การเลี้ยงต่อหัวเสือ
ต่อหัวเสือเป็นแมลงมีพิษที่กินสัตว์เป็นอาหาร เช่น ตัวอ่อนแมลงอื่น ซากสัตว์ สร้างรังขนาดใหญ่เป็นรูปทรงกลม มักอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย เมื่อโตเต็มวัยลำตัวมีสีดำแต้มด้วยสีเหลือง หรืออาจมีสีน้ำตาล ท้องมีแถบสีส้มปนเหลือง มีปีกสีน้ำตาลบางใส 2 คู่ มีเขี้ยวที่กางออกทางข้าง 2 ข้าง ประกอบด้วย เพศผู้ซึ่งเจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม และเพศเมียซึ่งเจริญมาจากไข่ที่ได้รับการผสม เป็นต่อราชินีและต่องาน ต่อราชินีที่เป็นแม่ 1 ตัว ทำหน้าที่สืบพันธุ์ ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะมีต่อราชินีที่เป็นลูกอีกหลายตัวเพื่อสร้างรังใหม่ ต่องาน มีหน้าที่หาอาหาร ป้องกันรัง ดูแลราชินี และตัวอ่อนภายในรัง วงจรชีวิตมีพัฒนาการในระยะต่างๆ ที่สำคัญรวม 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อนหรือหนอน ระยะดักแด้ และระยะตัวเต็มวัย
การเลี้ยงต่อหัวเสือ ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
- การหาตัวต่อหรือแม่ต่อ ในช่วงเดือน เมษายน - พฤษภาคม
- การล่อและการตามตัวต่อ ใช้เนื้อสดเสียบไม้ และเนื้อสดผูกเชือกด้ายเล็กๆ ที่ปลายเป็นกระดาษสี
- การหารังต่อ เมื่อทราบบริเวณที่ต่อทำรังแล้ว ก็ค้นหาจนเจอรังต่อ
- การนำต่อมาเลี้ยง ตัดกิ่งไม้ที่มีรังต่อในเวลากลางคืน นำมาเลี้ยงหรือผูกไว้ในที่ที่จัดไว้
- การเก็บรังต่อ / ตัวอ่อน ขาย ช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน จะมีรังต่อร้าง ตัดกิ่งเอารังมาเคลือบแล้วขายได้ ส่วนตัวอ่อนจะเก็บขายเมื่อรังต่อได้ขนาดพอเหมาะเท่าลูกฟุตบอลขนาดใหญ่ขึ้นไป
การเลี้ยงต่อหัวเสือสามารถพัฒนาอาชีพโดยการให้ต่อหัวเสือสร้าง / เกาะรังกับไม้มงคล / โครงลวดรูปเจดีย์ จะทำให้สามารถขายรังต่อในราคาสูงขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า เพราะรังต่อหัวเสือมีเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและโชคลางมาเกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 3230.79 KB)