OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Brain-Based Learning (BBL) เรื่องใหม่ใกล้ตัว

5360
Brain-Based Learning (BBL) เรื่องใหม่ใกล้ตัว

โลกในปัจจุบันหมุนเร็วมาก ความเปลี่ยนแปลงบุกมาเยือนถึงในบ้าน อย่างรวดเร็วและทรงพลัง คนยุคใหม่จึงไม่อาจใช้ชีวิตตามตำราเดิมๆ ที่เคยเรียนมา และยิ่งไม่อาจหยุดการเรียนรู้ตลอดชีวิต OKMD Magazine ฉบับนี้จึงขอนำผู้อ่านไปเชื่อมต่อกับบุคคลต่างวัย ต่างอาชีพ แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ตามการพัฒนาสมองของแต่ละช่วงวัย หรือ Brain-Based Learning(BBL) ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว แล้วคุณจะรู้ว่า Brain-Based Learning(BBL) นั้นอยู่ใกล้เรามากกว่าที่คิด


สอนลูกน้อยด้วยสัมผัสรักจากธรรมชาติ

จริยาภรณ์ วงศ์สวัสดิ์ (แอร์) คุณแม่ลูกสองวัยเตาะแตะ ผู้แบ่งปันประสบการณ์การเลี้ยงลูกของเธอผ่านบล็อก (Blog) TheLovelyAir.com ที่มียอดผู้ติดตามกว่าครึ่งล้าน “วัยเตาะแตะเป็นช่วงที่ลูกเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านสัมผัสทั้ง 5 คือ การได้ยิน การมองเห็น การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส ถ้าอยากให้ลูกน้อยฉลาด มีพัฒนาการดี ต้องเริ่มที่พ่อแม่ วิธีที่จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ดีที่สุด คือการที่คุณพ่อคุณแม่ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับลูก หากิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกสมองและประสาทสัมผัสบ่อยๆ อย่างการปลูกต้นไม้ที่ช่วยให้ลูกได้สัมผัสกับธรรมชาติ ปลูกฝังให้รักต้นไม้ รักธรรมชาติ ช่วยให้ลูกมีจิตใจอ่อนโยน อารมณ์ดี และมีความละเอียดอ่อน ทั้งยังช่วยเสริมสร้างนิสัยที่ดี เช่น ฝึกความอดทนในการรอคอยต้นไม้เติบโต ฝึกให้ลูกรู้จักการดูแลสิ่งมีชีวิต ฝึกความรับผิดชอบ และลูกๆ ยังได้ฝึกใช้กล้ามเนื้ออีกด้วย”


“ศิลปะ พละ ดนตรี วิชาการ” ส่วนผสมอันกลมกล่อมสไตล์ BBL

กรองทอง บุญประคอง (ครูก้า) ผู้อำนวยการ โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ที่เน้นจัดการเรียนการสอนให้สอดรับกับ BBL ของเด็กในระดับปฐมวัย


“เรานำทักษะในการเรียนรู้เชิงวิชาการมาบูรณาการกับกิจกรรมศิลปะ พละ ดนตรี และการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชื่นชอบ และมีความสุขที่จะเรียนรู้ จึงเป็นการเปิดประตู (ใจ) แห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ จนเขาไม่รู้ตัวหรอกว่านี่คือการเรียน หรือผู้ใหญ่บางคนอาจไม่รู้ว่า นี่แหละคือการสอน ถ้าเราวิเคราะห์การเรียนรู้ของสมองให้ดี จะเห็นว่าสมองไม่ได้แยกการเรียนรู้เป็นรายวิชา แต่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเชื่อมโยงกัน หรือ เชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ที่มีความคล้ายคลึงกัน จนเกิดเป็นความรู้ ความเข้าใจ ที่เพิ่มพูนขึ้นในเชิงแนวคิด (Concept) และเอาไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น ประสบการณ์จากการฟัง การเต้นรำ หรือการเล่นดนตรีที่มีลักษณะของรูปแบบที่วนซ้ำ (Ostinato) ก็อาจทำให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจเรื่อง “แบบรูป” (Pattern) ทางคณิตศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น”


ภาษาสร้างโอกาส... ไม่เชื่อ “ดูปากณัชชานะคะ”

ณัฐสินี โกศลพิศิษฐ์ (คุณแม่เฮี้ยง) คุณแม่ของ ด.ญ. ณัชชาวีณ์ โกศลพิศิษฐ์ (น้องณัชชา) หนูน้อยอัจฉริยะทางภาษา เจ้าของวลี “ดูปากณัชชานะคะ”


“น้องณัชชาเริ่มมีแววพิธีกรตั้งแต่ 3 ขวบ เพราะเห็นคุณพ่อไปเป็นผู้ดำเนินรายการมาตลอด พอกลับมาบ้าน น้องก็เล่นบทสมมุติเป็นพิธีกรเหมือนคุณพ่อให้ดู ซึ่งเด็กวัยนี้เป็นวัยที่อยากเลียนแบบ อยากทดลอง เราปล่อยให้น้องมีอิสระที่จะเรียนรู้ คิดเอง สร้างโอกาสให้เขาได้แสดงออก ถูกหรือผิด พ่อแม่จะเป็นคนบอกน้อง อย่างความสามารถทางภาษาของน้องก็มาจากความสนใจ ตั้งใจฝึกฝนของตัวเขาเอง ทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน ซึ่งคุณแม่มองว่านี่คือการพัฒนาศักยภาพของลูกและจะสร้างโอกาสที่ดีให้แก่ณัชชาต่อไปในอนาคต เราจึงไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ๆ ของณัชชาเลยค่ะ”


ปรับทัศนคติวัยรุ่น ใช้หลัก “คุณคือคนดี”

วรากร มณฑาทิพย์ (อาร์ต) ตัวแทนกลุ่มเยาวชนจิตอาสา เครือข่ายเยาวชนเพชรวิเศษ และผู้นำกลุ่มแว้นทำความดี จ.อ่างทอง ผู้คลุกวงในเข้าถึงตัวแว้นบอย สก๊อยเกิร์ล จึงเข้าใจเด็กกลุ่มนี้เป็นอย่างดี


“การแก้ปัญหาเด็กแว้นต้องแก้ให้ตรงจุด ในเมื่อเด็กวัยรุ่นชอบการแสดงออก ชอบความท้าทาย และต้องการการยอมรับจากสังคม เราก็จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับพวกเขา เน้นการดึงพวกเขาออกจากสิ่งที่ก่อปัญหา เปลี่ยนเป็นการสร้างประโยชน์ให้สังคมแทน เช่น โครงการ “แว้นไปวัด” เรานำเด็กแว้น 50 คน ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ บ่มเพาะปลูกฝังความคิดให้พวกเขาใหม่ ให้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น ทำความสะอาดวัด เลี้ยงอาหารเด็กและผู้สูงอายุ เมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นบ่อยๆเข้า เด็กๆ จะเริ่มเข้าใจว่าไม่ได้มีแต่พวกเราที่มีปัญหา และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คนในสังคมเริ่มยอมรับพวกเขามากขึ้น พวกเขาก็เริ่มสนุกกับการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ตอนนี้เริ่มมีกลุ่มแว้นทำความดีเพื่อสังคมกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ แล้วครับ


เพิ่มมูลค่ารองเท้า เพิ่มคุณค่าชีวิต “รองเท้าแตะแกะสลัก”

สิทธิศักดิ์ ตนานุสรณ์ (เดียว) หนุ่มพัทลุงอายุเพียง 17 ปี หลังพ้นโทษหันมาจับอาชีพช่างแกะสลักรองเท้าแตะที่รับถ่ายทอดความรู้จากเพื่อนรุ่นใหญ่ในเรือนจำ จากรองเท้าแตะธรรมดากลายเป็นรองเท้าแตะมีราคา จนมีคนสั่งซื้อข้ามจังหวัด หลังแสดงผลงานผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook)


“หลังพ้นโทษ ผมได้ใกล้ชิดลูกสาวมากๆ ทำให้ต้องแสวงหาอนาคตที่มั่นคงให้ได้ เพราะมีลูกสาวเป็นแรงบันดาลใจ อีกอย่างคือสังคมไม่ค่อยยอมรับอดีตนักโทษอย่างผม ตอนแรกที่พ้นโทษออกมา ผมไปสมัครงานหลายที่แต่ไม่มีที่ไหนรับผมเข้าทำงาน ผมเลยอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ผมทำได้ ผมจึงใช้ทักษะที่ได้เรียนมา หาทางคิด สร้างสรรค์ และสร้างรายได้ และในที่สุดผมก็สามารถทลายกำแพงและทำให้ทุกคนยอมรับผมได้ ผมอยากบอกถึงสังคม ขอโอกาสให้คนที่เคยทำผิดพลาดไปแล้ว เลิกอคติกับคนที่เคยติดคุก อย่าปิดกั้น ผมเชื่อว่าส่วนมากแล้วพวกเขาอยากกลับมาทำสิ่งที่ดี ที่ถูก แต่เมื่อไม่มีใครให้โอกาส ก็เท่ากับผลักไสให้เขากลับไปทำผิดอีก”


เห็นได้ว่าการเติม “พลังสมองสร้างสรรค์” ที่ตอบโจทย์ของคนแต่ละวัย ไม่เพียงสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และทางอาชีพเท่านั้น หากแต่ยังมอบโอกาสในการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอีกด้วย... ถ้าไม่เชื่อ ไม่ต้องดูปากณัชชา แต่ให้ย้อนกลับไปอ่านคอลัมน์นี้อีกครั้งเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้ตัวคุณ...


ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 19796.42 KB)

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)