OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การจัดการเรียนรู้ตามหลัก Brain-Based Learning ด้านการเคลื่อนไหว

44988
การจัดการเรียนรู้ตามหลัก Brain-Based Learning ด้านการเคลื่อนไหว

พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว


  • การพัฒนาด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นการพัฒนาโครงสร้างทั้งระบบของร่างกาย ที่ใช้ในการควบคุมสั่งการตัวเอง และการรับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม ขอให้สังเกตดูว่า ลูกแมวมีการพัฒนาตัวเองอย่างมากในวัยแรกเกิด มันฝึกฝนท่วงท่าในการเดิน วิ่ง กระโดด ตีลังกา ตะปบ กอดรัดฟัดเหวี่ยง จนในที่สุด ร่างกายก็พร้อมที่จะออกไปสู่โลกภายนอก
  • กระบวนการพัฒนาร่างกาย และการเคลื่อนไหวของเด็ก จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นอย่างเต็มที่ เพื่อให้ร่างกายทุกส่วน อันได้แก่ ระบบโครงสร้าง ตั้งแต่กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็ก ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการพัฒนาในระบบนี้ ต้องเน้นให้เด็กได้ผ่านขั้นตอนการฝึกฝนใช้งานร่างกายทุกขั้นตอนครบถ้วน และพัฒนาจนมีสมรรถภาพะดีที่สุด เต็มตามศักยภาพของเด็กที่จะทำได้
  • การที่จะก้าวไปจนถึงระดับนี้ ต้องมั่นใจว่ากระบวนการพัฒนาเด็ก มีการกำหนดขั้นตอนการฝึกฝน กำหนดแบบแผนกิจกรรมที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ กำหนดชั่วโมงการเรียนรู้ และมีแนวทางที่จะประเมินได้เป็นรายบุคคล ว่าเด็กได้บรรลุตามจุดประสงค์ที่วางไว้อย่างแท้จริง

สมองกับการเคลื่อนไหวร่างกาย


  • การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นการพัฒนาที่สำคัญ การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็ก เป็นการเตรียมสมรรถนะของร่างกาย ทุกส่วนเพื่อใช้ประโยชน์ในการมีชีวิตอยู่ และพร้อมกันนั้น การเคลื่อนไหวร่างกายก็พัฒนาความสามารถของสมอง อันเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ไปด้วย
  • สมองเด็กเล็กกำลังพัฒนาส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว เป็นช่วงเวลาดีที่สุดที่จะพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบความสัมพันธ์ของประสาทสัมผัส เด็กต้องพัฒนาความสามารถในการใช้ตา มือ เท้า และประสาทรับความรู้สึกต่างๆ ให้สัมพันธ์กัน
  • สมองน้อยคือส่วนที่รับผิดชอบการจัดสมดุลของร่างกาย สมองส่วนที่รับผิดชอบหลักเกี่ยวกับการจัดสมดุลของร่างกายที่จะพัฒนาคือ สมองน้อย หรือ เซรีเบลลัม (cerebellum) การกระตุ้นสมรรถนะของสมองส่วนนี้ จะส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถในด้านการรับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมๆกัน
  • สมองต้องการเวลาพัก สมองมีจังหวะหรือวิถีของมันเองได้แก่ วงจรต่ำ-สูงของพลังงาน และวงจรการทำงาน-การพักผ่อน วงจรทั้งสองนี้มีผลสำคัญต่อการเรียนรู้และการรับรู้ ดังนั้น เมื่อถึงจุดสูงสุดที่สมองต้องการพัก การเรียนรู้ก็จะเริ่มตกลง
  • เมื่อสมองได้พัก การเรียนรู้จะดีขึ้น เมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ หลั่งไหลเข้ามาสู่โลกของเด็ก เด็กต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ มีงานวิจัยชี้ว่า เมื่อเด็กได้พักและผ่อนคลายความสำเร็จทางวิชาการก็มีผลดีขึ้น ดังนั้นการพักให้เด็กได้เล่น และเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างช่วงสั้นๆ จึงมีความจำเป็น

สมองกับการเล่น


  • การเล่นช่วยระบายความเครียด การเล่นเป็นรูปแบบหนึ่งที่เด็กใช้ในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม การเล่นช่วยให้เด็กๆ คลายความวิตกกังวล คลี่คลายปมขัดแย้งในใจ ความเครียดถูกระบายออก และเด็กๆเริ่มหาวิธีการจัดการกับปัญหาต่างๆได้ จิตใจของเขาสงบลง การเล่นช่วยให้เด็กระบายพลังงานส่วนเกิน
  • การเล่นช่วยพัฒนาการเรียนรู้ นักจิตวิทยาการศึกษาเองก็เชื่อว่า การเล่นช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กหลายด้าน เข้าเห็นว่าโครงสร้างของภาวะรู้คิดที่เด็กมีอยู่จะต้องถูกนำออกมาใช้ในชีวิตจริง โดยผ่านกิจกรรมต่างๆรวมทั้งการเล่นด้วย
  • ปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เด็กต้องหมกตัวอยู่ในบ้านหรือในห้องเรียน เด็กอยู่กับที่แทบทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเรียน หรือนั่งดูโทรทัศน์ ทำให้เด็กไม่ค่อยได้เล่นแบบเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวร่ายกายครบทุกส่วน นี่คือปัญหาสำคัญ
  • การไม่ได้เล่นเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต นักจิตวิทยาการศึกษาวิตกว่า เด็กที่ไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่ได้เล่นเมื่อวัยเด็ก จะไม่ได้ผ่านพัฒนาการอันจำเป็น ดังนั้น โรงเรียนยุคใหม่ต้องสนใจจัดกิจกรรมให้เด็กออกกำลัง เล่นกีฬา เล่นศิลปะป้องกันตัว และยิมนาสติก เป็นต้น
  • การเล่นช่วยพัฒนาการรับรู้ อย่างน้อยที่สุดเด็กจำเป็นต้องการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น การหมุนตัว กระโดด คลาน กลิ้ง ส่าย วิ่ง กิจกรรมเหล่านี้ช่วยพัฒนาความสามารถในการรับรู้ระยะ มิติ รวมทั้งมีการพัฒนาสมองสมดุลเป็นปกติ

การเคลื่อนไหวของเด็กวัย 3-6 ปี


  • ชื่นชอบการเคลื่อนไหว เมื่ออายุได้ 3 ปี เด็กๆ เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นเดิน วิ่ง กระโดด ปีน โดหน ในวัยนี้การเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว เป็นสิ่งที่เด็กชื่นชอบ และเป็นที่มาแห่งความภาคภูมิใจของเขาด้วย
  • ชอบการผจญภัย อายุ 4 ปี เป็นต้นไป แม้เด็กจะพอใจกับกิจกรรม แต่เขาต้องการให้มีบรรยากาศผจญภัย ดังนั้น ท่วงท่าในเชิงยิมนาสติกจะปรากฏตัวออกมา
  • เต็มไปด้วยพละกำลัง พออายุ 5 ปี การเคลื่อนไหวก็ยิ่งเต็มไปด้วย พละกำลัง และสนุกสนานยิ่ง เด็กชอบเล่น การเคลื่อนไหวแบบงู แบบช้าง ไดโนเสาร์ จิงโจ้ ม้า เป็ด ชอบเล่นขับรถไฟ ขับรถยนต์ ขับเครื่องบิน
  • ชอบเล่นสัมผัสคำ เด็กวัยนี้ชอบเล่นเกมใช้มือวางบนส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้วทายปัญหา สนุกกับการร้องบทร้องเล่น และกลอนสัมผัสต่างๆ แนวทางการสอนเด็กเล็ก ต้องสนใจใช้บทคล้องจอง บทร้องเล่น บทเพลงร่วมกับการใช้ท่าทางของเด็กเป็นพิเศษ
  • การเล่นทำให้เด็กรับรู้เอกลักษณ์ของตัวเอง เด็กจะเพิ่มการตระหนักรู้ของเขาว่า เขาสามารถใช้ร่างกายสื่อสาร แสดงสิ่งที่คิดและรู้สึก โดยเคลื่อนที่ในทางต่างๆ การเล่นเป็นโอกาสของเด็กในการพัฒนาการรับรู้เอกลักษณ์ของตัวเอง เมื่อเด็กเริ่มใช้ความคิดของเขาเพื่อเคลื่อนไหว เต้น รำ และเล่นกับผู้ใหญ่ หรือกับเด็กคนอื่น เด็กจะเริ่มสนใจในการสร้างสรรค์มากขึ้น
  • การเล่น เป็นการเตรียมสมองให้พร้อมใช้งาน การเล่นของเด็กนั้น แท้ที่จริงก็คือการซ้อมมือ หรือการซักซ้อม และพัฒนาทักษะที่ก่อรูปขึ้นมาแล้วในวงจรการเรียนรู้ของสมองนั่นเอง สิ่งที่เด็กพยายามเล่นในวัยนี้ เช่น การควบคุมท่าทางเดิน การวิ่งแข่ง การเล่นกระบะทราย การเดินบนไม้แผ่นเดียว การร้องเพลงและทำจังหวะ การตัดกระดาษเป็นรูปต่างๆ ล้วนแต่เป็นการทำซ้ำๆ ดัดแปลงท่วงท่าลีลาที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อสร้างสมองทุกส่วนให้พร้อมสำหรับการใช้งาน ในวัยถัดไปนั่นเอง

การเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย


  • การเคลื่อนไหวร่างกายทำให้สมองเห็นโลกในมุมมองต่างๆ การบูรณาการของข้อมูลทางประสาทสัมผัส ภาษา และความคิด การเรียนรู้ที่จะใช้พื้นที่ การมีเวลาสำรวจและฝึกฝน เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทางร่างกายของเด็ก ประสบการณ์ของเด็ก อันได้แก่ การปีน การคลาน การโยก การกระโดด ไม่ใช่เพียงเรื่องซุกซน แต่เป็นการแสวงหาโอกาสของสมองสำหรับการเห็นโลกจากมุมมองต่างๆ กัน
  • กระบวนการเรียนรู้ในการเคลื่อนไหว จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับมิติ ระยะ ทิศทาง เวลา ความเร็ว แรง ฯลฯ การรับรู้นี้เป็นฐานสำคัญของการเรียนรู้จักตนเอง ทำให้เด็กเป็นตัวเป็นตน และเป็นพื้นฐานสำหรับวิชาการทุกสาขา อย่าหวังว่าจะสอนความรู้เรื่องมิติ ระยะ ทิศทาง เวลา เมื่อถึงชั่วโมงสังคมศึกษา เพราะ “การรับรู้” ต้องมีมาก่อนในชีวิตจริง เด็กจึงจะพัฒนาความคิดนามธรรมขึ้นมาในชั่วโมงเรียนได้

เมื่อสมองสัมผัสของจริง


  • เมื่อสมองได้จับต้องสัมผัสกับของจริง ของเล่น และวัตถุสามมิติต่างๆรอบตัว อารมณ์จะถูกขับเคลื่อน ให้รู้สึกถึงความหมายของสิ่งที่สมองเข้าไปจับต้อง
  • ขณะที่เด็กคนหนึ่งกำลังเล่นอย่างเพลิดเพลิน สมองกำลังเข้าไปรับสัมผัส และเคลื่อนไหวกับรูปทรงสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงรี วงกลม โดยตรง ทำให้ความหมายของรูปทรงเหล่านี้ ปรากฏเป็นจริงเป็นจังขึ้นในสมอง ทำให้รู้จริงถึงความแตกต่าง
  • และในที่สุดคำว่า สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม วงรี ก็ปรากฏขึ้นในสมองของเด็ก โดยคำชี้แนะของผู้ใหญ่ นี่เองที่กล่าวว่า ภาษาของเด็กเกี่ยวข้องกับการพัฒนาผัสสะและการเคลื่อนไหว (sensorimotor)

การจัดประสบการณ์การเคลื่อนไหวร่างกาย


  • ให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวอย่างละเอียดที่จำเป็นต่อการใช้เครื่องมือและสื่อ เช่น กรรไกร ที่เจาะกระดาษ ที่เย็บกระดาษ
  • ให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่มีการรวมทักษะของการใช้เครื่องมือ รวมถึงการประสานงานของตา มือ เท้า เช่น การขว้าง การจับ การผลัก การดึง การขุด และการวาด
  • ให้เด็กได้ทำกิจกรรมการบรรจุ เท และแยกชิ้นส่วน เช่น การเล่นบล็อก เล่นน้ำ
  • ให้เด็กได้มีประสบการณ์สนุกสนานกับการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยใช้ทักษะที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ เช่น การคลาน การกลิ้งตัว การวิ่ง การปีน การโยก การเด้ง และการกระโดด
  • ให้เด็กได้ฝึกประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เช่น ปั้นดินเหนียว ดินน้ำมัน ประดิษฐ์เศษวัสดุ
  • ให้เด็กได้ใช้ทักษะเสถียรภาพ เช่น สมดุล งอ ยืด บิด
  • ให้เด็กได้บูรณาการทักษะการเคลื่อนไหวแบบหยาบและแบบละเอียด กีฬาในร่ม กีฬากลางแจ้ง
  • ให้เด็กได้พัฒนาความสามารถที่จะเล่นเครื่องเล่นสนามหลากหลายชนิด
  • ให้เด็กได้เล่นเครื่องเล่นสัมผัส เช่น ร้อยลูกปัด ต่อภาพตัดต่อ
  • ให้เด็กได้เขียนภาพและเล่นสี เช่น สีเทียน สีน้ำมัน เป่าสี พับสี
  • ให้เด็กได้ฝึกฝนการเคลื่อนไหวร่างกายพร้อมอุปกรณ์ เช่น การเคลื่อนไหวพร้อมเชือก ลูกบอล


เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning