OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ไมโครเลิร์นนิ่ง (Microlearning): บทเรียนฉบับกระเป๋า...เล็กๆ แต่รู้ลึก

9714 | 18 พฤษภาคม 2564
ไมโครเลิร์นนิ่ง (Microlearning): บทเรียนฉบับกระเป๋า...เล็กๆ แต่รู้ลึก
ในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ทุกคนต้องเว้นระยะห่าง การจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนจึงต้องหยุดชะงักลง แต่ถึงกระนั้น การเรียนรู้ยังต้องดำเนินต่อไป ตลอดปีที่ผ่านมา มีหลายช่วงที่เด็กๆ ของเราต้องเรียนรู้ผ่านบทเรียนออนไลน์ที่คุณครูส่งตรงให้ถึงบ้าน  นับเป็นความพยายามและความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องการให้เด็กๆ เสียโอกาสในการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กบางคนที่ไม่สามารถเรียนรู้จากบทเรียนออนไลน์ได้ดีเท่าที่ควร ดังนั้น  การออกแบบบทเรียนที่ง่ายต่อการเข้าถึงและเข้าใจสำหรับผู้เรียนจึงเป็นคำตอบที่ผู้เกี่ยวข้องต้องใส่ใจเป็นพิเศษ 

ในปัจจุบัน มีบทเรียนรูปแบบหนึ่งที่เหมาะต่อการเรียนรู้ออนไลน์ รูปแบบที่ว่าเรียกว่า ไมโครเลิร์นนิ่ง (Microlearning) 

ไมโครเลิร์นนิ่ง (Microlearning) คืออะไร
ไมโครเลิร์นนิ่งไม่ใช่การเรียนรู้ที่เพิ่งถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่เป็นวิธีเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ใช้กันมานานแล้ว คำว่า micro มีรากศัพท์มาจากคำว่า μικρός  (mikrós) ในภาษากรีกโบราณ มีความหมายว่า “เล็ก”  ไมโครเลิร์นนิ่ง จึงอาจจะหมายถึง การเรียนรู้ที่ถูกแยกย่อยให้มีขนาดเล็กลงตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและจดจำข้อมูลความรู้ได้ง่ายในเวลาอันสั้น  ผ่านระบบสื่อสารที่เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลาตามความสะดวกของผู้เรียน โดยจะมีองค์ประกอบของเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น 
  • คำสำคัญ/ข้อความอธิบายสั้นๆ
  • ภาพประกอบ / อินโฟกราฟิก
  • คลิปวีดิทัศน์สั้นๆ /โมชันกราฟิก
  • เสียงบรรยาย / ดนตรีประกอบ 
  • แบบทดสอบ และเฉลยคำตอบ
  • เกม / ปริศนาท้าทาย
ซึ่งในแต่ละบทเรียนอาจจะมีไม่ครบทั้งหมด ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ ไมโครเลิร์นนิ่งโดยทั่วไปมักจะใช้เป็น e-learning แต่ก็มีบ้างที่ถูกนำมาใช้ร่วมกับการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน หรือการอบรมออฟไลน์

ลักษณะที่สำคัญของไมโครเลิร์นนิ่ง
  • สั้นกระชับ ผลสำรวจความคิดเห็นจากผู้รับการอบรมของสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งพบว่า บทเรียนไมโครเลิร์นนิ่งที่มีความยาว 2 – 5 นาทีมีประสิทธิภาพสูงสุด 
  • เข้าใจง่าย มีวัตถุประสงค์ชัดเจน การลำดับเนื้อหาเป็นขั้นตอน ไม่ย้อนไปย้อนมา มีแบบทดสอบท้ายบทเพื่อทบทวนความเข้าใจ
  • เจาะประเด็น เป็นหัวข้อความรู้ที่เฉพาะเจาะจง ตรงไม่ตรงมา ไม่ซับซ้อนหรือต้องตีความเพิ่มเติม
ข้อดีของไมโครเลิร์นนิ่ง  
  • ความรวดเร็ว ผู้เรียนสามารถใช้เวลาสั้นลงในการเรียนรู้แต่ละเรื่อง  
  • ความสะดวก เป็นการเรียนรู้ออนไลน์ที่ผู้เรียนสามารถกำหนดสถานที่และเวลาในการเรียนรู้ได้ 
  • ความยืดหยุ่นและหลากหลาย ใช้ได้กับเนื้อหาส่วนใหญ่ ครอบคลุมเกือบทุกสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีหรือปฏิบัติ เนื่องจากมีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย นอกจากจะเป็นบทเรียนออนไลน์ที่ใช้เพื่อการเรียนรู้เฉพาะเรื่องแล้ว ยังสามารถใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนในชั้นเรียนหรือการอบรมออฟไลน์ได้ด้วย
  • ความน่าสนใจ บทเรียนที่สั้นกระชับ เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ ช่วยดึงความสนใจของผู้เรียนให้เรียนรู้จนจบ
  • ความยั่งยืน ถึงแม้จะเป็นบทเรียนสั้นๆ ง่ายๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนจดจำได้ดีจากการเรียนเพียงครั้งเดียว แต่ผู้เรียนสามารถกลับมาเรียนรู้ซ้ำได้ไม่จำกัด และสามารถถ่ายทอดแบ่งปันให้ผู้อื่นได้โดยข้อมูลคงเดิมไม่ผิดเพี้ยนหรือหล่นหายระหว่างทาง 
  • อิสระในการเรียนรู้ ใครๆ ก็เรียนได้ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในภาคบังคับ แต่มีความสนใจก็สามารถเลือกเรียนบทเรียนที่เผยแพร่ในระบบการเรียนรู้สาธารณะ หรือระบบการเรียนรู้แบบเปิดได้ตามความต้องการของตนเอง
ถึงแม้จะมีข้อดีมากมาย แต่ไมโครเลิร์นนิ่งก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ไม่เหมาะกับบทเรียนที่ต้องอาศัยทักษะซับซ้อน ต้องระวังความครบถ้วนสมบูรณ์ของเนื้อหารวมถึงการเชื่อมต่อกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน (หากรอยเชื่อมต่อไม่สอดคล้องกัน อาจทำให้ความรู้แยกส่วน ผู้เรียนไม่สามารถบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกันได้) ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ การออกแบบไมโครเลิร์นนิ่งจึงต้องผ่านการเลือกและวางแผนอย่างรอบคอบ 

การออกแบบไมโครเลิร์นนิ่งสำหรับเด็ก
แรกเริ่มเดิมที ไมโครเลิร์นนิ่งถูกนำมาใช้ในรูปแบบคอร์สอบรมออนไลน์หรือ e- learning ที่มีหัวข้อเฉพาะเจาะจง ดังนั้นจึงได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับแนวทางการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เมื่อนำมาปรับใช้กับเด็ก จำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการเรียนรู้ตามช่วงวัย เด็กๆ มีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ใหญ่มุ่งเป้าที่ความสำเร็จ แต่เด็กยังต้องการความสนุกและความท้าทายเฉพาะหน้ามาช่วยขับเคลื่อนการเรียนรู้ การออกแบบไมโครเลิร์นนิ่งสำหรับเด็ก (และเยาวชน) จึงต้องใส่ใจในสิ่งต่อไปนี้
  • เริ่มต้นด้วยการเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ โดยแจ้งวัตถุประสงค์ของบทเรียนด้วยข้อความที่เข้าใจง่าย เพื่อให้เด็กคาดเดาได้ว่าเขากำลังจะได้เรียนรู้อะไร เช่น เขียนคำสั่งบังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ หรือ วาดภาพระบายสีดอกไม้ด้วยสีน้ำ เมื่อสมองมีข้อมูลให้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สมองจะเกิดความสนใจ และเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีกว่าสมองที่ยังไม่ได้รับข้อมูล
  • สมองของเด็กจะเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีเมื่อเขารู้สึกสนุก และเชื่อมโยงสิ่งที่จะเรียนรู้เข้ากับประสบการณ์เดิม เกมตอบคำถามช่วยกระตุ้นเร้าให้สมองของเด็กตื่นตัว พร้อมกับเรียกความจำจากประสบการณ์เดิมของเขาขึ้นมาอีกครั้ง
  • ถ้าเป็นบทเรียนสำหรับวัยรุ่น ในขั้นตอนนี้อาจเพิ่มเงื่อนไขของการแข่งขันด้วยการจัดอันดับตามความเร็วในการตอบคำถามได้ถูกต้อง เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบความท้าทายและการแข่งขัน
  • อย่าปล่อยให้การเรียนออนไลน์กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อด้วยตัวหนังสือเต็มหน้าจอ นำเสนอเนื้อหาด้วยคลิปวีดิทัศน์ แอนิเมชัน โมชันกราฟิก ที่น่าสนใจ สร้างความเข้าใจอย่างเป็นขั้นตอนด้วยแผนผัง แผนภาพ และอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย พยายามลดทอนการใช้ข้อความยาวๆ ลง และนำเสนอเพียงคำสำคัญที่ต้องการเน้นให้จดจำโดยใช้เทคนิคบัตรภาพ บัตรคำ

    ลักษณะของกราฟิกและภาพประกอบที่ใช้ ตลอดจนอารมณ์ ความรู้สึก และบุคลิกภาพของการออกแบบ (mood and tone) ควรจัดให้เหมาะสมตามวัย เพราะความสนใจของเด็กปฐมวัยกับวัยรุ่นนั้นแตกต่างกัน
  • เพลงประกอบและดนตรีพื้นหลังส่งผลต่อการมีสมาธิจดจ่อ การเปลี่ยนจังหวะดนตรีสามารถใช้เป็นการเปลี่ยนผ่านแต่ละช่วงของบทเรียน เช่น ในช่วงเล่นเกม ใช้จังหวะดนตรีเร่งเร้าสนุกสนาน ในช่วงเรียนรู้ ดนตรีควรเอื้อให้เกิดสมาธิ และในช่วงทบทวนความรู้ด้วยการตอบคำถาม อาจใช้ดนตรีที่มีจังหวะผ่อนคลาย บอกเป็นนัยว่าช่วงสุดท้ายของการเรียนรู้กำลังจะจบลง
  • แบบทดสอบจะเป็นลักษณะของการทบทวนความจำ ความเข้าใจตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ อาจจะอยู่ในรูปแบบของเกมก็ได้ เด็กสามารถรู้ผลและเฉลยได้ทันทีที่ทำเสร็จและส่งคำตอบ
การสร้างบทเรียนไมโครเลิร์นนิ่งสำหรับผู้เริ่มต้นอาจดูเหมือนเป็นภาระหนัก แต่ปัจจุบันนี้มีแอพพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มเฉพาะด้านการศึกษาที่ช่วยสร้างและจัดการเนื้อหาในรูปแบบที่เราต้องการอยู่มากมาย เช่น Kahoot สร้างเกมตอบคำถาม/แบบทดสอบที่สนุกจนลืมไปว่ากำลังสอบ หรือ แอพพลิเคชันตัดต่อคลิป อย่าง Kinemaster หรือ Adoby Premier Rush ที่มีฟังก์ชั่นมากมายให้เลือกใช้ หรือแม้กระทั่งซอฟแวร์ที่บริหารการเรียนการสอนผ่านเว็บอย่าง LMS (Learning Management System) 

เชื่อว่าตัวช่วยที่หลากหลายเหล่านี้จะสามารถช่วยคุณครูสร้างบทเรียนที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ รวมถึงไมโครเลิร์นนิ่งที่จะช่วยลดความยากและเพิ่มความสนุกของการเรียนรู้ที่บ้านให้กับเด็กๆ ในช่วงวิกฤติการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 

แล้วการเรียนรู้ก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของการจัดการความรู้ที่ถูกสร้างสรรค์มาอย่างลงตัว





เรียนรู้เพิ่มเติมได้จาก:
https://elearningindustry.com/what-is-microlearning-benefits-best-practices
https://www.efrontlearning.com/blog/2015/09/everything-you-wanted-to-know-about-micro-learning-but-w...
https://www.valamis.com/blog/the-definitive-guide-to-microlearning
https://www.mobietrain.com/microlearning/origins-microlearning/
https://www.shiftelearning.com/blog/bid/351150/10-things-that-learners-pay-attention-to-and-how-to-u...
https://www.td.org/insights/just-how-micro-is-microlearning
https://elttguide.com/the-5-key-components-of-a-lesson-plan/
https://www.v-cube.co.th/lms/
https://sites.google.com/view/tanapont/%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%...2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)