คิดทันโลกด้วย Design Thinking โดย ASIAN Leadership Academy
Design Thinking คืออะไร?
Design Thinking คือ การคิดเชิงออกแบบ คือการคิดแก้ปัญหาที่สามารถนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ การคิดเชิงออกแบบนั้นต่างจาก “ความคิดสร้างสรรค์”(creativity) คือ Design Thinking จะคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 อย่างประกอบกัน คือ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ และ “คน” การคิดเชิงออกแบบจึงมีอีกชื่อคือ Human centered design ที่คนเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหา โดยเน้นทำความเข้าใจว่าคนต้องการอะไร แทนที่วิธีการแบบเดิมที่มักเริ่มต้นจาก “ปัญหา”
หลักการคิดเชิงออกแบบ
1. คิดอย่าง “เข้าใจ”
เป็นวิธีการคิดผ่านสิ่งที่เขาพูด ทำ คิด และรู้สึก เพื่อให้เข้าใจปัญหาจากมุมมองของคนที่เราจะแก้ปัญหาให้ ซึ่งการคิดอย่างเข้าใจอาจสามารถทำได้ผ่านทางการสังเกต การสอบถาม หรือการมีประสบการณ์ร่วม
2. คิดแบบ “ไม่มีกรอบ”
การคิดแบบไม่มีกรอบ มีกระบวนการในการคิดดังนี้
- ต้องตั้งคำถามที่ถูกต้อง ก่อนจะเริ่มหาคำตอบ ดังนั้นจึงต้องเริ่มตั้งคำถามก่อน โดยใช้ฟอร์ม “เราจะ......ได้อย่างไร”
- ได้คำถามแล้วคิดคำตอบ โดยใช้วิธี Ideate (Idea + create) หรือการ brainstorming โดยมีหลักการในการระดมสมองที่ดี คือ
- ต้องพูดทีละคน
- เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
- ออกไอเดียให้กระชับ
- ต่อยอดไอเดียกัน
- ส่งเสริมไอเดียบ้าๆ
- วาดรูปก็ได้
- อย่าออกนอกเรื่อง
- อย่าวิจารณ์ไอเดียคนอื่น
อย่างไรก็ตามการคิดแบบไม่มีกรอบโดยการระดมสมองอาจพบอุปสรรคบางประการ คือ
- คิดว่าไอเดียเดียวก็พอแล้ว
- ไอเดียไหนฟังแล้วไม่ชอบ ต้องรีบจำกัด
- พูดอย่างเดียว ไม่ฟัง
- อะไรที่พูดแล้วเราดูโง่ เก็บไว้กับตัวดีกว่า
- ลืมจดหรือบันทึกไอเดียไว้
- บางไอเดียก็ลงลึกในรายละเอียดมากเกินไป
การคิดแบบไม่มีกรอบโดยการระดมสมองจะมีอุปกรณ์ช่วยเสริมในกระบวนการคิด ซึ่งอุปกรณ์ประกอบการจัดกิจกรรมก็เป็นสิ่งที่สามารถหาได้ทั่วไป ประกอบด้วย โพสต์อิทและปากกา เนื่องจากเป็นสิ่งที่ย้ายที่ได้ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นเท่าๆ กัน ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง โดยมีพื้นที่ที่จำกัด
3. คิดเร็ว ทำเร็ว
นำไอเดียไปแปลงให้เป็น “ผลงาน” โดยคำนึงถึง “เวลา” และ “ค่าใช้จ่าย” ที่จำกัด โดยมีวิธีการคือ
- ทดลองสร้างต้นแบบ (Prototype) และยึดหลักทดลองหลายๆ ครั้ง ล้มเหลวบ่อยๆ ล้มเหลวให้เร็ว เพื่อจะได้รีบเรียนรู้ความผิดพลาด
- Fail Cheap เพื่อให้ความผิดพลาดนั้นมีราคาถูก
- Fail Fast เพื่อให้ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นเร็วแต่เนิ่นๆ
- Fail forward เพื่อให้ความผิดพลาดเป็นบทเรียนในการก้าวต่อไป
- สร้างต้นแบบที่จับต้องได้และมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ ใช้ของง่ายๆ ไม่ต้องใช้ของจริง โดยผลงานการออกแบบอาจเป็นไปได้อย่างหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์โดยตรงเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นสิ่งอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมได้ อาทิ
- ฉากหรือบรรยากาศ (Scence)
- อุปกรณ์ตัวช่วยบางอย่าง (Props / touch point)
- บทบาทของพนักงานที่กำหนดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา (Roles)