OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Brain-Based Learning (BBL) การป้องกันและแก้ปัญหา “แม่วัยใส”

3784


เวทีเสวนาเรื่อง การป้องกันและแก้ปัญหากรณี “แม่วัยใส”


โดย

นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล

นพ.ทรงคุณวุฒิ  กลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข

ตัวแทนเด็กวัยรุ่น กลุ่มเด็กวิเศษ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ : ผู้ดำเนินรายการ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ 


การป้องกันและแก้ปัญหากรณี “แม่วัยใส” เป็นเวทีเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning: BBL)” ที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ผ่านเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ที่มีประสบการณ์จริง ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และวิธีการนำแนวคิดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปปรับใช้ในการพัฒนาอนาคตของชาติและแก้ปัญหา “แม่วัยใส” ในสังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน โดยมีเนื้อหาสรุปตามหัวข้อเสวนา ดังนี้


บทสรุป


สมองวัยรุ่นส่วนที่พัฒนาเสร็จสิ้นเป็นส่วนสุดท้าย คือ ส่วนของการวางแผนและการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาและต้องใช้เวลาจนถึงประมาณอายุ 25 – 30 ปี วัยรุ่นยังมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจได้ไม่เต็มที่ แต่ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจหลักการทำงานทางสมองของวัยรุ่นจะสามารถสร้างปัจจัยปกป้อง โดยเฉพาะการจัดการเรื่องที่เข้ามารบกวนอารมณ์และจิตใจของเขา เช่น เรื่องเพศสัมพันธ์ สมองส่วนนี้จะเติบโตเต็มที่ในช่วงอายุ 17-18 ปี ตามแรงขับเคลื่อนทางชีวภาพ แต่ความสามารถในการยับยั้งตนเองขึ้นอยู่กับสมองส่วนหน้าซึ่งยังเจริญไม่เต็มที่ในช่วงนั้น การป้องกันสามารถทำได้ในโรงเรียน ด้วยการสอนทักษะชีวิตและเพศศึกษา โดยมีประเด็นครอบคลุมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งสมองต่างเพศมีการทำงานที่แตกต่างกัน รวมไปถึงเรื่องอารมณ์และความรู้สึก เหล่านี้เป็นเรื่องที่วัยรุ่นต้องรู้เท่าทันเพื่อนำไปสู่การสื่อสารและปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม


เนื้อหา


นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล เริ่มต้นด้วยการเสนอสถานการณ์ปัจจุบันของแม่วัยใส นพ.ประเวช กล่าวว่า ตัวเลขการคลอดลูกของแม่วัยรุ่น (อายุ 15 – 19 ปี) ในปี 2555 สูงถึง 1.2 แสนกว่าคน จากจำนวนเด็กเกิดใหม่ประมาณ 8 แสน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนการคลอดโดยรวมที่มีแนวโน้มลดลงและคนมีครอบครัวช้าลง เพราะเด็กที่คลอดจากแม่วัยรุ่นมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 6 ของเด็กคลอดใหม่ทั้งหมด


เมื่ออธิบายในเชิงสมอง จะพบว่า โดยชีวภาพของมนุษย์ วัยรุ่นเป็นวัยที่พร้อมจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 40 - 50 ปีก็ตาย แต่ปัจจุบันนี้ กว่าคนเราจะเรียนจบ ทำงาน พร้อมจะมีครอบครัวก็อายุ 30 ปีขึ้นไป จึงต้องเปลี่ยนการนิยามในเชิงชีวภาพและสังคม แต่เดิมมีความเชื่อว่า ฮอร์โมนมีผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น แต่ในความเป็นจริง เบื้องหลังที่ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนคือ สมอง เบื้องหลังที่กำหนดสมองคือ ยีน (gene) ซึ่งผ่านวิวัฒนาการมานานมาก และเบื้องหลังของยีนว่าจะเปิดหรือปิดสวิทซ์การทำงาน คือ สิ่งแวดล้อม ดังนั้น พฤติกรรมของวัยรุ่นจึงขึ้นอยู่กับสมองและการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง


สมองวัยรุ่นถือเป็นการปรับรื้อโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สุด ถ้าไม่นับในช่วงแรกเกิด สมองจะมีการก่อสร้าง ปรับปรุงและซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเสียชีวิต ประเด็นสำคัญ คือ ในสมองวัยรุ่นนั้น ส่วนที่สร้างท้ายสุด คือ ส่วนของการวางแผนและการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งจะค่อยๆพัฒนาและต้องใช้เวลาจนถึงประมาณอายุ 25 – 30 ปี หรือเข้าสู่วัยเบญจเพส ดังนั้น หลายประเทศจึงมีการปรับกฎหมายว่า ถ้าวัยรุ่นกระทำความผิดจะไม่ต้องรับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ เพราะสมองยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ขณะที่กฎหมายไทยกำหนดอายุวัยรุ่นไม่เกิน 18 ปี เมื่อเกินจะต้องเข้าสู่การปฏิบัติทางกฎหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


เมื่อสมองวัยรุ่นอยู่ในช่วงปรับรื้อใหญ่ ผลที่ตามมาอาจจะทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมวิวัฒนาการทางสมองของวัยรุ่นจึงดูไม่ค่อยดี คือ การควบคุมการคิดและการกระทำยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ การควบคุมอารมณ์และการตัดสินใจยังทำได้ไม่ค่อยดี วัยรุ่นจะเล็งผลเลิศว่าทำอะไรจะได้ผลมาง่ายๆ เร็วๆ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ถือว่าเป็นสุดยอดวิวัฒนาการของมนุษย์ เพราะสัตว์ทั่วไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตเต็มที่ สมองจะหยุดการพัฒนา แต่ในมนุษย์ สมองจะเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ 20 - 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นข้อดีเพราะสมองจะถูกสร้างขึ้นจากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อม เมื่อมนุษย์ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างก็จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้นๆ เพื่อให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น มีความเชื่อว่า ถ้ามีชีวภาพที่ดี ชีวิตมนุษย์จะยืนยาวได้ถึง 120 ปี (พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้เช่นกันว่ามนุษย์จะอยู่ได้ถึง 120 ปี) ดังนั้น เมื่อชีวภาพสามารถทำให้คนเรามีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น แต่สมองมนุษย์ใช้เวลาโตช้า เพราะต้องปรับตัว เรียนรู้จากประสบการณ์ ก็จะเป็นผลดีในการวางโครงสร้างของสมองอย่างถาวรเมื่อผ่านภาวะวัยรุ่นไปแล้ว ถือเป็นจุดแข็งของมนุษย์ที่สมองโตช้า มีการปรับโครงสร้าง เกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา สมองส่วนใดที่ไม่ได้ใช้งานจะฝ่อไป สมองส่วนใดที่มีการใช้อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการตัดแต่งกิ่งก้านให้แข็งแรงในวงจรการใช้งานสมองส่วนนั้นๆ เมื่อมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน คนเราได้รับประทานอาหารดี มีสิ่งเร้าใหม่ๆ สมองคนเราก็เข้าสู่วัยรุ่นเร็วขึ้น ยกตัวอย่างการรับสื่อต่างๆ ที่เป็นสิ่งเร้า สมองจะแยกไม่ออกระหว่างภาพที่อยู่บนจอกับภาพที่เป็นเหตุการณ์จริง เมื่อวัยรุ่นชายดูคลิปโป๊ สมองจะมีปฏิกิริยาและกระตุ้นให้ร่างกายโตเร็ว ทำให้กลายเป็นวัยรุ่นเร็ว แต่เป็นผู้ใหญ่จริงๆช้า เพราะกว่าจะทำงานพึ่งตนเองได้ต้องใช้เวลานาน


การที่เมืองไทยมีแม่วัยใสมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมและระบบการศึกษาไม่ได้นำความรู้ความเข้าใจทางชีวภาพมาจัดสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่ดีให้กับเด็ก ทำให้เกิดกลุ่มเด็กที่เสี่ยงน้อยกับเสี่ยงมากเพราะไม่มีปัจจัยปกป้อง ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่รอบตัว จะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาพ่อแม่วัยใสได้ ประสบการณ์ที่ดีของวัยรุ่นจะช่วยวางรากฐานทางสมองระยะยาว ดังนั้น ช่วงวัยรุ่นจึงเป็นช่วงที่สำคัญมาก


การรื้อปรับใหม่ในสมอง สมองส่วนหน้า ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดและโตช้าที่สุด (กว่าจะพัฒนาเสร็จต้องใช้เวลา 25 – 30 ปี) จะทำหน้าที่เป็นเหมือนฝ่ายบริหารจัดการและคิดวางแผน สมองส่วนหน้าจึงเป็นเสมือนพื้นที่ RAM ในการทำงานของสมอง ดังนั้น ถ้าสามารถทำให้สมองส่วนหน้าทำงานได้ดี ก็เท่ากับว่ามีพื้นที่ RAM ในการทำงานได้มากขึ้นและสามารถประมวลข้อมูลได้ดีขึ้น คนที่สามารถจัดการสมองส่วนหน้าได้ดีจะเป็นคนที่เรียนรู้ได้เก่ง การจะจัดการสมองส่วนหน้าได้ดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง เช่น ถ้ามีเรื่องทุกข์ใจ มีความเครียด หรือในวัยเด็กมีเรื่องสะเทือนใจและค้างคาอยู่ในความทรงจำ เหมือนกับว่าพื้นที่ RAM ถูกแย่งพื้นที่ไป ถ้ามีการสอนให้เด็กสามารถจัดการกับอารมณ์หรือความทรงจำเก่าๆที่มารบกวนการทำงานของสมองได้ ก็จะทำให้เขาเรียนรู้ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับที่คนสมัยก่อนพูดว่า “ถ้าทำให้เด็กสบายใจและมีความสุข เด็กก็จะเรียนรู้ได้ดีขึ้น” นอกจากนี้ ยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศสัมพันธ์ด้วย เพราะถ้าเด็กมีพื้นที่สมองส่วนหน้าต่ำ มีสมาธิน้อย ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และการตัดสินใจจะไม่ดี กลายเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ควบคุมไม่ได้ อาจกล่าวได้ว่า วัยรุ่นยังมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจได้ไม่เต็มที่ แต่เราสามารถเติมเต็มให้ดีขึ้นได้ถ้าเข้าใจหลักการทำงานทางสมองของวัยรุ่น ถือเป็นการสร้างปัจจัยปกป้อง โดยเฉพาะการจัดการเรื่องที่เข้ามารบกวนอารมณ์และจิตใจของเขา


สมองวัยรุ่นด้านเพศสัมพันธ์จะเติบโตเต็มที่ในช่วงอายุ 17-18 ปี เพราะมีแรงขับเคลื่อนทางชีวภาพอยู่ในช่วงอายุนั้น แต่ความสามารถในการยับยั้งหรือเบรคตัวเองขึ้นอยู่กับสมองส่วนหน้าและปัจจัยช่วยเพิ่ม RAM สมอง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ทักษะชีวิตต่าง ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ในวิชาสุขศึกษาอยู่แล้ว ในทางวิชาการ ทักษะชีวิตจะช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยจะเกี่ยวข้องกับการจัดการอารมณ์และความสัมพันธ์ในสังคม ถ้ามีทักษะชีวิตที่ดีก็จะสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตได้ดีด้วย ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้ดำเนินการอภิปรายได้สอบถามความคิดเห็นของตัวแทนวัยรุ่นทั้ง 2 คนเกี่ยวกับการเรียนรู้ทักษะชีวิตและเพศศึกษา พบว่า ในโรงเรียนจะสอนให้เด็กรักนวลสงวนตัว รู้ถึงวิธีการคุมกำเนิดและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ แต่ในครอบครัวนั้นมีทั้งห้ามพูดคุยเรื่องเพศศึกษา ต้องรอให้อายุมากพอสมควรจึงจะเตือนและสอนลูกเรื่องนี้ กับครอบครัวที่สอนลูกให้ป้องกันตัวด้วยวิธีการต่างๆ อย่างไรก็ดี ตัวแทนวัยรุ่นเห็นว่า การสอนดังกล่าวนี้ไม่เพียงพอ ควรมีการสอนให้เจาะลึกมากขึ้น เช่น การคุมกำเนิดในแต่ละช่วงอายุ การออกไปเที่ยวกับเพื่อนชายควรต้องพกถุงยางอนามัยไปด้วย เป็นต้น สำหรับเพื่อนหรือรุ่นพี่ในโรงเรียนที่เป็นแม่วัยใสนั้น มีทั้งที่กลับมาเรียนต่อหรือลาออกกลางคันเพราะต้องไปทำงานและเลี้ยงลูกแทน จากการพุดคุยกับแม่วัยใสได้รับรู้ว่า ถ้าเขาสามารถย้อนเวลากลับไปได้จะพยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ เชื่อฟังพ่อแม่และป้องกันตัวเองไม่ให้ตั้งครรภ์ เพราะเมื่อมีสถานะเป็นแม่วัยใสแล้วต้องแบ่งเวลากลับไปเรียนหรือไปทำงานพร้อมๆกับเลี้ยงลูก และต้องประหยัดค่าใช้จ่าย


คุณหมอประเวช เสริมว่าพ่อแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้คิด ไม่ได้วางแผนว่าทำไปแล้วจะเกิดผลกระทบระยะยาวอะไรติดตามมา จึงต้องไปตามแก้ไข จุดที่สำคัญคือ การป้องกัน จากประสบการณ์ที่ทั่วโลกทำเหมือนกัน คือ การทำให้นักเรียนเรียนรู้ทักษะชีวิตและเพศศึกษาได้มากพอและลึกพอ ขณะเดียวกัน คนที่ตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ก็ควรสามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดโดยแพทย์ได้ง่าย เช่น ถุงยางอนามัยควรมีราคาที่ซื้อได้ แหล่งจำหน่ายที่สามารถซื้อหาได้สะดวก รวมไปถึงทัศนคติของพ่อแม่และคนในสังคม การป้องกันสามารถทำได้ในโรงเรียน ด้วยการสอนทักษะชีวิตและเพศศึกษา โดยที่เพศศึกษานั้นจะมีประเด็นครอบคลุมหลายเรื่อง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการคุมกำเนิดหรือการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง” เป็นเรื่องที่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งในเชิงวิชาการว่าเพศหญิงกับเพศชายมีการทำงานทางสมองที่แตกต่างกันอย่างไร และต้องรู้ไปถึงเรื่องอารมณ์และความรู้สึกด้วย เช่น บางครั้งเด็กอาจยอมตามใจเพื่อนเพราะความเกรงใจหรือกลัวเพื่อนไม่รัก แต่การให้ความรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองนั้น ครูส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึงเรื่องนั้น โรงเรียนควรสอนให้เด็กทำความเข้าใจกับอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ต้องรู้รายละเอียดและทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารหรือการปฏิบัติต่อกันและกัน


เนื่องจากวัยรุ่นจะมีทักษะในการคาดการณ์ล่วงหน้าได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ จึงเป็นข้อจำกัดของเขา ดังนั้น ควรมีการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อเป็นกลไกในเชิงป้องกัน ด้วยการทำให้เขามีความภาคภูมิใจและรู้สึกดีกับตัวเอง ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างที่ให้การยอมรับเขา ยกตัวอย่างการปฏิบัติต่อเด็กสมาธิสั้น ต้องมีวิธีการที่ทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง ใช้วิธีการลงโทษที่ไม่ควบคุมจนส่งผลเสียหรือทำให้เขารู้สึกแย่ลงกับตัวเอง การไม่ยอมรับจากผู้ใหญ่หรือคนรอบข้างอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและทำให้เขามีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น องค์ประกอบของปัจจัยที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งทางใจ 4 ประการ คือ


  • ความรู้สึกดีกับตัวเอง
  • การจัดการชีวิตตัวเองได้ มีทักษะในการจัดการอารมณ์และสังคม และมีทักษะในการแก้ปัญหาชีวิต
  • การมีสายสัมพันธ์ที่ดีช่วยเกื้อหนุน เช่น พ่อแม่ ครู ญาติผู้ใหญ่ คนข้างบ้าน ฯลฯ ที่คอยให้กำลังใจ
  • มีจุดมุ่งหมายในชีวิต

ระบบการศึกษาไทยมีการพูดถึงปัจจัยปกป้องเหล่านี้อยู่แล้วในการเรียนการสอนทักษะชีวิต ซึ่งถ้าจะไปได้ดีต้องเป็นการปกป้องทุกด้าน เช่น เพศ ยาเสพติด ฯลฯ และต้องเชื่อมโยงกับเรื่องสมอง เนื่องจากสมองของวัยรุ่นมีความกระสับกระส่าย ต้องการสิ่งเร้าและความแปลกใหม่ ต้องการความตื่นเต้นและความท้าทาย มีความขี้เบื่อ และต้องการการยอมรับมากกว่าปกติ ถ้าครูมีความเข้าใจเรื่องทักษะชีวิตในเชิงปัจจัยปกป้องได้ก็จะเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงต่างๆได้ เช่น เด็กที่มีปัญหาทางบ้าน มีปัญหาทางอารมณ์ มีปัญหาด้านการเรียนฯลฯ การเข้าไปช่วยเหลือจะทำให้เขามีความเข้มแข็งทางใจ รู้สึกว่าผู้ใหญ่ห่วงใยเขาและรู้สึกอยากพัฒนาตนเอง ถ้าเด็กมีจุดมุ่งหมายในชีวิตก็จะช่วยให้เขาคิดว่าทุกอย่างสามารถพัฒนาไปได้ แต่ถ้าเป็นตรงกันข้าม เด็กที่มีพฤติกรรมไม่ดีจะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปอยู่ที่ระบบยุติธรรมหรือระบบความปลอดภัย แทน สุดท้ายจะกลายเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายทางสังคมต่อไป ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้ดำเนินการอภิปรายเสริมว่า การทำงานในเชิงป้องกันจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการแก้ไขปัญหา และเมื่อเกิดผลเสียขึ้นแล้วจะกอบกู้ได้ไม่ทัน


เมื่อสอบถามตัวแทนกลุ่มเด็กวิเศษว่าตัวเขามีปัจจัยเชิงป้องกันทั้ง 4 องค์ประกอบหรือไม่อย่างไรนั้น ทั้งสองคนต่างให้คำตอบว่า ตนเองยังไม่มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน ต้องเรียนรู้ให้มากๆและปรึกษาพ่อแม่ เพียงแต่มีความฝันว่าโตขึ้นอยากจะทำอาชีพอะไร คนแรกบอกว่าปัจจัยปกป้องที่ตนเองมีอยู่แล้วคือ การเป็นคนร่าเริงแจ่มใส มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวและคนรอบข้าง ชอบใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง เช่น อ่านหนังสือ จึงไม่มีเวลาฟุ้งซ่านและช่วยเป็นเกราะคุ้มกันตัวเองไม่ให้ไปมีพฤติกรรมเสี่ยง ส่วนอีกคนบอกว่าการรู้สึกดีกับตัวเองถือเป็นปัจจัยปกป้องสำคัญ อีกทั้งพ่อแม่ยังสอนเรื่องการพกถุงยางอนามัยด้วย ตัวแทนวัยรุ่นทั้งสองคนเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติของทุกคน และยอมรับว่าตัวเองมีความเสี่ยง เพราะเวลาอยู่กับเพื่อนผู้ชายก็ไว้วางใจไม่ได้เต็มที่ ต้องพยายามไม่ให้เกิดการถูกเนื้อต้องตัวกันและมีกติกาของตัวเอง เช่น ห้ามซ้อนมอเตอร์ไซค์ 3 คน ทั้งสองคนคิดว่ายังไม่ความพร้อมที่จะมีครอบครัว ต้องรอให้เรียนหนังสือจบและมีงานทำเสียก่อน


นพ.ประเวช ตั้งข้อสังเกตว่า ครอบครัวของตัวแทนวัยรุ่นทั้ง 2 คนนี้มีวิธีการสอนลูกไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ธรรมชาติของลูกและทัศนคติที่พ่อแม่มีต่อเรื่องนั้นๆ การสอนให้วัยรุ่นระมัดระวังการถูกเนื้อต้องตัวกันเป็นวิธีการที่ดี เพราะจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับฮอร์โมนและสมอง พบว่า การกอดกันไม่ถึงครึ่งนาทีจะเกิดกระบวนการทางเคมี กระตุ้นให้ผู้หญิงหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินออกมา ทำให้เกิดความไว้วางใจผู้ชาย ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำสำหรับวัยรุ่นหญิงว่า ถ้ายังไม่ไว้วางใจมากพอ ไม่ควรเปิดโอกาสให้ผู้ชายมาสัมผัสตัว เพราะจะทำให้ผู้หญิงไว้เนื้อเชื่อใจผู้ชายทั้งที่เขาไม่น่าไว้ใจ ตามหลักชีวภาพของมนุษย์ เพศเมียมีหน้าที่คัดเลือกสายพันธุ์เพื่อดูแลลูกให้อยู่รอดปลอดภัย จึงมีสัญชาตญาณในการอ่านออกว่าผู้ชายหลอก สามารถจับผิดและป้องกันตัว ขณะที่เพศผู้จะมีสัญชาตญาณแพร่พันธุ์ในทุกโอกาสเท่าที่จะทำได้ จึงชอบโกหกเพื่อหลอกฟัน ทำให้เกิดความสมดุลลงตัวระหว่างการแพร่สายพันธุ์กับการคัดเลือกสายพันธุ์ ดังนั้น การสอนเด็กจึงควรสอนวิธีการอ่านคนว่าไว้วางใจได้หรือไม่ เวลาที่ลูกหรือนักเรียนมาปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์นั้น พ่อแม่และครูควรดูวิธีคิดของเด็ก เพราะจะทำให้ทราบถึงวุฒิภาวะและวิธีการปฏิบัติตัวของเขาในสถานการณ์นั้นๆ พ่อแม่ทุกคนมีทุนในการไว้วางใจเด็ก เพียงแต่มีวิธีการสอนที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ทำให้เด็กกล้าพูดกับเรา” ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับท่าทีของพ่อแม่และครูที่จะเปิดรับเด็กมากน้อยเพียงใด


สำหรับข้อซักถามจากผู้รับฟังการเสวนาเกี่ยวกับท่าทีของครูที่ควรมีต่อเด็กเมื่อเด็กมาปรึกษานั้น คุณหมอให้คำแนะนำว่า ครูต้องเปิดรับฟัง เปิดพื้นที่ให้เด็กได้พูดอะไรก็ได้ โดยไม่ไปตัดสินเขา การให้เด็กได้เล่าออกมานอกจากจะทำให้ครูได้รับข้อมูลแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้ถอยกลับไปคิดทบทวนด้วย ซึ่งกระบวนการเล่าเรื่องจะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ แต่ครูต้องระมัดระวังไม่นำความลับไปเล่าต่อให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นรับรู้โดยที่เด็กไม่อนุญาต เพราะจะทำให้เด็กขาดความไว้วางใจและถอยห่างออกไปจากคุณครูและอาจออกจากระบบโรงเรียนไปเลย ยกเว้นแต่ว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตของเขาและ/หรือชีวิตคนอื่น ครูก็ต้องบอกให้นักเรียนรู้ว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องให้คนอื่นเข้ามาช่วยได้แล้ว และถามเขาว่าใครที่ควรจะเข้ามาช่วยได้ เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของเขา


ทักษะชีวิตสามารถเริ่มเรียนรู้ได้ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่โรงเรียน เด็กที่มีต้นทุนความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่จะมีพื้นที่การปกป้องที่ดี และเมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียนอาจแยกเรื่องทักษะชีวิตเป็นรายวิชาเพิ่มเติมสำหรับเด็กมัธยมเพราะจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น ครูจะสามารถสอนทักษะชีวิตแก่เด็กได้ดีถ้ามีความเข้าใจกระบวนการทางสมอง มีประสบการณ์ชีวิต เปิดกว้างและสะดวกใจที่จะคุยกับเด็ก ครูต้องพยายามเข้าใจวิธีคิดของเด็กก่อน แล้วเปิดประเด็นการพูดคุยกับลูกศิษย์ โดยอาจแยกคุยทีละคน เมื่อเด็กได้เล่า ครูควรดูวิธีคิดและความสามารถในการจัดการของเด็กก่อน ถ้าเขาคิดถูกต้อง ครูควรชมว่าทำได้ดี แต่ถ้าความคิดของเด็กหมิ่นเหม่และมีความเสี่ยง ครูต้องสอนวิธีการจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ การมีแฟนไม่ใช่ปัญหา ถ้าเขารู้ว่าจุดหมายชีวิตคืออะไรและรู้ว่าจะจัดการกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์อย่างไร


การหาจุดหมายชีวิตเป็นปัญหาของคนทุกวัย แต่ที่ยากที่สุดคือวัยรุ่นและวัยเกษียณอายุ สำหรับวัยรุ่นเป็นวัยค้นหาตัวตน ถ้าเขามีจุดหมายชีวิตเขาจะใช้เวลาไปสู่จุดนั้น จึงเป็นความท้าทายของผู้ใหญ่ที่จะช่วยแนะนำให้วัยรุ่นรู้จุดหมายชีวิตตนเอง การค้นหาตัวเองสามารถดูได้จาก


  1. ความถนัด ซึ่งถูกออกแบบมาทางโครงสร้างชีวภาพ
  2. ความชอบ ที่เกิดจากการรับรู้จากกระบวนทางสังคมและสามารถเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา

การศึกษาจะต้องทำให้เด็กรู้ว่าตัวเองถนัดและชอบอะไร และควรจะต้องรู้ด้วยว่าบุคลิกภาพของตนนั้นเหมาะที่จะอยู่ในองค์กรหรืองานประเภทใด การรู้ถึงรายละเอียดของความชอบในวัยรุ่นจะบอกถึงทัศนคติและค่านิยมของเขาได้ ปัจจุบันวัยรุ่นชอบความสำเร็จที่เร็วขึ้น ชอบการมีอิสระและชื่อเสียง ซึ่งค่านิยมเหล่านี้จะเป็นปัญหาต่อเมื่อคนวิ่งสู่ความสำเร็จได้รวดเร็วแต่ไม่ได้เกิดการเรียนรู้มากพอและไม่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตของเขา ดังนั้น เวลาที่ผู้ใหญ่พูดคุยกับวัยรุ่น อย่าพยายามคาดหวังว่าจะได้คำตอบสุดท้ายที่ชัดเจน แต่ควรกระตุ้นให้เขารู้ทิศทางและเข้าใจทางเลือกของตนเองว่าจะเดินไปทางไหน เพราะคนเราไม่สามารถออกแบบชีวิตได้ทั้งหมด


ตัวแทนวัยรุ่นกลุ่มเด็กวิเศษบอกเล่าถึงกิจกรรมอาสาของกลุ่ม โดยยกตัวอย่างวันวาเลนไทน์ กลุ่มจะแจกดอกบัวแทนดอกกุหลาบ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และการคิดดีทำดี เพื่อสร้างกระแสให้เด็กวัยรุ่น รวมทั้งมีการชักชวนไปทำบุญไหว้พระและทำความสะอาดวัด ซึ่งจะช่วยป้องกันการมั่วสุมทำสิ่งไม่ดีและช่วยให้ไม่มีเวลาฟุ้งซ่านแต่เรื่องเพศสัมพันธ์ รวมทั้งยังทำให้วัยรุ่นได้ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันอีกด้วย ทั้งนี้ อยากให้พ่อแม่และครูช่วยเข้ามาแนะนำเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องแก่เด็ก ไม่ควรปิดกั้น เพราะจะช่วยให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และอาจมีตู้กดถุงยางอนามัยที่ตั้งอยู่ในจุดลับตาคน เพื่อให้เด็กไม่ต้องอายเวลาจะกดเอาไปใช้ สุดท้าย คุณหมอประเวชฯ ให้เทคนิคในการเพิ่ม RAM สมองที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ดังนี้


  • จัดการกับอารมณ์หรือเอาเรื่องที่ค้างคาใจออกไป
  • มีทักษะในการจดจ่อ เช่น ฝึกสมาธิ
  • พยายามดูแลสมองโดยรวม เช่น นอนให้พอวันละ 8-9 ชั่วโมง ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกายเพื่อเติมปุ๋ยให้สมอง ฝึกหายใจยาวๆ เพื่อให้สมองได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น เพราะสมองส่วนหน้าใช้ออกซิเจนมากที่สุดและสิ้นเปลืองที่สุด
  • พักสมองเป็นระยะๆ



ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1029.48 KB)

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning