OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

อะควาโปนิกส์: ปลูกผักไปด้วย เลี้ยงปลาไปด้วย

24908 | 3 พฤษภาคม 2564
อะควาโปนิกส์: ปลูกผักไปด้วย เลี้ยงปลาไปด้วย
หลายคนอาจจะรู้จักการปลูกผักแบบไฮโดรโปรนิกส์ แต่ยังไม่รู้จักว่าการปลูกผักแบบอะควาโปนิกส์คืออะไร
     
ที่จริงแล้วทั้งไฮโดรโปรนิกส์และอะควาโปนิกส์เป็นรูปแบบการปลูกพืชที่ใกล้เคียงกัน เป็นวิธีปลูกผักเพื่อแก้ปัญหาเรื่องไม่มีพื้นที่ในการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปเป็นอาหาร 
     
นอกจากนี้ ยังมีกระแสรักสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้าเราสามารถ “ปลูกอาหาร” ได้เอง ก็จะได้อาหารที่ที่มีประโยชน์ ปรุงจากวัตถุดิบสดใหม่ ปลอดสารเคมี ไม่มีสารปรุงแต่ง ส่งผลให้เทรนด์การผลิตอาหารได้ด้วยตนเอง ได้รับความนิยมตามไปด้วย
     
และอะวาโปนิกส์ ก็อยู่ในเทรนด์นี้นี่เอง

รู้จักอะควาโปนิกส์ 
อะควาโปนิกส์ (Aquaponics) มาจากคำว่า Aquaculture ที่แปลว่า การปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งก็คือการรวมระบบของการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์น้ำเข้าด้วยกัน 

หลักการทำงานคือการใช้ระบบน้ำหมุนเวียน เอาของเสียจากระบบหนึ่งไปเป็นของดีของอีกระบบหนึ่ง โดยเลียนแบบการพึ่งพาอาศัยกันและเกื้อกูนของธรรมชาติ 

ระบบนี้จะมีการหมุนเวียนน้ำเลี้ยงปลาที่มีเศษอาหารปลาและของเสียจากปลาตกค้างอยู่ ไปผ่านกระบวนการกรองทางชีวภาพ ก่อนส่งน้ำไปใช้ในการปลูกพืชไร้ดิน 

พืชจะสามารถดึงไนเตรทในน้ำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโด ทำให้น้ำมีปริมาณไนเตรทลดลงถึงระดับที่ไม่เป็นพิษกับปลา แล้วจากนั้นก็จะส่งน้ำกลับเข้าสู่ถังเลี้ยงปลาอีกครั้งหนึ่ง 

ระบบนี้จึงเป็นระบบบำบัดน้ำหมุนเวียน ทำให้ลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำเพิ่มผลผลิตอาหาร ปลอดภัย และเพิ่มมูลค่าผลผลิต นับได้ว่าเป็นการผสมผสานเกษตรอินทรีย์ระหว่างการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว 

อย่างไรก็ตาม การนำระบบอะควาโปนิกส์ไปใช้งานให้ได้อย่างสมบูรณ์นั้น สัดส่วนของสัตว์น้ำและพืชที่ปลูกจะต้องมีความสัมพันธ์กันด้วย

ประโยชน์ของการปลูกพืชแบบอะควาโปนิกส์มีหลายอย่าง เช่น
  • ใช้พื้นที่น้อยในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
  • ลดต้นทุนในการดูแล เช่น ค่าน้ำ ค่าอาหารปลา 
  • ลดการใช้น้ำในการปลูกพืช เมื่อเทียบกับการปลูกพืชในระบบปกติ
  • ประหยัดเวลาและขั้นตอนในการดูแล
  • ได้ผลผลิตทั้งปลาและผักในระบบเดียว
ในปัจจุบัน รูปแบบของระบบอะควาโปนิกส์ที่นิยมใช้กัน มีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่
  1. ระบบแพลอย ระบบนี้เป็นระบบการเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืชบนแพที่ลอยอยู่บนน้ำ พืชจะเจริญเติบโตบนแพหรือวัสดุที่ลอยน้ำก็ได้ 
  2. ระบบกึ่งเปียกกึ่งแห้ง เป็นระบบการเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืชที่ใช้วัสดุปลูกต่างๆ เช่น กรวด หิน ขุยมะพร้าว หรือวัสดุอื่นๆ เพื่อให้รากพืชยึดเกาะ แล้วสูบน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาให้ไหลผ่านวัสดุปลูก
  3. ระบบรางยาว เป็นระบบปลูกพืชในรางที่มีน้ำจากบ่อปลาไหลผ่านอย่างต่อเนื่อง รากพืชจะแช่น้ำอยู่ตลอดเวลาคล้ายระบบแพลอย แต่ระดับน้ำที่ไหลผ่านในรางจะไม่สูงมาก แต่เป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี เพราะรากได้รับสารอาหารและออกซิเจนได้เต็มที่
พืชที่เหมาะกับการปลูกในระบบอะควาโปนิกส์ ได้แก่ พืชกินใบ เช่น ผักกาด ผักบุ้ง ผักสลัด พืชกินผล เช่น มะเขือเทศ แตงกวา พริก และพืชสมุนไพร เช่น กะเพรา โหรพา สะระแหน่ มิ้นต์ และปลาที่เหมาะกับการเลี้ยง ได้แก่ ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียนขาว ปลาแรด ปลาหมอไทย 

จะเห็นได้ว่า การปลูกผักเลี้ยงปลาในระบบอะควาโปนิกส์ เป็นการเกษตรรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการลดปัญหาการไม่มีพื้นที่หรือมีพื้นที่จำกัดในการปลูกผักหรือเลี้ยงสัตว์ และยังพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการทำเกษตรอีกด้วย

นับเป็นแนวทางการบริหารจัดการการเกษตรที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และเป็นวิธีการหนึ่งที่ให้ผู้สนใจที่จะผลิตอาหารด้วยตนเอง จะสามารถสร้างอาหารปลอดภัยได้ในครัวเรือน

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)