9609

เมื่อเทรนด์ของการอยู่อาศัยให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน เหล่านักออกแบบและผู้ผลิตต่างพยายามเฟ้นหาวัสดุใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเวลาที่ “ไม้ไผ่” วัสดุท้องถิ่นที่เคยถูกมองข้ามจะกลับขึ้นมาเป็นหนึ่งใน 'วัสดุทางเลือก' ที่ทั่วโลกต้องจับตามองอีกครั้ง


ธนา อุทัยภัตรากูร หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “โจ้ บ้านดิน” อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ ผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบโดยใช้วัสดุธรรมชาติ


ก่อนจะหันมาจับโครงการไม้ไผ่ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ร่วมสมัย 'หอศิลป์ไม้ไผ่ อาศรมศิลป์' และสร้างเครือข่ายความรู้เพื่อส่งเสริมการใช้ไม้ไผ่ในงานสถาปัตยกรรม ด้วยเล็งเห็นว่าไม้ไผ่เป็นหนึ่งในวัสดุแห่งความยั่งยืนที่สามารถตอบโจทย์เทรนด์การออกแบบที่อยู่อาศัยซึ่งเน้นความเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้น


จุดกำเนิดของ โจ้ บ้านดิน


จริงๆ แล้วผมเป็นคนกรุงเทพ เกิด เติบโต และเรียนหนังสือในกรุงเทพมาตลอด (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) เมื่อเรียนจบผมก็เข้าสู่ระบบ ทำงาน หาเงิน เหมือนคนทั่วไป จนกระทั่งปี 2545 ช่วงนั้นมีกระแสในหมู่สถาปนิกว่าตกลงสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยเป็นอย่างไรกันแน่ ผมจึงไปเข้าร่วม work shop บ้านดิน ตอนนั้นไปเพราะอยากรู้อยากเห็นเฉยๆ ไม่ได้จริงจังอะไร จนเจอกับพี่โจน จันได (ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างบ้านดินของประเทศไทย และคนจนผู้ยิ่งใหญ่แห่งรายการเจาะใจ) ได้ไปทำงานในโครงการบ้านดิน ไปอบรมเรื่องบ้านดินให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ตอนนั้นเองที่ผมได้ค้นพบว่าตัวเองต้องการอะไร


ความต้องการของ โจ้ บ้านดิน


ความต้องการของผมคืออยากพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด จริงๆ แล้วความต้องการของคนเรามีแค่เรื่องปัจจัย 4 คนเรามีที่ดินไว้ปลูกบ้าน ปลูกข้าวและพืชผักสมุนไพร และเลี้ยงสัตว์ แค่นี้เราก็มีเกือบทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิต จึงไม่ต้องเหนื่อยและเสียสุขภาพไปกับการหาเงินมากๆ อีกต่อไป


จากดินสู่ไม้ไผ่


หลังเสร็จจากโครงการบ้านดิน ผมเข้ามาเรียนต่อที่สถาบันอาศรมศิลป์ แต่สถานะผมคือเป็นทั้งอาจารย์และนักศึกษาไปพร้อมกัน เพราะทางสถาบันเห็นว่าผมเคยสร้างบ้านจากวัสดุธรรมชาติมาก่อนตอนทำบ้านดิน จึงให้ผมรับผิดชอบวิชาเทคโนโลยีที่เหมาะสม นำนักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองเรื่องไม้ไผ่ เน้นการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง เราจึงตั้งโครงการจริงขึ้นมาคือ การสร้างหอศิลป์ไม้ไผ่ เพื่อให้เป็นฐานในการเรียนรู้ โดยมีผมเป็นคนดูแลและดำเนินการจนแล้วเสร็จ


เสน่ห์ของบ้านไม้ไผ่


ประเทศไทยเรามีไผ่ท้องถิ่นกว่า 30 ชนิด ปูย่าตายายของเราก็มีองค์ความรู้ด้านการนำไม้ไผ่มาปลูกเรือนที่พักอาศัยมานานแล้ว อย่างเช่น 'เรือนเครื่องผูก' ซึ่งเป็นเรือนที่มีโครงสร้างทำด้วยไม้ไผ่ ใช้หวายและตอกผูกมัดส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน หลังคามุงด้วยใบจาก แฝก ใบตองตึง หรือหญ้าคา ตามแต่วัสดุในแต่ละพื้นที่ ส่วนพื้นเรือนก็ทำจากฟาก (ไม้ไผ่ผ่าครึ่งแล้วทุบให้แบน) ซึ่งแม้จะดูเรียบง่าย แต่ก็ผ่านกระบวนการคิดค้นให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตแบบไทยๆ เป็นอย่างดี


โดยส่วนตัวผมคิดว่าเสน่ห์ของบ้านไม่ไผ่อยู่ตรงความกลมกลืนและสอดคล้องกับธรรมชาติ รวมถึงความเป็น exotic และ romantic คือเป็นความงามที่แปลกตาและติดตรึงใจกว่าสิ่งก่อสร้างยุคใหม่ จะเห็นได้จากโรงแรมหรือสปาหลายแห่งจะชอบนำไม้ไผ่ไปตกแต่ง ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าทุกคนควรเปลี่ยนมาสร้างบ้านไม้ไผ่ใต้ถุนสูง เพราะมันคงเป็นไปไม่ได้ อยู่ที่แต่ละคนที่จะนำวัสดุท้องถิ่นและภูมิปัญญาดั้งเดิมกลับมาใช้ให้สมวิถีชีวิตและรสนิยมอย่างไรมากกว่า






สร้างอาคารไม้ไผ่ใช่จะไร้ปัญหา


ปัญหาของไม้ไผ่ในบ้านเราก็คือ ไม่มีตำรับตำราหรือเอกสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีไม้ไผ่เลย องค์ความรู้เกี่ยวกับไม้ไผ่ของไทยส่วนใหญ่เป็นแบบพื้นบ้านซึ่งไม่ได้รับการพัฒนา ทั้งๆ ที่ไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีคุณสมบัติหลากหลายมาก ต้นไผ่พันธุ์เดียวกันแต่คนละต้นกัน คุณสมบัติก็แตกต่างกัน แม้แต่ในต้นเดียวกันแต่ช่วงโคน กลาง ปลาย ก็ต่างกัน ไม้ไผ่จากต่างแหล่งปลูก ก็ต่างกันอีก มันซับซ้อนมาก ต้องเริ่มศึกษาเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด


อย่างการสร้างหอศิลป์ไม้ไผ่ เราตั้งใจสร้างออกมาเป็นอาคารขนาดใหญ่มากๆ เพื่อศึกษาว่าโครงสร้างไม้ไผ่ล้วนๆ จะสามารถรองรับอาคารขนาดใหญ่ได้หรือไม่ โดยเราได้เชิญเครือข่ายที่เคยร่วมงานกันในหลายพื้นที่ รวมถึงช่างอาวุโสชาวปกาเกอะญอ มาช่วยสอนทักษะต่างๆ ให้ช่างรุ่นใหม่ รวมถึงช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานไม้ไผ่ เช่น การเพิ่มความแข็งแรงให้รอยต่อด้วยการตอกลิ่ม หรือการขุดบ่อความยาว 4 เมตรสำหรับใช้แช่ไม้ไผ่ในน้ำยาป้องกันแมลงสูตรชีวภาพ เพื่อเพิ่มความคงทนให้แก่เนื้อไม้ เป็นต้น ถือว่าเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และลองผิดลองถูกผ่านการทำงานจริง โดยใช้เวลาออกแบบและวางแผนประมาณ 5 ปี ก่อสร้างจริงประมาณ 45 วัน


“ไม้ไผ่” วัสดุทางเลือกแห่งอนาคต


ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง อย่างวัสดุอื่นๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เอาเข้าจริงก็คือวัสดุอุตสาหกรรม หมายความว่าต้องมีแหล่งวัตถุดิบ มีโรงงาน ผ่านการขนส่ง ใช้พลังงานในการผลิตและการขนส่ง แต่อย่างดินหรือไม้ไผ่ เราตัด ขุด แล้วใช้ได้เลย ใช้แค่แรงงานแต่ใช้พลังงานน้อยมาก ไม่ต้องมีโรงงาน ไม่ผ่านการขนส่ง แถมยังเป็นมิตรต่อสุขภาพ อย่างที่พี่โจนเคยพูดไว้ “คนที่ใช้แรงย่อมได้แรง คนที่ใช้เงินย่อมเสียเงิน”





ทำอย่างไรไม้ไผ่ให้เป็นตัวเลือกแรกๆ


ผมคิดว่าที่สถาปนิกและวิศวกรยังไม่เลือกใช้ไม้ไผ่เพราะยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่ามันใช้งานได้ดี มีความคงทนจริงหรือไม่ จะป้องกันแมลงได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งเป้าว่าจะสร้างองค์ความรู้ รวบรวมข้อมูลที่จะทำให้สถาปนิกและวิศวกรสามารถเลือกใช้ไม้ไผ่อย่างมั่นใจ นำไปสู่การสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงขึ้นมามากๆ


การสร้างคนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะให้ทุกคนหันมาสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่หรือดิน ในเมื่อแทบจะทุกพื้นที่มันกลายเป็นอาคารสมัยใหม่ไปหมดแล้ว ผมคิดว่าการสร้างคนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มการจากการปลูกฝังศรัทธาในตัวคนก่อน เมื่อมีศรัทธาจึงจะเกิดการลงมือทำที่ไม่ใช่เพียงแค่ทำตามกระแส ทำแป๊บๆ แล้วเลิก แต่เกิดการปรับพฤติกรรมและทำอย่างจริงจัง เดี๋ยวนี้มันมีองค์ความรู้มากมายเกี่ยวกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ว่าเราจะเลือกทำอะไรที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ บางคนมีพื้นที่ปลูกข้าวปลูกผักกินเองได้ บางคนอยู่คอนโดก็อาจใช้วิธีแยกขยะ บางคนสนใจเปลี่ยนมาใช้เฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติ หน้าที่ของผมคงทำได้แค่การจุดประกายอะไรบางอย่าง ที่เหลือก็เป็นเรื่องของแต่ละคนว่าสนใจจะทำไหมและจะทำอะไรต่อไป




พ่อสอนลูก


ผมเองก็อยากให้ลูกสนใจในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ตอนนี้ก็ใช้วิธีปลูกฝังอย่างเป็นธรรมชาติด้วยการทำให้เขาเห็นและพาเขาไปสัมผัสเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะได้ผล เพราะเคยเห็นลูกของพี่ๆ บางคนที่รู้สึกต่อต้านไปเลยก็มี


ผมว่าการเลี้ยงลูกก็คือการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และเติบโตไปพร้อมๆ กัน ก็เช่นเดียวกับการปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อม หน้าที่ของผมคงทำได้แค่การจุดประกาย ที่เหลือก็ให้เป็นเรื่องของเขาว่าจะสนใจไหม





ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 6039.51 KB)

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)