OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

พัฒนาการสมองของเด็กวัย 3 - 6 ปี

85764
พัฒนาการสมองของเด็กวัย 3 - 6 ปี

พัฒนาการด้านโครงสร้างและการทำงานของสมอง


  • สมองส่วนใหญ่ของเด็กวัยนี้จะอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา
  • สมองส่วนรับความรู้สึกมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระยะนี้
  • ประสาทสัมผัสและการรับรู้ต่างๆ พัฒนาชัดเจนขึ้น
  • การกระตุ้นโดยสัมผัสจะช่วยกระตุ้นการทำงานประสานกันของส่วนรับสัมผัสของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
  • เมื่อสถานีรับข้อมูลจากภายนอกพัฒนาได้เร็ว ก็จะส่งผ่านข้อมูลไปกระตุ้นการทำงานของระบบอื่นๆ ในสมอง เช่น ส่วนความทรงจำ ส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว ส่วนที่ทำงานด้านอารมณ์
  • สมองมีตำแหน่งรับรู้ต่างๆ มากมายเมื่อสมองส่วนหนึ่งทำงาน ก็มีผลต่อการทำงานของสมองอีกส่วนหนึ่งด้วย การพัฒนาเด็กด้านการรับสัมผัส และการเคลื่อนไหวจึงนับเป็นการพัฒนาสมองส่วนต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน และเสริมซึ่งกันและกัน
  • การส่งผ่านข้อมูลภายในสมองได้รับการพัฒนาให้รวดเร็วขึ้นโดยกระบวนการ myelination ทำให้ระบบรับความรู้สึก (sensory) กับระบบควบคุมการเคลื่อนไหว (motor) ทำงานประสานกันดีขึ้น ทำให้สมองพร้อมรับการสำรวจทำความรู้จักโลก
  • Myelination ช่วยให้การพัฒนาความสามารถของเด็กมีความพร้อม เช่น myelination ในบริเวณของสมองที่มีหน้าที่จัดความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ตากับการใช้มือของเด็ก จะพร้อมก็ต่อเมื่อเด็กอายุประมาณ 4 ปี พัฒนาการของสมองที่เชื่อมโยงกับโลกกว้าง นำไปสู่การเรียนรู้ด้านต่างๆ ของเด็กที่ค่อยๆปรากฏตัวขึ้นหลังจากความพร้อมนี้
  • การเคลื่อนไหวเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้สมองได้ใช้ประโยชน์จากเซลล์สมองและซีนแนปส์ ยิ่งเซลล์ส่งผ่านข้อมูลและเกิดจุดซีนแนปส์มากขึ้นเท่าใด เครือข่ายการเชื่อมต่อของวงจรกระแสประสาทก็ยิ่งประสานกระชับมากขึ้น


ความพร้อมที่สอดคล้องกับพัฒนาการโครงสร้างของสมอง


3 ขวบ


  • เมื่อเด็กอายุได้ 3 ขวบ เด็กๆจะเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นเดิน วิ่ง กระโดด ปีน โหน ในวัยนี้การเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว เป็นสิ่งที่เด็กชื่นชอบและเป็นที่มาแห่งความภาคภูมิใจ

4 ขวบ


  • อายุ 4 ขวบ เป็นต้นไป แม้เด็กจะพอใจกับกิจกรรมเคลื่อนไหว แต่เขาต้องการให้มีบรรยากาศผจญภัย ดังนั้นท่วงท่าในเชิงยิมนาสติกจะปรากฏตัวออกมา

5 ขวบ


  • พออายุ 5 ขวบขึ้นไป การเคลื่อนไหวยังเต็มไปด้วยพละกำลัง และสนุกสนานยิ่งขึ้น เด็กชอบเล่นการเคลื่อนไหวแบบงู แบบช้าง ไดโนเสาร์ กบ จิงโจ้ ม้า เป็ด ชอบเล่นขับรถไฟ ขับรถยนต์ เครื่องบิน


กระบวนการส่งเสริมพัฒนาการของสมอง


  • ฝึกให้เด็กตั้งประเด็นคำถามและคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สมองฝึกฝนเชื่อมโยงวงจรแห่งความรู้ในสมองหลายๆ ทาง เพื่อสร้างจุดซีนแนปส์ (synapse) ที่จำเป็นในสมอง สำหรับรองรับกระบวนการคิดที่รอบด้าน
  • นำเด็กเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จำลอง เด็กจะได้เรียนรู้ความหมายของสิ่งที่กำลังเรียนรู้ อารมณ์ถูกขับเคลื่อน ทำให้สมองเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ให้เด็กได้ทำการศึกษา สำรวจ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ดูว่าสิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เช่น เปลี่ยนจากร้อนเป็นเย็น จากเปียกเป็นแห้ง หรือจากอ่อนเป็นแข็ง เป็นต้น
  • ให้เด็กได้ฝึกใช้คำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์และสังคม เช่น คำว่า อำนาจ ทุกข์ ระบาด ซ้ำซ้อน โรค อุณหภูมิ ฯลฯ เป็นการทบทวนชุดความเข้าใจ ซึ่งเป็นการใช้วงจรร่างแหของเซลล์สมอง การสร้างความสัมพันธ์ของวงจรชุดนี้กับการทำงานของสมองหลายส่วนพร้อมกัน เช่นวงจรภาษาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำ ความจำเป็นสิ่งจำเป็นในการก่อรูปความเข้าใจ ความเข้าใจเชิงนามธรรมขั้นต่อไป
  • ให้เด็กได้รับรู้สัมผัสของจริงที่มีขนาด น้ำหนัก ผิว รูปทรงต่างๆ และมุ่งพัฒนาความสามารถในการรับภาพสามมิติ
  • ให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง ได้จับต้องของเล่นนานาชนิด ได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและรอบๆ บ้าน การรับรู้ข้อมูลและสัมผัสจากสิ่งแวดล้อมนี้ จะย้อนเข้าไปพัฒนาสมองเด็ก ความหลากหลายที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมประเภทโทรทัศน์ หรือวีดีโอเกม ซึ่งไม่ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์
  • ให้เด็กมีประสบการณ์สนุกสนานกับการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยใช้ทักษะที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ เช่น การคลาน การกลิ้ง การวิ่ง การปีน การโยก การเด้ง การกระโดดหกคะเมนตีลังกา
  • ให้เด็กมีโอกาสฝึกฝนการเคลื่อนไหวร่างกายพร้อมอุปกรณ์ เช่น การกระโดดเชือก การเลี้ยงลูกบอล
  • ให้เด็กมีโอกาสใช้ทักษะเสถียรภาพ เช่น สมดุล งอ ยืด บิด
  • การพัฒนาให้เด็กได้เล่นเกมกีฬาที่หลากหลายเพียงพอ จะช่วยพัฒนาร่างกายและสมองครบทุกด้าน กิจกรรมที่ครบถ้วนจะไปพัฒนาส่วนเชื่อมต่อกับประสาทต่างๆ ของการรับความรู้สึก โดยเฉพาะสมองส่วนเซรีเบลลัมที่รับผิดชอบเรื่องการทรงตัวและการเคลื่อนไหวให้เรียบลื่น
  • ให้เด็กพัฒนาความเข้าใจเรื่องมิติ
  • ให้เด็กพัฒนาความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนรูปทรงของวัตถุและสิ่งของ
  • ให้เด็กสร้างและพัฒนามุมมอง โดยใช้ภาพ 2 มิติ เช่น แผนผัง ภาพถ่าย สร้างวัตถุ 3 มิติ เช่น สร้างโมเดลจากภาพ ต่อบล็อก ก่อเจดีย์ทราย ปั้นดินเหนียว พับกระดาษ
  • ให้เด็กได้มีโอกาสมองวัตถุในหลากหลายมิติ รวมทั้งมีโอกาสลองใช้แว่นขยาย
  • ให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพราะสิ่งที่ก่อรูปเป็นการคิดของเด็ก เริ่มต้นที่การจับต้อง สัมผัส และมีประสบการณ์โดยตรง สมองรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า แล้วก่อรูปเป็นวงจรแห่งการคิดขึ้นมาในสมอง การตอบคำถามในแบบฝึก การทำแบบฝึกหัด เป็นกระบวนการถัดไปหลังจากวงจรแห่งประสบการณ์ได้สร้างขึ้นแล้ว
  • ให้เด็กศึกษาการเคลื่อนที่ของสิ่งต่างๆ ว่าเคลื่อนที่อย่างไร และเพราะอะไรจึงเคลื่อนที่ เช่น การเคลื่อนที่โดยการเป่า ผลัก ดึง กลิ้ง แกว่ง โยน เด็กควรได้ลองทำให้สิ่งต่างๆ เคลื่อนที่โดยใช้มือ เท้า เป่าลม ดัน ดึง เป็นต้น
  • ให้เด็กได้ใช้เทคโนโลยีง่ายๆ ในการสำรวจการเคลื่อนที่ เช่น ล้อ ลูกรอก แม่เหล็ก ชิงช้า เป็นต้น การเรียนรู้การเคลื่อนที่จากการฟังเรื่องเล่าและการอ่านเป็นสิ่งตามมาภายหลัง


เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning