OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

2949 | 7 พฤษภาคม 2564
การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
วัยเด็กเล็ก คือช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กในวัยนี้จึงมีความสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงการเตรียมการเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต 

พฤติกรรมต่างๆที่เด็กแสดงออกในช่วงวัยนี้ โดยผ่านการส่งเสริมพัฒนาการองค์รวมจะปลูกฝังเป็นบุคลิกภาพของคนคนหนึ่งเมื่อเขาเติบโตขึ้น 

เด็กเล็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการเล่น “การเล่น” จึงคือการทำงานของเด็ก แต่หลายๆคน กลับมองว่าการเล่นเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่สำคัญ เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ แต่ที่จริงแล้วกลับเป็นตรงข้าม การเล่นกลับเป็นสิ่งช่วยสร้างการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก 

การเล่นจึงมีประโยชน์ต่อเด็กทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นอิสระในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หรือการเล่นที่ถูกออกแบบอย่างมีเป้าหมาย  ดังนั้นการที่พ่อแม่สร้างสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ กระตุ้นให้เด็กได้มีโอกาสค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบ สนใจ จะเป็นการกระตุ้นสมองส่วนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนให้เด็ก

เล่น...สำคัญอย่างไร 
“การเล่น” มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ - จิตใจ สังคม และสติปัญญา เพราะการเล่นเป็นประสบการณ์ตรง เด็กจะรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน ได้สังเกตทดลอง รู้คิด รู้ทำ รู้แก้ปัญหา และค้นพบตนเอง การเล่นจึงเป็นการเตรียมการเพื่อชีวิต เชื่อมโยงระหว่างตัวเด็กกับสิ่งแวดล้อม สังคมรอบๆตัวเด็ก การเล่นในเด็กเล็กจึงเป็นทั้งอาหารกาย เมื่อเด็กเล่นก็จะรู้สึกเหนื่อยและหิว จึงต้องพักผ่อนและกินอาหาร ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารทั้งห้าหมู่เพื่อการเจริญเติบโต อาหารใจ เด็กจะมีความสุข ละลายความเครียด สร้างสมาธิจดจ่อผ่านการเล่น  รูปแบบการเล่นจึงมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเด็กแต่ละวัยจะมีรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ 
  • วัยทารกหลังอายุ 3 เดือน (วัยเบบี๋) เด็กเริ่มต้นจากการเล่นแบบไม่ตั้งใจ  เด็กเรียนรู้ที่จะทดลองเคลื่อนไหวสิ่งต่างๆรอบตัวเด็กมีอิสระในความคิดและการเคลื่อนไหว 
  • อายุ1 ปี- 3ปี เด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะสังเกตจ้องมองผู้อื่นเล่น เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ลงมือทดลองเล่นแบบถูกๆผิดๆ เริ่มใช้ภาษาในการซักถาม พูดคุย ทำกิจกรรมซ้ำๆ เช่น การเทของออกจากกล่องแล้วเก็บใส่กล่อง ขีดเขียนบนกระดาษซ้ำกันหลายๆหน้า 
  • อายุ 3 ปี - 5 ปี เด็กเน้นตัวเองเป็นศูนย์กลาง และสนุกกับการเล่น การเล่นคนเดียวเป็นการเริ่มต้นของพัฒนาการด้านการเล่น เพราะเด็กเรียนรู้ทีจะฝึกใช้สมองของตนเองในการคิด จินตนาการ มีความสามารถในการบังคับตนเอง ไม่ต้องเป็นไปตามความคาดหวังของใคร เมื่อสักระยะหนึ่งเด็กก็จะเรียนรู้ที่จะเล่นร่วมกับผู้อื่น ในวัยนี้ พ่อแม่จึงจำเป็นต้องชวนลูกเล่น พูดคุย ซึ่งเป็นการกระตุ้นพัฒนาการในหลายๆด้านไปพร้อมกัน
เล่นอะไร - เล่นอย่างไร 
เด็กในแต่ละช่วงวัย มีพฤติกรรมและรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกัน แต่ที่สำคัญ การเล่นของเด็กเกิดได้ทุกที่ พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องจัดสภาพแวดล้อม จัดหาของเล่น และวิธีการเล่นที่เหมาะสมกับความสามารถ ความถนัดของเด็ก เพื่อสังเกตและค้นหาศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็ก และหาทางที่จะพัฒนาทักษะนั้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือการดูแลไม่ให้เกิดอันตราย ในตลอดเวลาของการเล่น 

เรามาดูกันว่า เด็กในแต่ละช่วงวัย เราสามารถส่งเสริมพัฒนาการต่างๆผ่านการเล่นได้อย่างไรบ้าง 
  • วัยเบบี๋ (วัยเด็ก 0-12 เดือน)  เล่นโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการสังเกต สำรวจสิ่งแวดล้อม ของเล่นที่นำมาเล่นจึงต้องช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น กรุ๋งกริ๋งเขย่าฝึกฟังเสียง โมบายสีสวยฝึกการใช้สายตามองเห็น มองตาม ของเล่นที่ใช้การกัด ดูด อม (โดยต้องเน้นความสะอาดและความปลอดภัยด้วย)
  • วัย 1 ปี – 3 ปี เด็กวัย 1 ปีเริ่มเดินได้ การใช้กล้ามเนื้อขา เช่น รถลาก การปั้น การขยำ การกด การบี้ จากดิน แป้ง ทำให้เด็กสนุก ฝึกการคิดยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ สนุกกับการใช้ภาษาในการฟังนิทาน เรื่องเล่า เป็นช่วงโอกาสทองในการพัฒนาควมสามารถทางภาษา
  • วัย 3 ปี – 5 ปี เดิน กระโดดได้ดี คล่องแคล่วขึ้น การเล่นกับธรรมชาติ สำรวจสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเด็กวัยนี้ อยากเรียนรู้ ทดลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง การเล่นจึงเปิดโอกาสให้เล่นอย่างอิสระกระโดดโลดเต้น ปีนป่าย เล่นเครื่องเล่นสนามที่มีความปลอดภัย ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเพื่อฝึกทักษะทางสังคม
ดังนั้น พ่อแม่จึงควรเห็นถึงความสำคัญของการเล่น และให้เวลากับการเล่นกับลูกในครอบครัว เพื่อส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ 

เพราะนอกจากจะทำให้เด็กมีความแข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว อันเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็กในอนาคตต่อไปอีกด้วย

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)