OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

10403 | 23 กุมภาพันธ์ 2560

เสวนา เรื่อง "เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน"

วิทยากร :     ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช
               อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
               ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร
               ผู้อำนวยการสถาบัน 101 เอ็ดดูแคร์ เซ็นเตอร์
               คุณธนัญกรณ์ จิรพัฒน์คุณากร
               ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานทรูปลูกปัญญา มีเดีย
               ดร.อภิชาติ ประเสริฐ
               ผู้ดำเนินรายการ

          8 ข้อเท็จจริงในการใช้เทคโนโลยีเลี้ยงดูเด็ก

             ทำอย่างไรให้สมองพัฒนาและเรียนรู้อย่างมีศักยภาพ การพัฒนาการคนมีปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
มีข้อเท็จจริงที่ควรคำนึงถึงทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ โดยแบ่งออกเป็นเชิงบวก 4 ข้อ และเชิงลบ 4 ข้อ

             ข้อเท็จจริงในเชิงบวก

            1.กระตุ้นให้อยากเรียนรู้ / ช่วยให้หาข้อมูลง่ายขึ้น
เทคโนโลยีมีส่วนช่วยสร้างความตื่นเต้น และดึงดูดความสนใจ ช่วยให้สะดวกสบายในการค้นหาข้อมูล แต่การตอบสนองแบบทันทีทันใด อาจส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะมีสมาธิสั้น และกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง นอกจากนั้น ยังอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพและอุปนิสัย ทำให้เด็กไม่รู้จักรอคอย ทำทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ ตามความคุ้นชิน และขาดการประมวลความคิด
ดังนั้น เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยี (สมาร์ตโฟน แทปเล็ต โทรทัศน์) หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ อนุโลมได้ตั้งแต่วัย 2 ขวบ แต่จะต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองตลอดเวลา
             2. เตรียมตัวให้เด็กพร้อมทำงานในอนาคต
เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ ได้รับการออกแบบมาให้สะดวกสบายในการใช้งาน เป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อีกทั้งราคายังถูกลงมาก ทำให้ดูคล้ายเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนหลายสิ่งในชีวิตประจำ แต่สิ่งสำคัญที่เทคโนโลยียังทดแทนไม่ได้คือ การให้ข้อมูลสะท้อนกลับ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน
เทคโนโลยีอาจสร้างแรงจูงใจกระตุ้นให้อยากเรียนอยากรู้ และมีข้อมูลมากมายพร้อมให้เข้าถึง แต่ความท้าทายอยู่ที่การเลือกใช้ข้อมูล การแยกแยะ และการเลือกที่จะเชื่อ เด็กจะต้องได้รับการชี้แนะให้รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่มากมาย เพื่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
              3. ทำให้ได้พบปะผู้คนมากมาย 
การเข้าสังคมออนไลน์จะเกิดประโยชน์หากเด็กมีทักษะทางสังคมดีอยู่แล้ว แต่อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะการแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์จะมีความรุนแรง และอาจขัดแย้งกับความเป็นจริง หากไม่มีความมั่นคงทางความคิดจิตใจเพียงพออาจแกว่งไปตามกระแส ถูกกลั่นแกล้งรังแก ถูกล่อลวงจนเกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่นได้ 
              4. เล่นเกมทำให้ฝึกคิด ได้ติดสินใจ 
เจตนารมณ์ของเกมคือ ความสนุก ซึ่งสามารถนำมาสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเรียนรู้ได้ คือใช้กลยุทธ รางวัล การแข่งขัน การเอาชนะ ความสนุกสนาน ที่สำคัญคือต้องเลือกเกมให้เหมาะกับทักษะที่ต้องการจะส่งเสริม การใช้เกมในการส่งเสริมทักษะควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของเด็ก เช่น เกมการศึกษาเพื่อการเรียนการสอนจะเหมาะกับเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก และต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เช่น ใส่รหัสล็อคเครื่อง เพื่อพ่อแม่จะสามารถติดตามเฝ้าระวังการเลือกสื่อของลูกได้อย่างเหมาะสม

             ข้อเท็จจริงในเชิงลบ

             1. ทำให้เสียความเป็นส่วนตัวไป  
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปโดยที่เจ้าของข้อมูลอาจไม่ทันระวัง ทำให้สูญเสียความเป็นส่วนตัว เป็นเหตุให้เสียสมาธิจนถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น ผู้ใช้จึงต้องตั้งสติในการใช้เทคโนโลยีอย่างระมัดระวัง
             2. การทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้คิดไม่ลึก 
ทักษะการทำงานหลายอย่างในเวลากัน (Multi – tasking skills) เป็นที่กล่าวถึงกันมากเมื่อเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้ทำทุกอย่างได้สะดวกสบายมากขึ้น อาจจะเกิดขึ้นได้ในการทำเรื่องผิวเผิน แต่หากเป็นการคิดวิเคราะห์ในเชิงลึกจำเป็นต้องจดจ่อ (focus) จัดลำดับสำคัญ (prioritize) และติดตาม (monitor) ทีละอย่าง แต่อาจปรับให้เร็วขึ้นได้ ที่สำคัญคือต้องให้มีหลักคิด และมีใจจดจ่อลงมือทำอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้
             3. ปัญหาสุขภาพจากการใช้เทคโนโลยี
ความสะดวกสบายอาจทำให้เคลื่อนไหวน้อยลง เฉื่อยชา และอ้วน สิ่งที่ดีต่อสมองและร่างกายคือ การเคลื่อนไหว เพลง ดนตรี ความผ่อนคลาย ความสงบ จะทำให้สมองเปิดรับการเรียนรู้ และรักษาสมดุลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
             4. เปลี่ยนวิถีของสังคม คิดว่าเทคโนโลยีแทนคนได้ 
งานวิจัยเรื่องความสุขของชีวิต พบว่าความรักคือความสุขของชีวิต เพราะแท้จริงแล้ว relationship คือความสุขของชีวิต ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีทดแทนไม่ได้ คุณสมบัติที่ศตวรรษที่ 21 ต้องการ คือการทำงานเป็นทีม ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น เด็กๆ จึงต้องมีการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning