OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การออกแบบกระบวนการเรียนรู้วัยอนุบาล

23392
การออกแบบกระบวนการเรียนรู้วัยอนุบาล

รู้จักสมองก่อนออกแบบกระบวนการเรียนรู้


  • สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีสิ่งจูงใจ สิ่งจูงใจจะชักนำให้สมองผลิตความรู้ และบันทึกข้อมูลในเรื่องที่ต้องการให้เรียนรู้ เป็นการตะล่อมสร้างกรอบให้กระบวนการเรียนรู้ดำเนินไปตามเจตจำนงของผู้จัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผู้หาสิ่งจูงใจต่างๆ นั้นมานำเสนอ ถ้าสิ่งจูงใจนั้นไม่สามารถจูงใจสมองได้ สมองจะจัดการบันทึกข้อมูลนั้นแบบไม่มีคุณภาพ หรือไม่ยอมบันทึกไว้
  • สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อเรื่องนั้นน่าสนใจ สมองจะไม่ทำงานกับข้อมูลทุกชิ้น เฉพาะสิ่งน่าสนใจเท่านั้นที่จะผ่านกระบวนการเลือกคัดกรองเข้าสู่การรับรู้ของสมอง
  • สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีความมุ่งมั่น ความมุ่งมั่นเป็นกระบวนการของจิตใจ เป็นสิ่งกำกับกระบวนการเรียนรู้ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเราสนใจ เรามักจะมีความมุ่งมั่นด้วย ถ้าเด็กมีเหตุผลเพียงพอ หรือมีเป้าหมายของตัวเอง เด็กจะกระตุ้นตัวเองและขับเคลื่อนให้เกิดความตั้งใจมุ่งมั่น เพื่อดำเนินกระบวนการให้ไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างรู้ตัว
  • สมองเด็กขับเคลื่อนโดยเป้าหมาย สมองของเด็กขับเคลื่อนไปโดยเป้าหมาย แรงบันดาลใจ ความทะยานอยาก ความใฝ่ฝัน และการวางแผนของเด็กเอง ทุกๆ เป้าหมายของเขา ทุกๆ ความฝันของเขา ก็มุ่งสู่อนาคตของตัวเขาเอง การเรียนรู้ที่มีเป้าหมายจึงเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
  • สมองเลือกเรื่องที่จะเรียน สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อตัดสินใจเลือกที่จะเรียนรู้ เช่น เมื่อเด็กหัดขี่จักรยาน หัดว่ายน้ำ สมองเรียนรู้ได้ดี มีประสิทธิภาพอย่างน่าอัศจรรย์
  • สมองไม่เรียนเรื่องไร้เป้าหมาย สมองมักจะดูเชื่องช้า งุ่มง่าม เมื่อสมองรู้สึกว่า เรื่องที่เรียนนั้นไร้เป้าหมายที่ชัดเจน เช่น เมื่อเรียนเรื่องสมการ หรือหัดสะกดคำ ตามที่ครูสอน
  • สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อ สมองมีเวลา “สร้างความหมาย” ให้ข้อมูล บ่อยครั้งที่การจัดการเรียนการสอน มักป้อนเนื้อหาจำนวนมหาศาลให้แก่เด็ก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่มีเวลาพอสำหรับเด็กที่จะ “สร้างความหมาย” ให้แก่ข้อมูลที่รับเข้าไป เมื่อข้อมูลไม่มีความหมายสำหรับสมอง สมองก็จะไม่บันทึกข้อมูลนั้น หรือบันทึกไว้ในระบบความทรงจำระยะสั้น (short term memory)
  • เราบอกให้นักเรียนตั้งใจเรียนได้ไหม? ถ้าทำได้ ... ความตั้งใจนั้นคงอยู่ในระยะสั้น เพราะเป้าหมายเพียงเพื่อทำตามที่ครูร้องขอ หรือไม่ให้ถูกทำโทษ แต่น่าจะใช้ “พอได้” เฉพาะเด็กชั้นประถมปลายขึ้นไปเท่านั้น เพราะโดยทั่วไปความสามารถควบคุมโดยเหตุผลและการวางแผนระยะยาว ซึ่งควบคุมโดยสมองสั่งการล่วงหน้า (prefrontal cortex) ยังพัฒนาสมบูรณ์ไม่มากพอที่จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จนกว่าจะถึงวัยทำงานที่มีความ “รับผิดชอบ”


การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูง


  • สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อสมองรับรู้ภาพและเสียงพร้อมกัน ถ้าสมองรับรู้เสียงพร้อมกับมองเห็นภาพที่สอดคล้องกัน คลื่นเสียงก็จะไปเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เกิดสัญญาณอารมณ์ ซึ่งตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของระดับสารเคมีต่างๆ ในสมอง สารเคมีเหล่านี้บางตัวเกี่ยวข้องกับระบบคิด ความจำในสมองและมีส่วนทำให้สมองมีประสิทธิภาพมากขึ้นในกระบวนการเรียนรู้ ภาพและเสียงนอกจากจะมีความพิเศษ คือ เป็นข้อมูลที่ดึงดูดและเข้าสู่สมองได้จำนวนมหาศาลในคราวเดียวมากกว่าข้อมูลอื่นๆ แล้ว การใช้ภาพจะช่วยในกระบวนการเรียนรู้ได้มาก ในการสร้างความเข้าใจระดับนามธรรม
  • สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อสมองสร้างแผนภาพความคิด แผนภาพเป็นการจัดระบบความคิดที่กระจัดกระจายขึ้นมาเป็นระบบ มีจุดตั้งต้น มีบทลงท้าย มีกระบวนการชัดเจน การคิดเป็นแบบแผนภาพ ทำให้สิ่งรูปธรรมเป็นนามธรรม แต่ปรากฏออกมาบนกระดาษ เป็นสิ่งที่ดูคล้ายรูปธรรมใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นการย้ำเสริมเสถียรภาพของวงจรร่างแหเซลล์สมองที่กำลังทำงานคิดอยู่ในขณะนั้น
  • สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อ ผ่านการปฏิบัติ การลงมือปฏิบัติเป็นการใช้ผัสสะรับรู้ข้อมูลทั้งในรูปของภาพ เสียง สัมผัส ทั้งยังประกอบด้วยประสบการณ์ของเหตุการณ์ต่างๆ ยิ่งใช้วงจรร่างแหเซลล์สมองพร้อมๆกัน (หลายผัสสะ) มากเท่าใด เสถียรภาพความเชื่อมโยงของวงจรก็เกิดได้เร็วเท่านั้น และยังใช้วงจรเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผัสสะพร้อมกับวงจรความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ ซึ่งเป็นวงจรความจำหลายมิติ ยิ่งทำให้ความจำในการเรียนรู้ตกผลึกเร็วขึ้น
  • สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อ ท่องจำ ทำซ้ำ ฝึกทักษะ เมื่อเด็กออกเสียง ท่องจำ ลงมือทำซ้ำๆ เจ้าของสมองได้ยินเสียงตัวเอง ได้ลงมือ และเห็นสิ่งที่ตัวเองทำ สิ่งที่ปรากฏ กลายเป็นข้อมูลย้อนกลับเข้าไปในสมองใหม่ ถือว่าเป็นการลงมือสอนด้วยตัวเอง (use output from oneself to re-input to self) เป็นการเสริมเส้นทางเดินของวงจรเซลล์สมองที่มีอยู่ก่อน ให้มีเสถียรภาพขึ้น อันเป็นเหตุให้จดจำได้และเกิดความชำนาญ
  • สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จำลอง

    • - สถานการณ์จำลองผ่านการฟัง
      ระหว่างที่อ่านนิทานพร้อมชีภาพให้เด็กดู เด็กไม่ได้ฟังความหมายของนิทาน แต่เด็กจะสร้างจินตนาการไปกับสิ่งที่เห็นและได้ยิน คือเด็กนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จำลองที่ตนเองสร้างขึ้น
    • - สถานการณ์จำลองผ่านการลงมือทำ
      การจัดฉาก บทบาทสมมติ เล่นละคร การเลียนแบบธุรกิจ กิจกรรมที่เป็นกิจวัตรในชีวิต เช่น เปิดบูธขายของ การจัดรายการวิทยุ การทำหนังสือพิมพ์ การทดลองในห้องปฏิบัติการ การใช้เทคโนโลยีกลไกตอบสนองเลียนแบบ เช่น การฝึกขับรถยนต์ ขับเครื่องบินในเครื่องกลจำลอง
    • - สถานการณ์จำลองผ่านการบูรณาการการฟังและการดู
      นำเด็กเข้าสู่สถานการณ์จำลองผ่านการชมภาพยนตร์ วีดีทัศน์ที่ดีมีคุณภาพ จะทำให้สมองเด็กตื่นตัวเต็มที่ กระบวนการเรียนรู้ของสมองจะถูกขับเคลื่อนอย่างมีคุณภาพ ภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ ประวัติบุคคล สารคดีวิทยาศาสตร์ สามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดี
  • สมองเด็กไม่ได้ว่างเปล่า กระบวนการเรียนรู้ของสมองนั้น ไม่ได้เริ่มต้นจากความว่างเปล่า เด็กมีความคิด ความรู้เดิมอยู่แล้วในเกือบทุกสิ่งที่เราจะสอน แต่ความรู้เดิมอาจมีอยู่แบบกระจัดกระจาย อาจมีน้อยหรือมาก รวมทั้งอาจมีผิดหรือถูก เราเรียกสิ่งเหล่านี้ที่มีอยู่แล้วในสมองเด็กว่า แบบแผนความรู้เดิมในสมอง (old schema)
  • เริ่มจากจัดระเบียบความรู้เดิมที่เด็กมีอยู่ การที่จะให้เด็กเรียนรู้เรื่องใดๆ ก็ตาม สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ต้องเข้าไปทำการจัดระเบียบความรู้เดิมที่เด็กมีอยู่ เช่น เปลี่ยนความเข้าใจผิดให้ถูก หรือทำสิ่งที่ผิดที่ผิดทาง จัดระเบียบใหม่ หรือ เสริมความเข้าใจเดิมให้ลึกซึ้งขึ้น การสอนจึงไม่ใช่การยัดของใหม่ลงไปในสมอง โดยไม่รับรู้ว่าสมองคิดอะไรอยู่ก่อน


ท่วงทำนองการเรียนที่แตกต่าง


  • เด็กบางคนเรียนรู้เมื่อได้เห็นหรือเมื่อได้ยิน เด็กบางคนเริ่มเรียนรู้และเข้าใจได้ดีขึ้น เมื่อได้เห็นหรือเมื่อได้ยิน อย่างที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า visual learner และ auditory learner ดังนั้นข้อมูลที่ประกอบด้วยภาพและเสียง จะทำให้เขาเรียนรู้ได้ง่ายและเร็วขึ้น
  • เด็กบางคนเรียนรู้เมื่อได้ลงมือปฏิบัติ เด็กบางคนเพียงแค่เห็นหรือได้ยิน อาจจะยังไม่สามารถสร้างเครือข่ายในสมองได้ดีขึ้น จนกว่าจะได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า kinesthetic learner
  • เด็กบางคนเรียนรู้เมื่อได้เฝ้าสังเกต เด็กบางคนเรียนได้โดยการเฝ้าสังเกต หรือเพียงแต่ฟัง หรือทำทั้งสองอย่าง แต่ก็ไม่พยายามลงมือเองจนกว่าเขาจะรู้สึกคุ้นกับสิ่งใหม่นั้น อาจเพราะกลัวผิดพลาดหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ที่จริงแล้วการลงมือปฏิบัติและแก้ไขความผิดพลาดต่างหาก ที่ทำให้เราฉลาดขึ้น


ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสมองของเด็ก


  • เชื่อมโยงสิ่งที่จะเรียนรู้ใหม่กับสิ่งที่เรียนรู้มาก่อนแล้ว การที่เด็กนำความรู้ใหม่ที่ได้รับ เชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่อยู่ในสมองของพวกเขาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากการมีประสบการณ์มาก่อน เป็นพื้นฐานเพื่อจะให้ได้ความคิดรวบยอด ทักษะ ความรู้ใหม่ ซึ่งประมวลกันขึ้นเป็นเรื่องใหม่ที่จะเรียนรู้
  • ศึกษา ทดลอง และลงมือทำซ้ำ ทำให้สมองรู้จัก คุ้นเคยกับความคิดรวบยอด ทักษะ และความรู้ใหม่ที่รับเข้ามานั้น
  • ศึกษา ทดลอง และลงมือทำซ้ำ ย้ำ ทวนให้มากยิ่งขึ้น จะทำให้เข้าใจความคิดรวบยอด ทักษะ และความรู้ใหม่ได้
  • อ่านและฟังบรรยาย ทำให้สามารถสะท้อน วิเคราะห์ อธิบาย เปรียบเทียบ ความคิดรวบยอด ทักษะ และความรู้ของเรื่องที่กำลังเรียนรู้นี้กับเรื่องอื่นๆ ได้ เป็นการเริ่มสู่ระดับการคิดสร้างสรรค์
  • ประยุกต์ความคิดรวบยอด ทักษะ และความรู้ ไปใช้ในเรื่องต่างๆ ในชีวิตการผสมผสานสิ่งที่รู้ เข้ากับเรื่องที่ได้เรียนรู้อื่นๆ นำไปสู่การมีความคิดระดับสูงขึ้น และมีความคิดสร้างสรรค์
  • ขัดเกลาและปรับปรุงผลงาน (จากการใคร่ครวญความคิดเห็นของตนเองและผู้อื่น) ทำให้สามารถเข้าใจความคิดรวบยอด ทักษะ และความรู้นั้นได้ดีเยี่ยมยิ่งขึ้น แต่นี่ก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเรียนรู้ หากเป็นเพียงพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ระดับสูงขึ้นไป


ตัวอย่างขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ที่ออกแบบตามหลัก Brain-Based Learning


S.T.E.P U.P


  • เตรียมความพร้อม (Set up)
  • ทบทวนความรู้เดิม-เชื่อมโยงความรู้ใหม่ (Tie-in)
  • กระตุ้นเร้า (Engage)
  • ลงมือปฏิบัติ (Perform)
  • ฝึกปฏิบัติในบริบทต่างๆ (Use)
  • สรุป และประเมินผล (Pack)

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning