"Success Stories: โอกาสธุรกิจในสาขาที่คนไทยไม่คาดคิด" (Success Stories: The Unthinkable Service Businesses)
เมย์ ภัทรวรินทร์ อยู่ในวงการบันเทิง เป็นนักแสดง พิธีกร ครูสอนศิลปะการแสดง และนักเขียน มีผลงานการแสดงทั้งละคร ละครเวทีและภาพยนตร์ ที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ณ วังหลัง โปรดักชั่น จำกัด รับจัดทำและผลิตรายการโทรทัศน์ และรับจัดงานอสดงโดยทั่วไป นอกจากนี้เธอยังผันตัวเองมาเป็นนักทำอาหารโดยการันตีฝีมือโดย โรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ปัจจุบัน เมย์เป็นโปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการ “เต้นรำ ทำครัว” ทางช่องทรูวิชั่น (Home and Food Chanel) HD 85, Explore 2 และ true 10 ด้วยความรักในเรื่องของอาหารการกินด้วยแนวคิด “การทำอาหารเป็นเรื่องไม่เครียดและเรื่องกินเรื่องใหญ่” จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจการจัดเลี้ยงที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม สำหรับลูกค้าที่ต้องการรูปแบบปาร์ตี้ที่เลือกสรรบรรยากาศและอาหารด้วยตัวเอง โดยเมย์จะเป็นผู้รังสรรค์ทุกอย่างตามที่ลูกค้าต้องการ ภายใต้ชื่อ May I Party ซึ่งถือเป็นการบุกเบิกธุรกิจบริการด้านอาหาร โดยยึดหลักการให้บริการที่ลูกค้าจะอิ่ม อร่อย และได้ความรู้ เรื่องอาหารการกินควบคู่กันไปกับความสนุกสนาน และได้รับความพึงพอใจ ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า ในขณะเดียวกันตัวของเองก็ได้รับความสุขจากการทำงาน พร้อมกับกำไรที่เป็นเม็ดเงิน
สำหรับข้อคิดในการทำงานของเมย์ คือ ควรทำในสิ่งที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข ไม่คิดถึงผลกำไรที่เป็นตัวเลข เพราะความสุขคือกำไรอย่างหนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายแต่ใช้วิธีทำไปเมื่อพบปัญหาจึงค่อยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สำหรับเรื่องของการทำงานเป็นทีมเพื่อให้ทุกคนชอบและรักในสิ่งเดียวกัน เมย์แนะนำว่าอย่าคิดว่ากำลังทำงานให้คิดว่าเป็นงานอดิเรก เป็นสิ่งที่ตัวเองรักและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยเป็นแบบอย่างในการทำงานให้กับทีมงานเห็นแล้วทำตาม ซึ่งจะดีกว่าการสอน
ด้านการแข่งขันทางธุรกิจและการอยู่รอดท่ามกลางคู่แข่งที่คิดจะทำธุรกิจแบบเดียวกัน เมย์แนะนำให้คงเอกลักษณ์ของตนเองที่เป็นจุดเด่น เพราะลูกค้าต้องการแบบที่เราเป็นจึงเลือกที่จะใช้บริการของเรา และการมีคู่แข่งเท่ากับลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ซี่งปัจจุบันเมย์เน้นที่ลูกค้าเฉพาะกลุ่มไม่ได้เน้นปริมาณลูกค้า
สำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจแนะนำให้เริ่มจากสิ่งที่รักและชอบ ค่อยๆ ทำโดยเริ่มจากจุดเล็กๆ แต่เป็นจุดที่ชอบ ถนัดและทำได้ดี และไม่กลัวที่จะคิดต่าง เมื่อเห็นว่ามีโอกาสขยายตัวจึงค่อยขยายตัวต่อไป
อานนท์ ไพโรจน์ เจ้าของฉายา “ อายุน้อยร้อยล้าน” เป็นนักออกแบบ และพัฒนาสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลก เรียนจบปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะอุตสาหกรรมจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เริ่มต้นทำงานประจำในวัย 23 ปี ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ บริษัทศรีวิกรณ์กรุ๊ป โฮลดิ้ง มหาชน นอกจากนี้ยังมีผลงานออกแบบในระดับนานาชาติ และยังได้รับรางวัลเหรียญ ศิลป์ พีระศรี จากกรมศิลปากรในฐานะนักออกแบบยอดเยี่ยม แห่งปี 2008-2009 ในปี 2007 ได้ก่อตั้ง บริษัท อานนท์ ไพโรจน์ ดีไซน์สตูดิโอ จำกัด ดำเนินงานด้านออกแบบ และเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาธุรกิจด้วยกลยุทธ์การออกแบบ ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เป็นแบรนด์ดังมากมาย เช่น FENDI MATRAZ Vitra Design Museum ฯลฯ จากผลงานที่โดดเด่นทำให้ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติหลายรางวัล นอกจากจะเป็นนักออกแบบ และเจ้าของธุรกิจแล้ว อานนท์ยังเป็นภัณฑารักษ์และก่อตั้งกลุ่มนักออกแบบหน้าใหม่ในเอเชีย ชื่อ ASIA TALENT เพื่อรวบรวมเครือข่ายงานออกแบบร่วมสมัยที่เกิดขึ้นจากองค์ความรู้งานออกแบบท้องถิ่น ที่นักออกแบบในเอเชียได้รวมตัวกัน และทำงานร่วมกับ WATARU SAKUMA นักออกแบบชาวญี่ปุ่นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะผ่านโครงการ DEWA: Design from Waste of Agriculture โดยรัฐบาลไทยสนับสนุนโครงการ ในการศึกษาการจัดการเศษเหลือจากผลิตผลทางการเกษตรทั่วประเทศไทย ให้มาเป็นงานออกแบบที่ท้องถิ่นสามารถจัดการขยะและเป็นสินค้าที่สามารถผลิตได้ด้วยศักยภาพท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
อานนท์ เป็นผู้ที่มีหัวทางธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก โดยตั้งคำถามกับตัวเองเวลาที่ทำงานว่า จะต้องทำงานเท่าไหร่จึงจะได้สิ่งที่ต้องการ หากทำเพียงอย่างเดียวต้องใช้เวลานาน จึงต้องทำงานอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ธุรกิจของอานนท์จึงไม่เพียงแต่ให้บริการออกแบบ แต่ยังเป็นที่ปรึกษา พัฒนาและวางแผนกลยุทธ์ให้กับลูกค้าอีกด้วย
ในการทำงาน อานนท์ ให้ข้อคิดว่า การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป ต้องเตรียมทีมงานที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกด้าน ในการให้บริการออกแบบจะต้องสำรวจประวัติของธุรกิจนั้นๆ และมีมุมมองในด้านอื่นๆ มาประกอบการพิจารณา เช่น มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ การตลาด เพื่อนำมาประกอบในการออกแบบ โดยธุรกิจของอานนท์ เป็น Design service คือ ให้บริการในการออกแบบ ไม่ใช่ Designer หรือนักออกแบบเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการพูดคุยและตั้งคำถามกับลูกค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์ประกอบการออกแบบ และหาจุดเปลี่ยนจากความคิดเดิม เพื่อให้ได้รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด
สำหรับการสร้างทีมงานให้มีความรักต่องานที่ทำ อานนท์ ให้ข้อคิดว่า ต้องทำให้ทีมงานรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกคน และทุกคนเป็นคนสำคัญ มีตัวตน หากทุกคนรู้สึกถึงความสำคัญของสิ่งที่ตนเองทำ จะทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ในเรื่องของการแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจ อานนท์ เห็นว่า หากปัญหามีมาก ลูกค้าก็จะมากไปด้วย ให้มองว่าผู้ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ หากต้องการชนะการแข่งขันจะต้องขายความแตกต่าง และเปลี่ยนมุมมองในการคิด
อานนท์ให้ข้อแนะนำในการทำธุรกิจบริการว่า ให้คิดแบบแมว คือ มีความสดใสร่าเริง ไม่ต้องมีนิยาม ไม่คิดถึงคู่แข่ง แต่ให้ทำตัวให้กลมกลืน ต้องมีการปรับตัว และเข้าใจบริบทที่อยู่รอบด้าน ที่สำคัญคือ ต้องมีใจรักบริการ (service mind) และให้คิดว่าธุรกิจมีขึ้นและลง ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ให้ต่อสู้กับตัวเองอย่าไปต่อสู้กับคนอื่น เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง อาจมีการขยายฐานธุรกิจเดิมเพื่อเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน
ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1662.99 KB)