OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง

40469


เวทีเสวนา เรื่อง “แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง”


โดย

อาจารย์ พันธุ์ศักดิ์ ตั้งใจดี
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประถมศึกษา โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

อาจารย์ พรรณี ตั้งใจดี
ครูผู้สอน โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

อาจารย์ วลัยพร ยะอนันต์
ครูผู้สอน โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

อาจารย์วัฒนสิทธิ์ ชุนโอภาส
ครูผู้สอน โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

คุณนลินี โสรณสุทธิ : ผู้ดำเนินรายการ
นักจัดการความรู้อาวุโส งานพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้


“แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง” เป็นเวทีเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning: BBL)” ที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ผ่านเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ที่มีประสบการณ์จริง ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และวิธีการนำแนวคิดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปปรับใช้ในการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนนำร่อง BBL ระดับอนุบาลและประถมศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน โดยมีเนื้อหาสรุปตามหัวข้อเสวนา ดังนี้


บทสรุป


กรณีศึกษาการนำองค์ความรู้ BBL มาสังเคราะห์เป็น “รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ในบริบทของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย” ที่เรียกสั้นๆ ว่า “PRC BBL Model” ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้


  • ขั้นเตรียมความพร้อม เพื่อเป็นการกระตุ้นสมองโดยใช้การเคลื่อนไหว เพลง การทำสมาธิ เป็นต้น
  • ขั้นเรียนรู้ ในขั้นตอนนี้จะคำนึงถึงหลักการทำงานของสมองที่ว่า “เรียนรู้จากง่ายไปหายาก เรียนรู้จากของจริง และจากการสัมผัส”
  • ขั้นฝึก ขั้นนี้จะสอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองที่ว่า “สมองจะจดจำได้ดีนำไปสู่ความจำระยะยาว (Long-term Memory) ต้องผ่านกระบวนการฝึกซ้ำๆ” คุณครูจึงจำเป็นต้องออกแบบใบงานที่แตกต่างหลากหลายเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนเรื่อยๆ
  • ขั้นสรุป ฝึกให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้ภายในบทเรียน สอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองที่ว่า “สมองเรียนรู้เป็นองค์รวม”
  • ขั้นประยุกต์ใช้ทันทีทันใด

การที่เด็กเรียนแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้นั้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ถึงร้อยละ 90 ดังนั้น เมื่อจบบทเรียน คุณครูต้องคิด ต้องออกแบบ เชื่อมโยงความรู้ทั้งหน่วย นำแบบทดสอบมาให้เด็กทดลองทำผลจากการนำหลักการพัฒนาสมองมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย


  1. ผลที่เกิดขึ้นกับครู : ทำให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเอง ครูมีความสุข กระตือรือร้นในการทำงาน มีความมั่นใจและเกิดความท้าทายในการประกอบวิชาชีพครู
  2. ผลที่เกิดกับนักเรียน : นักเรียนมีความสุข มีสมาธิ มีวินัยมากขึ้น มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และกล้าแสดงออกมากขึ้น นอกจากนี้นักเรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านและการเขียน มีพัฒนาการทางความคิด สามารถเชื่อมโยงความรู้และคิดวิเคราะห์ได้


เนื้อหา


อาจารย์ พันธุ์ศักดิ์ ตั้งใจดี กล่าวให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำโครงการการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based learning: BBL) ว่า โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนเอกชน สังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน ก่อนที่ทางโรงเรียนจะเข้าร่วมโครงการฯ กับสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) หน่วยงานภายในของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) นโยบายของผู้บริหารโรงเรียนในสมัยนั้นเห็นความสำคัญในการนำความรู้เรื่องสมองที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาคุณครูและการเรียนการสอน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของชาติในที่สุด โดย อาจารย์สิริลักษณ์ เฟื่องกาญจน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนฝ่ายวิชาการในขณะนั้น ได้เรียนเชิญแพทย์หญิงศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง มาให้การอบรมความรู้เรื่องสมองกับคณะครูของโรงเรียน หลังจากนั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ของ สวร. โดยเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องจากทั้งหมด 12 โรงเรียน ซึ่งทางโครงการฯ ก็ได้ให้การอบรมความรู้เรื่องสมอง และการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง หลังจากนั้นอีกประมาณ 2-3 ปี คุณครูเริ่มมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการทำงานของสมองเพิ่มมากขึ้น และเริ่มนำหลักการนี้ไปทดลองใช้กับเด็ก คุณครูทุกกลุ่มสาระของโรงเรียนได้ร่วมกันสร้างรูปแบบการสอนตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL แต่ในขณะนั้นก็ยังค่อนข้างกระจัดกระจาย


ต่อมาอาจารย์สิริลักษณ์ เฟื่องกาญจน์ จึงได้มีแนวคิดในการนำรูปแบบการสอนของทุกกลุ่มสาระมาสังเคราะห์ให้เป็นรูปแบบการสอนที่สอดคล้องกระบวนการทำงานของสมองของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหลักการทำงานของสมอง 12 ประการ ความเหมือนและความแตกต่างของรูปแบบการสอนในแต่ละกลุ่มสาระ การจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตลอดจนศึกษารูปแบบและกระบวนการสอนจากผู้เชี่ยวชาญ แล้วจึงนำมาสังเคราะห์เป็น “รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ในบริบทของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย” ที่เรียกสั้นๆ ว่า “PRC BBL Model” ทั้งนี้ อาจสรุปได้ว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในการนำหลักการพัฒนาสมองมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนมาจนถึงปัจจุบัน


PRC BBL Model ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้


  • ขั้นตอนที่ 1 : เตรียมความพร้อม (Warm Up) เพื่อเป็นการกระตุ้นสมอง ตามหลักการทำงานของสมอง เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีความสุข สมองจะหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งสารนี้มีความสำคัญมาก ช่วยให้มีจิตใจที่สงบและเกิดสมาธิ ซึ่งจะแตกต่างจาก เอนดอร์ฟิน (Endorphin) และ โดพามีน (Dopamine) ที่จะช่วยให้มีความสุขและสนุกสนาน ซึ่งขั้นตอนนี้นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยทางโรงเรียนได้กำหนดไว้ว่า ทุกชั่วโมงที่ครูเข้าสอน ครูจะต้อง Warm Up ก่อนเสมอ โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที
  • ขั้นตอนที่ 2 : เรียนรู้ (Learning Stage) ในขั้นตอนนี้จะคำนึงถึงหลักการทำงานของสมองที่ว่า “เรียนรู้จากง่ายไปหายาก เรียนรู้จากของจริง และจากการสัมผัส” จากการศึกษาทางประสาทวิทยาศาสตร์พบว่า “มือ” เป็นอวัยวะที่มีประสาทสัมผัสที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ดีที่สุด รองลงมาคือ “ปาก” นั่นก็หมายถึง ต้องให้เด็กพูด หรือสื่อสาร การสื่อสารจะช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงเรื่องได้ ดังนั้น การออกแบบรูปแบบการสอน สื่อการสอน คุณครูต้องคำนึงถึงหลักการทำงานของสมองอย่างมาก การเรียนการสอนจึงจะประสบความสำเร็จ ในขั้นตอนที่ 2 นี้ มีขั้นตอนย่อยที่สำคัญหนึ่งคือ “การสรุปในแต่ละชั่วโมง” ทางโรงเรียนได้สนับสนุนให้มีการฝึกอบรม Graphic Organizer ให้แก่คุณครูทุกกลุ่มสาระ ตลอดจนหนังสือที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศ เพื่อให้คุณครูใช้เป็นเครื่องมือในการสรุปที่ช่วยให้เด็กเกิดความสนุก เกิดการเรียนรู้ และจดจำได้ง่ายขึ้น
  • ขั้นตอนที่ 3 : ขั้นการฝึก ขั้นนี้จะสอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองที่ว่า “สมองจะจดจำได้ดีนำไปสู่ความจำระยะยาว (Long-term Memory) ต้องผ่านกระบวนการฝึกซ้ำๆ” คำว่า “ซ้ำๆ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การทำโจทย์เดิมซ้ำๆ แต่หมายถึงการใช้หลักการ เช่น หลักการบวก ก็นำไปใช้กับการบวกที่แตกต่างกันออกไปในโจทย์ คุณครูจึงจำเป็นต้องออกแบบใบงานที่แตกต่างออกไป เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนเรื่อยๆ
  • ขั้นตอนที่ 4 : ขั้นการสรุป ขั้นนี้เป็นการสรุปเมื่อจบบทเรียนหรือหน่วย ซึ่งแตกต่างจากขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นการสรุปในแต่ละชั่วโมง ในขั้นตอนนี้เป็นการเชื่อมโยงความรู้ทั้งหน่วย โดยใช้ Graphic Organizer ฝึกให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้ภายในบทเรียน สอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองที่ว่า “สมองเรียนรู้เป็นองค์รวม” ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญต่อเด็กมาก และเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยาก ครูเองก็จำเป็นต้องฝึกฝนบ่อยๆ เช่นกัน
  • ขั้นตอนที่ 5 : ขั้นการประยุกต์ใช้ทันทีทันใด การที่เด็กเรียนแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้นั้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ถึงร้อยละ 90 ดังนั้น เมื่อจบบทเรียน คุณครูต้องคิด ต้องออกแบบ เชื่อมโยงความรู้ทั้งหน่วย นำข้อสอบมาให้เด็กทดลองทำ

ผลจากการนำหลักการพัฒนาสมองมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย


  • ผลที่เกิดขึ้นกับครู : ทำให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเอง ครูมีความสุข กระตือรือร้นในการทำงาน มีความมั่นใจและเกิดความท้าทายในการประกอบวิชาชีพครู
  • ผลที่เกิดกับนักเรียน : นักเรียนมีความสุข มีสมาธิ มีวินัยมากขึ้น มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และกล้าแสดงออกมากขึ้น นอกจากนี้นักเรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านและการเขียน มีพัฒนาการทางความคิด สามารถเชื่อมโยงความรู้และคิดวิเคราะห์ได้

ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในการนำหลักการพัฒนาสมองมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยนั้น สามารถกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งได้เห็นถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งต่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี นอกจากนี้ องค์กรจะต้องมีความรู้มากเพียงพอ ต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ตลอดจนต้องมีการสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย



ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1029.48 KB)

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning