OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Internet of Things ในโลกการเกษตร

33166 | 29 เมษายน 2564
Internet of Things ในโลกการเกษตร
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคของการพัฒนาและเจริญเติบโตของเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีมีบทบาทและแทรกซึมไปอยู่ในทุกที่ทุกเวลาทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน หนึ่งในนั้นคือ Internet of Things หรือ IoT
 
Internet of Things (IoT) คือเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำให้มันสามารถเชื่อมโยง รับส่งข้อมูล สั่งการเพื่อควบคุมอุปกรณ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ จะเรียกว่าอุปกรณ์พวกนี้ ‘คุย’ กันเองโดยไม่ต้องผ่านมนุษย์ก็ว่าได้  ไม่ว่าจะเป็น Smart Device, Smart Home, Smart Network, Smart Intelligent Transport ฯลฯ ซึ่งการเชื่อมโยงนั้น จะสามารถเก็บและรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังมีระบบคลาวด์ที่จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลผ่านออนไลน์ที่เราสามารถควบคุมและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา 

ตัวอย่างของการใช้งาน IoT ในชีวิตประจำวัน เช่น การสั่งเปิดปิดอุปกรณ์ภายในบ้านต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าเป็น หลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ การสั่งอุปกรณ์ให้อาหารสัตว์เลี้ยงในขณะที่ไม่มีคนอยู่ที่บ้าน รวมไปถึงเรื่องระบบความปลอดภัยของคนในบ้าน ตัวบ้าน และรถยนต์ ที่จะมีการเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลจากระบบเครื่องจับสัญญาณหรือเซ็นเซอร์กับสมาร์ทโฟน ซึ่งนับได้ว่า IoT เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อความสะดวกสบาย ลดภาระในการทำงาน อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้นมาก

นอกจากจะมีการใช้ IoT ในชีวิตประจำวันแล้ว ปัจจุบันยังมีธุรกิจหลายประเภทที่นำเทคโนโลยี IoT มาใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้โครงข่ายข้อมูลขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องจักร เครื่องวัดและระบบควบคุมต่างๆ การคมนาคมและการจัดการโลจิสติกส์ที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะและระบบควบคุมการจราจร เช่น ระบบสัญญาณไฟจราจร สภาพการจราจรบนท้องถนน ในภาคธุรกิจบริการ็มีการใช้ IoT เช่นกัน 

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหารที่ใช้ระบบการสั่งอาหารด้วยตนเอง ตู้เย็นอัจฉริยะที่ช่วยดูแลปริมาณวัตถุดิบหรือสินค้าในร้าน รวมไปถึงร้านค้าต่างๆ ที่ใช้ในระบบการจ่ายเงินแบบอัตโนมัติ การจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือในทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ใช้อุปกรณ์ IoT ในการเก็บข้อมูลสุขภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ การดันโลหิต คุณภาพการนอน การเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น 

ส่วนในภาคเกษตรกรรม มีการนำ IoT และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงกระบวนการดูแลและควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาผลผลิต ที่เกิดจากขาดการวิเคราะห์และจัดการกับข้อมูลเชิงลึก เช่น สภาพอากาศ สภาพดิน สิ่งแวดล้อมที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช/เลี้ยงสัตว์ โดย IoT จะเป็นตัวช่วในการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นระบบระเบียบและวิเคราะห์ผลอย่างถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุน และความสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็น Smart Farming และสามารถแข่งขันในภาคเกษตรเชิงธุรกิจได้ 

หลักการทำงานของ IoT ในภาคเกษตรอย่างหนึ่ง คือการนำเทคโนโลยี RFID Sensors (Radio Frequency Identification Sensors) เข้ามาใช้ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการเกษตรต่างๆ เพื่อให้อุปกรณ์ สามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกับอุปกรณ์ควบคุมหลักได้ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ ตัวอย่างเช่น 
เซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณสมบัติของดิน เพื่อปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช และนำมาใช้ในการตัดสินใจในการวางแผนการปลูกพืชในรอบต่อไปได้ 
  • เซ็นเซอร์วัดค่าความชื้นและปริมาณน้ำในดิน เพื่อใช้ในการคำนวณปริมาณและเวลาในการรดน้ำได้ 
  • เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ เพื่อใช้ควบคุมและเฝ้าระวังโรคและแมลงศัตรูพืช 
  • เซ็นเซอร์เก็บรวบรวมข้อมูลสถานที่และตำแหน่งของฝูงปศุสัตว์ รวมถึงตรวจสุขภาพสัตว์ หรือตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ภายในโรงเรือน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน และป้องกันการแพร่กระจายโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การใช้ระบบเซ็นเซอร์ควบคู่กับการเชื่อมโยงข้อมูลเรดาห์ติดตามสภาพอากาศและภาพถ่ายดาวเทียม และใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์และคาดการณ์สภาพอากาศและแจ้งเตือนข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ เช่น เส้นทางพายุ ปริมาณน้ำฝน เพื่อช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนจากความเสียหายของผลผลิตจากปัญหาภัยธรรมชาติได้
  • การใช้โดรน (Drone) สำหรับจัดการแปลงเกษตร เช่น สำรวจพื้นที่ ฉีดพ่นปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง หรือเก็บข้อมูลผลผลิต โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบแผนที่ในการกำหนดพิกัดแปลงพืช เพื่อให้โดรนเข้าไปทำงานได้อัตโนมัติ จึงช่วยลดต้นทุนแรงงาน


จากตัวอย่างของการใช้ IoT ในภาคการเกษตร จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี IoT ช่วยในการบริหารจัดการฟาร์มมีรูปแบบที่หลากหลายและเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน เกษตรกรหรือเจ้าของธุรกิจในภาคการเกษตรจำเป็นจะต้องให้ความสนใจและศึกษาข้อมูลแล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้าบริบทของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหากมีการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว จะเป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงาน พัฒนาคุณภาพและลดความเสียหายของผลผลิต ช่วยลดต้นทุนในระยะยาว รวมถึงยังเป็นการปรับภาพลักษณ์ของตัวเกษตรกรให้เป็น Smart farmer ได้อีกด้วย

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)