OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

รู้จักกับ Value Chain ในการเกษตร

24740 | 11 พฤษภาคม 2564
รู้จักกับ Value Chain ในการเกษตร
การเกษตรไม่ได้มีความสำคัญต่อประเทศไทยในมิติที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ประเพณี และสังคมเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศด้วย

ถ้าดูในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา สินค้าเกษตรสร้างมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีอัตราการจ้างงานสูงถึง 32% นั่นแสดงให้เห็นว่า สินค้าเกษตรสำคัญต่อประเทศมากขนาดไหน

ที่สำคัญก็คือ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อาชีพด้านเกษตรกรรมมักเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ ของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง หรือแรงงานที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพ 

คำถามก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรของเรามีมูลค่าเพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่

ในเรื่องนี้ “ห่วงโซ่คุณค่า” อาจเป็นคำตอบสำคัญก็ได้

ห่วงโซ่คุณค่า หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่สัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน เพื่อร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ห่วงโซ่คุณค่านั้นเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของวัตถุดิบเลย เช่น เริ่มตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ การขนส่งเพื่อนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต ผลิตแล้วจะจัดจำหน่ายอย่างไร จัดส่งสินค้าอย่างไร และมีการบริการหลังการขายอย่างไร เป็นต้น

ห่วงโซ่คุณค่าที่ว่านี้ อาจเกิดขึ้นจากผู้ประกอบการรายเดียว หรือเกิดจากผู้ประกอบการหลายๆ รายที่มารวมตัวกัน โดยแบ่งขอบเขตของกิจกรรมแล้วส่งต่อคุณค่าในแต่ละขั้นตอนต่อนื่องกันไป

ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจเกษตรประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ
  1. กระบวนการก่อนการผลิต (Pre-Production Process) คือการดำเนินการก่อนที่จะมีการผลิตซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมวัตถุดิบ และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ให้มีคุณภาพ และปริมาณที่เหมาะสมก่อนทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือทำประมง เช่น การวิจัย และพัฒนาพันธุ์พืช หรือพันธุกรรมสัตว์ การผลิตปุ๋ย และสารกำจัดแมลง การผลิตวัคซีน และยาสำหรับปศุสัตว์ รวมถึงการเตรียมสถานที่ เงินทุน แรงงานคน และวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดที่ต้องใช้ในการดำเนินการ
  2. กระบวนการผลิต (Production) คือการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตให้กลายเป็นสินค้าหรือบริการที่พร้อมนำไปจำหน่าย เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และการแปรรูปผลผลิตซึ่งปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบสารสนเทศเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับเกษตรกรหมายถึง กิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพวัตถุดิบให้กลายเป็นสินค้าหรือบริการ เช่นการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
  3. กระบวนการหลังการหลังการผลิต (Post-Production Process) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังการผลิต และการแปรรูป เพื่อส่งมอบสินค้า หรือบริการทางการเกษตรที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี และความพึงพอใจสูงสุด ประกอบด้วยการดำเนินการสำคัญ 3 เรื่อง คือ
    • โลจิสติกส์ขาออก เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐานตามที่กำหนด ทั้งการบริหารจัดการขนส่ง การกระจายสินค้า และการเก็บรักษาสินค้าที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สินค้ายังคงคุณภาพขณะที่ส่งมอบหรือจำหน่ายให้ผู้บริโภค
    • การขายและการตลาด ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างตราสินค้า การสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จักและจดจำ รวมถึงเกิดความมั่นใจในสินค้าและบริการ

      การบริหารจัดการช่องทาง หรือพื้นที่จำหน่ายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้สินค้าเข้าถึงได้ง่าย และครอบคลุมช่องทางการขายที่ตั้งเป้าหมายไว้
    • บริการ (Service) เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความประทับใจ และช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการ เช่น อำนวยความสะดวกขณะซื้อ และหลังจากซื้อสินค้า ให้บริการข้อมูลเชิงเทคนิคในการนำสินค้าไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด รับคำติชมและความคิดเห็นเพื่อนำกลับมาพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค
เกษตรกรรมเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อมนุษย์มาก ไม่เพียงเกี่ยวข้อง กับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นกำเนิดของปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อีกด้วย ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายในห่วงโซ่คุณค่าควรร่วมกันบริหารจัดการกระบวนการทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพเพื่อส่งต่อคุณค่าและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค

การประสบความสำเร็จในธุรกิจการเกษตรเป็นไปได้ไม่ยาก แต่ต้องมีองค์ความรู้ กระบวนการคิดและลงมือทำที่เหมาะสม โดยอาจเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายอื่น หรือเริ่มจากทำความเข้าใจห่วงโซ่คุณค่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ก็ได้เช่นกัน

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)