OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Brain-Based Learning (BBL) กับการพัฒนาอนาคตของชาติ

33836


เวทีเสวนา เรื่อง BBL กับการพัฒนาอนาคตของชาติ


โดย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. ประเสริฐ บุญเกิด
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง
ที่ปรึกษางานพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เลขา ปิยะอัจฉริยะ
รองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง
ที่ปรึกษางานพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้

คุณนิจสุดา อภินันทาภรณ์
ผู้อานวยการสถาบันภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดร. อภิชาติ ประเสริฐ  : ผู้ดำเนินรายการ
ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ สบร.


"BBL กับการพัฒนาอนาคตของชาติ" เป็นเวทีเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning: BBL)" ที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ผ่านเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ที่มีประสบการณ์จริง ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และวิธีการนำแนวคิดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยให้สอดคล้องกับนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน โดยมีเนื้อหาสรุปตามหัวข้อเสวนา ดังนี้


บทสรุป


การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL (Brain-Based Learning) เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการด้านโครงสร้างและการทำงานของสมอง เหมาะสมกับทุกช่วงวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงวัยชรา หลักการสำคัญในการเรียนรู้ของสมองเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา คือ “เล่นคือเรียน เรียนคือเล่น” ต้องเรียนด้วยความเข้าใจมากกว่าความจำ เรียนรู้จากการสัมผัสจับต้องของจริงไปสู่สัญลักษณ์ ด้วยอารมณ์ที่เปิดรับการเรียนรู้ และต้องเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (active learning) แทนการนั่งฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว (passive learning) เช่นเดียวกับสมองวัยรุ่น เนื่องจากสมองส่วนอารมณ์เจริญเร็วกว่าส่วนเหตุผล การได้ลงมือปฏิบัติตามความสนใจจะส่งเสริมให้วัยรุ่นค้นพบความถนัดและศักยภาพของตนเอง ส่วนการเรียนรู้ของสมองวัยทำงาน สมองส่วนเหตุผลเจริญเต็มที่ จึงมุ่งเน้นความสำเร็จตามเป้าหมาย สมองวัยชราเริ่มเสื่อมสภาพ จึงต้องจัดการเรียนรู้ผ่านช่องทางที่ยังใช้งานได้ วิธีปฏิบัติตนเพื่อไม่ให้สมองเสื่อม ประกอบด้วย 3 คำสำคัญคือ “Walk (เดิน), Work (ทำงาน), Sweat (ออกกำลังกายให้เหงื่อออก)” ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสมองของคนทุกช่วงวัย สบร. จึงจัดทำยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองเพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่


  • ทบทวนองค์ความรู้เดิมและสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองของคนทุกช่วงวัย
  • สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานทางวิชาการ และหน่วยปฏิบัติที่มีศักยภาพ
  • หนุนเสริมหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้นำการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปประยุกต์ใช้
  • แสวงหาแนวร่วมจากสาธารณชนผ่านช่องทางสื่อสารสาธารณะที่หลากหลาย นำไปสู่การร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย


เนื้อหา


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. ประเสริฐ บุญเกิด กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL (Brain-Based Learning) เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการด้านโครงสร้างและการทางานของสมอง เหมาะสมกับทุกช่วงวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงวัยชรา สมองเป็นอวัยวะแห่งการเรียนรู้ สมองเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เมื่ออวัยวะครบสมบูรณ์ ก็สามารถเรียนรู้ได้ ดังนั้น แม่ตั้งครรภ์ควรพูดคุยกับลูกในท้อง ใช้มือลูบคลำ หรือร้องเพลง หรือกิจกรรมที่แม่ทำแล้วสนุก มีความสุข เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “Mozart Effect” ซึ่งไม่จำเป็นต้องฟังเพลงของโมสาร์ทเท่านั้น อาจเป็น เพลงป๊อป เพลงลูกทุ่ง หรือเพลงอื่นๆ ที่แม่ฟังแล้วมีความสุข วงจรการเรียนรู้ของสมองมี 2 แบบ คือ “ตั้งใจและไม่ตั้งใจ” “ตั้งใจ” เมื่อถูกบังคับ เช่น ครู พ่อแม่บังคับให้ทำการบ้าน ให้เรียนรู้วิชา ซึ่งในลักษณะนี้ไม่เป็นผลดี เมื่อเด็กไม่พอใจ ไม่ต้องการเรียน สมองหรือ ระบบลิมบิก (Limbic system) จะปิด ส่วน “ไม่ตั้งใจ” นั้น ต้องเปิดสมองก่อน วิธีเปิดสมองอาจจะเปิดด้วยสมาธิ หรือจังหวะเพลง การเต้นง่ายๆ เมื่อสมองเปิดทำงาน มีสมาธิ แววตาของเด็กจะสดใส พร้อมที่จะเรียนการเรียนรู้ก็จะทำได้ง่ายขึ้น


สมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงมีความรู้และความเข้าใจการเรียนรู้แบบไม่ตั้งใจในเด็กเล็กเป็นอย่างยิ่ง การอบรมเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาของพระองค์ มุ่งเน้นที่การเล่นกับธรรมชาติ การให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เด็กสามารถเรียนรู้ภาษา คณิต วิทย์ ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติได้โดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้สมองของเด็กพัฒนาไปได้เต็มศักยภาพ “สนามเด็กเล่น BBL” นวัตกรรมล่าสุดตามหลักการพัฒนาสมองสำหรับเด็กอนุบาล ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “สนามเด็กเล่นอัจฉริยะ” ออกแบบโดย อาจารย์ดิสกร กุนธร โดยเริ่มแรกที่ได้ออกแบบ คือ สนามเด็กเล่นที่โรงเรียนบ้านโป่งแยงนอก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ หรือ โรงเรียนวัดโป่งแยงเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบัน เด็กนักเรียนที่โรงเรียนวัดโป่งแยงฯ นั้นเป็นเด็กชาวเขาที่มาจากหลายเผ่า ในตอนเริ่มเข้ามาเรียนใหม่ ๆ เด็กจะพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อเปิดสมองเด็กเหล่านี้ด้วยพละ ศิลปะ และดนตรี ก็ทำให้เขาสามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นผลจากการเรียนรู้ของสมอง โดยมีธรรมชาติเป็นครูที่ยิ่งใหญ่


สมองเป็นอวัยวะพิเศษที่ต้องการทั้งอาหารกายและอาหารใจ อาหารกายก็คืออาหารทั้ง 5 หมู่ ซึ่งเป็นสารอาหารบำรุงสมอง ส่วนอาหารใจนั้นก็มาจากการประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำนั้นด้วยตัวเอง เมื่อสามารถทำสิ่งที่ทำอยู่ได้สำเร็จ ต่อไปก็จะมีกำลังใจ มีพลังปัญญาเพิ่มมากขึ้น มีความต้องการทำงานที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เด็กเล็ก 2-3 ขวบมักจะเลียนแบบผู้ใหญ่ เมื่อเห็นผู้ใหญ่ทำก็อยากช่วยทำ ซึ่งเราควรปล่อยให้เขาทำ เมื่อเขาทำสำเร็จก็จะเป็นอาหารใจที่แท้จริง ซึ่งมาจากความสำเร็จที่ทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่มาจากคำชม ดังนั้น หากลูกหลานยังเล็ก เราควรเฝ้าดูเขาเล่นว่าเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร การพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัยก็เช่นกัน “เล่นคือเรียน เรียนคือเล่น” สำหรับเด็กเล็กเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะที่เล่นนั้นเด็กจะค้นพบตัวเอง ค้นพบความสามารถในการเรียนรู้ ในการทำงาน ในการแก้ปัญหา ซึ่งสำคัญมาก สมองเรียนรู้ได้ดีจาก active learning มากกว่า passive learning การจะให้เด็กค้นพบตัวเองจึงต้องเป็น active learning ได้คลำ ได้สัมผัส ได้จับ ได้ปีนป่าย ได้ลองผิดลองถูก เมื่อไม่สำเร็จก็เริ่มใหม่ เกิดแรงจูงใจในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งนับเป็นแก่นแท้ของการศึกษาที่จะทำให้เด็กแต่ละคนค้นพบความรู้ ความสามารถในการเรียนรู้และการปฏิบัติ ตลอดจนศักยภาพและความชอบของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถได้มาด้วย passive learning หรือฟังเพียงการบรรยายของครู ในระดับประถมศึกษานั้น เมื่อสมองเด็กเปิด การเรียนรู้ก็จะง่ายขึ้น สมองเรียนรู้จากของจริง ไปหาสัญลักษณ์ ช่องทางการเรียนรู้ของสมองมีหลายช่องทาง จากการได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส มีความสุขใจ ดังนั้น หลักสูตรในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจึงต้องเป็น active learning ให้ลงมือทำ ไม่ใช่นั่งฟังเพียงการบรรยาย การพัฒนาสมองของวัยรุ่น สังคมไทยในปัจจุบันพบปัญหาเด็กวัยรุ่นมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ค่อนข้างมาก การแก้ปัญหาเด็กวัยรุ่น เด็กแว้นหรือเด็กสก๊อย ตามหลักการพัฒนาสมองนั้นทำได้ด้วยการเปิดสมอง และทำให้เขาค้นพบตัวเอง ค้นพบความถนัดและความสามารถของตนเอง ส่วนในวัยทำงานนั้น ทุกงานที่เราทำสำเร็จได้ด้วยตัวเองหรือช่วยกันทำให้สำเร็จคืออาหารใจที่สำคัญ


นอกจากนี้การพัฒนาสมองของวัยชรา เนื่องจากวัยชราเริ่มมีความเสื่อมของบางอวัยวะ เช่น หู ดังนั้น การนำหลักการพัฒนาสมองมาใช้จะต้องมีการประเมินความเสื่อมของอวัยวะ อวัยวะส่วนใดที่ยังใช้งานได้อยู่ ก็จัดการเรียนรู้ผ่านช่องทางนั้น วิธีปฏิบัติตนเพื่อไม่ให้สมองเสื่อม ประกอบด้วย 3 คำสำคัญคือ “Walk (เดิน), Work (ทำงาน), Sweat (ออกกำลังกายให้เหงื่อออก)” การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) จะช่วยให้เหงื่อออก ลดความเครียด และเกิดผลที่ตามมาคือ การหลับลึก (Deep sleep) เมื่อตื่นขึ้นมาร่างกายจะรู้สึกสดชื่น มีพลังจิต พลังปัญญา พร้อมที่จะทางานต่อไป ดังนั้น การสอนวิชาพละ ศิลปะ และดนตรี ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และในระดับอุดมศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยคลายความเครียดของนักเรียน นักศึกษาโดยใช้ความรู้ด้านสมอง



ตัวอย่างโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ได้แก่ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จของโรงเรียนทั้ง 2 แห่งนี้ ประกอบด้วย


  • ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน มีความรับผิดชอบ มีขวัญและกำลังใจในการประกอบวิชาชีพครู
  • ผู้บริหารโรงเรียนที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อให้ได้ผู้เรียนที่มีคุณภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า การศึกษากับการจัดการเรียนรู้ไม่ใช่เป็นเรื่องในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่การศึกษาและการจัดการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกสาขาอาชีพ และจากการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองของ สบร. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยต้องการองค์กรกลางเพื่อทำหน้าที่ศึกษาเกี่ยวกับสมองและการเรียนรู้ต่อเนื่อง และสามารถเชื่อมโยงความรู้นี้กับศาสตร์อื่นๆ ได้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สบร. ได้รวบรวมองค์ความรู้เรื่องการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและในระดับประถมศึกษา ตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL มาพอสมควร ดังนั้น ยุทธศาสตร์แรกที่ต้องทำก็คือ ต้องทบทวนความถูกต้องและเหมาะสมขององค์ความรู้เดิม และแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ให้ครอบคลุม ทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ สบร. จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไป


เนื่องจากความรู้เรื่องวัยรุ่นนี้ยังมีไม่เพียงพอและประเทศยังต้องการองค์ความรู้เกี่ยวกับวัยรุ่นหรือเด็กที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เป็นอย่างมาก วัยแรงงานก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาแรงงานจะต้องดูมิติการพัฒนาทั้งทางกาย ใจ สังคมและปัญญาของกลุ่มแรงงาน เมื่อเขามีความสุข คุณภาพงานก็จะดี ซึ่งเป็นผลจากสมอง และแน่นอนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ร้อยละ 30 ของประชากรไทย จะเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจการทำงานสมองของผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงวัยดำเนินชีวิตอยู่กับลูกหลานอย่างมีความสุข สามารถสร้างคุณประโยชน์และตอบแทนคุณของแผ่นดิน ทั้งหมดนี้เป็นยุทธศาสตร์แรกของ สบร. ที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จากยุทธศาสตร์แรกเชื่อมโยงมาสู่ยุทธศาสตร์ต่อไปคือ สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานทางวิชาการและหน่วยปฏิบัติที่มีศักยภาพ นอกจากการพัฒนาเครือข่ายเดิมที่ทำงานกันมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอดแล้ว สบร. จะแสวงหาเครือข่ายที่เป็นหน่วยงานทางวิชาการ เพื่อเป็นการผนึกกำลังในการสร้างความรู้ทางด้านทฤษฎี ที่เหมาะสมให้กับประเทศ และในขณะเดียวกันก็ต้องมีเครือข่ายที่สร้างความรู้ปฏิบัติ ซึ่งความรู้ปฏิบัติที่สำคัญมาก ก็คือความรู้ปฏิบัติที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา และเราจะต้องมีกระบวนการจัดการความรู้เหล่านี้ “คุณครู” เป็นเครือข่ายความรู้ที่สำคัญที่สุด เพราะคุณครูเป็นผู้สร้างความรู้ปฏิบัติ พร้อมกับการสร้างความรู้เพื่อยืนยันทฤษฎีด้วยว่าใช้ได้จริงหรือไม่


ยุทธศาสตร์สุดท้ายเป็นการรวมพลังผู้ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเยาวชนอนาคตของชาติโดยยึดหลักการพัฒนาตามหลักการพัฒนาสมอง โดยจะค้นหาตัวคุณครูผู้ปฏิบัติจริง ที่เปรียบเสมือน “ดอกไม้ป่า” และให้การยกย่องให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งคุณครูเหล่านี้จะเป็นผู้แบ่งปันและเผยแพร่ประสบการณ์ ความรู้ปฏิบัติที่มี และยืนยันด้วยทฤษฎีที่เหมาะสม นอกจากเหนือไปจากคุณครูแล้วนั้น สบร. จะค้นหาคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายายที่ส่งเสริมพัฒนาการของลูกหลานของตน สอดคล้องกับหลักการพัฒนาสมองโดยไม่รู้ตัว เพื่อยืนยันและให้ความมั่นใจในวิธีปฏิบัติของท่าน และนำประสบการณ์เหล่านี้ไปเผยแพร่ และเมื่อเร็วๆ นี้ สบร. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมคลิปสั้นวิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกหลาน ความยาว 12 วินาที โดยให้คุณพ่อคุณแม่ส่งคลิปสั้นการเลี้ยงดูลูกหลานของตนเองมาให้ดู ทำให้พบว่าคุณพ่อคุณแม่หลายรายมีวิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกหลาน สอดคล้องกับหลักการพัฒนาสมอง และอีกกลุ่มหนึ่งที่เราต้องค้นหาก็คือ ผู้บริหารองค์กรของรัฐและเอกชน ซึ่งใช้หลักการพัฒนาสมองในการบริหารจัดการ เช่น ผู้บริหารระดับสูงบริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัด ซึ่ง สบร. มีเป้าหมายที่จะค้นหาผู้ที่ประสบความสำเร็จในกลุ่มนี้ให้เพิ่มมากขึ้น


คุณนิจสุดา อภินันทาภรณ์ จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ได้นำหลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL ไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยนำไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยก่อน โดยมีศูนย์เด็กปฐมวัยต้นแบบ หลังจากนั้นใน ปี พ.ศ. 2550 ก็นำไปใช้ในระดับประถมศึกษา สพฐ. มีการอบรมพัฒนาครูกันอย่างเข้มข้น 3 ปีต่อเนื่อง จัดทำสื่อทั้งด้านภาษาไทยและด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นฐานความรู้ของเด็กในวัยเริ่มเรียน เพื่อเป็นการวางรากฐานในชั้นเรียนที่สูงขึ้น สพฐ. ยังได้ดำเนินการพัฒนาสื่อและงานวิจัย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง จึงขยายผลไปสู่ระดับพื้นที่ โรงเรียนที่ผ่านการอบรมเห็นว่าการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี โรงเรียนอนุบาลหลายแห่งจึงดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อาทิ โรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ โรงเรียนอนุบาลขอนแก่น และในปีงบประมาณปัจจุบัน สพฐ. ได้ปูพรมเต็มพื้นที่โดยใช้หลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL ในการพัฒนาการเรียนการสอน มีการถ่ายทอดทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งสอดรับกับส่วนที่ สบร. การดำเนินการของ สพฐ. ในระดับพื้นที่หรือระดับนโยบาย ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ สพฐ. ได้ดำเนินการไปในช่วงแรกมีประมาณ 1,000 กว่าโรงเรียน มีทั้งประสบความสาเร็จและไม่ประสบความสาเร็จ ซึ่งขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและจริงจังของผู้บริหารแต่ละโรงเรียน การดำเนินงานของ สพฐ. มีทั้งการพัฒนาครู พัฒนาสื่อ และในปีนี้ได้มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ DLIT (www.dlit.ac.th)


สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาองค์ความรู้หรือแนวคิด BBL ไปสู่ครูนั้น ก็คือการสื่อให้ครูเข้าใจว่ากระบวนการทางสมองที่เป็นทฤษฎีที่ชัดเจนที่สุด จุดอ่อนของ สพฐ. คือ ครูซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ตัวเด็กหรือผู้เรียนมากที่สุดและเข้าใจลึกซึ้งถึงกระบวนการ สามารถถ่ายทอดทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติยังมีจำนวนไม่มาก สพฐ. จึงพยายาม ที่จะสื่อทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ให้เข้าถึงครูผู้สอนได้ง่ายที่สุด การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจเป็นสิ่งจำเป็น สาระความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าทางทฤษฎีจะต้องนำมากลั่นกรองและสร้างขึ้นใหม่ให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เมื่อเข้าใจแล้วเปิดใจรับ เปิดสมองเพื่อไปสู่การหาความรู้ แล้วเข้าสู่การปฏิบัติ จึงจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง สพฐ. เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก และในปีนี้ สพฐ. มี “โครงการพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี” สาเหตุจากรัฐบาลพบว่าเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สพฐ. จึงใช้แนวคิด BBL เป็นทางเลือกหนึ่งในการดำเนินโครงการ




ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1029.48 KB)

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning