OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 การสื่อสารและร่วมมือทำงาน โดย เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

3992
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 การสื่อสารและร่วมมือทำงาน โดย เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

ปมขัดแย้งในใจหนึ่งสำหรับคนทำงานศิลปะ คือ การเห็นว่าศิลปะกับมวลชนหรือกระแสหลักนั้นไม่ใช่สิ่งที่ไปด้วยกัน ทำให้เกิดคำถามว่าการโปรโมทศิลปะผิดหรือไม่?


หนังทุกเรื่องไปถึงหนึ่งร้อยล้านบาทได้จริงหรือเปล่า? ทั้งยังมีภาพจำว่าศิลปะเป็นของสูง ต้องไปดูที่พิพิธภัณฑ์ แกลลอรี่ ศิลปะไม่อยู่กับมวลชน ไม่อยู่บนถนน คนทั่วไปซื้อไม่ได้ ต้องมีพิธีกรรมในการเข้าถึง แต่นวพลเสนอว่าการโปรโมทศิลปะนั้นไม่ผิด เพราะการโปรโมทอาจไม่ใช่เรื่องเงินหรือการค้ากำไร แต่เป็นเรื่องว่ามีคนได้เข้าถึงงานศิลปะนั้นได้มากแค่ไหนต่างหาก ดังนั้น เราอาจต้องหันมามองนิยามของศิลปะเสียใหม่เพื่อให้ศิลปะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น


ทำอย่างไรให้งานศิลปะเข้าถึงผู้คน?


ก่อนอื่นต้องนิยามศิลปะใหม่ ให้ศิลปะเป็นเรื่องธรรมดา อย่าให้มีอคติมากั้นว่าศิลปะต้องเป็นของสูง ศิลปะอาจเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งสำหรับงานลูกค้า ศิลปะอาจเป็นบริการอย่างหนึ่งที่ให้ความรู้สึกบางอย่างแก่ผู้ใช้บริการ หรือศิลปะอาจจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้นที่ไม่ยึดติดกับนิยามหรือภาพจำเดิม แต่สิ่งสำคัญก็คืองานศิลปะนั้นต้องดีในตัวมันเอง นวพลเสนอว่าอะไรก็ตามที่มีประโยชน์และสร้างความพึงพอใจบางอย่างได้จริง มันก็จะเป็นที่ยอมรับ เป็นที่ชื่นชอบเอง เช่น ลวดนวดหัว ไอโฟน สมาร์ทโฟน ฯลฯ


แน่นอนว่าศิลปะย่อมต่างจากสินค้าทั่วไปเล็กน้อย เพราะศิลปะเป็นของไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่ศิลปะก็มีบทบาทและประโยชน์ของมันอยู่ในตำแหน่งที่เกินความต้องการพื้นฐานขึ้นมาเล็กน้อย ทว่า ก็ไม่จำเป็นต้องให้เข้าใจยากอยู่ดี นวพลยกตัวอย่าง Kyary Pamyu Pamyu นักร้องเพลง ป๊อปญี่ปุ่นที่ทำโปสเตอร์ด้วยงานคอลลาจ ว่าปามิวก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของนักร้องที่ไม่ได้ทำงานศิลปะตามนิยามเดิม (เป็นของสูง เข้าถึงยาก) เธอร้องเพลงป๊อปซึ่งเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก แต่ก็มีการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองอย่างดีที่สุด นำศิลปะร่วมสมัยมาผสมผสานโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าอะไรคือศิลปะ อะไรคือแมส แล้วผลงานของเธอก็ดีในระดับเป็นที่ยอมรับ


ดังนั้น ศิลปะกับแมสจึงผสมผสานกันได้ ไม่แยกขาดจากกัน อย่างเช่นTakashi Murakami นักวาดผู้ทำงานศิลปะจากตัวการ์ตูนที่ได้ไปจัดแสดงในแกลลอรี่ และนำไปใช้เป็นลายกระเป๋าหลุยส์ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของศิลปินที่ไม่แบ่งแยกระหว่างศิลปะชั้นสูงกับศิลปะมวลชน งานศิลปะของเขาจึงไปปรากฏตัวอยู่ได้อย่างไม่จำกัด


ทำอย่างไรให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก?


ในโลกปัจจุบันที่เปิดพื้นที่ให้คนแสดงออกมากขึ้น ทำให้เกิดศิลปินขึ้นมากมาย ศิลปินจึงต้องมีวิธีทำให้ผลงานของตัวเองเป็นที่รู้จัก ศิลปินจำเป็นต้องมีความรู้ทางธุรกิจบ้าง และรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เพราะปัจจุบันการประชาสัมพันธ์นั้นไม่จำเป็นต้องอยู่บนสื่อกระแสหลักเช่น โทรทัศน์ รายการวิทยุ ป้ายโฆษณา บิลบอร์ด ฯลฯ อีกแล้ว แต่สามารถใช้ช่องทางอื่นๆ เช่น Facebook Youtube ในการประชาสัมพันธ์ โลกโซเชียลเหล่านี้ยังใช้สร้างพื้นที่ของตัวเองได้ด้วย โดยการแอดเฟรนด์หรือแอดเข้ากลุ่มคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน ทำให้งานของเราเป็นที่รู้จักได้ง่ายขึ้น


นวพลตั้งข้อสังเกตว่าศิลปินแต่ละกลุ่มต่างมีพื้นที่และกลุ่มผู้ติดตามของตัวเอง เช่น Getsunova เจ้าของเพลง ไกลแค่ไหนคือใกล้, ก้องหล้า ยอดจำปา ผู้ร้องเพลงไสว่าสิบ่ถิ่มกัน และเต๋อ นวพล มีพื้นที่คนละพื้นที่กัน เมื่อศิลปินกลุ่มหนึ่งออกผลงานมา คนในพื้นที่อื่น อาจไม่ได้รับรู้ผลงานนั้นเลยก็ได้ ดังนั้น นอกจากเราจะต้องหากลุ่มที่เหมาะกับงานที่เราทำ รู้จักกลุ่มคนดูของตัวเองว่าเป็นใคร สนใจอะไร จะเข้าถึงอย่างไรแล้ว เรายังต้องหาช่องทางให้งานของเราไปปรากฏอยู่ในพื้นที่ของคนอื่นให้ได้ด้วย การพางานของเราไปถึงคนที่ไม่รู้จักเรามาก่อนนั้น อาจทำได้โดยการสร้างความคุ้นเคยและหาทางเชื่อมต่อกันคนที่ไม่คุ้นเคยกับงานของเราก่อน เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น สร้างความคุ้นเคยหรือหาทางเชื่อมต่อกับลูกค้าต่างชาติ ด้วยเมนูภาษาอังกฤษ เป็นต้น คนทำงานศิลปะเองก็ต้องหาอะไรสักอย่างที่จะทำให้คนรู้สึกเชื่อมติดกับงานของเราได้ นอกจากนี้ศิลปินต้องรู้จักเข้าหาลูกค้า โดยจัดแสดงงานในที่ๆ ไปง่ายๆ วางขายตามร้านทั่วไป อย่าทำให้งานของเราเข้าถึงยาก


สิ่งสำคัญที่สุดคือ ศิลปินต้องหาจุดเด่นของตัวเอง ว่าเราต่างจากคนอื่นอย่างไร เรามีข้อดี มีเอกลักษณ์อย่างไร แล้วนำเสนอความเป็นตัวเราออกไป รวมทั้งคำนึงถึงข้อจำกัดที่ว่าการประชาสัมพันธ์บนโลกโซเชียลนั้น ผู้คนเสพข่าวกันอย่างรวดเร็วมาก ศิลปินจึงต้องรู้จักสื่อสารให้น้อยแต่ได้ใจความมาก หมายถึง ต้องรู้จักเลือกชื่อ คำโปรย ข้อความ ตัวอย่างผลงาน เป็นต้น ที่สื่อสารความเป็นงานชิ้นนั้นๆ ได้มากที่สุดในพื้นที่น้อยๆ เช่น หนังสือพิมพ์ที่แนะนำหนังเรื่องฟรีแลนซ์ในพื้นที่จำกัดว่า ฟรีแลนซ์ เชียต...รักกันเหอะหมอ ฯลฯ สั้นๆ แต่ได้ใจความและคงอารมณ์ของภาพยนตร์ไว้ได้ดีทีเดียว


ทำอย่างไรให้ทำงานศิลปะได้ในระยะยาว?


คำถามสำคัญอีกคำถามสำคัญศิลปินคือ จะทำงานศิลปะในระยะยาวได้อย่างไร โดยไม่ต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นเมื่ออายุมากขึ้น นวพลชี้ว่าศิลปินต้องมีความรู้เรื่องธุรกิจและมีความเป็นผู้ประกอบการ รู้จักการบริหาร การตลาด การจัดการคน แต่เหนือความรู้เรื่องการบริหารธุรกิจก็คือ ศิลปินต้องรักษาคุณภาพของผลงานและเป็นตัวของตัวเองอย่างยืนหยัด แม้กระแสความนิยมในสังคมจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็ต้องคงจุดเด่นของตัวเองไว้เพื่อให้เป็นที่จดจำว่าหากกล่าวถึงศิลปินคนนี้ แนวทางย่อมเป็นอย่างนี้ อย่าหวั่นไหวกับกระแสความนิยมภายนอกที่เปลี่ยนไป



บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

มันส์สมอง | Let’s play with knowledge
2934
เล่นให้โดน : ถอดรหัสกลเม็ดสู่ความสำเร็จสร้างคอนเทนต์ให้โดนใจคนไทย
2818
เล่นเป็นเรียน : เรียนให้ต่าง เล่นให้ได้ความรู้
5932
เล่นจนได้ดี : กล้าเดินตามฝัน ลงมือทำในสิ่งที่คนอื่นได้แต่คิด
4023
เล่น ลอง เรียน : ถอดรหัส "ห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21"
5218
“เล่น เห็น โลก: ท้าทายอนาคต สร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศ”
3614
มันส์สมอง | พื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21
2985
สร้างโอกาสใหม่จากวัฒนธรรมของโลกที่ไร้ขอบเขต โดย เชฟเอียน พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย
5070
รู้ทันโลกเทคโนโลยี พลิกธุรกิจรับโอกาสใหม่ โดย ไผท ผดุงถิ่น
6659
ทักษะการสื่อสารและการตลาดที่จะพาเราไปตลาดโลก โดย สุรชัย พุฒิกุลางกูร
3527