สวนผักคนเมือง (Urban Vegetation)
สวนผักคนเมือง (Urban Vegetation) คลังอาหารสด ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ก้าวข้ามความจำกัดผืนดินปลูก ต่อยอดเป็นอาชีพสร้างสรรค์ได้
ขึ้นชื่อว่าผัก...เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ต่างๆ เช่น วิตามีนบี 2 บี6 กรดโฟลิค แมกนีเซียม แคลเซียม ธาตุเหล็ก ทองแดง โปแตสเซียม โดยเฉพาะวิตามินนั้น มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบตาแคโรทีนหรือวิตามินเอ ซี และอี ช่วยชะลอความเสื่อมร่างกายและผิวพรรณเต่งตึง สดใส ป้องกันโรคหัวใจ โรคต้อกระจกโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โรคข้อเสื่อม เพิ่มภูมิต้านทานโรค และป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ส่วนแคลเซียม ป้องกันโรคกระดูกพรุน ธาตุเหล็กป้องกันโรคโลหิตจาง เส้นใยอาหารในพืชมีสารเฉพาะที่เรียกว่าสารพฤกษเคมี สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้หลายชนิด องค์การอนามัยโลกหรือWHOแนะว่าอาหารที่กิน และจะช่วยป้องกันโรคได้จะต้องมีผักผลไม้อย่างน้อยวันละ400กรัมขึ้นไปหรือต้องกินปีละ 146 กิโลกรัม/คน เฉลี่ยเดือนละ 12 กิโลกรัม ดังคำกล่าวที่ว่า กินผักดีกว่า ถูกกว่าค่ายารักษาโรค และอร่อยกว่ากินยาหลายๆ คนที่รักสุขภาพ และกินผักเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เขตเมืองทั้งใน กทม.และตามเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด มีความสนใจอยากปลูกผักกินเอง เพราะมั่นใจในความปลอดภัย และลดรายจ่ายซื้อกับข้าว ได้กินผักสดๆ ที่ตัดมาใหม่ๆ แต่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ปลูก เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยในเขตเมืองมีทั้งเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว คอนโดหรืออาคารชุด ไม่เอื้อต่อการทำสวนผัก ขณะนี้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกวัยทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่หลากหลาย เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ เพื่อยกระดับทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพและมีคุณภาพชีวิตดี ได้ตอบโจทย์ให้แล้วว่าพื้นที่น้อยไม่ใช่ปัญหาของการปลูกผัก โดยได้จัดพื้นที่ให้บริการความรู้สาธารณะหรือ Knowledge in the Park ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ภายในสวนลุมพินี ระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ได้ให้ความรู้เรื่อง “การทำสวนผักคนเมือง ” (Urban Vegetation) โดยเชิญ “ป้าป้อม- ศิริกุล ซื่อต่อชาติ” ซึ่งเป็นกูรูด้านการปลูกผักคนเมือง มาให้ความรู้ วิธีการขั้นตอนการปลูกและให้คนเมืองทุกคนที่เข้ามาเรียนรู้ และจัดเวิร์คชอป (workshop) ให้ผู้ร่วมเวิร์คชอปได้ลงมือ มีทักษะในการปลูกด้วยตนเอง ควบคู่กับนิทรรศการเรื่องชีวิตดี๊ดีวิถีสวนครัว ให้ความรู้แก่ผู้ที่รักการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย แบบวิถีธรรมชาติและความพอเพียงอย่างเต็มอิ่ม
การปลูกผักคนเมือง มี 4 ขั้นตอนง่ายๆ คือ 1.การเตรียมดิน 2.การเพาะต้นกล้า 3.การย้ายต้นกล้า และ 4. การปลูกผักลงกระถาง โดยมีคำแนะนำที่น่าสนใจ โดยให้เริ่มจากปลูกผักที่เราจะกินก่อน ควรเป็นผักประเภทที่โตง่าย ใช้เวลาเติบโตไม่มากนัก คำนึงถึงปัจจัยสำคัญในการปลูกคือแสง ดิน น้ำ อากาศให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด โดยรายละเอียดในแต่ละขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- การเตรียมดิน หัวใจสำคัญที่สุดของการทำสวนผักคนเมืองคือการปรุงดิน เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน ให้ผักเจริญเติบโตงอกงาม วัสดุที่ใช้ปรุงดินประกอบด้วย
- ดินบรรจุถุงที่มีขายในร้านจำหน่ายต้นไม้ ซึ่งมักจะมีวัตถุอินทรีย์ไม่มาก ที่แนะนำควรเป็นดินอินทรีย์ เช่น ดินใบกล้ามปู การใช้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ หากมีพื้นที่น้อย อาจใช้ดิน 1 กระสอบเล็ก
- ปุ๋ยคอกเช่นขี้วัว ขี้ไก่
- ขยะอินทรีย์จากครัวเรือน เช่น เศษผัก เปลือกไข่ที่ล้างไข่ขาวออกแล้วและบดให้ละเอียด เศษใบไม้ หากใบใหญ่ให้ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ผลไม้ กากกาแฟ เป็นต้น
- น้ำหมักจุลินทรีย์ หาซื้อได้จากร้านขายต้นไม้
- น้ำตาลทราย จะเป็นตัวช่วยให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานย่อยสลายสารอินทรีย์ได้ดีขึ้น
วิธีการทดสอบง่ายๆ ว่าพอดีคือเมื่อปั้นดินแล้ว ดินจับตัวกันเป็นก้อน ไม่แตก จากนั้นให้บรรจุดินที่ปรุงแล้ว ลงถุงกระสอบดินที่ซื้อมา มัดปากถุงหลวมๆ เพื่อให้มีอากาศเข้าได้ แล้งเก็บไว้ในที่ร่มโดยวางถุงตามแนวนอน เพื่อให้อากาศถ่ายเท ระวังอย่าให้โดนแดด มิฉะนั้นเชื้อจุลินทรีย์ในดินจะตาย และให้กลับด้านกระสอบทุก 3 วัน หมักดินปรุงไว้นาน 7-10 วัน สารอินทรีย์จะย่อยสลาย ก็สามารถนำมาใช้ปลูกผักได้ สภาพของดินที่ปรุงได้ที่ และมีความเหมาะสมกับการปลูก เมื่อดมแล้วจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ หรือที่เรียกว่า หอมดิน
2. การเพาะต้นกล้า เพาะลงภาชนะอะไรก็ได้ เช่น กล่องอาหาร ตะกร้าพลาสติกใส่ขนมจีนเป็นต้น
วัสดุที่จะใช้เพาะต้นกล้า
ให้ใช้แกลบดำ 1 ส่วน + ขุยมะพร้าวร่อน 2 ส่วน ร่อนรวมกัน จากนั้นบรรจุลงภาชนะ หากเป็นภาชนะที่มีรูข้างล่าง ให้ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์กุก่อน และทำร่องเล็กๆ เป็นแนว โรยเมล็ดผักลงในร่อง และกลบดิน จากนั้นรดน้ำเบาๆ อาจใช้ฟ็อกกี้ฉีดพ่นก็ได้ หรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ปิดดินก่อน แล้วจึงรดน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดผักกระจาย และให้วางภาชนะไว้ในที่ร่ม อย่าให้โดนแดด ประมาณ 3-4 วันเมล็ดจะเริ่มงอก
3. การย้ายต้นกล้า เพื่อลงถาดหลุม โดยใช้ดินที่ปรุงไว้และใช้ได้แล้ว นำมาร่อนให้เป็นผงเล็กๆ แล้วบรรจุลงในถาดหลุม ในการย้ายต้นกล้าลงถาดหลุม ให้ใช้ไม้ปลายแหลมค่อยๆงัดต้นกล้าออกมา ระวังอย่าให้รากขาด และวางในหลุม โดยใช้ปลายไม้แตะที่รากแล้วกดลงดิน ให้ใบโผล่เหนือดิน จากนั้นให้รดน้ำ และวางไว้ใต้ชายคาที่แดดส่องถึง ให้ต้นกล้าสัมผัสกับแดด และรดน้ำทุกวัน ระวังอย่าให้ขาดน้ำ ประมาณ 2 อาทิตย์ ผักจะโต และออกใบจริง
4. การปลูกผักลงกระถาง ให้เตรียมกระถางปลูก โดยใช้เปลือกมะพร้าวสับใส่รองก้นกระถาง 1 ส่วน ช่วยสำหรับระบายน้ำได้ดี จากนั้นใส่ดินที่ปรุงแล้วลงไปอีก 3 ส่วน เหลือพื้นที่ไว้ประมาณ 1 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นย้ายต้นผักจากถาดหลุม โดยใช้ด้ามช้อนแซะที่ขอบหลุมเพื่อป้องกันไม่ให้รากต้นกล้าช้ำ มือจับต้นผัก ลงปลูกในกระถาง และพูนดินที่ลำต้นเพื่อประคองพยุงต้น ไม่ให้ใบแปะติดที่ดิน และปิดคลุมหน้าดินด้วยฟาง เพื่อรักษาความชุ่มชื้นหน้าดินไว้ และรดน้ำตาม จากนั้นให้วางกระถางในที่ที่มีแดด ประมาณ 40 วัน ก็สามารถนำผักมาปรุงเป็นอาหารรับประทานได้แล้ว
ผักที่คนเมืองจะปลูก คือผักที่เราจะกิน ในขั้นต้นแนะปลูกผักสวนครัว 8 ชนิด คือ หอม ขึ้นฉ่าย โหระพา กะเพรา ตะไคร้ ผักสลัด ผักชายาหรือไชยาหรือคะน้าเม็กซิกันใช้แทนผักคะน้า วอเตอร์เครส หรือสลัดน้ำ จะช่วยประหยัดรายจ่ายค่ากับข้าวได้ดี รูปแบบการปลูก สามารถปรับให้เข้ากับสภาพที่อยู่อาศัย ทั้งที่เป็นอาคารชุดหรือคอนโด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว หรือบ้านเดี่ยว เช่น ปลูกในกระถาง แล้ววางในแนวตั้งแทนหรืออาจแขวนที่
กำแพงบ้านก็ได้ ดินปลูกที่ใช้แล้ว ไม่ต้องทิ้งไปไหน สามารถนำกลับมาปรุงใหม่เพื่อให้เป็นดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ เป็นอาหารให้ผักเจริญงอกงามได้
การทำสวนผักคนเมือง มีเสน่ห์ เป็นการเกษตรแบบประณีต คนปลูกได้ใส่ใจ ใส่ความรักลงไป เฝ้าทะนุถนอมติดตามการเติบโต แตกกิ่งก้าน จนผลิดอกออกผลเก็บเกี่ยวมารับประทาน มีคลังอาหารสดให้ครอบครัวที่ไม่ได้ช่วยให้แค่อิ่มท้อง สุขภาพดีเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยเติมเต็มหัวใจ มีสมาธิ เป็นการนำภาชนะ ของใช้ต่างๆที่มีในครัวเรือนอยู่แล้ว และขยะอินทรีย์จากก้นครัวกลับมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อาจยึดเป็นอีกอาชีพที่สามารถทำเป็นรายได้เสริมหรือรายได้หลักครอบครัวได้อีกด้วย
ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)