OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

สมองเรียนรู้อย่างไร

49441
สมองเรียนรู้อย่างไร

ศักยภาพของสมอง


อวัยวะมหัศจรรย์


  • ถึงแม้ว่า สมองจะถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่สุดในร่างกายมนุษย์มานานแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มเข้าใจความมหัศจรรย์ของสมองมนุษย์อย่างลึกซึ้งเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นี้เอง และสามารถให้คำอธิบายอย่างละเอียดว่า สมองมนุษย์ที่น่าทึ่งนี้มีการทำงานอย่างไร
  • สมองมีการจัดระบบการทำงานที่ซับซ้อน และมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองได้ดีไม่น้อยไปกว่าอวัยวะใดๆ ในร่างกาย

ออกแบบเพื่อ “การเรียนรู้”


  • สมองถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้ เพื่อ “ความอยู่รอด” เป็นสำคัญ
  • เด็กเล็กๆ เริ่มเรียนรู้ที่จะร้องไห้ ยิ้ม หัวเราะ กินอาหาร คลาน นั่ง เดิน พูด และทำกิจกรรมต่างๆ เป็นผลจากการที่สมองรับรู้ เรียนรู้ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อจะมีชีวิตรอด

พัฒนาผ่าน “การเรียนรู้”


  • สมองพัฒนาศักยภาพในการคิด ความจำ ผ่านกระบวนการที่เรียนว่า “การเรียนรู้” ซึ่งจะดำเนินไปตามกำหนด “เวลา” ที่เหมาะสม เราจึงให้ความสำคัญกับ “พัฒนาการตามช่วงวัย”


โครงสร้างและเครือข่ายในสมอง


สมองประกอบด้วยเซลล์


  • สมองมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมหาศาล เด็กแรกเกิดมีเซลล์สมองประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์ (เมื่อเทียบกับ ลิงมีหนึ่งหมื่นล้านเซลล์ หนูมีห้าล้านเซลล์ และแมลงหวี่มีหนึ่งแสนเซลล์) เชื่อมต่อกันด้วยแขนงที่ยื่นออกจากตัวเซลล์ โยงใยเป็นเครือข่ายร่างแหของวงจรขนาดมหึมา

เครือข่ายเซลล์สมอง


  • สมองประกอบด้วยเครือข่ายเซลล์สมองที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ มีรายงานผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า เด็กอนุบาลสามารถเรียนรู้ภาษาพร้อมกันได้ถึง 7 ภาษา
  • นักวิทยาศาสตร์ให้ข้อสังเกตว่า เด็กมีศักยภาพที่จะพูดได้กว่า 5,000 ภาษาเท่าที่มีอยู่ในโลก แต่ความสามารถนี้จะค่อยๆ หมดไป เมื่อเด็กไม่ได้นำมาใช้

เชื่อมโยงซับซ้อน หลายรูปแบบ และปรับเปลี่ยนได้


  • เมื่อเราอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ เซลล์สมองจะสร้างการเชื่อมโยงที่ซับซ้อน จนเกิดเป็นร่างแหเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจำนวนเซลล์อาจไม่สำคัญเท่ากับการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ ความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้สมองมนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

สมองซีกซ้าย – สมองซีกขวา สอดประสานกันเป็นองค์รวม


  • สมองซีกซ้าย โดดเด่นในการเรียนรู้และทำความเข้าใจภาษา เหตุผล รายละเอียด
  • สมองซีกขวา โดดเด่นในการเรียนรู้และทำความเข้าใจมิติ ความรู้สึก ภาพรวม
  • สมองสองซีกทำงานประสานกันแบบองค์รวม ผ่านใยประสาทที่พาดผ่านจากซีกหนึ่งไปยังอีกซีกหนึ่ง เราเรียกกลุ่มใยประสาทนี้ว่า คอร์ปัส แคลโลซัม การผสานการรับรู้และมุมมองของสมองทั้งสองซึก ทำให้เห็นภาพและเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน


กระบวนการเรียนรู้ในสมอง


นาทีแห่งการเรียนรู้


  • เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก เซลล์สมองจะส่งสัญญาณข้อมูลในรูปกระแสไฟฟ้าไปตามแขนงใยประสาทที่เรียกว่า แอกซอน ส่งต่อให้แขนงใยประสาทที่ทำหน้าที่รับข้อมูลที่เรียกว่า เดนไดรท์ของอีกเซลล์หนึ่ง
  • จุดที่เชื่อมต่อกันของแอกซอน และเดนไดรท์ จะมีการแปลงข้อมูลในรูปสัญญาณไฟฟ้าเป็นสารเคมีที่เรียกว่า สารสื่อประสาท เราเรียกจุดเชื่อมต่อในการรับส่งสัญญาณข้อมูลนี้ว่า จุดซีนแนปส์ “นาทีแห่งการเรียนรู้” เริ่มขึ้น ณ จุดนี้

อารมณ์มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้


  • อารมณ์ทำให้การรับรู้บิดผันไป เช่น อาจมองเห็นกระดุม เป็นเหรียญ ขนม หรืออื่นๆ ไม่ใช่กระดุม
  • อารมณ์มีอิทธิพลต่อความสนใจและความตั้งใจ โดยอาจจะกระตุ้นหรือยับยั้งทำให้ความสนใจและความตั้งใจในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ข้อมูลที่น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ ไม่มีความหมายต่อตนเอง หรือสมองไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของข้อมูล สมองส่วนที่ทำหน้าที่ส่วนสัญชาตญาณจะเตือนว่า “เลิกคิดได้แล้ว” เสียเวลา เสียพลังงานสมอง
  • อารมณ์มีอิทธิพลต่อการคิด เช่น ในสถานการณ์ทำให้เกิดความกลัว กระบวนการคิดจะมีประสิทธิภาพน้อยลง
  • อารมณ์มีอิทธิพลต่อความจำ การผ่านพบสรรพสิ่งหรือเหตุการณ์ที่มีอารมณ์ประทับอยู่ด้วยจะกลายเป็นความทรงจำที่แจ่มชัดยืนนานอย่างยิ่ง
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ด้วยการเรียนรู้ สมองส่วนอารมณ์สามารถเรียนรู้และปรับเปลี่ยนได้ เมื่อมีการบันทึกการตอบสนองอย่างใหม่ต่อสิ่งที่กระตุ้นเร้าลงในสมองส่วนอารมณ์ อารมณ์และความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ อาจแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ เช่น เคยเกลียดภาษาอังกฤษ เพราะอายและเสียใจที่ถูกครูดุ แต่เมื่อได้เรียนกับครูที่ใจดี กลับเปลี่ยนเป็นชอบภาษาอังกฤษ

การเรียนรู้ที่สมองสนใจ


  • ตอบสนองทันที; สมองสามารถรับรู้ระดับความสำเร็จของตนเองได้ “ทันที” ที่ลงมือทำ
  • ตอบสนองชัดเจน; สมองไม่ต้องตีความความสำเร็จจากการตอบสนองที่คลุมเครือ หรือขาดความชัดเจน
  • ท้าทาย; สมองพอใจความสำเร็จทีละขั้น การไต่ระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ คือความท้าทายที่ชวนให้สมองอยากเรียนรู้ต่อไปไม่สิ้นสุด

เกมคอมพิวเตอร์ เป็นภาพตัวอย่างของสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความสนใจของสมองอย่างลงตัว เพราะทันทีที่นิ้วสัมผัสแป้นคีย์บอร์ด โปรแกรมจะตอบสนอง “ทันที” และแสดงผล “ชัดเจน” บ่งบอก “ระดับ” ความสำเร็จของผู้เล่น เปรียบเสมือนรางวัลที่ชี้ชวนให้ไต่ระดับขึ้นไปไม่รู้จบ ไม่น่าแปลกใจที่ เกมคอมพิวเตอร์จะช่วงชิงเด็กไปจากห้องเรียนที่ไม่ได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ตอบสนองต่อความสนใจของสมอง



เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning