OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การจัดการเรียนรู้ตามหลัก Brain-Based Learning ด้านภาษา

14969
การจัดการเรียนรู้ตามหลัก Brain-Based Learning ด้านภาษา

พัฒนาการด้านภาษา


  • พัฒนาการด้านภาษา เป็นพัฒนาการที่จำเป็นที่สุดสำหรับเด็ก เพราะภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสาร เพื่อจะมีชีวิตอยู่ในสังคม
  • การพัฒนาภาษา ไม่ใช่เพียงการฝึกให้เด็กฟัง พูด อ่าน และเขียน แต่การพัฒนาภาษายังเป็นการพัฒนากระบวนการคิด
  • เมื่อคนเราสื่อสาร สมองต้องพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่คิดออกมาเป็นการพูด และการเขียน
  • เมื่อฟัง สมองต้องพยายามคิดเทียบเคียงสิ่งที่ฟัง กับประสบการณ์ที่รับรู้มา
  • และเมื่อพูด สมองต้องจับคู่ภาษาเข้ากับความหมายที่จะถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจ
  • กระบวนการพัฒนาภาษา จึงเป็นการพัฒนากระบวนการคิด และการสื่อสารไปพร้อมๆกัน
  • กระบวนการพัฒนาภาษา เน้นหนักการพูดคุย การสนทนา การเล่าเรื่อง การเล่านิทาน การอ่านให้ฟัง การร้องเพลง การแสดงละคร การเขียน การอ่านเบื้องต้น โดยบูรณาการเข้ากับกิจกรรมการเล่น และการบันเทิงที่สนุกสนานน่าสนใจ
  • จุดมุ่งหมายของการพัฒนาด้านภาษาของเด็ก คือ ต้องการให้เด็กคิดเป็น และสื่อสารเป็น ใช้การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ


พัฒนาการของสมองในการเรียนรู้ภาษา


  • สมองของเด็กเล็กสามารถเรียนภาษาได้ทั่วโลก ในวัยอนุบาล สมองเด็กโตเป็น 9 ใน 10 ของขนาดสมองผู้ใหญ่ การที่สมองของเด็กโตรวดเร็วยิ่งกว่าส่วนใดๆ ของร่างกาย ก็เนื่องมาจากการขยายตัวด้านจำนวนและขนาดของปลายประสาทเดนไดร์ท อีกส่วหนึ่งเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นจากกระบวนการ myelination ที่จุดซีนแนปส์ (synapse) ทำให้เกิดวงจรข้อมูล (networks) ขึ้นจำนวนมาก จุดเชื่อมต่อ (synapse) จำนวนมากมายในสมองของเด็กวัยนี้ มีพอที่จะทำให้เขาสามารถเรียนภาษาต่างๆ ได้ทั่วโลก
  • เริ่มอ่านช้าไม่ได้แปลว่าพัฒนาช้า น่าประหลาดที่ว่า ไม่มีตารางที่กำหนดเวลาได้แน่นอนว่าเมื่อไรเด็กจะอ่านได้ เด็กอาจแตกต่างกันถึง 3 ปี บางคนพร้อมเมื่อ 4 ปี บางคนพร้อมเมื่อ 7 ปี (โดยเฉลี่ย) บางคน 10 ปี เด็กที่เริ่มอ่านเมื่อ 7 ปี ไม่ใช่พวกที่พัฒนาช้า
  • ภาษาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเด็กเล็ก เด็กจะพัฒนามนุษยสัมพันธ์ และขยายความคิดเรื่องการคบค้าสมาคมได้ ก็ต่อเมื่อเขาพัฒนาภาษาขึ้นมาจนใช้การได้
  • ภาษาของเด็กเริ่มจาก 2 คำ ก่อนที่เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาซับซ้อน ภาษาที่เขาใช้มักมี 2 คำ เช่น กินข้าว แม่มา แมวเดิน เป็นต้น การพูดประโยคที่ยาวกว่า 2 คำของเด็ก เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า การเข้าใจความหมายของภาษา กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
  • เด็กเริ่มเรียนภาษาเมื่อใด? มีการประมาณการไว้ว่า เด็กเริ่มเรียนภาษาจริงจัง เมื่ออายุได้ขวบหนึ่ง วันหนึ่งๆ เขาจะเรียนรู้คำใหม่ได้ถึง 5 -8 คำ และระหว่างอายุ 1-6 ปี เขาสามารถรักษาความเร็วในการเรียนคำขนาดนี้ไว้ได้
  • เด็กเรียนคำใหม่ได้วันละ 22 คำ ยังมีข้อมูลที่ระบุไว้ว่า หลังจาก 5 ขวบเป็นต้นไป เด็กสามารถเรียนคำใหม่ได้ถึงวันละ 22 คำทุกวัน ภาษาพูดของเด็ก 6 ขวบ นั้นประกอบด้วยคำราว 8,000 – 14,000 คำ


เริ่มสอนภาษาอย่างไร ?


ตั้งต้นที่การอ่านให้ฟัง


  • ความสำเร็จในการทำให้เด็กสนใจอ่าน อยากอ่าน จนถึงรักการอ่าน ตั้งต้นที่การอ่านให้ฟัง
  • การอ่านให้ฟังทำให้สมองพุ่งความสนใจไปที่การรับเสียง สมองจินตนาการเรื่องราวตามไปได้อย่างเต็มที่
  • เลือกหนังสือที่ดีที่สุดมาอ่านให้ฟัง เด็กไม่ต้องกังวลว่าจะต้องอ่านตาม จะต้องตอบคำถามของครู จะต้องจำเรื่องให้ได้ เด็กรู้สึกสนุกที่จะฟัง เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้คุณครูหรือผู้ปกครองอ่าน
  • เมื่ออ่านให้ฟังติดต่อกันยาวนานพอ เด็กเริ่มจดจำเรื่องได้เอง ในที่สุดเด็กจะหยิบหนังสือมาและเปิดอ่าน บางคนจำเนื้อหาได้ทั้งเล่ม การสะกดได้จะตามมาทีหลัง การสอนอ่านและสอนสะกด ทำได้ง่ายมากเมื่อเด็กรักที่จะอ่านแล้ว

สอนภาษาจากนิทาน


  • นิทานเรื่องหนึ่งเสนอคำใหม่นับร้อยคำ
  • การเล่านิทาน การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนิทานและเรื่องราวในหนังสือเด็ก มีเนื้อหาสนุกสนาน น่าทึ่ง น่าตื่นใจ เร้าความสนใจ จูงใจให้เด็กพัฒนาความสามารถในการฟังอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวที่ซับซ้อนในนิทาน นำเสนอคำและภาษาให้เด็กมหาศาล นิทานเรื่องหนึ่งๆ บางทีนำเสนอคำใหม่นับร้อยคำและเด็กก็เข้าใจ เพราะมีบริบทของเรื่องราวในนิทาน ช่วยสื่อความหมาย พร้อมกับภาพ
  • การฟัง คือที่มาสำคัญของการพัฒนาภาษา คำ ความหมาย และภาษาที่งดงาม สร้างขึ้นมาได้จากนิทานและเรื่องเล่าเหล่านี้ ลำพังการพูดคุยในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงที่จะพัฒนาภาษาของเด็ก
  • สมองเด็กรับข้อมูลเสียงพร้อมกับมองเห็นภาพ เมื่ออ่านหนังสือให้เด็กฟัง สมองของเด็กรับข้อมูลเสียง พร้อมกับมองเห็นภาพ เรื่องราวที่น่าสนใจทำให้สมองมุ่งไปที่เนื้อหาด้วยความอยากรู้ ติดตามด้วยอารมณ์เต็มที่
  • หนังสือต้องมีภาพประกอบ ภาพประกอบมีความสำคัญที่สุด ที่จะสื่อความหมายให้สมองรับรู้เรื่องราวที่ครูกำลังอ่าน แม้มีคำยากปนอยู่บ้าง สมองจะพยายามเชื่อมโยงความหมายของคำนั้น กับเรื่องราวที่กำลังดำเนินอยู่ วิธีเรียนรู้แบบนี้ เป็นวิธีเรียนภาษาที่ได้ผลสัมฤทธิ์สูง ไม่ว่าภาษาไทยหรือ ภาษาอังกฤษ


การจัดประสบการณ์ภาษา


  • ให้เด็กฟังบทเพลง บทร้องเล่น บทกล่อมเด็ก มีความหมายกับเด็กเป็นพิเศษ เพราะเป็นภาษาที่มาพร้อมกับจังหวะและทำนอง สมองเด็กมีความพร้อมสูง ที่จะรับการกระตุ้นด้านจังหวะ
  • จังหวะและทำนองมีความสำคัญ เพราะเป็นเสียงที่ผ่านการเรียบเรียงอย่างดี มีความกลมกลืน มีความไพเราะ เสียงที่ไพเราะกลมกลืนเหล่านี้ ไม่เพียงแต่เข้าไปกระตุ้นการพัฒนาทางภาษา แต่ยังมีบทบาทในการจัดระเบียบการเชื่อมโยงของเซลล์สมอง
  • การอ่าน และการเขียน มีความหมายมาก เพราะเด็กคิดว่าเป็นโลกใหม่อันน่าทึ่ง ดังนั้น จึงไม่ควรเริ่มต้นสอนภาษาแบบหลักภาษา ไม่ควรเริ่มต้นจากเรื่องความถูกต้อง หรือการสะกดคำ เด็กควรได้รับการกระตุ้นให้ลองอ่านและลองเขียนดูเมื่อเขาพร้อมแล้ว
  • ผู้ใหญ่ต้องทุ่มเทเวลาอ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่อ่านนั้นต้องกว้างขวาง ครอบคลุมตั้งแต่กวี นิทาน สารคดีง่ายๆ ครูและผู้ปกครองเป็นแบบอย่างด้านภาษา
  • จัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกพูด พัฒนาทักษะการใช้คำพูด ทั้งแบบง่ายและซับซ้อนขึ้นมา เพื่อแสดงความรู้สึก ความคิด ความเห็น พูดคุย เล่าเรื่อง จัดเวลา ให้กิจกรรมนี้สม่ำเสมอทุกวัน
  • ให้เด็กเรียนรู้ภาษา บทเพลง เรื่องเล่าของหมู่บ้านและชุมชน จากการฟังและการอ่าน เพราะวัฒนธรรมและความคิดซึมซ่านอยู่ในภาษาถิ่นก่อนเป็นอันดับแรก
  • ให้เด็กฝึกใช้ภาษาในการสื่อสาร ให้เด็กเรียนรู้ว่า ภาษาสะท้อนและช่วยการสื่อสารเกี่ยวกับความเป็นอยู่ ความคิด และการกระทำ เมื่อกิจกรรมทางภาษาสัมพันธ์ กับเรื่องราวในบ้าน ครอบครัว และชุมชน
  • ให้เด็กเล่นสนุกและทดลองใช้เสียงและรูปแบบของภาษา เช่น การสัมผัสอักษร จังหวะ คำ คำพูดที่ไม่มีความหมาย และอารมณ์ขัน หนังสือกลอน หนังสือที่เน้นจังหวะเสียง หนังสือตลกที่ใช้เสียงซ้ำเป็นสิ่งจำเป็น
  • ให้เด็กซึมซับความงดงามของภาษา โดยผ่านบทเพลง สัมผัส อักษร จังหวะ การเล่าเรื่อง บทกวี และการเล่นละคร ฟังและเล่านิทาน
  • ให้เด็กฝึกสร้างภาษาเอง สร้างบทสนทนาและบทแสดงสำหรับตนเอง และสำหรับการเล่นละครร่วมกันกับผู้อื่น
  • ให้เด็กเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างภาษาพูดและภาษาเขียน การเขียนสิ่งที่คิดจำเป็นมากในวัยนี้ แต่เนื่องจากเด็กยังสะกดคำได้น้อย ดังนั้นควรเน้นให้เขียนออกมาก่อน เน้นไวยากรณ์ทีหลัง ถ้าเน้นไวยากรณ์ตั้งแต่แรกเริ่มความกล้าเขียนและอยากเขียนจะลดลง
  • ให้เด็กใช้ภาษาสื่อสารด้วยการแสดงทางศิลปะ เช่น เต้นรำ ละคร ดนตรี หุ่นกระบอก ประติมากรรม และภาพวาด เพื่อสื่อสารความคิดเห็นและความรู้สึก
  • ให้เด็กเรียนรู้คำศัพท์และคำนิยาม เพื่อสร้างและสื่อสารความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางสังคม กายภาพ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างสรรค์


เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning