OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การป้องกันและการแก้ปัญหา "เด็กแว้นและเด็กสก๊อย"

49385


เวทีเสวนาเรื่อง การป้องกันและการแก้ปัญหา “เด็กแว้นและเด็กสก๊อย”


โดย

พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์
หมอสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)

คุณวรากร มณฑาทิพย์ 
ตัวแทนรุ่นพี่เยาวชนผู้ทำกิจกรรมจิตอาสา เครือข่ายเยาวชนเพชรวิเศษ

คุณฉัตรชัย อร่ามโชติ
เยาวชนในโครงการเพชรวิเศษ จังหวัดอ่างทอง

คุณสรรชัย หนองตรุด : ผู้ดำเนินรายการ
หัวหน้าฝ่ายงานสารคดีสถาบันรามจิตติ


การป้องกันและการแก้ปัญหา “เด็กแว้นและเด็กสก๊อย” เป็นเวทีเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning: BBL)” ที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ผ่านเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ที่มีประสบการณ์จริง ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และวิธีการนำแนวคิดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปปรับใช้ในการพัฒนาอนาคตของชาติและแก้ปัญหา “เด็กแว้นและเด็กสก๊อย” ในสังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน โดยมีเนื้อหาสรุปตามหัวข้อเสวนา ดังนี้


บทสรุป


ในสภาพสังคมปัจจุบัน วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่เรียนไม่เก่งมักจะถูกผู้ใหญ่ตีตราว่า “มีปัญหา” ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความสุข ไม่ได้รับการยอมรับ จนต้องพยายามหาทางปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองโดยทำกิจกรรมที่ท้าทาย หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อแสวงการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่น สมองส่วนเหตุผลคิดแก้ปัญหายังอยู่ระหว่างการพัฒนา ควรฝึกให้เด็กแก้ปัญหา เพื่อให้เด็กสามารถคิดซับซ้อนแก้ปัญหาได้เต็มศักยภาพ การเข้าร่วมกิจกรรมหรือเข้าค่ายเป็นการจัดปรับกลไกหลายอย่าง ทั้งความคิด พฤติกรรม ความสามารถ กลุ่มสังคม เพราะจะเป็นการฝืนสิ่งที่อยากทำในช่วงแรก และจะดึงความสามารถศักยภาพออกมาเพื่อทำให้ได้ ตัวอย่างกิจกรรมในโครงการเพชรวิเศษ เช่น เรียนรู้ประวัติศาสตร์ การไปดำนา การทำกับข้าวกันเอง เป็นกิจกรรมที่เด็กไม่เคยทำมาก่อน ผู้ใหญ่ให้การยอมรับและชื่นชม เกิดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยวัยรุ่นรุ่นก่อนจะมาเป็นพี่เลี้ยงให้รุ่นต่อไปและหาทุนมาทำกิจกรรม ส่วนการฟื้นฟูวัยรุ่น ต้องเป็นสัมพันธภาพที่สบายๆ แนะนำสิ่งใหม่ๆ ให้วัยรุ่น ให้เกิดความตระหนักว่าทุกความสามารถที่เพิ่มขึ้นคือการเรียนรู้ทั้งหมด ทำให้เด็กคิดไตร่ตรองจากการใช้ตนเองเป็นฐาน และพบว่าความสามารถของเขาเพิ่มขึ้น มีคนยอมรับ ทำให้การคิดตัดสินใจต่อชีวิตของเขาเปลี่ยนไป พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไปด้วยตัวเขาเอง


เนื้อหา


วิถีชีวิตเด็กวัยรุ่น ทำความเข้าใจพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นไปเป็นเด็กแว้น


ตัวแทนเด็กวัยรุ่นได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มเด็กแว้นว่า สาเหตุที่ได้เข้าร่วมกลุ่มเด็กแว้น เนื่องจากเพื่อนชวน ชอบความสนุกสนาน อยากทำสิ่งใดก็ทำเต็มที่ ไม่ได้นึกถึงพ่อแม่คนที่อยู่ข้างหลัง ความดีและไม่ดี ทำเพื่อต้องการให้เพื่อนยอมรับ เพื่อให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม และเริ่มเปลี่ยนความคิดตอนที่มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มเพชรวิเศษ ซึ่งมีกิจกรรม“แว้นไปวัด” โดยชวนเด็กแว้นไปทำความสะอาดวัด ช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ทำให้ความคิดเปลี่ยนไป ปัจจุบันแทนที่จะแว้นก็ไปทำประโยชน์เพื่อสังคมแทน


คุณวรากร มณฑาทิพย์ กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายเยาวชนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนได้มีการหารือกันในทีมถึงปัญหาเด็กแว้นขโมยรถจักรยานยนต์ว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร จึงเริ่มต้นจากการจัดประกวดถอดชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเด็กวัยรุ่นใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีสามารถถอดได้ทั้งคัน และคิดต่อไปว่าทางกลุ่มจะส่งเสริมความสามารถนี้ของเด็กแว้นไปในทางที่ดีได้อย่างไรบ้าง จึงเริ่มทำโครงการ “แว้นไปวัด” โครงการที่น่าสนใจของจังหวัดอ่างทอง จัดทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน โดยกลุ่มเด็กวิเศษ เริ่มต้นจากนำสมาชิก 50 คน ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อาทิ ทำความสะอาดวัด เลี้ยงอาหารเด็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งเห็นจริงว่าเกิดผลดีต่อเด็กวัยรุ่น ทำให้คนในสังคมยอมรับ เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง ก็เห็นว่าในสังคมยังมีคนที่ลำบากอีกมากมาย เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสังคมบ่อยขึ้น เด็กจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากแรกๆ ที่ฝืนต้องมาอบรม ทำกิจกรรมให้สังคม แต่เมื่อได้รับการยอมรับจากเพื่อน ก็จะเริ่มพอใจกับการเข้าร่วมกิจกรรมนี้


พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ตัวของผู้ใหญ่ มุมมอง กรอบความคิดที่ตัดสินคนอื่น ทำให้เด็กที่เอียงไปจากกรอบความคิดนี้ถูกตีตราว่าเป็นเด็กไม่ดี ทำให้ไม่มีการไตร่ตรองที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ เด็กจะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับว่าไปเจอใคร ตนเองเคยได้เข้าไปดูในกระบวนการศาลยุติธรรมของศาลเยาวชนและครอบครัว มีโอกาสพูดคุยกับเด็กแว้นที่ถูกจับ ทำให้เห็นว่า 90% ของเด็กรู้สึกไม่มีความสุข มักเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง ซึ่งจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่มีความสุข ออกไปหาความสุขด้วยวิธีอื่น เช่น ไปแว้น ไปดูเด็กแว้นแข่งรถ ในขณะที่สังคมยอมรับแต่เด็กเก่ง โรงเรียนจึงควรมีจัดกิจกรรมสำหรับเด็กไม่เก่ง ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ในสังคม ควรจะมีกิจกรรมชี้ทางให้กับเด็กแต่ละแบบให้ได้แสดงพลังความสามารถ


BBL เป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว 30 ปีที่แล้ว แต่มาให้ความสำคัญในช่วงหลัง เด็กกลุ่มเสี่ยงมีตั้งแต่เด็กเล็กอนุบาลจนเด็กโต แต่ในโรงเรียนไม่มีระบบการกรองค้นหาเด็กกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่เด็กอนุบาล ทำให้โตมาเป็นวัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งไม่มีระบบช่วยเหลือ ซึ่งถ้าแก้ได้ตั้งแต่ต้นจะไม่บานปลาย ทำให้ชีวิตของวัยรุ่นขึ้นอยู่กับว่าสิ่งแวดล้อมจะไปเจอใคร ทำให้พฤติกรรมเป็นไปแบบไหน ปัญหาเยาวชนมีเพิ่มขึ้นทุกปี ในช่วงเวลา 10 ปี คดีเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นเกินกว่า 200% ปัจจุบันมีศาลเด็กและเยาวชนทุกจังหวัด สถิตินับถึงปีที่แล้วมี 76,000 คดี ทำให้ศาลไม่สามารถช่วยเหลือแก้ไขได้ โดยในปัจจุบันมีระบบการช่วยเหลือโดยศาลจะส่งเด็กย้อนกลับไปที่โรงเรียนและแพทย์ให้ช่วยเหลือ ซึ่งทางโรงเรียนก็ต้องมีระบบให้การช่วยเหลือ ระบบ Big Brother พี่ช่วยน้อง ควรจะมีในทุกจังหวัดในชุมชนโดยขึ้นกับโรงเรียน ให้ครูช่วยแนะนำ เพื่อให้มีระบบช่วยเหลือเด็กซึ่งทำได้ง่ายกว่าให้แพทย์ช่วย เริ่มต้นให้เด็กมองเห็นข้อดีในตัวเอง


การช่วยเหลือน้อง/การฟื้นฟู


สภาพแวดล้อมและการให้โอกาสเป็นสิ่งสำคัญ ในการแก้ปัญหาวัยรุ่น เด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่นจะเป็นช่วงที่สมองส่วนนี้เติบโตสูงสุด ควรฝึกให้เด็กแก้ปัญหา เพื่อให้เด็กสามารถคิดซับซ้อนแก้ปัญหาได้เต็มศักยภาพ การมาเข้ากิจกรรม/เข้าค่ายทำให้ได้รีบูทหลายอย่าง ทั้งความคิดพฤติกรรม ความสามารถ กลุ่มสังคม เพราะจะเป็นการฝืนสิ่งที่อยากทำในช่วงแรก และจะดึงความสามารถศักยภาพออกมาเพื่อทำให้ได้ กิจกรรมโครงการเพชรวิเศษ เช่น เรียนรู้ประวัติศาสตร์ การไปดำนา การทำกับข้าวกันเอง เป็นกิจกรรมที่เด็กไม่เคยทำมาก่อน ผู้ใหญ่มายอมรับและชื่นชม โครงการมีการทำต่อเนื่องโดยจะมาเป็นพี่เลี้ยงให้รุ่นต่อไปและหาเงินมาทำกิจกรรม ในการฟื้นเด็ก ต้องเป็นสัมพันธภาพที่สบายๆ แนะนำสิ่งใหม่ให้เด็ก ทุกความสามารถที่เพิ่มขึ้นคือการเรียนรู้ทั้งหมด เช่น ตำน้ำพริกไม่เป็นก็ทำเป็น ทำให้เด็กคิดไตร่ตรองจากฐานตัวเองว่าความสามารถของเขาเพิ่มขึ้น มีคนยอมรับ ทำให้การคิดตัดสินใจต่อชีวิตของเขาเปลี่ยนไป พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไปด้วยตัวเขาเอง



ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1029.48 KB)

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning