การเปลี่ยนการสื่อสาร คือ การเปลี่ยนวิธีคิด โดย ศุ บุญเลี้ยง
การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์
“การสื่อสาร” ในยุคปัจจุบัน มักมีใจความคลาดเคลื่อนกัน ทำให้เกิดเป็นความไม่เข้าใจกันเสมอๆ
“ความรู้” แต่เดิมการมีความรู้เคยเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ที่มีความรู้มักเคยเป็นคนที่ถือครองอำนาจ แต่ปัจจุบันรูปแบบได้เปลี่ยนไปแล้วการมีความรู้ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างอีกต่อไป ในทางกลับกัน ผู้ที่มีอำนาจ คือ ผู้ที่สามารถนำความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์มากกว่า เรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง หากเรียงร้อยเป็นเนื้อความออกมา อาจไม่ได้แตกต่างกันเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ วิธีเล่า
“วิธีเล่า” คือ กุญแจสำคัญ เนื้อความอาจไม่ต่างกัน แต่แตกต่างที่การนำเรื่องราวนั้นๆ ออกมาเล่าตัวอย่างเช่น นิทานพื้นบ้านกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ที่ปกติเราได้ยิน เรื่องอาจจะกลายเป็นแบบอื่นก็ได้ แค่ผู้เล่าเปลี่ยนเนื้อเรื่อง คำถาม คือ ทำไมต้องฆ่าแม่ ทำไมต้องเล่าให้เด็กฟัง ผู้เล่าต้องการจะบอกอะไร ทำไมต้องใช้แม่เป็นเครื่องมือและวิธีการที่โหดร้ายในการเล่าเรื่อง คำตอบ คือ เพราะสิ่งที่จะบอกหรือจะสื่อมันชัดเจนที่ว่า ความโมโหมันน่ากลัวมากขนาดไหน ขนาดที่คนเป็นแม่ยังไม่รอดจากความโมโห
การเปลี่ยนการสื่อสาร คือ การเปลี่ยนวิธีคิด
สิ่งที่จะให้ทำขั้นตอนแรกในการสื่อสารเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น คือ เริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด แค่วิธีคิดเปลี่ยน การกระทำก็เปลี่ยนแปลงไปตามเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ไม่ได้เจอเพื่อนคนหนึ่งมานานมาก และบังเอิญเจอเพื่อน ซึ่งเพื่อนคนนั้นอ้วนขึ้นมากๆ มันจำเป็นไหมที่เราต้องล้อเลียนเพื่อนทุกครั้งไป หรือ ทักว่าเขาอ้วนขึ้นหรือเปล่า หรือ สบายดีไหม ทักโดยวิธีเดิมๆ ซ้ำๆ เราอาจเปลี่ยนไปการถามเรื่องอื่นๆ จุดร่วมสมัยเด็ก หรือ ถามถึงสารทุกข์สุขดิบของเพื่อนคนอื่นๆ เท่านั้นเองความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็จะมีแต่เพิ่มขึ้นๆ จะเห็นได้ว่าเพียงการพูดคุย การพูดที่ดี ต้องระวังคำพูด การเลือกใช้คำถามในการเปิดบทสนทนาต้องคิดก่อนถามเสมอ อย่าถามอะไรเดิมๆเช่นกัน เพราะมนุษย์เรามักเบื่อความจำเจ
หลายครั้งการคิดอะไรเหมือนกัน อาจเกิดจากกรอบความคิดเดิมๆ ซ่อนอยู่ เสมือนสิ่งที่สิงอยู่ในร่าง ในวิญญาณเรา ตัวอย่าง การเขียนเรียงความเรื่องแม่ ใจความรายงานมักใช้รูปแบบการเขียนคล้ายๆกัน สมองคนเราเหมือนถูกล้างสมองนาน การจะเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งจึงไม่ง่าย เราอยู่จุดกึ่งกลางระหว่างความสร้างสรรค์กับความสับสน หากจะทำให้การสื่อสารของเราเข้าถึงผู้อื่นและมีความเป็นตนเองมากขึ้น เราต้องสลัดกรอบคิดเดิมๆ ออกไป
เราต้องเข้าใจว่าเราสื่อสารทำไม เพื่ออะไร
การสื่อสารที่สำคัญที่สุด คือ การสื่อสารกับตัวเอง เพราะตัวเราคือคนที่เราคุยและใช้ชีวิตด้วยมากที่สุด
หากเราคิดแต่สิ่งลบๆก็จะเกิดแต่เรื่องลบๆ แต่หากคิดบวก สิ่งดีๆ ก็จะเกิดตามมาเช่นกัน การส่งสารผ่านสื่อกลาง เช่น การจีบใครสักคน จะให้บอกไปตรงๆคงไม่เหมาะนัก มนุษย์เราถึงมักใช้การกระทำบางอย่างเพื่อสื่อแทนอย่าง การให้ดอกกุหลาบ การแต่งเพลงให้ การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ต้องเริ่มจากการแยกแยะความต่างระหว่างการอนุมาน หรือการมโนว่าต่างจากข้อเท็จจริงอย่างไรก่อน อย่างเช่น กรณีการอนุมาน คือ สิ่งที่คนเรามักคิดไปเอง เพราะความคิดบางอย่างถูกผูกติดกับตัวเรา ตัวอย่างเช่น แม้เพียงรูปภาพไม่กี่เรื่องเรา ก็สามารถนำมาเล่าเป็นเรื่องราวได้มากมาย เล่าจากประสบการณ์ของเราที่ผ่านมา หรือแม้แต่การมองภาพอื่นๆ ปกติเรามองภาพ เราจะเริ่มมองแต่สิ่งที่เราคุ้นตาก่อน เพราะเป็นสิ่งที่เรารู้จักและคุ้นเคย สามารถอธิบายได้ มนุษย์ส่วนใหญ่มักไม่ชอบสิ่งที่ตนเองอธิบายไม่ได้
การสื่อสารเพื่อให้รับรู้เป็นสิ่งไม่ยาก แต่การจะสื่อสารให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องใช้พลังเยอะมาก ตัวอย่างของการสอนผู้บริหารแบบร้านอาหารสุกี้ MK
มีการจัดแบ่งผู้บริหารออกเป็น 5 แบบ โดยใช้ทฤษฎีเปลือกกล้วยที่ตกอยู่บนพื้น
- แบบที่ 1 เหยียบเปลือกกล้วย แล้วลื่นล้มไปเลย
- แบบที่ 2 เดินหักหลบ เพื่อให้ตัวเองไม่ล้ม
- แบบที่ 3 เจอเปลือกกล้วยละเก็บไปทิ้ง เพราะกลัวคนอื่นเหยียบ
- แบบที่ 4 เจอละเก็บนำไปทิ้งในที่ที่เหมาะสม แล้วอาจนำไปทำปุ๋ยต่อ
- แบบที่ 5 เก็บแล้วนำไปทิ้ง แล้วคิดว่าทำไมถึงมีคนมาทิ้งไว้ตรงนั้น และคิดต่อยอดว่าจะทำยังไงไม่ให้คนทิ้งอีก เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แก้ไขปัญหาจากรากของปัญหา
ความตั้งใจของ MK คือการทำให้บุคลากรเป็นดังเช่นผู้บริหารแบบที่ 5 การสร้างเรื่องเล่าเรื่องดังกล่าวเป็นวิธีการสื่อสารที่มีพลังที่จะสามารถส่งไปถึงผู้รับสารได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้ว่าเป็นวิธีการเล่าที่ดีกว่า การมานั่งบัญญัติเป็นข้อๆ ว่าผู้บริหารที่ดีควรเป็นเช่นไร
ในปัจจุบันเราอาจมองรูปแบบการสื่อสารได้หลากหลายรูปแบบ การสื่อสารอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยไม่ได้มีสัญญะบางประการแฝงก็ได้ อาจเป็นการสื่อสารเพื่อให้รับรู้ เป็นการแจ้งบางอย่างให้ทราบ ให้เข้าใจ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งหากเราสามารถที่จะนำการสื่อสารมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารนั้นๆ ก็เปรียบเสมือนกับเครื่องมือบางอย่างที่เราจะสามารถหยิบจับและนำมาใช้ประโยชน์ได้ในเวลาที่ต้องการ หรือแม้แต่ใช้แบบฉุกเฉินในเวลาที่จำเป็น
การสื่อสารที่ดี : ไม่ยากไป ไม่ง่ายไป
หลักการสื่อสารที่ดี ไม่ควรทำ หรือ สื่อสารอะไรให้ยากเกินไป หรือแม้ง่ายเกินไป ตัวอย่างเช่น ความเป็นห่วงลูก ในเรื่องที่ไม่อยากให้ขับมอเตอร์ไซต์เพราะอันตราย ถ้าเตือนแค่ว่า ขับระวังๆ อาจจะเป็นการเบาเกินไป แต่หากปรับเปลี่ยนนิดหน่อย อาจเป็นการเล่าตัวอย่างที่ล่าสุดเพิ่งมีคนใกล้ตัวประสบอุบัติเหตุเพราะมอเตอร์ไซต์ และทิ้งท้ายด้วยความเป็นห่วงอย่างจริงจัง ก็จะทำให้มีความสนใจและตระหนักมากกว่า การเตือนธรรมดาๆ เท่านั้น
คนเก่งรู้แล้วพูด คนฉลาดรู้แล้วเงียบและพูดเท่าที่จำเป็น แต่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการคิด การแก้ไขปัญหาร่วมกัน จึงทำให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ หรือ แนวทางการแก้ปัญหาในหลายประเด็นที่อาจจะคิดไม่ตก หรือ แก้ไขไม่ได้
การอ่านหนังสือ เป็นหนึ่งในวิธีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมถึงการคิดตามไปด้วย ก็เป็นเสมือนการเรียนรู้ที่จะนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ เป็นการเตรียมอาวุธให้พร้อมรบต่อการทำงานในชีวิตจริง