OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

สนามเด็กเล่นตามหลัก Brain-Based Learning (BBL) : แหล่งเรียนรู้การเล่นตามรอยพระยุคลบาท

44504


เวทีเสวนา เรื่อง สนามเด็กเล่นตามหลัก BBL : แหล่งเรียนรู้การเล่นตามรอยพระยุคลบาท


โดย

นายดิสกร กุนธร
สถาปนิกผู้ออกแบบการศึกษา

นางจรรยา  เรืองมาลัย
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1

นายรุ่ง  อุดมศิริ
ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านมะเกลือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เลขา  ปิยะอัจฉริยะ : ผู้ดำเนินรายการ
รองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง
และที่ปรึกษางานพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ สบร.  


“สนามเด็กเล่นตามหลัก BBL : แหล่งเรียนรู้การเล่นตามรอยพระยุคลบาท” เป็นเวทีเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning: BBL)” ที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ผ่านเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ที่มีประสบการณ์จริง ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และวิธีการนำแนวคิดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่เล่นและเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (BBL) สำหรับเด็กระดับปฐมวัยและประถมศึกษาในสถานศึกษา รวมถึงการจัดกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านสำหรับเด็ก ให้เด็กได้ค้นพบตนเองและเติบโตไปเป็นคนที่ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ พัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง โดยมีเนื้อหาสรุปตามหัวข้อเสวนา ดังนี้


บทสรุป


สนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง “เล่นตามรอยพระยุคลบาท”


เกิดจากการน้อมนำแนวพระราชดำริในการอบรมเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาของสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีมาเป็นแนวทางในการออกแบบองค์ประกอบและกิจกรรมที่จัดขึ้นในสนามเด็กเล่นให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของสมองเด็ก กรณีศึกษา การพัฒนาสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง “เล่นตามรอยพระยุคลบาท” โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 (สพป.นว.1) เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของสมอง จากนั้นทาง สพป.นว.1 นำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกรรมการสถานศึกษา อบต.ในพื้นที่ ไปศึกษาดูงานสนามเด็กเล่นที่พัฒนาตามหลักการพัฒนาสมองเพื่อให้เกิดความเข้าใจ แล้วจึงนำความรู้มาจัดองค์ประกอบของสนามเด็กเล่น โดยกำหนดว่า พื้นที่สนามเด็กเล่นที่พัฒนาประสาทรับรู้ของเด็กปฐมวัย ของสนามเด็กเล่น “เล่นตามรอยพระยุคลบาท” นั้น ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วน ได้แก่


  • พื้นที่พัฒนาระบบผิวสัมผัส ประกอบด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมที่เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกันในระหว่างทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ/กิจกรรมกลางแจ้ง
  • พื้นที่พัฒนาระบบสร้างสมดุล ประกอบด้วย กิจกรรมที่ฝึกการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้งแนวดิ่งและแนวราบ กิจกรรมการแกว่ง การเล่นกระดานลื่น การปีนเครื่องเล่นสนาม การเดินบนพื้นผิวที่ขรุขระ ไม่ราบเรียบ และกิจกรรมการโยก การทรงตัว การวิ่งจ๊อกกิ้ง และการตีลังกา
  • พื้นที่พัฒนาระบบสัมพันธภาพของร่างกาย เช่น การโหนบาร์ การชักเย่อ การโยนบอล การผลักกล่องที่มีน้ำหนักในทิศทางต่าง ๆ การชก หรือดันหมอนขนาดใหญ่ และการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเล็ก

ผลการพัฒนาสนามเด็กเล่นตามรอยพระยุคลบาทของโรงเรียนวัดบ้านมะเกลือ ทางโรงเรียนจัดให้มีครูคอยดูแลทุกจุด ด้านล่างของบ้านต้นไม้เป็นพื้นที่พัฒนาระบบผิวสัมผัส ซึ่งจะมีกิจกรรมให้เด็กได้เล่นน้ำ สร้างเขื่อน ขุดคลอง ต่อจิ๊กซอว์จากอิฐแดง และเศษไม้ เห็นได้ชัดว่าเด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย เด็ก ๆ เกิดความสุข เกิดจินตนาการจากการเล่น ได้สัมผัสกับธรรมชาติช่วยลดความเครียด นอกจากนั้น ในวันหยุดทางโรงเรียนอนุญาตให้ผู้ปกครองพาเด็กเข้ามาเล่นได้



เนื้อหา


อ.ดิสกร กุนธร ผู้ออกแบบสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง “เล่นตามรอยพระยุคลบาท” กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมองฯ ว่า วิธีการเรียนของไทยในปัจจุบันทำให้เด็กเป็นทุกข์ ไม่เหมือนการเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำตัวตามสบาย ส่งผลให้เด็กมีอิสระทางความคิด ดังนั้น การศึกษาทั้งหมดควรเกิดจากอารมณ์ที่ดี มีทัศนคติกับการเรียนรู้ที่สนุก สนามเด็กเล่นเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ก้าวต่อไปของเด็กได้ค้นพบตัวเอง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กกลายเป็นเด็กแว้น แม่วัยใส ติดยาเสพติด เนื่องมาจากความทุกข์ ความทุกข์ทางการศึกษา ทั้งผู้อำนวยการ ครู รัฐบาล แล้วเราจะทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขได้อย่างไร เปรียบได้กับมนุษย์ที่มีจิตใจเหมือนลิง อยากปีนต้นไม้ กินขนม รับลมเย็นๆ แต่เราถูกบังคับให้ไปโรงเรียน ถ้าเราเอาหัวใจของมนุษย์มาตีแผ่ ใส่ความสุขลงไปในระบบการเรียนรู้ ให้ทุกคนเรียนรู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข


สมเด็จย่า ท่านใช้กระบวนการอบรมเลี้ยงดูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างถูกหลักของมนุษย์ คือให้ความสุขของชีวิตในวัยเด็ก ให้อารมณ์ที่ดีต่อชีวิตในวัยเด็ก เพราะอารมณ์จะขับเคลื่อนการทำงานของสมอง เมื่อเรามีอารมณ์ดีสมองจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) แต่ถ้าเข้ามาอยู่ในระบบที่จัดการเรียนรู้ที่มีการบังคับให้เด็กคัดลายมือ และบังคับให้เด็กอ่านหนังสือ เด็กจะไม่มีความสุข สมองสะสมสารพิษที่เรียกว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด ดังนั้นเราต้องให้เด็กได้ผ่อนคลายในสนามเด็กเล่นที่เป็นธรรมชาติ สมเด็จย่าท่านทรงพาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่นกลางแจ้ง เล่นกับต้นไม้ สายลม แสงแดด ดิน ทราย น้ำ ไฟ ลม การเล่นรูปแบบนี้สามารถเล่นได้ทั้งเด็กปกติ และเด็กพิเศษ สมองของเด็กพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กแรกเกิดขึ้นมามีความฉลาดมาก สามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง เรียนภาษาได้ 7 ภาษา เด็กสามารถเรียนรู้ได้หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้รู้จักมนุษย์


Brain-Based Learning คือ การเรียนรู้ที่มีพื้นฐานมาจากสมอง อีกตัวหนึ่งที่สำคัญคือ Mind คือ หัวใจ จิตวิญญาณ ตัวรู้ เราต้องทำให้ “ตัวรู้” มีความสุข ทำอย่างไรถึงจะทำให้มีความสุข สามารถศึกษาได้จากสมเด็จย่า ความสุขที่ยั่งยืน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนประชาชน คือความสุขที่เกิดจากการให้ ที่จะสร้างสารแห่งความสุขในสมอง


บทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 (สพป.นว.1) ในการพัฒนาสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง “เล่นตามรอยพระยุคลบาท” อ.จรรยา เรืองมาลัย ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สพป.นว.1 กล่าวว่า การพัฒนาสนามเด็กเล่น เริ่มต้นต้องเข้าใจแก่นของเรื่อง การพัฒนาเด็กตามหลัก BBL แก่นอยู่ตรงไหน องค์ความรู้ที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของสมองคืออะไร จากนั้นทาง สพป.นว.1 นำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกรรมการสถานศึกษา อบต.ในพื้นที่ ไปศึกษาดูงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เมื่อเกิดความเข้าใจแล้วจึงนำความรู้มาจัดองค์ประกอบของสนามเด็กเล่น โดยกำหนดว่า พื้นที่สนามเด็กเล่นที่พัฒนาประสาทรับรู้ของเด็กปฐมวัย ของสนามเด็กเล่น “เล่นตามรอยพระยุคลบาท” นั้น ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วน ดังนี้


  • พื้นที่พัฒนาระบบผิวสัมผัส ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

    1. กิจกรรมสร้างสรรค์ การระบายสีด้วยนิ้วมือและฝ่ามือ การวาดภาพด้วยนิ้วโดยใช้สบู่บนพื้นฟอร์ไมก้า การวาดภาพด้วยนิ้วมือบนแขน ขา ลำตัว หลัง การเล่นทราย การฝนสีด้วยกระดาษทราย การนวดแป้ง ดินน้ำมัน
    2. กิจกรรมที่เด็กมีโอกาสสัมผัสรับรู้วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกันในระหว่างทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ผ้ากระสอบ ผ้า สักหลาด กำมะหยี่ ฯลฯ
    3. กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ/กิจกรรมกลางแจ้ง ที่เปิดโอกาสให้เด็กถอดรองเท้าสัมผัสกับพื้นผิวที่ต่างกัน รวมถึงกิจกรรมที่เด็กจะได้รับรู้อุณหภูมิต่างกันของวัตถุ เช่น ร้อน อุ่น เย็น
  • พื้นที่พัฒนาระบบสร้างสมดุลร่างกาย ซึ่งจะช่วยเรื่องการเขียนอ่าน เด็กเล็กๆต้องการรับรู้ตำแหน่ง ดังนั้นกิจกรรมในพื้นที่จึงประกอบด้วย

    1. กิจกรรมที่ฝึกการเคลื่อนไหวของร่างกาย การหมุนรอบตัวเอง การเคลื่อนไหวในแนวราบ การเคลื่อนไหวในแนวดิ่ง เช่น การกระโดดยาง กระโดดเท้าคู่ การกลิ้งตัวในกล่องแข็ง การกลิ้งไปบนพื้นราบ หรือการกลิ้งลงทางลาด
    2. กิจกรรมการแกว่งทั้งในแนวเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก เช่น การหมุนทั้งทวนและตามเข็มนาฬิกา การเล่นกระดานลื่น การปีนเครื่องเล่นสนาม การเดินบนพื้นผิวที่ขรุขระ ไม่ราบเรียบ
    3. กิจกรรมการโยก การทรงตัว การวิ่งจ๊อกกิ้ง และการตีลังกา
  • พื้นที่พัฒนาระบบสัมพันธภาพของร่างกาย ช่วยในเรื่องการตัดสินใจของเด็ก เนื่องจาก อวัยวะที่เป็นระบบสัมพันธภาพของร่างกาย จะอยู่ใต้ระบบผิวสัมผัส ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเอ็นและข้อต่อ ทำให้เด็กเรียนรู้ตำแหน่งของร่างกาย อัตราการเคลื่อนไหว ทิศทางและความเร็วของการเคลื่อนไหวแขน ขา ดังนั้นกิจกรรมจะประกอบด้วย

    1. กิจกรรมลักษณะที่มีแรงดึงต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ เช่น การหิ้วของที่มีน้าหนัก การโหนบาร์ การชักเย่อ การโยนบอล ขว้างบอล และการลากของ หรือกล่องที่มีน้ำหนัก
    2. กิจกรรมลักษณะที่ใช้แรงกดต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อต่อ เช่น การผลักกล่องที่มีน้ำหนักในทิศทางต่าง ๆ การชก หรือดันหมอนขนาดใหญ่ การผลัก ดันฝ่ามือกับผนังหรือเพื่อน และการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเล็ก

การดำเนินงานจัดทำสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมองฯ โดย อาจารย์รุ่ง อุดมศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านมะเกลือ โรงเรียนนำร่องโครงการพัฒนาสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมองฯ กล่าวว่า เด็กทุกคนต้องการเล่น การเล่นทำให้เด็กได้ลองผิดลองถูก เด็กจะเกิดการเรียนรู้ และเกิดการจำเป็นบทเรียน ถอดบทเรียนให้เป็นความรู้ติดตัวไป เมื่อเกิดความสำเร็จ จะทำให้เกิดความพึงพอใจ มีความสุข ภาคภูมิใจ และอยากที่จะเล่นซ้ำ ซึ่งคือวงจรมหัศจรรย์ของการเรียนรู้ ทางโรงเรียนวัดบ้านมะเกลือนั้น ในตอนเช้าก่อนเข้าเรียนจะให้เด็กออกกำลังกาย 20 นาที โดยการเล่นที่สนามเด็กเล่นฯ เด็กจะมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย ซึ่งมีครูคอยดูแลเด็กทุกมุม ด้านล่างของบ้านต้นไม้เป็นพื้นที่พัฒนาระบบผิวสัมผัส ซึ่งจะมีกิจกรรมให้เด็กได้เล่นน้ำ สร้างเขื่อน ขุดคลอง ต่อจิ๊กซอว์จากอิฐแดง และเศษไม้ เด็กๆเกิดความสุข เกิดจินตนาการจากการเล่น ได้สัมผัสกับธรรมชาติช่วยลดความเครียด ในวันหยุดทางโรงเรียนอนุญาตให้ผู้ปกครองพาเด็กเข้ามาเล่นได้


วิธีดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่น เริ่มต้นจากการดูงาน หลังจากนั้นทางโรงเรียนสร้างความตระหนักให้กับชุมชนรับรู้รับทราบว่าโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมองฯ ที่โรงเรียนจะดำเนินการสร้างนั้นจะอยู่กับชุมชน ดังนั้นคณะทำงานในการออกแบบและสร้างสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าอาวาสวัดบ้านมะเกลือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคเอกชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์ ต้นไม้ แรงงาน และทุนทรัพย์ เพื่อจัดทำสนามเด็กเล่น หลังจากที่สร้างสนามเด็กเล่นแล้วมีปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นคือสามารถช่วยให้เด็กคนหนึ่งที่เดินไม่ได้มา 6 - 7 ปี สามารถกลับมาเดินได้ เนื่องจากเด็กได้ออกกำลัง ปีนป่าย หัดว่ายน้ำ ไต่เชือก ทางโรงเรียนให้เด็กได้เล่นที่สนามเด็กเล่นในช่วงเช้า และลดกิจกรรมหน้าเสาธงให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนในเรื่องของความปลอดภัย ใช้การบริหารจัดการภายในโรงเรียน โดยครู บุคลากร ผู้ปกครอง ช่วยกันดูแลเรื่องความปลอดภัย ระบบบำบัดน้ำในสระใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยนำถ่าน หินหยาบ หินละเอียด ทรายหยาบ ทรายละเอียด กรองน้ำในสระใหญ่ผ่านเครื่องกรองออกมาเป็นน้ำใส และปั๊มน้ำใสมาใส่สระเล็ก และให้ล้นจากสระเล็กไปหาสระใหญ่ ทำให้น้ำไม่เน่า


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ บุญเกิด ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า สนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมองฯ นี้พัฒนา และต่อยอดมาจากโรงเรียนวัดโป่งแยงเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนในโครงการนำร่อง BBL ซึ่งแรกเริ่มเป็นสนามเด็กเล่นง่ายๆ ที่มีบ่อทราย เครื่องปีนป่าย ยังสามารถทำให้เด็กชาวเขาสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ สนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมองฯ ทำให้ความเครียดของเด็กสลายไป เด็กได้ค้นพบตนเอง ช่วยเพิ่มสมาธิของเด็ก หากในประเทศไทยมีสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมองฯ ทั่วประเทศ อนาคตเด็กไทยจะเข็มแข็ง แข็งแรง ประเทศไทยจะมีนักกีฬาเกิดขึ้นอีกมากมาย



ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1029.48 KB)

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning