OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

5035 | 21 กุมภาพันธ์ 2560


เวทีเสวนา เรื่อง "การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต"

วิทยากร    รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
             ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
             คุณเพชร โอสถานุเคราะห์
             อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
             อาจารย์กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
             นักวิชาการอิสระ           
             ดร.กิริฎา เภาพิจิตร
             ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
             คุณณัฏฐา โกมลวาทิน
             ผู้ดำเนินรายการ

             รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงโจทย์ที่ท้าทายสำหรับเด็กไทย คือโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านของเทคโนโลยีในยุคดิจิตัล สังคมที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) ครอบครัวมีขนาดเล็กลง พ่อแม่เริ่มมีลูกน้อยลง ต้องเน้นให้ลูกมีคุณภาพ อีกทั้งการดำเนินชีวิตอย่างเร่งด่วน (fast live) ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น เหล่านี้คือกระแสที่ทำให้วิถีชีวิตของพลโลกเปลี่ยนไป ซึ่งต้องการทัศนคติ มุมมอง และแนวทางในการพัฒนาคนในรูปแบบใหม่ (new  normal, new mind set, and new development)
              ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน นวัตกรรมและเทคโนโยลีกำลังเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดที่สามารถเลียนแบบและแทนที่มนุษย์ได้ แต่สิ่งที่มนุษย์มีเหนือกว่าก็คือ สายใยรักความผูกพันที่แม่มีให้ลูก (tender loving care) และจิตสำนึก จิตสาธารณะที่รู้จักให้ ดังนั้น เด็กจะต้องเรียนรู้และเติบโตขึ้นอย่างสมดุลทั้งสองด้าน คือ เรียนรู้ที่จะมีสัมมาชีพ (learn to live) และในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ที่จะให้แก่สังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอยู่มีความสุข (learn to love)
              ในมุมมองด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า  “คน”  คือหัวใจของการพัฒนาประเทศ ประเทศต้องการคนเก่งที่มีจิตสาธารณะ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเพื่อนมนุษย์  ประเทศจึงจะพัฒนาอย่างยั่งยืน หากต้องการให้เศรษฐกิจดี ประชากรมีฐานะดีขึ้น และเศรษฐกิจมีการเติบโตแบบกระจาย สิ่งสำคัญคือการศึกษา เพราะจะช่วยในการพัฒนาประเทศ ช่วยให้คนใช้เทคโนโลยีเป็น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคนให้เก่งเสียก่อน แล้วการเพิ่มมูลค่าของงานและผลผลิตที่สามารถกระจายรายได้จะตามมา
ดังนั้น โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีคือโจทย์ของการพัฒนาประเทศ จากผลการวัดการศึกษาของไทยเรายังด้อยกว่าชาติอื่น ดังนั้นจึงต้องพัฒนาคนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทั้งการเลี้ยงดู อาหาร การศึกษา ซึ่งรวมไปถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตลอดชีวิต เพราะโลกปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
อาจารย์กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระผู้มีประสบการณ์กับระบบการศึกษาของฟินแลนด์  มองว่า โจทย์การศึกษาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ คือทำอย่างไรให้เด็กรู้สึกสนุกกับการไปโรงเรียน เมื่อมองย้อนกลับไปในสมัยที่ทุกคนยังเป็นเด็ก เด็กจะรู้สึกสนุกที่ได้เรียนรู้จากครูคนแรก นั่นก็คือพ่อแม่ แต่เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่การศึกษาในระบบ บริบทแวดล้อมที่ถูกจำกัดกรอบ ทำให้ความสนุกในการเรียนรู้ถูกจำกัดตามไปด้วย จึงต้องหันกลับมาดูว่า เราจะทำอย่างไรให้เด็กมีความสุขกับการไปโรงเรียน 
              การเรียนรู้ในฟินแลนด์เป็นการเรียนรู้ที่เด็กมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้สูงมาก เด็กต้องบอกได้ว่าตัวเองสนใจอะไร และกล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ กล้าที่จะบอกออกไป เราจะทำอย่างไรให้ห้องเรียนกลายเป็น comfort zone ที่นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ รวมถึงทุกภาคส่วนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วย ทั้งรัฐ  เทศบาล โรงเรียน ครอบครัว และภาคสังคม จึงเป็นการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็น ความต้องการของพื้นที่นั้น ๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองเชื่อว่าครอบครัวและการศึกษาเป็นเรื่องเดียวกัน ในโรงเรียนจะไม่มีการจัดระดับ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกรดหรือตัวเลข มีความยืดหยุ่นสูง และมีช่องทางมากมายให้เด็กเลือกจัดการศึกษาด้วยตนเอง

              คุณเพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ความรู้หรือคุณภาพของคนวัดไม่ได้ด้วยตัวเลข การศึกษาต้องจัดให้สมดุลทั้งภายนอกและภายใน ให้คนมีสติ (awareness) รู้จักตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของความจริงและความถูกต้อง และไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม
โลกกำลังถูกลากพาไปด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้เราเคยชินกับการวัดสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเลข แต่หากมองในมุมของคำว่า “พอเพียง” เราต้องมีสติ จึงจะก่อให้เกิดจิตสำนึก และตัวเลขอาจจะตามมา เราจึงควรวัดที่ความสุขสงบ และการค้นพบตัวเอง มากกว่าวัดด้วยตัวเลข

               ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางการศึกษาที่พบในประเทศไทย คือ คะแนน PISA ของเด็กไทยยังอยู่ในระดับเดิม ทักษะอ่านเขียนได้ยังไม่ดี จากการวิเคราะห์ของ TDRI พบว่าเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่สืบเนื่องจากการโรงเรียนมีจำนวนมาก และโรงเรียนที่มีขนาดเล็กจะมีต้นทุนสูง และมีคุณภาพต่ำกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ข้อเสนอแนะในการแก้ไข คือ การรวมโรงเรียนเล็กเข้าด้วยกันหรือไปรวมกับโรงเรียนใหญ่ เพื่อให้พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และมีการประเมินผล ครู และโรงเรียน เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาให้เท่าเทียมกัน
อาจารย์กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ยกตัวอย่างการจัดการศึกษาของฟินแลนด์ สิ่งที่โรงเรียนในฟินแลนด์ต้องการให้มีในเด็กก็คือความสามารถที่จะจัดการข้อมูล แยกแยะจริงเท็จถูกผิดได้ โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากการพัฒนาครู ซึ่งในโรงเรียนจะมีครู 2 ระบบ ได้แก่ ครูประจำชั้นที่จบคุรุศาสตร์มาโดยตรง และครูประจำวิชาที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่สอนและเรียนครูเพิ่มเติม  นอกจากนี้ ยังมีระบบช่วยเหลือนักเรียน ที่สามารถดูแลนักเรียนในทุกระดับโดยทำงานร่วมกับพ่อแม่ 
              การสอบของฟินแลนด์มีเพียงการสอบวัดคุณภาพซึ่งจะไปรวมกับข้อมูลด้านอื่นๆ ฟินแลนด์ไม่เคยจัดการศึกษาเพื่อการสอบ แต่คะแนนสอบ PISA ออกมาอยู่ในระดับต้นๆ เนื่องจากความเท่าเทียมของระบบการศึกษา เพราะโจทย์ของฟินแลนด์คือการทำให้ประชากรทุกคนผ่านระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้
ยกตัวอย่าง โครงการ วมว.สำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ที่เด็กเป็นเจ้าของความรู้ของตัวเอง ครูมีหน้าที่ชี้แนะและให้การสนับสนุนเท่านั้น

              รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ให้ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นวิชาส้มตำ และวิชาขนมจาก ในระดับชั้นประถมศึกษา ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของโรงเรียนและชุมชนในเขตบางโปรง จ.สมุทรปราการ ฝึกเด็กในทั้งด้านพัฒนาสัมมาชีพ และการมีส่วนร่วมในสังคม
นอกจากนี้ คุณหมอยังให้หลักการจัดการเรียนรู้ที่จะช่วยเอื้อให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างสมดุลตั้งอยู่บนหลักการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน คือ 
  1. กายพร้อม เด็กจะต้องได้รับทั้งอาหารกาย คือโภชนาการ และการนอนอย่างเพียงพอมีคุณภาพ และอาหารใจที่เหมาะสมฃ
  2. ใจเปิด เด็กจะเรียนรู้ได้ดี เมื่อสมองเบิกบาน และได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม
  3. สมองเกิดการเรียนรู้ สมองทุกส่วนได้รับการฝึกฝน ใช้งาน เชื่อมโยงกัน ผ่านการใช้ Executive Functions of Human’s Brain เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รู้ว่าตนเองชอบอะไร และเกิดแรงบันดาลใจ 
  4. คิดสร้างสรรค์ เด็กต้องไม่ถูกปิดกั้น แต่มีโอกาสได้เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม มีพื้นที่ให้เด็กได้คิด ได้แสดงออก
  5. เผชิญความท้าทาย เด็กจะต้องได้รับการเหลาความคิด ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ ให้เด็กได้มีโอกาสสะท้อนความคิด สิ่งที่ได้เรียนรู้ และหาคำตอบด้วยตนเอง การเผชิญความยากลำบาก คือวิชาชีวิต โดยมีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษา 
  6. ลงมือปฏิบัติ จนเกิดเป็นความชำนาญ และปลูกฝังในจิตสำนึก สุดท้ายคือ เด็กต้องได้ลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อจะค้นพบความชอบ ความถนัด นำไปสู่ความชำนาญ และทักษะที่สำคัญ คือ Skills for your live ซึ่งประกอบด้วย Literacy skills, Living skills, Life skills, and Career skills
             
            คุณเพชร โอสถานุเคราะห์ ฝากว่ากรอบคิด (mindset) ของผู้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาต้องเปลี่ยนก่อน เปิดใจ ยืดหยุ่นยอมรับความเปลี่ยนแปลง และหลักสูตรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาได้คิดนอกกรอบบ้าง เพราะการศึกษาวัดกันด้วยคุณภาพ สอนให้คนรักการเรียนรู้ แยกแยะถูกผิดได้ 
ท้ายสุด คุณหมอสุริยเดว ทรีปาตี แนะให้ค่อยๆ ใส่ motivation กับกลุ่มที่คิดนอกกรอบ จะเป็นแรงกระตุ้นให้กลุ่มที่ยังไม่เปลี่ยนต้องพยายามผลักดันตนเองให้เปลี่ยนตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นกระบวนการในการเปลี่ยนกรอบคิด (shift mindset) เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning