OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Food Stylist: ผู้ทำให้อาหารมี ‘ความอินสตาแกรม’

2322 | 27 เมษายน 2564
Food Stylist: ผู้ทำให้อาหารมี ‘ความอินสตาแกรม’
เคยสงสัยหรือไม่ ว่าทำไมภาพถ่ายอาหารจานนี้จึงดูสวยงาม ชวนอร่อย มีสีสันที่ลงตัว ผสมผสานไอเดียต่างๆ เนรมิตออกมาเป็นภาพอาหารสุดเย้ายวน
 
นั่นคือสิ่งที่มากกว่าอาหาร
 
นั่นคืองานศิลปะในอาหารที่มีส่วนสำคัญในการดึงดูดและตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค 

นั่นคือผลงานสำคัญของ ฟู้ด สไตลิสต์ นักออกแบบและตกแต่งอาหารที่ใช้ทักษะความรู้ด้านศิลปะ ด้านอาหาร และความคิดสร้างสรรค์ มาสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารเมนูนั้นๆ  

ฟู้ด สไตลิสต์ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งคนที่เป็นเจ้าของสินค้า เจ้าของร้านอาหาร ผู้ผลิตสื่อ อาทิ นิตยสาร รายการโทรทัศน์ เอเจนซี่โฆษณา โปรดักชั่นเฮ้าส์  อีเว้นท์  รวมไปถึงเจ้าของเว็บไซต์ และเพจต่างๆ ยิ่งตลาดการบริโภคอาหาร เติบโตมากเท่าไหร่  การออกแบบและตกแต่งอาหารก็เป็นที่ต้องการมากเท่านั้น แต่ที่สำคัญ ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้ประกอบอาชีพเป็น ฟู้ด สไตลิสต์ ไม่มาก นี่จึงเป็นโอกาสและเทรนด์การประกอบอาชีพของคนรุ่นใหม่

ฟู้ด สไตลิสต์ อาจไม่ใช่คนที่ทำอาหารเป็นหรือเก่ง แต่ต้องรู้จัดวัตถุดิบ รสชาติ และมีความเข้าใจในเรื่องของอาหาร

ฟู้ด สไตลิสต์ ต้องสร้าง signature ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
 
ฟู้ด สไตลิสต์ ต้องคิดนอกกรอบในการทำอาหาร และอาหารที่ถูกถ่ายรูปออกมาให้ดูสวย เพราะผู้ชมเห็นแต่ภาพ แต่ทำอย่างไรให้ภาพนั้นสื่อไปได้ถึง ‘กลิ่น’ และ ‘รสชาติ’ ด้วย งานของฟู้ดสไตลิสต์จึงคือการใช้ภาพเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ของผู้บริโภคนั่นเอง
 
ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจกับคอนเทนต์ ความแปลกใหม่ ความแตกต่าง เรื่องราวของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมความเป็นมา ภูมิปัญญา วิทยาศาสตร์ ความสนุกสนาน ความลึกลับ นานาสาระมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นงานของฟู้ด สไตลิสต์ ที่ต้องนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นผ่านหน้าตาของอาหารให้พิเศษ น่าสนใจมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น การมีใจรักในเรื่องการทำอาหาร การเป็นผู้ประกอบร้านอาหาร การทำงานด้านศิลปะ การขยัน และเริ่มต้นฝึกฝนจัดจานอาหาร อาจทำให้ ฟู้ด สไตลิสต์ กลายเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริม ที่สร้างรายได้ได้ไม่ยาก เพียงแค่จานอาหารตานั้นมีความเย้ายวน ชวนรับประทาน และเข้าไปเป็นอยู่ในใจของลูกค้าได้ 
 
การสร้างสรรค์ภาพอาหารให้ดูสวยงามเตะตาและมี Instagramability นั้น มีด้วยกันหลายรูปแบบ บางแบบก็ไปไกลสุดขั้วด้วยการใช้สิ่งที่กินไม่ได้ นำมาสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบของอาหารให้ดูสวยงาม เช่น จำนวนไม่น้อยที่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์อื่นมาทดแทนของจริง เช่น การใช้น้ำมันเครื่องยนต์หรือ แลคเกอร์ราดบนแผ่นแพนเค้กแทนการใช้น้ำผึ้งจริง การใช้ก้อนคริสตัลแทนน้ำแข็งจริง และพ่นละอองน้ำบนแก้ว การพ่นสีหรือสเปรย์ระงับกลิ่นกายเพื่อเพิ่มเติมความสดเป็นเงางามให้กับพืช ผัก ผลไม้ การนำมันฝรั่งมาผสมกับสีผสมอาหารเพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสของไอศกรีม การใช้กาวหรือแชมพูแทนนม หรือการใช้ฟองจากสบู่ใช้แทนนมในการทำลาเต้อาร์ต เพื่อสร้างภาพที่สวยกว่าและลงตัวกว่า เป็นต้น

แต่นั่นเป็นงานของนักโฆษณามากกว่างานของฟู้ดสไตลิสต์ ที่มักถ่ายทอดความงามของอาหารออกมาโดยใช้อาหารล้วนๆ เพื่อให้สุดท้ายแล้วยังสามารถรับประทานได้จริง

ฟู้ด สไตลิสต์ ส่วนมากจะเริ่มงานจาก
  1. การมีใจรัก การค้นหาแรงบันดาลใจ การสร้างแนวคิดในการนำเสนอและดึงจิตวิญญาณของอาหารออกมา สร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงาม วางแผนการทำงานอย่างมีระบบ สร้างโครงร่างให้เห็นภาพจานอาหาร เลือกส่วนผสมที่ต้องการนำเสนอวางลงไปบนจาน และใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์
     
  2. การสะสมความรู้ในด้านอาหาร เช่น ประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งเป็นเหมือนต้นทางในการคิดออกแบบอาหารต่อไป ถ้าตั้งต้นด้วยความรู้ที่ผิด ก็อาจออกมาเป็นภาพอาหารที่ผิดได้ เช่น ใช้ตะเกียบประกอบกับภาพอาหารอินเดีย เป็นต้น

  3. การจัดเตรียมทั้งวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ต่างๆ ให้พร้อม ตั้งแต่ถ้วย จาน ชาม ถาด มีด ช้อมส้อม ของตกแต่งทั้งแบบสดและแห้ง ของประกอบฉากต่างๆ รวมไปถึง เครื่องมือพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ เช่น อุปกรณ์ตกแต่ง ที่คีบ มีด กรรไกร กาว ไม้จิ้มฟัน ช่วยยึดอาหารกระบอกฉีดยา ขวดสเปรย์ พู่กัน อุปกรณ์ทำความสะอาด คัตตอนบัท กระดาษทิชชู และต้องรู้จักแหล่งหาซื้ออุปกรณ์ที่หลากหลาย ราคาไม่แพงแต่ดูดีมีรสนิยม อาจเป็น ตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านชำ โกดังสินค้ามือสอง สวนจตุจักร ฯลฯ
     
  4. การสร้างสมดุลบนจาน การเล่นกับสี รูปทรง และเนื้อพื้นผิว และการสร้างสมดุลในสัดส่วนและปริมาณของส่วนผสมที่จะช่วยเติมเต็มให้อาหารดูสมบูรณ์ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ทั้งในสัดส่วนของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต พืช ผัก และผลไม้
     
  5. การเน้นส่วนผสมหลักให้มีความโดดเด่นออกมา และให้ความสำคัญกับวัตถุดิบรองอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน เช่น ของตกแต่งจาน ซอส และแม้กระทั่งตัวจานเองด้วย

  6. การจัดวางแบบคลาสสิก คือการใช้อาหารพื้นฐาน 3 อย่าง ได้แก่ แป้ง ผัก และอาหารหลัก และจัดวางตามการหมุนของเข็มนาฬิกา

หลังจากนั้น ก็ทำการถ่ายภาพ โดยอาจทำการถ่ายเอง หรือส่งมอบต่อให้ช่างภาพรับหน้าที่ในการถ่ายภาพต่อไป
 
ฟู้ด สไตลิสต์ ในป้จจุบันสามารถผลงานภาพอาหารสวยๆ ของตนเอง ผ่านช่องทางโซเชียล มีเดียเพื่อเป็นพอร์ตโฟลิโอของตัวเองด้วย นั่นคือช่องทางสำคัญที่จะได้ลูกค้าเพิ่มมาแบบไม่รู้ตัว และเมื่อเริ่มต้นได้ดี เป็นที่ยอมรับ รายได้อาจขยับจากเริ่มต้นที่หลักพันกลายเป็นหลักแสน และสามารถเติบโตและต่อยอดเป็นทีมรับงานได้หลากหลายแบบครบวงจรต่อไป  

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)