OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยใช้หลักการ BBL

3831


เสวนาเรื่อง “การเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยใช้หลักการ BBL”


โดย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ .ประเสริฐ บุญเกิด
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง
และ ที่ปรึกษางานพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ สบร .

คุณสมควร ฉายศิลปรุ่งเรือง
กรรมการผู้จัดการ บริษัทซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้น จำกัด

คุณเสรี ยกเลื่อน
Senior supervisor บริษัทซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้น จำกัด

คุณนันทพร อังอติชาติ : ผู้ดำเนินรายการ
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ


การเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยใช้หลักการ BBL เป็นเวทีเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning: BBL)” ที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ผ่านเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ที่มีประสบการณ์จริง ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และวิธีการนำแนวคิดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในภาคการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน โดยมีเนื้อหาสรุปตามหัวข้อเสวนา ดังนี้


บทสรุป


ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 สบร. ดำเนินโครงการการศึกษาวิจัยแนวทางการนำองค์ความรู้ด้านสมองประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทักษะฝีมือสำหรับพนักงานในภาคการผลิต ร่วมกับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มีหน่วยงานที่เข้าร่วม จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย


  1. บริษัท ซัมมิท อิเล็คทรอนิค คอมโพเน้นท์ จำกัด
  2. บริษัท ดาสโก้ จำกัด
  3. บริษัท ถุงเท้าไทย จำกัด
  4. บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
  5. บริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากดำเนินโครงการเสร็จสิ้น คือ ผลิตภาพ (productivity) ภาพรวมของทุกโรงงานผลิตภาพเพิ่มขึ้น 55% หลักการ BBL ที่นำมาใช้ในที่นี้ คือ การสร้าง Psychomotor ให้แก่พนักงาน ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่


  1. การเตรียมความพร้อมของผู้เรียน
  2. Cognitive: ให้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับผู้เรียน
  3. Psychomotor Learning: ความรู้ในเชิงปฏิบัติ สาธิตให้ดู โดยการอธิบายเป็นขั้นๆ เน้นจุดสำคัญทุกๆ ขั้นตอน
  4. Feedback: ให้พนักงานลองปฏิบัติ หัวหน้างานให้คำแนะนำแก้ไขให้ถูกต้องทันที
  5. การแจ้งผู้เรียนในการติดตามผล ระบุผู้ที่จะดูแล ให้คำแนะนำ และหมั่นติดตามให้คำแนะนำเพิ่มเติม

จากการเข้าร่วมโครงการ ดังกล่าว บริษัท SEC ได้นำหลักการมาต่อยอดประยุกต์ใช้ใน 4 ด้าน คือ


  1. การฝึกสมาธิ
  2. การออกกำลังกาย
  3. ปรับปรุงวิธีการสอนงาน
  4. ปรับปรุงการเขียนคู่มือการทำงาน (Operation Standard)

ผลที่ได้คือ


  1. ก่อนที่จะดำเนินโครงการ ค่า PPM (Part Per Million) ของงานเสียที่ลูกค้ามีจำนวน 329 ชิ้นจากล้านชิ้น ทำให้ทางบริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตชิ้นงานใหม่ ค่าขนส่ง แรงงานคน แต่หลังจากที่นำ BBL มาใช้จะเห็นว่างานเสียที่ลูกค้าลดลง ปัจจุบัน เหลือ 19 ชิ้นต่อล้านชิ้น ลดลงประมาณ 17 เท่า
  2. ของเสียในสายการผลิต จากแต่เดิมเสีย 0.20% ชิ้น ปัจจุบันลดลงเหลือ 0.02% ลดลงมาประมาณ 10 เท่า
  3. การอบรมพนักงานใหม่แต่เดิมใช้ระยะเวลาในการฝึกขั้นต่ำ 31 วัน แต่หลังจากอบรมพนักงานใหม่ตามหลัก BBL และปรับปรุงการเขียนคู่มือการทำงาน เพียง 3 วัน พนักงานใหม่ก็สามารถทำงานได้เทียบเท่ากับพนักงานเก่า

เนื้อหา


ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning) หรือ BBL ดำเนินโครงการในโรงเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมหาวิทยาลัย โรงเรียนกับโรงงานอยู่คนละขั้ว แต่หากมองที่สมองนั้นเป็นสมองเดียวกัน งานของโรงเรียนแพทย์ 70-80% เป็นงานฝีมือ เช่น ห้องผ่าตัดที่ต้องใช้ความแม่นยำสูงมาก ถ้าหากผิดพลาดเพียงนิดเดียว แขน ขา ของคนไข้อาจชา การเจาะปอด เจาะท้อง ต้องอาศัยความแม่นยำมากๆเช่นกัน เช่นเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรม การบัดกรีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ถ้ามีความผิดพลาดเพียงนิดเดียวจะทำให้เกิดการลัดวงจร ชิ้นงานเสียหาย จากแนวคิดดังกล่าวจึงนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการการศึกษาวิจัยแนวทางการนำองค์ความรู้ด้านสมองประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทักษะฝีมือสำหรับพนักงานในภาคการผลิต หรือ BBL in Factory โครงการนี้เป็น pilot project โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ร่วมกับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ หรือ FTPI ซึ่งมี motto ของโครงการ คือ “Good health Good heart : Smart brain Smart work” ดังนั้นสิ่งที่ดำเนินการในโครงการนี้คือ การสร้างพลังจิตพลังปัญญาให้แก่พนักงานในภาคการผลิต นำมาซึ่งการมีสมองที่ดี ส่งผลให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพ



คุณสมควร ฉายศิลปรุ่งเรือง ในฐานะผู้บริหารของ บริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ หรือ SEC กล่าวว่า ครั้งแรกที่ได้รับฟังเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาสมอง วันนั้นเป็นวันที่ทางรัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 185 เป็น 300 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมคิดเป็น 49.5% SEC ตั้งมา 30 ปี ด้วยฝีมือเรื่องการปรับปรุงไม่แพ้ใครแต่เราแพ้สถานการณ์ ณ วันนั้น วิธีการเดิมๆที่ใช้อยู่ใช้ไม่ได้ ตำราที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ตนเองเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่คิดว่าจะมีเรื่องอะไรที่ตนเองไม่รู้ แต่ครั้งนั้นเมื่อฟัง BBL แล้วไม่รู้เรื่อง จึงคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้ตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการฯ ร่วมกับทาง OKMD และ FTPI


ในการดำเนินโครงการฯ มีหน่วยงานที่เข้าร่วม จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย


  1. บริษัท ซัมมิท อิเล็คทรอนิค คอมโพเน้นท์ จำกัด
  2. บริษัท ดาสโก้ จำกัด
  3. บริษัท ถุงเท้าไทย จำกัด
  4. บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
  5. บริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด

ทางคณะผู้วิจัยต้องการให้กลุ่มตัวอย่างมีความหลากหลาย เพื่อพิสูจน์ว่า BBL สามารถประยุกต์ใช้ในทุกอุตสาหกรรม และสามารถใช้ได้กับโรงงานทุกขนาด ตั้งแต่ 100 – 4,000 คน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากดำเนินโครงการเสร็จสิ้น ประกอบด้วย


  1. ผลิตภาพ (productivity) ภาพรวมของทุกโรงงานผลิตภาพเพิ่มขึ้น 55%
  2. คะแนนความพึงพอใจ พบว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับในประเด็นที่สำคัญ ๆ ซึ่งพบค่าเฉลี่ยสูงที่สุดในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้ คือ
    1) การสอนงานแบบ BBL ทำให้เข้าใจวิธีการทำงานได้รวดเร็วและทำงานได้ถูกต้อง
    2) หลังการสอนงานพนักงานมั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้อง
    3) ระบุผู้ที่ตอบปัญหาแก่พนักงานหลังจากได้รับการสอนงานทำให้คลายความกังวลในการทำงาน
    4) พนักงานได้ทดลองปฏิบัติงานจริงทำให้เข้าใจวิธีปฏิบัติงานอย่างชัดเจน และ
    5) เปิดโอกาสให้พนักงานถามในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ

ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด กล่าวว่า สมาธิกับการทำงานของสมองมีการเชื่อมโยงกันเนื่องจาก หากเราลืมตาสมองจะไม่อยู่นิ่ง สมองจะคิด โดยส่วนใหญ่ติดอยู่กับอดีตและอนาคต การทำสมาธิทำให้สมองได้พัก เมื่อสมองได้พักก็จะมีพลัง สมองไม่ได้พักก็จะไม่มีพลังและเหนื่อย คุณสมควร กล่าวเสริมว่า ระดับของคนอย่างแรกคือ PQ IQ EQ และเหนือกว่านั้น คือ SQ (Spiritual quotient) นั่นคือศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ เราต้องปลุกจิตวิญญาณของพนักงานให้ตื่นขึ้นมาให้ได้ พนักงานต้องทำงานจากใจ ไม่ใช่แค่สมองหรืออารมณ์ ปลุกจิตวิญญาณจะได้มาก็ต่อเมื่อจิตนิ่ง โดยการให้พนักงานทำสมาธิทุกเช้า ทาง SEC จึงนำมาเชื่อมโยงกับ BBL ดังนั้นสิ่งสำคัญของ BBL คือ การที่พนักงานต้องมีความพร้อมก่อนที่จะทำงาน ก่อนที่จะได้รับการสอนงาน


คุณเสรี ยกเลื่อน กล่าวว่า จาก motto “Good health Good heart : Smart brain Smart work” SEC นำมาประยุกต์ใช้ใน 4 ด้าน คือ


  1. การฝึกสมาธิ
  2. การออกกำลังกาย
  3. ปรับปรุงวิธีการสอนงาน
  4. ปรับปรุงการเขียนคู่มือการทำงาน (Operation Standard)

หลังจากที่ได้รับความรู้จากทาง OKMD และ FTPI บริษัทดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับหัวหน้างาน และเริ่มดำเนินการโดยเริ่มจาก ในตอนเช้าให้พนักงานทำสมาธิ และออกกำลังกาย เมื่อพนักงานได้รับการฝึกสมาธิบ่อยๆ เวลาที่ทำงานพนักงานจะมีสมาธิจดจ่อกับการทำงาน จะเห็นได้ว่าพนักงานสดใสขึ้น รวมถึงการนำหลักการ BBL เข้าไปปรับปรุงการเขียนคู่มือการทำงาน ซึ่งก่อนที่จะปรับปรุง ขั้นตอนและจุดสำคัญปนกัน ทำให้ยากแก่การทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติ ส่วนผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการมีดังนี้


  1. ก่อนที่จะดำเนินโครงการ ค่า PPM (Part Per Million) ของงานเสียที่ลูกค้ามีจำนวน 329 ชิ้นจากล้านชิ้น ทำให้ทางบริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตชิ้นงานใหม่ ค่าขนส่ง แรงงานคน แต่หลังจากที่นำ BBL มาใช้จะเห็นว่างานเสียที่ลูกค้าลดลง ปัจจุบัน เหลือ 19 ชิ้นต่อล้านชิ้น ลดลงประมาณ 17 เท่า
  2. ของเสียในสายการผลิต จากแต่เดิมเสีย 0.20% ชิ้น ปัจจุบันลดลงเหลือ 0.02% ลดลงมาประมาณ 10 เท่า
  3. การอบรมพนักงานใหม่แต่เดิมใช้ระยะเวลาในการฝึกขั้นต่ำ 31 วัน แต่หลังจากอบรมพนักงานใหม่ตามหลัก BBL และปรับปรุงการเขียนคู่มือการทำงาน เพียง 3 วัน พนักงานใหม่ก็สามารถทำงานได้เทียบเท่ากับพนักงานเก่า รายละเอียดตามแผนภาพ


คุณหมอประเสริฐ อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้หัวหน้างานยังต้องให้ feedback แก่พนักงาน ทั้งในเชิงบวก และเชิงลบ ซึ่งจะต้องมีความสมดุลกันทั้งสองแบบ การสร้างทักษะต้องเริ่มต้นจากการมีพื้นฐานที่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าพนักงานปฏิบัติงานถูกต้องบอกว่าถูก Why : ทำไมถึงถูก ถ้าปฏิบัติงานผิดต้องบอกได้ว่า Why : ทำไมถึงผิด และที่สำคัญ How : จะแก้ไขสิ่งที่ผิดได้อย่างไร โดยไม่ใช้อารมณ์ในการให้ feedback หัวหน้างานต้องเข้าใจ Different Brain Different Learning Ability รวมทั้งขั้นตอนสำคัญและจุดสำคัญ ในแบบซอยงาน มีข้อดีหลายอย่าง การที่จะแบ่งขั้นตอนในแบบซอยงาน ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ในการทำงาน แบบซอยงานที่ดีต้องอ่านง่าย เข้าใจง่าย และสอนง่าย ทำให้จำได้ง่าย สามารถตรวจสอบได้ง่าย การสอนงานตามหลัก BBL สามารถทำให้พนักงานใหม่เรียนรู้ได้เร็ว และสามารถปฏิบัติงานได้ และปฏิบัติงานได้หลากหลาย (Multi-skills) ในระยะเวลาอันสั้น


คุณสมควร กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานตั้งเป้าสูง อุปสรรคและปัญหาจะไม่มี จะมีแต่ปัญญา สิ่งที่ทาง SEC ต่อยอดจาก OKMD คือการตั้งเป้าหมายที่ Zero Defects รวมถึงการสร้าง Leaders และ Talents ในบริษัท


คุณนันทพร สรุปว่า หัวใจของ BBL คือ การสร้าง Psychomotor ให้แก่พนักงาน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน


  • ขั้นตอนที่ 1 : การเตรียมความพร้อมของผู้เรียน
    สร้างความเป็นกันเอง อธิบายภาพรวมและความสำคัญของผลิตภัณฑ์ บอกว่างานเป็นส่วนใดของผลิตภัณฑ์ สอบถามว่าเคยทำงานประเภทนี้มาแล้วหรือไม่ จัดให้ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ตำแหน่งที่เหมาะสม
  • ขั้นตอนที่ 2 : Cognitive
    ความรู้ในเรื่องทฤษฎี ตรวจสอบว่าพนักงานมีความรู้ที่ถูกต้อง เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงาน ผู้สอนสังเกตการณ์ตอบสนองของผู้เรียน
  • ขั้นตอนที่ 3 : Psychomotor Learning
    ความรู้ในเชิงปฏิบัติ สาธิตให้ดู โดยการอธิบายเป็นขั้นๆ เน้นจุดสำคัญทุกๆ ขั้นตอน สอนชัดเจน ครบถ้วน ไม่รีบร้อน สอนไม่มากเกินกว่าที่ผู้เรียนจะรับได้ ผู้สอนสังเกตการตอบสนองของผู้เรียน
  • ขั้นตอนที่ 4 : Feedback
    การให้คำแนะนำจากหัวหน้างานที่เหมาะสม ให้พนักงานลองปฏิบัติ ให้อธิบายจุดสำคัญขณะปฏิบัติให้ดูอีกครั้ง หากทำผิดบอกจุดที่ต้องแก้ไข และวิธีที่ถูกต้อง หากทำถูก ยืนยันว่าวิธีถูกต้องแล้ว บอกว่าถูกต้องหรือผิดทันทีที่ผู้เรียนทำ ให้ทำต่อไปจนแน่ใจว่าผู้เรียนเข้าใจและทำได้ ผู้สอนสังเกตการตอบสนองของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม
  • ขั้นตอนที่ 5 : การแจ้งผู้เรียนในการติดตามผล
    กำหนดความรับผิดชอบ (มีเป้าหมายการทำงาน) ระบุบุคคลที่จะไปขอความช่วยเหลือ (พี่เลี้ยง) หากมีปัญหาในการทำงาน ให้ถามทันที หมั่นติดตามและให้คำแนะนำเพิ่ม


ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1029.48 KB)
ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ เมื่อเป็นสมาชิกหรือกรอกข้อมูลแล้ว

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning