จุดกำเนิดของ BBL ในโรงเรียน
ระบบการศึกษาไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอถึงข้อจำกัดในการสร้างผู้เรียนให้มีความคิดสร้างสรรค์และมีโลกทัศน์เปิดรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นยิ่งในปัจจุบัน แต่ยังมีครูจำนวนไม่น้อยที่เชื่อมั่นในพลังการเปลี่ยนแปลงของภาคส่วนเล็กๆ ในสังคม และได้ลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาด้วยตนเอง โดยนำการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain – based Learning หรือ BBL) มาใช้เป็นแนวทาง ดังเช่น คณะครูของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย อาจารย์พันธุ์ศักดิ์ ตั้งใจดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประถมศึกษา และ อาจารย์วัฒนสิทธิ์ ชุนโอภาส ผู้นำหลัก BBL มาใช้ในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน
จุดกำเนิดของโรงเรียน BBL
อ.พันธุ์ศักดิ์ :
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2548 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ได้เข้าร่วมโครงการการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (BBL) ของ สบร. โดยเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องจากทั้งหมด 12 โรงเรียนใน 4 ภาคทั่วประเทศ ซึ่งทางโครงการฯ ได้ให้การอบรมความรู้เรื่องสมอง และการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง 2-3 ปี ต่อมา เมื่อครูเริ่มมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการทำงานของสมองเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มนำหลักการนี้มาปรับปรุงวิธีการสอนของคุณครู ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นำไปสู่การปฏิบัติที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ปัญหาของเด็กที่ชกต่อยกัน เรานำหลัก BBL มาอธิบายกับผู้ปกครองว่า ข้อมูลในสมองของลูกท่านตอนนี้มีอย่างเดียว คือ ชกเพื่อน ซึ่งน่าจะมาจากข้อมูลที่ทางบ้านใส่เข้าไปในสมองเด็ก ซึ่งพ่อก็ยอมรับว่าสอนลูกมาอย่างนั้น เราก็บอกว่า วิธีแก้ไขทำได้โดยผู้ปกครองต้องไปแก้ข้อมูลในสมองเด็กเสียใหม่ว่า เวลามีปัญหาอย่าใช้วิธีทำร้ายร่างกาย แต่ให้หันมาคุยกันหรือบอกคุณครู ซึ่งก็ได้ผล เมื่อผู้ปกครองกลับไปคุยกับเด็กเสียใหม่ เด็กคนนี้ก็ไม่ชกต่อยกับเพื่อนอีกเลย
เตรียมพร้อมสมองครู สู่การสร้างสมองเด็ก ด้วยโมเดลต้นแบบ PRC BBL MODEL
อ.พันธุ์ศักดิ์ :
เราประสบปัญหาในการดำเนินงานอยู่บ้าง ส่วนใหญ่คือครูไม่พยายามนำหลักการ BBL ไปใช้ เพราะยึดติดกับการสอนแบบเดิมๆ พอมีองค์ความรู้ใหม่เข้ามา ต้องมาคิดออกแบบสื่อการสอนใหม่ หลายท่านรู้สึกว่าเสียเวลา ไม่มีใจมุ่งมั่น จึงทำให้การสอนไม่ประสบความสำเร็จ โรงเรียนของเราแก้ปัญหาด้วยการนำหลัก BBL มาต่อยอดเป็น “รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ในบริบทของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย” หรือ PRC BBL Model 5 ขั้นตอนสำหรับครู ได้แก่
- เตรียมความพร้อม (Warm Up) ทุก 5 นาทีก่อนชั่วโมงการสอน คุณครูจะต้องเตรียมความพร้อมด้วยการบริหารสมองที่เรียกว่า Brain Gym เพื่อให้สมองคลั่งสารแห่งความสุข “เซโรโทนิน” (Serotonin) ช่วยทำให้อารมณ์ดี จิตใจสงบ มีสมาธิ สร้างสาร “เอนดอร์ฟิน” (Endorphin) ทำให้เกิดความสุข และสาร “โดปามีน” (Dopamine) ช่วยให้มีความสนุกสนาน ส่งผลให้ครูสามารถถ่ายทอดความรู้ไปยังเด็กได้ดี
- ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Learning Stage) คือ การได้ยิน การมองเห็น การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัสเคลื่อนไหว เช่น มือ เป็นอวัยวะที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ดีที่สุด รองลงมาคือ ปาก ครูต้องทำให้เด็กพูด เพื่อช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวได้
- ฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ทั้งครูและนักเรียนต้องฝึกซ้ำๆ เพื่อให้สมองจดจำได้ดี
- สรุป ครูต้องมีการสรุปเมื่อจบบทเรียน โดยใช้ Graphic Organizer ฝึกให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้ภายในบทเรียน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองที่ว่า “สมองเรียนรู้เป็นองค์รวม”
- ประยุกต์ใช้ทันที การให้เด็กเรียนแล้วนำไปประยุกต์ใช้ในทันที ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ถึงร้อยละ 90 เมื่อจบบทเรียน คุณครูจึงต้องคิด ต้องออกแบบ เชื่อมโยงความรู้ทั้งหน่วย เช่น นำข้อสอบมาให้เด็กทดลอง
ครูสร้างสรรค์ นักเรียนสุขสันต์
อ.วัฒนสิทธิ์ :
ผมสอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ซึ่งวิชานี้เป็นวิชาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กได้เยอะมาก ผมและครูทุกคนต้องเปิดใจ ลองศึกษาเรื่องสมองอย่างจริงจัง ทุกอย่างสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการของสมอง เช่น ทำไมเด็กไม่สนใจเรียน เหม่อลอย นั่นเป็นเพราะสื่อการเรียนการสอนไม่น่าสนใจ ผมจึงนำเอาหลัก BBL มาปรับใช้ โดยการสร้างแผนภาพ (Graphic Organizer) เน้นการใช้สีสันอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กสนใจเรียนและเข้าใจบทเรียน แม้แต่การตั้งคำถามที่จะถามเด็กก็ต้องเน้นให้มีความน่าสนใจ การออกแบบสื่อการสอนใน 1 คาบเรียน จะต้องมีประโยชน์แก่พวกเขาอย่างมาก ครูที่ดีตามหลักการ BBL จะต้องเป็นนักคิด ออกแบบสื่อ ผลตอบรับที่ดีจะเห็น ได้จากแววตาของนักเรียน เด็กจะวิ่งมาถามผมทุกวันเลยว่า “วันนี้ครูจะสอนเรื่องอะไร” เหมือนเขาคอยติดตามเราตลอด นี่คือแบบประเมินที่ดีที่สุดสำหรับผม
GOOD HEALTH GOOD HEART: SMART BRAIN SMART WORK
แม้โรงเรียนกับโรงงานดูเหมือนจะอยู่กันคนละขั้ว แต่สมองของนักเรียนและคนทำงานมีความสำคัญพอกัน แนวคิดดังกล่าว ทำให้ บริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้น (SEC) จำกัด นำโดย สมควร ฉายศิลปะรุ่งเรือง Managing Director และ เสรี ยกเลื่อน Senior supervisor ให้ความสำคัญกับการนำ BBL มาใช้ในโรงงาน เพื่อสร้างพลังความคิดและพลังปัญญาให้แก่พนักงานในภาคการผลิต นำมาซึ่งการมีสมองที่ดี ส่งผลให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพ
สมควร :
ครั้งแรกที่ผมได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาสมอง เป็นวันที่รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 185 เป็น 300 บาท ณ วันนั้น ผมรู้สึกว่าวิธีการเดิมๆที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ ตำราที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้สถานการณ์ เมื่อฟังเรื่อง BBL แล้วไม่รู้เรื่อง จึงคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้ตัดสินใจที่จะทำโครงการการศึกษาวิจัยแนวทางการนำองค์ความรู้ด้านสมองประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทักษะฝีมือสำหรับพนักงานในภาคการผลิต หรือ BBL in Factory ร่วมกับ OKMD และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (FTPI)
เรานำ BBL มาใช้ในการสร้างพลังความคิด พลังสติปัญญา ให้แก่พนักงานในภาคการผลิต ด้วยการกระตุ้นสมองของพนักงานผ่าน 4Q คือ PQ : Play Quotient การทำกิจกรรมสนุกๆ ทำให้พนักงานมีความกระปรี้กระเปร่า ส่งผลให้ระดับสติปัญญา หรือ IQ : Intelligence Quotient สามารถคิด วิเคราะห์ คำนวณอย่างมีเหตุผลได้ดี ภายใต้อารมณ์ หรือ EQ : Emotional Quotient ที่ร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม มีความคิดสร้างสรรค์ กระตือรือร้น มีแรงจูงใจ อยากประสบความสำเร็จ เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตนเอง และ เหนือกว่านั้นคือ SQ : Spiritual Quotient หรือจิตวิญญาณของพนักงาน ทุกเช้าเราให้พนักงานนั่งสมาธิเพื่อปลุกจิตให้ตื่น เตรียมพร้อมก่อนที่จะทำงานต่อไป นำมาสู่การมีสมองที่ดี ส่งผลให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพและมีผลผลิตสูงขึ้น ลดข้อผิดพลาดและความเสียหายได้มาก จากที่เคยมีงานเสียที่ลูกค้า จำนวน 329 ชิ้น/ล้านชิ้น แต่หลังจากที่นำ BBL มาใช้ จำนวนงานเสียลดลงเหลือ 19 ชิ้น/ล้านชิ้น หรือลดลงประมาณ 17 เท่า
ปฏิบัติการ 4 ด้าน สร้างประสิทธิผลยอดเยี่ยม
สมควร :
เราเชื่อว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จได้ ต้องปลุกพนักงานให้ตื่น ในที่นี้คือพนักงานต้องทำงานจากใจ ไม่ใช่แค่สมองหรืออารมณ์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการพูดคุยกับพนักงานทุกคน เราจึงใช้เวลาครั้งละ 5 นาที ในระหว่างการทำกิจกรรมอะไรก็ตามแต่ที่บริษัทจัดขึ้น เพื่อบอกกล่าวสิ่งที่ต้องการสื่อสารกับพนักงาน จากนั้นจึงค่อยติดตามความสำเร็จที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าหากพนักงานทำงานด้วยใจด้วยตัวเอง โดยไม่ถูกบังคับ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นพวกเขาย่อมสามารถฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไปได้
เสรี :
บริษัทของเราใช้ปฏิบัติการ 4 ด้าน ในการสร้างพนักงานคุณภาพ เริ่มจากให้พนักงานทำสมาธิทุกเช้า เมื่อฝึกสมาธิบ่อยๆ พนักงานจะมีสมาธิจดจ่อกับการทำงาน ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดเสียหายน้อยลง จากนั้นเป็นการออกกำลังกายเพื่อปลุกให้สมองสดใส ร่างกายกระปรี้กระเปร่าก่อนเริ่มงาน ในขณะที่หัวหน้างานเองต้องปรับปรุงวิธีการสอนงานตามหลัก BBL โดยเน้นให้พนักงานทดลองปฏิบัติจริง เมื่อทำผิดต้องบอกจุดที่ต้องแก้ไขและวิธีการที่ถูกต้อง หากทำถูกหรือทำดี ต้องบอกว่าถูกและชื่นชมในทันที สุดท้ายคือการจัดทำคู่มือมาตรฐานการทำงานของ BBL ที่เข้าใจง่าย ทั้งหมดนี้ส่งผลให้พนักงานมีศักยภาพ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ สินค้าชำรุดเสียหายน้อยลง ประสิทธิผลยอดเยี่ยม ลดต้นทุนการผลิต นำพาบริษัทให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้สำเร็จครับ
ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)