OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

จัดการเรียนรู้ตามหลัก Brain-Based Learning ด้านอารมณ์และจิตใจ

35631
จัดการเรียนรู้ตามหลัก Brain-Based Learning ด้านอารมณ์และจิตใจ

พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ


  • การพัฒนาเด็กด้านอารมณ์และจิตใจ เป็นการพัฒนาที่มีกระบวนการอันซับซ้อน อารมณ์และจิตใจเป็นผลจากการที่เด็กปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การสะสมของข้อมูลความรู้สึกจำนวนมากๆ ในที่สุดจะก่อรูปเป็นอารมณ์และจิตใจของเด็กเอง
  • ดังนั้นการพัฒนาอารมณ์และจิตใจ จึงไม่ใช่เพียงแต่สนใจทำให้เด็กสนุกและมีความสุข ในชีวิตจริงคนเราไม่ได้ง่ายอย่างนั้น การพัฒนาด้านอารมณ์และจิตใจ จึงมีจุดมุ่งหมายให้เด็กสะสมความรู้สึก ความเข้าใจ ผ่านเหตุการณ์อันหลากหลาย ซับซ้อน ในบ้าน ในโรงเรียน และในชุมชน
  • ผู้ใหญ่ทำหน้าที่กระตุ้น แนะนำ ช่วยเหลือ ประคับประคอง ให้เด็กได้มีประสบการณ์ และผ่านเหตุการณ์สมหวัง ผิดหวัง วิตกกังวล เศร้าใจ หวั่นใจ ละอายใจ ยินดี ถูก ผิด ไปได้อย่างปลอดภัย
  • กระบวนการจัดการเรียนรู้ จึงเน้นให้เด็กเข้าไปอยู่ในกลุ่ม ในสังคม ได้เล่น ได้แข่งขัน ได้วาด ได้ฟัง ได้เล่า ได้แสดง ได้ทดลอง ได้ตัดสิน ได้เดินทางไปยังสถนที่ต่างๆ ฯลฯ
  • ทั้งหมดนี่ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาด้านอารมณ์ และความรู้สึก ผ่านเหตุการณ์ที่แท้จริง ที่ตนเองเป็นผู้ร่วมกระทำ จุดมุ่งหมายของการพัฒนาก็คือ ต้องการให้เด็ก มีความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์และจิตใจ อยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย และมีความสุข

สมองกับอารมณ์และจิตใจ


  • อารมณ์ เป็นภาษาแรกที่เด็กสื่อสารออกมา ประสบการณ์ทุกอย่างที่เด็กได้รับมีความสำคัญมาก ความสนใจและความทรงจำ (attention and memory) จะเริ่มก่อตัวเป็นตัวตนของเด็ก อารมณ์ เป็นภาษาแรกที่เด็กสื่อสารออกมา สังเกตได้ว่า อาการยิ้มอย่างมีความหมายปรากฎเมื่อเด็กมีอายุได้ 4 - 6 สัปดาห์ แสดงสีหน้าประหลาดใจเมื่อ 3 - 4 เดือน และคุยเมื่อ 6 - 8 เดือน ความกังวลต่อคนแปลกหน้ามีมาในราวครึ่งปีหลังของขวบปีแรก
  • เด็กเรียนรู้ผ่านเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์และจิตใจ (emotional intelligence) นั้น เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ขวบปีแรก ผ่านเหตุการณ์ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิตในวัยเด็กสอนให้เขารู้จักความสมหวัง ความผิดหวัง ความวิตกกังวล ความเศร้าใจ ความกลัว ความภูมิใจ ความละอาย ความยินดี กระทั่งความรู้สึกผิด
  • ในช่วง 6 ปีแรกของชีวิตนั้นมีความหมายยิ่งนักต่อการพัฒนาสมอง เด็กต้องการความรัก ความอบอุ่น ปกป้องให้ปลอดภัย โอบกอด สัมผัส ยิ้ม และพูดคุย แต่ถึงแม้กระนั้นเราจะรู้ว่าวัยที่ว่านี้เป็นโอกาสทองของชีวิตเด็ก เราก็ไม่ได้รู้ในรายละเอียดเท่าที่ควร ว่าเราจะทำให้ดีที่สุดได้อย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ เราได้ปล่อยให้ใครดูแลเด็ก
  • พัฒนาการแห่งอารมณ์และจิตใจของเด็กนั้น เกี่ยวข้องกับการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น สัมพันธภาพถูกชี้นำด้วยเหตุผลของความต้องการอยู่รอด นั่นคือ วงจรสมองเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ว่ามีความสำเร็จหรือมีประโยชน์บางอย่างเกิดขึ้น โดยอาศัยการร่วมมือกับผู้อื่น เกือบทุกขั้นตอนเด็กมีคนอื่นเป็นส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง สมองถูกออกแบบมาให้พอใจกับการมีสัมพันธภาพ โดยมีระบบของอารมณ์เป็นตัวกระตุ้นหรือตัวยับยั้ง
  • เด็กยังไม่มีความคิดเห็นแก่ตัว ในวัยอนุบาลนี้ เด็กยังคงต้องการความรัก ความอบอุ่น โอบ กอด สัมผัส เล่นบทบาทสมมติ ครอบครัวควรทำบ้านให้น่าอยู่ อบอุ่นสำหรับลูก เริ่มสอนให้เด็กเข้าใจระเบียบวินัยและกฎเกณฑ์ อย่าใช้อารมณ์กับเด็ก อย่ากล่าวหาเด็ก เพราะเด็กวัยนี้ทดลองทำสิ่งต่างๆมากกว่าตั้งใจทำความผิด การกระทำของเด็กๆในวัยนี้ไม่มีนัยทางศีลธรรมหรือทางคุณค่าแบบโลกในสังคมของผู้ใหญ่ แม้ว่าเด็กจะมีพื้นอารมณ์ต่างกัน แต่เด็กจะไม่มีความคิดเห็นแก่ตัว เอาเปรียบ ชอบลักขโมย ทำลาย ฯลฯ
  • เด็กเข้าใจความต้องการของคนอื่น ในช่วงวัยนี้ เด็กๆ พัฒนาความรู้โดยเชื่อมโยงกับวัตถุและเหตุการณ์ต่างๆ เขารู้ว่ามีคนเห็น ได้ยิน และกำลังมองดูเขาอยู่ เขารู้ว่ามีคนอื่นอยู่ และตัวเขามีอยู่ เมื่ออายุได้ 3 ปี เด็กรู้จักคิดในใจ และรู้ว่าคนอื่นก็คิดอะไรอยู่ในใจเหมือนกัน เด็กแสดงให้เห็นแล้วว่าเขาเข้าใจความต้องการของคนอื่น และรู้ว่าความต้องการเป็นสิ่งขับเคลื่อนการกระทำของเรา เด็กรู้แล้วว่า ความคิดเป็นสิ่งที่สัมผัสจริงๆไม่ได้ แต่มันก็เป็นตัวแทนของบางอย่างในโลกที่เป็นจริง มันอยู่ในใจของเด็กเองและอยู่ในใจของคนอื่นด้วย
  • การก่อตัวของอารมณ์ คือ ส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ อารมณ์เป็นปฏิกิริยาที่เด็กสัมพันธ์กับโลกภายนอก การช่วยขัดเกลาและพัฒนาอารมณ์และจิตใจไม่ได้ผ่านเหตุผลอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยแรงบันดาลใจ เช่น ความประทับใจ ความเห็นใจ ความเสียใจ ความกังวล เป็นต้น ผู้ใหญ่ควรนำเด็กให้ผ่านเหตุการณ์ร้อนหนาวไป โดยการประคับประคอง ไม่ใช่โดยการ “หักดิบ” หรือ “โอ๋” จนเกินเหตุ
  • อารมณ์มีผลต่อการเรียนรู้ เมื่อมีอารมณ์ จะมีการหลั่งสารเคมีเข้าในสมอง และมีผลต่อซีนแนปส์ และความสามารถในการคิด เรียนรู้ และจำ ดังนั้น การทำให้ห้องเรียนมีบรรยากาศในทางที่ดีต่ออารมณ์ โดยเฉพาะเป็นที่ที่ปลอดภัย และให้การยอมรับเด็ก ก็จะทำให้เด็กมีแรงจูงใจและประสบความสำเร็จได้ และต้องช่วยหาวิธีลดหรือขจัดอารมณ์ที่มีพื้นฐานจากความกลัว และการขาดความเชื่อมั่น เช่น การผ่านคลาย การกำหนดลมหายใจ
  • เด็กต้องเรียนรู้ผ่านชีวิตจริง กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนและในบ้าน มักเน้นการรับรู้ความเป็นตัวเอง และความเป็นคนอื่น โดยผ่านการเรียนที่แข็งกระด้าง ตายตัว โดยแบบเรียนทางสังคมศึกษา อันที่จริงแล้ว เด็กจำเป็นต้องมีพื้นฐานความเข้าใจเรื่อง วัฒนธรรมจากชีวิตจริง โดยผ่านเหตุการณ์ วันเวลา เรื่องราวอันซับซ้อนของชีวิต

การจัดประสบการณ์ด้านอารมณ์และจิตใจ


  • ให้เด็กได้ฝึกฝนการริเริ่ม และค้นคว้าหาความท้าทายใหม่ ฝึกเลือกและฝึกตัดสินใจ และช่วยให้เด็กมีความรู้สึกเป็นตัวตนที่เข็มแข็งขึ้น เมื่อเด็กอยู่ในเหตุการณ์จริง เช่น เล่นกับเพื่อน ทำงานบ้าน ออกไปซื้อของให้แม่ ป้อนข้าวน้อง มีเหตุการณ์จำนวนมากที่เด็กต้องตัดสินใจว่า เขาควรทำอะไร ควรทำอย่างไร ควรแก้ปัญหาแบบไหน
  • ให้เด็กฝึกแสดงความเข้าใจในสิทธิความรับผิดชอบของตนเองและสิทธิของผู้อื่น ส่งเสริมกิจกรรมแบ่งงานกันทำ
  • ให้เด็กมีประสบการณ์การเล่น และการทำงานที่ใช้ทักษะการแก้ปัญหา รวมถึงการประนีประนอม ไม่ใช้ความรุนแรง ขณะที่เด็กเกี่ยวข้องกับประสบการณ์การเรียนรู้ของเขากับเพื่อน เด็กจะพัฒนาการรับรู้คุณค่าของตนเอง ซึ่งจะช่วยในเรื่องปฏิกิริยาทางอารมณ์ และจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • ให้เด็กได้รู้จักแสดงออกอย่าสนุกสนานกับเรื่องตลก ขำขัน เช่น ฟังเรื่องตลก เล่านิทานสนุก เล่นบทบาทสมมติ เรื่องตลก และสนุก นอกจากทำให้ขบขัน สนุก อารมณ์ดีแล้ว ยังเป็นการนำเอาเรื่องราวต่างๆ มาประกอบขึ้นด้วยภาษา ท่าทางพิสดาร กระตุ้นให้สมองรู้จักเหตุการณ์ที่เร้าจินตนาการอย่างยิ่ง
  • ให้เด็กได้ค้นหาความสัมพันธ์และสร้างมิตรภาพกับเพื่อนและกลุ่มที่ห่างออกไป โดยการจัดกิจกรรมคละกลุ่ม คละชั้นบ้างตามความเหมาะสม การใช้ชีวิตร่วมกัน ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น ช่วยเหลือเพื่อน รู้จักขอโทษ ขอบคุณ เอื้ออารี ขณะที่เด็กสัมพันธ์กับผู้อื่น ความเข้าใจโลกจะเพิ่มขึ้น เด็กจะเข้าใจในเรื่องความแตกต่าง ความคล้ายคลึงในเรื่องเพศ เชื้อชาติ และความสัมพันธ์ทางสังคมจะชัดเจนมากขึ้น
  • ให้เด็กสะท้อนความเข้าใจในบทบาทและความสัมพันธ์ในครอบครัว พัฒนาความอดทน ความกตัญญู และซื่อสัตย์สุจริต ผ่านการฟังและเล่าเรื่อง การทำงานร่วมกับเพื่อน กิจกรรมร่วมระหว่างบ้านและโรงเรียน ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเองของเด็กพัฒนาขึ้นมา โดยเชื่อมโยงกับกิจกรรมประจำวัน และเหตุการณ์พิเศษของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และวัฒนธรรม กิจกรรมร่วมระหว่างบ้านและโรงเรียนมีบทบาทสำคัญ ช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นใจที่จะก้าวต่อไป
  • ให้เด็กได้พัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนที่อาศัยอยู่ ชื่นชมประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เรื่องเล่า ตำนานของท้องถิ่น โดยผ่านการฟังและการอ่าน รวมทั้งจัดโครงการตลอดปีเพื่อเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมศาสนา การกุศล ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ เด็กจำเป็นต้องมีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมจากชีวิตจริงโดยผ่านเหตุการณ์ วันเวลา เรื่องราวอันซับซ้อนของชีวิต
  • ให้เด็กได้แสดงความรู้สึกของตนเองผ่านการพูด การฟัง การแสดงดนตรี การฟ้อนรำ และการเต้น ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ มีบทบาทสะท้อนความคิดของเด็ก และย้อนกลับไปพัฒนาอารมณ์และตัวตนของเด็ก การพัฒนาผ่านศิลปะไม่ให้ผลทันที แต่เป็นการวางรากฐานอุปนิสัยและบุคลิกภาพของเด็ก
  • ให้เด็กพัฒนาความรู้สึกเห็นใจผู้อื่น ผ่านการอ่านและฟังนิทานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ การฟังนิทาน เรื่องเล่า เรื่องจริง ที่น่าสะเทือนใจ เป็นการจำลองวิถีชีวิตและการตัดสินใจในแบบต่างๆ และผลของการตัดสินใจนั้น ทำให้เด็กเข้าใจและเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
  • ให้เด็กได้เขียนภาพ ดูงานศิลปะ ท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาอารมณ์ ชื่นชมและสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม การก่อตัวของอารมณ์ คือ ส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ อารมณ์เป็นปฏิกิริยาที่เด็กสัมพันธ์กับโลกภายนอก การขัดเกลาและพัฒนาอารมณ์และจิตใจไม่ได้ผ่านเหตุผลอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยแรงบันดาลใจ เช่น ความประทับใจ ความเห็นใจ ความเสียใจ ความกังวล เป็นต้น


เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning