OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

เทียนหอมอโรมา (Aromatic Candle)

56072 | 29 พฤศจิกายน 2561

เทียนหอมอโรมา (Aromatic Candle)  โอกาสและทางเลือกบำบัดอาการทางกายและอารมณ์   สร้างความผ่อนคลายกาย-ใจ ด้วยกลิ่นพืชสมุนไพรนานาพรรณ  และต่อยอดอาชีพสร้างสรรค์ 


             จากการจัดกิจกรรมบริการความรู้สาธารณะ หรืองาน Knowledge in the park  ครั้งที่ 2 โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD  ทีเคพาร์ค (TKpark) และ กทม. ในช่วงวันหยุดวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2561 ณ สวนลุมพินี พบว่ากระแสตอบรับเพิ่มขึ้นทั้งจากผู้ใช้บริการสันทนาการที่สวนลุมเป็นประจำและผู้ที่อยู่ภายนอก   หนึ่งในกิจกรรมเรียนที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากคือ  เวิร์คชอป สอนทำ “เทียนหอมอโรมา” (Aromatic Candle) รูปลักษณ์ทันสมัย น่าใช้ เนื่องจาก กำลังอยู่ในกระแสเทรนด์สุขภาพและเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของสินค้าที่อยู่ในกลุ่ม Aromatherapy หรือที่เรารู้จักชื่อกันว่าสุคนธบำบัด ซึ่งเป็นการนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ดูแลสุขภาพ เป็นทางเลือกบำบัดอาการทางกายและอารมณ์ ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย คลายเครียด   กำลังได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ 
              การทำเทียนหอมอโรมา จึงตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เนื่องจากเราสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ  และเลือกใช้กลิ่นน้ำมันหอมระเหยได้ตามความต้องการที่แตกต่างกัน เทียนหอมอโรมานี้อาจจุดประกายความคิดให้ประชาชนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพจากแฮนด์เมด ที่เหมาะสำหรับเป็นของขวัญที่ให้ความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับในเทศกาลปีใหม่ 2562 ที่ใกล้จะถึงนี้  หรือใช้ในกิจการบริการสุขภาพ เสริมเสน่ห์ให้สปาไทย  สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศได้

     เทียนหอมอโรมา จะใช้ของที่มาจากธรรมชาติทั้งหมด ประกอบด้วย
  1. ไส้เทียนซึ่งใช้เชือกฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์
  2. ไขถั่วเหลือง  ( soy wax) ซึ่งมีควันน้อย
  3. น้ำมันหอมระเหย 
น้ำมันหอมระเหย  เป็นผลิตผลจากการสกัดพืชสมุนไพรนานาชนิด ซึ่งอาจสกัดมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชนั้นๆ เช่น ผล ดอก ใบ เมล็ด เปลือก ก้าน ฯลฯ แต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่น 
ลาเวนเดอร์ ( Lavender)  กลิ่นหอม ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รักษาสมดุลทางอารมณ์ บรรเทาอาการซึมเศร้า  นอนไม่หลับ คลายเครียด บรรเทาอาการปวดไมเกรน 
วนิลา (Vanilla ) กลิ่นหอมหวาน ช่วยให้รู้สึกสุขสงบ และอารมณ์แจ่มใส 
กุหลาบ ( Rose) กลิ่นหอมเย็น ช่วยปรับสภาพและรักษาสมดุลทั้งร่างกายและอารมณ์ ช่วยผ่อนคลาย 
ยูคาลิปตัส ( Eucalyptus)    กลิ่นหอมสดชื่น สามารถสูดดมได้ตลอดเวลา มีคุณสมบัติช่วยลดอาการหายใจติดขัด อาการไอ หลอดลมอักเสบ ไข้หวัดและไซนัส บรรเทาอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก    ช่วยฆ่าเชื้อโรค
แมนดาริน ( Mandarin) กลิ่นหอมหวาน ช่วยให้รู้สึกคลายเครียดและผ่อนคลาย สามารถนำไปกระจายกลิ่นในอากาศ เพื่อเพิ่มความสดชื่นในห้อง ช่วยให้สงบและหลับสบาย

การเลือกน้ำมันหอมระเหยมาใช้ทำเทียนหอมอโรมา จึงขึ้นอยู่กับความชื่นชอบและความนิยม โดยสูตรเทียนหอมอโรมา  ขนาดบรรจุน้ำหนัก  80  กรัม 1 ขวด  ใช้ไขถั่วเหลืองน้ำหนัก  80  กรัม  น้ำมันหอมระเหย 5 หยด

วิธีการทำเทียนหอมอโรมา     แยกเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้ 

 1) ขั้นตอนการทำไส้เทียน  
  1. นำเชือกฝ้ายมาต้มให้เดือด  อาจใส่น้ำยาล้างจานเล็กน้อย และนำมาผึ่งให้แห้งสนิท 
  2. ตัดเชือกให้มีความยาวกว่าภาชนะที่จะใช้บรรจุ และผูกปลายเชือกกับไม้
  3. ละลายไขถั่วเหลืองด้วยความร้อน  โดยใส่ในภาชนะทนไฟ อาจเป็นโถแก้ว หรือโถเซรามิก เคลือบสีขาว   แล้ววางในกระทะน้ำเดือด เช่นเดียวกับการตุ๋น แต่ไม่ต้องปิดฝา  ใช้ไม้คนให้ละลายเป็นน้ำเหลว
  4. จุ่มเชือกฝ้ายลงในน้ำไขถั่วเหลือง จุ่มซ้ำกันประมาณ 3 ครั้ง แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง  ไส้เทียนจะแข็ง
  5. ล็อคไส้เทียนด้วยกระดุมโลหะ เพื่อใช้เป็นฐานยึดติดกับเนื้อเทียน ไม่ให้ลอยขึ้นขณะเนื้อเทียนละลาย   
2) ขั้นตอนการทำเทียน  วิธีทำดังนี้  
  1. ชั่งไขถั่วเหลืองให้ได้น้ำหนักตามสูตรคือ 80 กรัม ( คำนวณน้ำหนักตามจำนวนที่จะทำ) นำไปใส่ภาชนะทนไฟ  ใช้ไม้คนให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วยกลง 
  2. ตั้งพักให้อุ่น  คือมีความร้อนไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้มีผลต่อน้ำมันหอมระเหย  วิธีการทดสอบอย่างง่ายๆคือให้ใช้นิ้วสัมผัสกับภาชนะและนับ 1ถึง10 หากทนได้ แสดงว่าใช้ได้แล้ว
  3. หยดน้ำมันหอมละเหยลงไป จำนวน 5 หยด  (คำนวณตามจำนวนที่จะทำ) แล้วคนให้เข้ากัน
  4. เทส่วนผสมทั้งหมด ลงในขวดบรรจุที่เตรียมไว้  ควรใช้ขวดสีชา ป้องกันการสลายของน้ำมันหอมระเหย เนื่องจากน้ำมันชนิดนี้ไวต่อแสง   มีฝาล็อค 2 ชั้น
  5. หย่อนไส้เทียนไขที่เตรียมไว้ก่อนนี้ลงไป ให้ไส้เทียนอยู่ตรงกลางขวด โดยใช้ไม้ตะเกียบช่วยพยุงไว้ จนกระทั่งเนื้อเทียนแข็งตัว 
  6. หลังจากเนื้อเทียนแข็งตัวดีแล้ว ให้ใช้กรรไกตัดไส้เทียนไขให้ต่ำกว่าปากขวด และเช็ดทำความสะอาดปากขวดที่อาจเลอะขี้ผึ้ง ด้วยกระดาษทิชชูแห้งอย่างระมัดระวัง และปิดฝาให้แน่น
  7. ติดฉลากบอกกลิ่นที่ข้างขวด  ซึ่งฉลากนี้สามารถออกแบบให้สวยงามและน่าใช้ตามไอเดียแต่ละคน










ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 257.15 KB)

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)