OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ถลกผ้าขาวม้า...ผ้านี้มีที่มา

26519 | 19 เมษายน 2564
ถลกผ้าขาวม้า...ผ้านี้มีที่มา
ใครๆ ก็คงรู้จัก ‘ผ้าขาวม้า’ กันเป็นอย่างดี แต่มีใครรู้บ้าง ว่าผ้าขาวม้าอาจมีที่มาไกลโพ้นจากดินแดนเปอร์เซียหรือประเทศอิหร่านในปัจจุบันทีเดียวเชียว

ผ้าขาวม้ามาจากไหนกันแน่?
     ผ้าขาวม้าเป็นหนึ่งในของใช้สารพัดประโยชน์ของคนไทยมาเนิ่นนาน ด้วยผืนผ้าลวดลายตารางที่ทุกคนคุ้นตา ความสารพัดประโยชน์ของผ้าขาวม้านั้นมากมายมหาศาล เช่นตั้งแต่เด็กแรกเกิด ก็ใช้ผ้าขาวม้าทำเบาะรองสำหรับเด็กทารกได้ จะนำมาผูกเป็นเปลเด็กก็ได้อีก แต่คนที่ใช้งานผ้าขาวม้าคุ้มที่สุด น่าจะหนีไม่พ้นพ่อบ้านทั้งหลาย ไม่ว่าจะใช้ผลัดผ้าอาบน้ำ เช็ดเหงื่อไคล พาดบ่า คาดเอว โพกศีรษะ ปูนั่ง ปูนอน หรืออะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย

ว่าแต่ว่า ผ้าขาวม้ามาจากเปอร์เซียจริงหรือ?

จากการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผ้าขาวม้า พบว่ามันมาไกลจากอิหร่านเลยทีเดียว คำว่า “ขาวม้า” มาจากภาษาอิหร่านที่คนไทยอ่านเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า คามาร์ บันด์ (Kamar Band) ซึ่งแปลว่าผ้าคาดเอว

ข้อมูลนี้มาจากงานวิจัยเรื่อง “ผ้าขาวม้า : เอกลักษณ์ไทย” โดย รศ.ดร.อาภรณ์พันธ์ จันทร์สว่าง คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่าผ้าขาวม้ามาจากภาษาอิหร่านที่ใช้กันในสเปน โดยในอดีตนั้น อิหร่านและสเปนมีการติดต่อซึ่งกันและกัน จึงการเกิดถ่ายทอดภาษาและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน

แต่ผ้าขาวม้าไม่ได้มีใช้เฉพาะในอิหร่าน สเปน หรือไทยเท่านั้น ในเอเชียใกล้ๆ บ้านเราบ้างอย่างประเทศญี่ปุ่นก็มีผ้าขาวม้าเหมือนกัน

อาจารย์สมภพ จันทร์ประภา ผู้เขียนหนังสือ “อยุธยาอาภรณ์”กล่าวว่า ผ้าที่ว่านี้เป็นผ้านุ่งชั้นในของชาวญี่ปุ่น เรียกว่า “หักขะม้า” หรือในกัมพูชาก็มีเช่นกัน เรียกว่า “ผ้ากรรมา” ใช้เพื่อมอบให้ผู้ใหญ่ในการขอล้างกรรม 
เมื่อดูที่มาทางภาษาแบบนี้แล้ว จึงเกิดคำถามใหม่ขึ้นมาว่า เป็นไปได้ไหมว่า ไทยอาจรับเอาผ้าขาวม้ามาจากกัมพูชา โดยกร่อนเสียงจาก “ผ้ากรรมา” เป็นผ้ากำม้า ผ้าขะม้า และผ้าขาวม้า

หรืออีกคำถามหนึ่งก็คือ หรือว่าผ้าขาวม้าจะเป็นของไทยแท้กันแน่ เพราะก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการรดน้ำดำหัวและขอขมาลาโทษผู้อาวุโสกว่า การขอขมานั้นต้องนำผ้าไปไหว้ด้วย และคำว่า “ขมา” นั้นใกล้เคียงกับ “ขะม้า” จึงเรียกผ้าสำหรับขอขมาว่า “ผ้าขาวม้า” แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคำที่ใช้เรียกผ้าขาวม้าของแต่ละภาคแตกต่างกัน และบางชื่อแทบไม่มีเค้าใกล้เคียงกับผ้าขาวม้าเลย

ผู้รู้หลายแหล่งยืนยันตรงกันว่า คำว่า “ผ้าขาวม้า” น่าจะมาจากอิหร่านนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของภาษาอิหร่านที่มีผลต่อชื่อเรียกของผ้า ระยะเวลา รวมทั้งหลักฐานต่างๆ ที่นักโบราณคดีค้นคว้าได้ เชื่อว่าผ้าคามาร์เกิดขึ้นที่อิหร่านแล้วจึงแพร่มายังสเปนและที่อื่นๆ 

ในอดีต สเปนเป็นมหาอำนาจที่มีอาณานิคมมากมาย สเปนยังค้าขายกับไทยด้วย ส่งผลให้ผ้าคามาร์แพร่หลายเข้ามาที่ไทยในที่สุด

เมื่อผ้าขาวม้ามาสู่ไทย
เมื่อเข้าสู่สังคมไทยแล้ว ผ้าขาวม้าย่อมปรับเปลี่ยนและมีวิวัฒนาการตามวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ทำให้ผ้าขาวม้าในไทยมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเอง

คนภาคกลางจะเรียกว่าผ้าขาวม้า ซึ่งชื่อที่เราคุ้นเคยกันดี ถ้าพูดถึงผ้าขาวม้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีชื่อเสียง ต้องนึกถึงผ้าขาวม้าร้อยสี อ.หนองขาว จ.กาญจนบุรี โดยในหนึ่งผืนจะใช้สีหลักเพียง 4 สี ทอสลับกันไปมาตามแนวเส้นพุ่งและเส้นยืน เมื่อเส้นด้ายเกิดการซ้อนกันจะเกิดสีใหม่ขึ้นบนผืนผ้า มีสีสันสะดุดตาจึงเรียกว่า “ผ้าขาวม้าร้อยสี”

ส่วนในภาคใต้ รูปแบบของผ้าขาวม้าจะไม่ต่างจากภาคอื่นมากนัก แต่จุดเด่นของผ้าขาวม้าโดยเฉพาะของเกาะยอจะใช้ฝ้ายที่มีคุณภาพดีในการทอ ซึ่งภาคใต้จะเรียกผ้าขาวม้าว่า ผ้าซักอาบ ผ้าชุบ มาจากลักษณะการใช้งาน

ภาคอีสานเรียกผ้าขาวม้าว่า ผ้าอีโป้ หรือแพรอีโป้ ซึ่งหากลองค้นคำในพจนานุกรมจะพบคำว่า “ยีโป้” หมายถึงผ้าหนาๆ ใช้คาดไหล่ คาดพุง คนอีสานออกเสียงเป็น “อีโป้” ซึ่งผ้าขาวม้าในภาคอีสานมี 2 ลักษณะ คือ ผ้าแพรขาวม้า มีลวดลายสีเหลี่ยมจัตุรัสคล้ายตารางหมากรุก และผ้าแพรไส้ปลาไหล มีลวดลายเป็นริ้วๆ คล้ายกับปลาไหลที่ถูกผ่าท้องควักไส้ออกมา จึงเห็นเนื้อปลาไหลเป็นริ้วๆ

สำหรับในภาคเหนือ เรียกผ้าขาวม้าว่า ผ้าหัว ผ้าตะโก้งหรือตาโก้ง ซึ่งหมายถึงผ้าลายตาราง ผ้าขาวม้าในภาคเหนือจะมีลักษณะตรงที่บริเวณเชิงของผ้าจะใช้เทคนิคการจกลวดลายเข้าไปเพิ่ม โดยลายที่จกเข้าไปจะเน้นลายตามคตินิยมของแต่ละชุมชน เช่น ลายนก ลายช้าง ลายม้า ลายเจดีย์ ลายยกดอก

แม้รูปแบบของผ้าขาวม้าในแต่ละภาคมีเอกลักษณะที่แตกต่างกันไปตามความนิยมของท้องถิ่น แต่ถ้าแบ่งหมวดหมู่ของรูปแบบลายผ้าขาวม้า เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ คือ
  1. ลายตาหมากรุก หรือลายตามะกอก ลายตารางใหญ่ ลักษณะของลายผ้าตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบกระดานหมากรุก มีสีสลับกัน ในอดีตเป็นที่นิยมมาก สีที่นิยมคือ สีแดง เขียว ดำ ขาว
  2. ลายตาเล็ก ลักษณะคล้ายลายตาหมากรุกแต่มีขนาดเล็กกว่า
  3. ลายไส้ปลาไหล ลักษณะเป็นลายตารางในแนวยาว
  4. ลายตาหมู่ เป็นการผสมผสานลายตาเล็กและลายไส้ปลาไหลเข้าด้วยกัน
เมื่อเราเห็นรูปแบบของผ้าขาวม้าของแต่ละท้องถิ่นแล้ว ยิ่งตอกย้ำว่าผ้าขาวม้าแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของคนเราแบบแยกจากกันไม่ได้ 

และนั่นเองที่ทำให้ผ้าขาวม้าเกี่ยวพันกับพิธีกรรมต่างๆ ในชีวิตของคนไทย

ผ้าขาวม้าในพิธีและวิถี
ผ้าขาวม้าปฏิบัติหน้าที่ของมันตั้งแต่เราตื่นนอนจนหัวถึงหมอน ด้วยเหตุนี้เองจึงมีเรื่องของคติความเชื่ออันเกี่ยวโยงกับผ้าขาวม้าเกิดขึ้น

ในพิธีบวช ผ้าขาวม้าจะถูกใช้เป็นผ้ากราบลาบวชต่อผู้เฒ่าผู้แก่ ในขณะเดียวกันจะใช้เป็นผ้าประจุสำหรับผู้ที่จะลาสิกขา โดยให้พระลงคาถาแล้วใช้นุ่งห่มออกจากวัด ถือเป็นผ้ามงคลชิ้นแรกสำหรับพระสึกใหม่

หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเดิมทีท่านเป็นคนอยุธยา ในปี 2477 ท่านได้นำผ้าขาวม้าของชาวบ้านหนองน้ำใส อำเภอภาชี มาเสกด้วยพุทธาคม กลายเป็น “ผ้าขาวม้ามหาเวทย์” เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและงานพิธีสำคัญต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ จะนำผ้าไปผูกไว้ที่เสาเอกเพื่อป้องกันเสนียดจัญไร บางที่นำไปใช้ขับไล่หนู นก แมลง หรือแม้กระทั่งเพลี้ยกระโดดไม่ให้ไปทำลายข้าวในนาที่กำลังตั้งท้อง ผ้าขาวม้าจึงอยู่ทั้งในพิธีกรรมและวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้ผ้าขาวม้ายังคงอยู่กับชาวอยุธยามาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับชาวอีสาน มีความเชื่อว่าการที่จะเลือกผ้าขาวม้าแต่ละผืนมาเป็นของคู่กายนั้น ต้องมีตำราในการเลือกผ้าเรียกว่า “โสก” หมายถึง โฉลก ถ้าดีจึงจะเรียกว่าถูกโฉลก ซึ่งต้องดูจากการวัดขนาดความยาวของผ้า โดยเจ้าของผ้าจะต้องกำผ้าจาก กก ถึง ปลาย หมายถึงชายผ้าข้างหนึ่งจรดความยาวชายผ้าอีกด้านหนึ่ง แล้วกล่าวคำแทกโสกไปตามลำดับที่กำ คำแทกโสกกล่าวว่า
 
“ผ้าห่อแฮ่-ผ้าแผ่เชิง-ผ้าสะเอิงกีบม้า-ผ้าไปค้าเสียห้าพันคำ-ผ้าก้องแขนคำเก้ากิ่ง-ผ้าแด่มิ่งมารดา-ผ้าปิตาปันให้-ผ้าได้แล้วห่มผีนอน”

คำแทกโสกนี้ถือเป็นการทำนายว่าผ้าจะดีหรือไม่ดีนั่นเอง

ตามความเชื่อของชาวอีสาน มีคำทำนายไว้ว่า ถ้ากำแทกโสกตกวรรคที่ 1-4 คือ “ผ้าห่อแฮ่-ผ้าแผ่เชิง-ผ้าสะเอิงกีบม้า-ผ้าไปค้าเสียห้าพันคำ” ทำนายว่าเป็นผ้าไม่ดี ไม่เป็นมงคล ถ้าตกวรรคที่ 6-7 คือ “ผ้าแด่มิ่งมารดา-ผ้าปิตาปันให้” จะเป็นผ้าดี มีคนนิยมชมชอบ ถ้าไปตกวรรคสุดท้ายคือ “ผ้าได้แล้วห่มผีนอน” เป็นผ้าไม่ดี ถ้าได้ไปอาจถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อเลย จะเห็นได้ว่าสำหรับชาวอีสานนั้น ผ้าขาวม้าไม่ใช่แค่ผ้าสำหรับใช้งานเท่านั้น แต่เป็นเหมือนผ้าคู่ชีวิตเลยก็ว่าได้



ผ้าขาวม้าในโลกยุคใหม่
ในปัจจุบัน ความนิยมของผ้าขาวม้าลดลงอย่างน่าใจหาย ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การดำเนินชีวิตก็เปลี่ยนตามไปด้วย การใช้ประโยชน์จากผ้าขาวม้าจึงลดลงไม่เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากมีสิ่งอื่นเข้ามาทดแทน
 
เดิมที ผ้าขาวม้ายังมีไว้เพื่อทำความสะอาดสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย ไม่ว่าเป็นเหงื่อ น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย ฯลฯ ที่ถูกผ้าดูดซับไว้ ผ้าชนิดนี้จึงมีหน้าที่ช่วยทำความสะอาดร่างกาย แต่ไม่ได้ช่วยเสริมความสวยงามให้แก่ร่างกาย ผ้าขาวม้าจึงมี “สัญญะ” เฉพาะตัว จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นผ้าสำหรับชนชั้นแรงงาน และอาจกลายเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นคนบ้านนอก ดูเชย ไม่สุภาพ ประเจิดประเจ้อไปเลยก็มี

จะเห็นว่า ผ้าขาวม้าเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลสู่ประเทศไทย เข้ามาหลอมรวมกับวัฒนธรรมของบ้านเราได้อย่างกลมกลืน จนกลายเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่มีอยู่ทุกครัวเรือน แม้ว่าปัจจุบันอาจถูกบางสายตาตัดสินว่าเป็นสิ่งที่เชย หรือเป็นผ้าสำหรับชนชั้นแรงงานและความเป็นคนบ้านนอกก็ตาม แต่แท้จริงแล้ว ผ้าขาวม้ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูงยิ่ง

เมื่อมองดูผ้าขาวม้าสักผืน อยากชวนมามองให้ลึกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผ้าขาวม้า ผ่านการเดินทางของระบบโลกที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป จากโลกาภิวัตน์ครั้งแรกที่นำผ้าขาวม้ามาสู่ไทย การปรับตัวของผ้าขาวม้าเข้ากับวิถีชีวิตและพิธีกรรมต่างๆ จนกลายเป็นของที่ขาดไม่ได้ในสังคมไทยยุคหนึ่ง ทำให้แต่ละท้องถิ่นสรรค์สร้างความงดงามของผ้าขาวม้าอันแตกต่างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความลึกซึ้งของลวดลายในแต่ละท้องถิ่น ที่ทำด้วยความพิถีพิถัน ความเชี่ยวชาญ และภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมา
 
ผ้าขาวม้าจึงมีความเป็นมาหลายร้อยปีบรรจุอยู่ในนั้น แม้ผ้าขาวม้าจะไม่เป็นที่โอบรับในวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มากนักแล้วก็ตามที



ข้อมูลประกอบการเขียน
https://saonday.com/phakama/
https://www.sacict.or.th/uploads/items/attachments/1264dbec13e4c46523e30782ad31727f/_dad7bf7737c7ad7...
https://www.thaipost.net/main/detail/56903
https://www.posttoday.com/life/healthy/559412
https://www.lib.ru.ac.th/journal/loincloth.html
https://www.silpa-mag.com/culture/article_31111
http://prsthailand.com/en/media/download/2018/01/12/13/2ab4/%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%...


ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)