OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร Brain-Based Learning ด้านการคิด

6940
การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร Brain-Based Learning ด้านการคิด

พัฒนาการด้านการคิด


  • การพัฒนากระบวนการคิดของเด็กเล็กนั้น คือกระบวนการซึ่งสมองเรียนรู้ที่จะให้ความหมายสิ่งที่เห็น สิ่งที่เผชิญ ตีความ และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ ที่รับรู้มา
  • การคิดต้องอาศัยการรับรู้ข้อมูลจำนวนมาก เช่น การบวกต้องอาศัยความรู้เรื่องจำนวน และการเพิ่มขึ้น การคิดเกี่ยวกับสัตว์และพืชรอบตัว ก็ต้องอาศัยการรู้จักชนิด และการจัดจำแนก การคิดเกี่ยวกับท้องฟ้า ดวงดาว ก็ต้องอาศัยการรับรู้เกี่ยวกับระยะ มิติ ที่ว่าง และการมีอยู่ของสิ่งที่มองเห็น เป็นต้น
  • ถ้าไม่มีข้อมูลในความทรงจำ ก็ไม่สามารถคิดอะไรออกมาได้ ดังนั้น กระบวนการพัฒนาการคิดของเด็กอนุบาล จึงมุ่งให้เด็กได้มีประสบการณ์ที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ให้ทดลองเชื่อมโยงความหมายของสิ่งต่างๆ อย่างง่าย ด้วยการเล่า การเล่น การแสดง การทดลอง เป็นต้น
  • จัดให้เด็กมีประสบการณ์ในสถานการณ์จำลองทุกอย่างที่เป็นไปได้ โดยความช่วยเหลือของผู้ใหญ่ ออกแบบกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ใช้สมองคิดโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้นตามลำดับ เพื่อให้คุ้นเคย ฝึกคิดที่มากกว่าความเคยชินขั้นต่ำ จุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ ต้องการให้เด็กรู้จักใช้ความคิดและคิดเป็น


สมองกับการคิด


  • งานเบื้องต้นของ “หน่วยการคิด” ของสมองคือ สมองจะจัดการให้ความหมายและจดจำตำแหน่งต่างๆของคอร์เท็กซ์ที่ถูกกระตุ้นด้วยสัญญาณต่าง ๆ

    • - การคิด ของสมองจะดำเนินการเปรียบเทียบ จัดกลุ่ม ให้ความหมายแก่กระบวนแบบ (pattern) ของข้อมูลที่ส่งสัญญาณเข้ามาสู่การรับรู้ของสมอง
    • - วงจรร่างแหของเซลล์สมองที่ถูกกระตุ้นด้วยสัญญาณต่างๆเกิดเป็นข้อมูล ข้อมูลจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
    • - การคิด จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลเหล่านั้น
    • - ข้อมูลความสัมพันธ์เหล่านั้นจะกลายเป็นข้อมูลใหม่อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งซับซ้อนต่อไปเรื่อยๆ
    • - วงจรร่างแหเซลล์สมองที่เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือเกิดขึ้นพร้อมๆกันกับวงจรร่างแหเซลล์สมองอื่นๆ หลายๆวงจรเรื่อยๆ จะเกิดความคงตัวในวงจร ซึ่งคือ การพัฒนาเป็นความจำ (memory)
  • "การคิด" เป็นนามธรรม และเมื่อพิจารณาถุงที่สุดแล้ว รูป รส กลิ่น เสียง ทั้งหมดนี้ก็กลายเป็นข้อมูลนามธรรม เพราะเป็นเพียงสิ่งที่เกิดอยู่ในสมอง และเป็นเพียงตัวแทนของสิ่งภายนอก มิใช่ตัวจริง กระบวนการในการคิด จึงเป็นเรื่องนามธรรมล้วนๆ ในที่สุด
  • การคิดต้องอาศัยข้อมูลจากความจำของสมอง การคิดอาจทำให้เกิดข้อมูลใหม่ เกิดการรับรู้ใหม่ ทั้งๆที่ไม่ได้รับข้อมูลจากภายนอกเข้ามาเพิ่มเติม สมองได้จัดความสัมพันธ์ของข้อมูลที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดความสัมพันธ์ของข้อมูลแบบใหม่ (pathway ใหม่) ข้อมูลใหม่จากการคิดได้นี้ เมื่อเกิดซ้ำๆจะกลายเป็นความจำอีกชุดหนึ่ง ถ้าไม่มีข้อมูลในความจำ ก็ไม่สามารถสร้างข้อมูลใหม่ที่ซับซ้อนกว่าการรับรู้เดิมๆขึ้นมาได้


การจัดประสบการณ์ด้านการคิด


  • ให้เด็กได้มีประสบการณ์ที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า สิ่งที่ก่อรูปเป็นการคิดของเด็ก เริ่มต้นที่การจับต้อง สัมผัส และมีประสบการณ์โดยตรง สมองรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า แล้วก่อรูปเป็นวงจรแห่งการคิดขึ้นมาในสมองประสบการณ์ครั้งแรกของเด็กผ่านการสัมผัส การชิม การดมกลิ่น การได้ยิน และการเห็น เป็นพื้นฐานของการสร้างความหมาย
  • ให้เด็กมีเวลาและโอกาสได้เล่นอย่างหลากหลาย เล่นบทบาทสมมติ เล่นตุ๊กตา เล่นขายของ เล่นขับรถ เล่นเป็นอะไรต่าง ๆ สารพัด

    • - การเล่น เป็นการที่เด็กนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ตนเองสนใจ ทำบทบาทหลายอย่างซึ่งอาจมีทั้งเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เด็กกำลังซักซ้อมท่าทีต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาสร้างวงจรแห่งความคิด เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเอง คิด อย่างไร กับสิ่งที่ได้เรียนรู้มา
    • - การเล่นเป็นกระบวนการสำคัญสำหรับการสร้างกระบวนการคิด การสร้างแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของตนเอง ของผู้อื่น ทำให้เข้าใจความเป็นเราและตัวเขาชัดเจนมากขึ้น
  • ให้เด็กได้มีประสบการณ์ในสถานการณ์จำลอง เด็กเล็กสามารถเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จำลอง โดยการเล่น และการลองทำสิ่งต่าง ๆ ที่สมองสนใจ

    • - การเรียนรู้ท่ามกลางการจำลองสถานการณ์นี้ เด็กจะเรียนรู้ความหมาย และอารมณ์ถูกขับเคลื่อน เพราะอยู่ในสถานการณ์คล้ายจริง ทำให้สมองเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • - ผู้ใหญ่ช่วยเหลือเด็กได้ โดยการจำลองความซับซ้อนของโลกให้เด็กเข้าใจ โดยผ่านนิทาน ตำนาน บทเพลง
  • ให้เด็กได้ศึกษาสิ่งต่างๆ ว่าเคลื่อนที่อย่างไร และเพราะอะไรจึงเคลื่อนที่ เช่น การเคลื่อนที่โดยการเป่า ผลัก ดึง กลิ้ง แกว่ง โยก โดยให้เด็กได้ใช้เทคโนโลยีในการสำรวจการเคลื่อนที่ เช่น ล้อ ลูกรอก แม่เหล็ก ชิงช้า
  • ให้เด็กใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มาช่วยในการสำรวจ ค้นหารูปแบบและความสัมพันธ์ในโลกธรรมชาติ เช่น การรวบรวมข้อมูล การทำให้เป็นระบบ การตีความ การสื่อสารข้อมูล การใช้คำศัพท์ การชั่ง ตวง วัด การเรียง การจัดหมวดหมู่ ขณะที่เด็กสังเกต สืบค้น และพูดออกมา สมองจะจัดการบันทึกรูปแบบ ความเชื่อมโยง และระบบในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ
  • ให้เด็กพัฒนาความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต เรื่องรูปแบบและความหลากหลาย เช่น สังเกตการณ์เจริญเติบโตของสัตว์และพืช สังเกตว่าสิ่งใดจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์และพืช
  • ให้เด็กพัฒนาความสามารถในการสังเกต สืบค้น วิเคราะห์ ถาม และอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์กับวงจรชีวิต ฤดูกาล และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
  • ให้เด็กพัฒนาความเข้าใจเรื่องมิติ ขนาด รูปทรง โดยการรวมสิ่งของเข้าด้วยกัน แยกออกจากกัน จัดกลุ่มวัตถุเสียใหม่ เปลี่ยนรูปทรงของวัตถุและสิ่งของ มองวัตถุจากหลายๆมิติ และการใช้แว่นขยาย
  • ให้เด็กมีประสบการณ์ในการใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างซับซ้อนขึ้น โดยการให้จัดเรียง เปรียบเทียบ จัดเข้ากลุ่ม ประมาณการ นับ และวัด
  • ให้เด็กศึกษาและแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ว่าสิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เช่น เปลี่ยนจากร้อนเป็นเย็น จากเปียกเป็นแห้ง หรือจากอ่อนเป็นแข็ง เป็นต้น
  • ให้เด็กฝึกพูด เขียน แสดงออก ฝึกใช้ศัพท์และนิยาม เพื่อยกระดับประสบการณ์ขึ้นสู่ระดับนามธรรม
  • ให้เด็กสร้างและพัฒนามุมมอง โดยใช้ภาพ 2 มิติ เช่น แผนผัง ภาพถ่าย สร้างวัตถุ 3 มิติ เช่น สร้างโมเดลจากภาพ ต่อบล็อก ก่อเจดีย์ทราย ปั้นดินเหนียว พับกระดาษ
  • ให้เด็กมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือ เช่น ที่เป่าผม ตู้เย็น เตาปิ้งขนมปังและเตาอบ และช่วยให้เด็กเข้าใจการทำงานของสิ่งเหล่านี้


เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning