OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

พ่อแม่กับการสร้างลูกที่มีคุณภาพ

20378


เวทีเสวนา เรื่อง พ่อแม่กับการสร้างลูกที่มีคุณภาพ


โดย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ อนุกรรมการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง

พญ.นนธนวนัณท์ สุนทรา
นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพมหานคร

คุณมณฑาทิพย์  เหตานุรักษ์
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพมหานคร

คุณอารีย์รัชต์  ชวกาญจนกิจ :  ผู้ดำเนินรายการ
นักจัดการความรู้อาวุโส งานพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ สบร. 


“พ่อแม่กับการสร้างลูกที่มีคุณภาพ” เป็นเวทีเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning: BBL)” ที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ผ่านเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ที่มีประสบการณ์จริง ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และวิธีการนำแนวคิดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปปรับใช้ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ โดยมีเนื้อหาสรุปตามหัวข้อเสวนา ดังนี้


บทสรุป


ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมอบรมเลี้ยงดูให้เด็กมีศักยภาพในการใช้ชีวิตในสังคม ดังนั้นการเรียนรู้สำหรับพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น การทำหน้าที่พ่อแม่ มีความรู้หลายอย่างที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ และควรมีโอกาสได้เรียนรู้ในการทำหน้าที่ของการเป็นพ่อแม่อย่างสมบูรณ์ โรงเรียนพ่อแม่จึงเป็นแหล่งให้ความรู้สำคัญที่พ่อแม่จะนำพาลูกไปสู่พฤติกรรมและพัฒนาการที่ดีของเด็ก เช่น สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก สายใยความผูกพันของพ่อแม่ส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกเมื่อเติบโตขึ้น การสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็ก


ตัวอย่างกิจกรรมจากหลักสูตรโรงเรียนพ่อแม่ เรื่อง ลูกฉลาดรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ของ รพ.ส่งเสริมสุขภาพมีขั้นตอน 2 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ ขั้นเปิดสมอง เพื่อให้ผู้รับบริการพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การให้คุณพ่อคุณแม่กอดกัน เป็นการให้อาหารใจอย่างหนึ่งและส่งผลถึงลูก หรือเปิดสมองด้วยการนั่งสมาธิ ขั้นให้ความรู้ และลงมือปฏิบัติ ผู้รับบริการมีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน อาจต้องมีการสอบถามความรู้เดิม เพื่อที่จะได้แนะนำได้ถูกจุดและถูกต้อง หรือจุดสำคัญที่พ่อแม่ยังเข้าใจไม่ถูกต้องและมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ เพราะฉะนั้นการสอนจะเน้นจุดสำคัญแต่ละจุดที่พ่อแม่อาจจะยังไม่รู้ เมื่อพ่อแม่มีความรู้ในสิ่งที่ถูกต้องแล้วจะมีความมั่นใจในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกในครรภ์


เนื้อหา


พญ.พรรณพิมล วิปุลากร กล่าวถึง สถานการณ์ปัจจุบันของครอบครัวในสังคมไทยว่า ครอบครัวทำหน้าที่สำคัญในการดูแลสมาชิกในครอบครัวทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ รวมถึงการดูแลคนรุ่นถัดไปซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานทางสังคมที่ครอบครัวทำให้กับสังคมมาโดยตลอด ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมอบรมเลี้ยงดูให้เด็กมีศักยภาพในการใช้ชีวิตในสังคม และเมื่อเกิดปัญหากับเด็ก สังคมมักตั้งคำถามกับครอบครัวเสมอ ซึ่งมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่ยังเป็นประเด็นร่วมกันในสังคมไทยที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้ครอบครัวหน่วยที่เล็กที่สุดและมีความสำคัญในสังคมได้เดินหน้าต่อไป


  • ถานการณ์เรื่องการดูแลเด็ก : พ่อแม่ทำหน้าที่ดูแลเด็กเป็นหลัก และมีภาระในการทำงานนอกบ้านด้วย 70-80% ของแม่ทำงานนอกบ้าน แม้ว่าแม่จำนวนหนึ่งทำงานอยู่กับบ้านแต่ก็มีชั่วโมงทำงาน สถานการณ์ที่พ่อแม่มีภาระในการทำหน้าที่หารายได้ให้ครอบครัว ซึ่งต้องจัดสมดุลชีวิตให้ได้กับการดูแลลูก
  • สถานการณ์ที่พ่อแม่ไม่ได้ดูแลลูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ : เป็นสถานการณ์ในสังคมไทยที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เราอยากให้พ่อแม่เป็นหลักในการดูแลเด็ก และถ้าจะส่งเสริมให้พ่อแม่ทำหน้าที่หลักในการดูแลลูกต้องมีการจัดการหลายอย่างให้กับพ่อแม่ โดยเฉพาะแม่ที่มีชั่วโมงทำงาน จึงเกิดสถานการณ์ทางเลือกสำหรับครอบครัวในการดูแลเด็ก จะทำอย่างไรให้ทางเลือกกับสภาพของพ่อแม่และการดูแลลูกยังเดินต่อไปได้

โรงเรียนพ่อแม่ สู่การเรียนรู้พัฒนาการสมองของเด็กตามช่วงวัย


การเรียนรู้สำหรับพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น การทำหน้าที่พ่อแม่ มีความรู้หลายอย่างที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ และควรมีโอกาสได้เรียนรู้ในการทำหน้าที่ของการเป็นพ่อแม่อย่างสมบูรณ์ พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าการมีลูกเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในชีวิตและเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการ 2 มือ โอบอุ้มลูกให้เติบโตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จากผลสำรวจของกรมกิจการเด็กและครอบครัว พบว่าสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กแบบไม่ตั้งใจเพิ่มมากขึ้น เช่น คำพูดที่กระทบกระเทือนจิตใจเด็กโดยที่พ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจจะใช้คำพูดที่รุนแรง


ความรู้สำคัญที่พ่อแม่จะนำพาลูกไปสู่พฤติกรรมและพัฒนาการที่ดีของเด็ก


สมองเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องหมั่นเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าสมองส่งผลต่อเด็กไปตามวัยของเด็ก สมองทุกส่วนเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ดูแลการเจริญเติบโตให้กับร่างกายและจิตใจของเด็ก ช่วงวัยเจริญเติบโตของเด็กจะเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ในด้านอารมณ์และความรู้สึกด้วยการสัมผัสรู้ และใช้ประสบการณ์เป็นต้นทุนชีวิตเพื่อเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ต่อไป เด็กจะเก็บบันทึกไว้ในสมองว่าสัมผัสนี้ เรียกว่า ความรัก ความอบอุ่น กระบวนการเชื่อมต่อทั้งหมดของสมองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการเจริญเติบโตของร่างกาย ทุกอย่างเติบโตและบันทึกไว้เหมือนพิมพ์เขียวเมื่อเด็กได้รับสิ่งเหล่านั้น พ่อแม่ต้องสร้างพิมพ์เขียวที่ดีที่สุดเพื่อพัฒนาการของลูกที่สมวัยและเหมาะสม เมื่อเด็กเจริญเติบโตและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว เด็กจะต้องเรียนรู้อะไรคือเรื่องสำคัญในชีวิต สิ่งนี้คือความสำคัญของพ่อแม่ที่ต้องตอกย้ำด้วยความชัดเจนในสิ่งที่ใช่และไม่ใช่ให้กับเด็ก เด็กจะละทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่ และเหลือแต่สิ่งที่ใช่เท่านั้น ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่ระบบการจัดระเบียบสมองของเด็กที่สวยงาม วงจรชีวิตครอบครัวที่เชื่อมโยงไปตามวัยของเด็ก (Family Life Cycle) ในแต่ละวัยของเด็ก พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจว่ามีหลายเรื่องที่เชื่อมต่อกันอยู่ มองเห็นและรู้ว่าแต่ละช่วงวัยของเด็กที่เติบโต มีสิ่งที่ต้องทำ


สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ส่งผลกระทบต่อสมองของเด็ก


จากผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตสนับสนุนว่าระดับสติปัญญาของเด็กลดลงเมื่อเติบโตขึ้น หมายความว่า เด็กเกิดมามีต้นทุนของสมองพร้อมแต่สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก แทนที่เด็กจะเริ่มเรียนรู้และจัดระเบียบสมองที่สวยงาม กลับทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหลือส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ และค่อยๆ ปรากฏพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม


สายใยความผูกพันจากพ่อแม่ถูกสะสมในแต่ละช่วงวัยของเด็ก


เมื่อเด็กเกิดปัญหา ทำไมเด็กบางคนหยุดแล้วถอยตัวเองออกมาจากปัญหาได้ทันในช่วงวัยที่เด็กมีความเสี่ยง เพราะในวินาทีนั้นเด็กคิดถึงคำที่พ่อแม่เคยพูด เป็นสายใยความผูกพันที่มีความชัดเจนในความหวังดี ซึ่งในสังคมต้องเอื้อให้พ่อแม่สร้างสายใยและความความผูกพันกับลูก โดยมีองค์ประกอบของความผูกพันเป็นทุกส่วนรวมกัน ทางสังคมหมายถึงปฏิกิริยาในแต่ละวัยที่อยู่ด้วยกัน พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจสถานการณ์ทางสังคมและเปลี่ยนบทบาทจากคนทำงานมาเป็นบทบาทพ่อแม่เมื่อกลับถึงบ้าน


การสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กในเรื่องความดี


เป็นเรื่องของอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนมาก ต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ให้รากของความดีฝังอยู่ข้างในจิตใจ มีงานศึกษายืนยันว่าเด็กที่อยู่ในสถานการณ์ที่กังวลหรือหวาดกลัว พบว่า เป็นความเครียดขั้นเป็นพิษ (Toxic Stress) ที่มีผลต่อสมองเด็ก พ่อแม่คือคนที่ทำนุบำรุงจิตใจลูกมากที่สุด และพ่อแม่ต้องเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อมีแรงกดดันทางอารมณ์เกิดขึ้น ความรู้ที่สำคัญเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนพ่อแม่จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจถึงองค์ประกอบทางความคิดของพ่อแม่กับการดูแลลูกที่สอดคล้องกัน เป็นบทเรียนเล็กๆ ของพ่อแม่ในการดูแลลูกเพื่อให้มีโอกาสช่วยลูกไปสู่พฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก “พ่อแม่คือคนที่ดีที่สุดสำหรับลูกเสมอ”


พญ.นนธนวนัณท์ สุนทรา จากโรงพยาบาลส่งเสริม ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพ สังกัดกรมอนามัย กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเป็นโรงพยาบาลมาตรฐานอนามัยแม่และเด็ก มีหลักสูตรโรงเรียนพ่อแม่ในโรงพยาบาลและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 มีจุดบริการเพื่อให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ฝากครรภ์ ห้องคลอด ห้องผ่าตัด หลังคลอด และดูแลไปจนถึงเด็กปฐมวัย 5 ขวบ ปัจจุบันได้นำหลักการพัฒนาสมอง( BBL) มาใช้พัฒนาหลักสูตรโรงเรียนพ่อแม่ และพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ซึ่งจากเดิมที่มีลักษณะการสอนที่เน้นให้ความรู้อย่างเดียว ไม่ได้คำนึงถึงผู้รับบริการจะเรียนรู้และนำกลับไปใช้ได้หรือไม่ เมื่อนำ BBL เข้ามาปรับหลักสูตร มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละจุดบริการ และวิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมดในภาพรวม ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงวัยเด็ก และรวบรวมสาระสำคัญ จัดเป็นกิจกรรรมการสอนที่มีความเชื่อมโยงมากขึ้นเน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจความรู้นั้นด้วยตนเอง เกิดการจดจำและนำไปใช้ ได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับแม่ สร้างสายใยรักในครอบครัว ซึ่งผลการประเมินพบว่าทำให้ผู้รับบริการมีความสุขมากขึ้น มีความตั้งใจเรียนเพื่อนำความรู้กลับไปใช้ สื่อที่ใช้ในการเรียนการสอนก็เป็นสื่อที่พ่อแม่สามารถทำได้ง่ายๆ ประหยัด และใช้กระตุ้นพัฒนาการของลูกได้เป็นอย่างดี


คุณมณฑาทิพย์ เหตานุรักษ์ ยกตัวอย่างกิจกรรมจากหลักสูตรโรงเรียนพ่อแม่ เรื่อง ลูกฉลาดรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ของ รพ.ส่งเสริมสุขภาพมีขั้นตอนดังนี้ ขั้นแรกเปิดสมอง เพื่อให้ผู้รับบริการพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การให้คุณพ่อคุณแม่กอดกัน เป็นการให้อาหารใจอย่างหนึ่งและส่งผลถึงลูก หรือเปิดสมองด้วยการนั่งสมาธิ ขั้นสองให้ความรู้ และลงมือปฏิบัติ ผู้รับบริการมีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน อาจต้องมีการสอบถามความรู้เดิม เพื่อที่จะได้แนะนำได้ถูกจุดและถูกต้อง หรือจุดสำคัญที่พ่อแม่ยังเข้าใจไม่ถูกต้องและมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ เพราะฉะนั้นการสอนจะเน้นจุดสำคัญแต่ละจุดที่พ่อแม่อาจจะยังไม่รู้ เมื่อพ่อแม่มีความรู้ในสิ่งที่ถูกต้องแล้วจะมีความมั่นใจในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกในครรภ์ เช่น


  • การพูดคุยกับลูกในครรภ์ จุดสำคัญคือ ต้องทำขณะที่ลูกตื่น ไม่ปลุกลูกตอนที่หลับอยู่จะทำให้เด็กพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกจะตื่นในช่วงหลังอาหารมื้อเย็น
  • การใช้ไฟฉายส่องผ่านทางหน้าท้องตอนลูกหลับ จุดสำคัญคือ ไฟฉายที่ใช้กระตุ้นลูกในครรภ์ แสงที่ใช้ไม่ควรใช้แสงที่จ้าเกินไป
  • การกระตุ้นสัมผัสลูกในครรภ์ จุดสำคัญคือ น้ำหนักที่ลงไปตรงท้องคุณแม่ไม่ควรแรงเกินไป



ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1029.48 KB)

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning