OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

AQ ทักษะแห่งการเอาตัวรอด

4853 | 21 พฤษภาคม 2564
AQ ทักษะแห่งการเอาตัวรอด
ความกลัวการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถรู้สึกได้ แต่ถ้าเราลองเปิfโอกาสให้ตัวเองยืดหยุ่นเพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ กล้าที่จะเผชิญปัญหา ไม่ย่อท้อ มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย และพยายามที่จะแก้ไขปัญหานั้นให้สำเร็จด้วยตนเอง ก็น่าจะเป็นเรื่องดีกว่านั่งกลัวความเปลี่ยนแปลงอยู่เฉยๆ

การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ - ใครก็รู้
 
การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างชาญฉลาดนั้น นักวิชาการเรียกว่า AQ (Adversity Quotient) ซึ่งคือการใช้ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา และความสามารถในการปรับตัว

ว่าแต่ AQ, IQ และ EQ แตกต่างกันอย่างไร

AQ  IQ  และ EQ 
ทั้ง AQ IQ และ EQ เป็นทักษะที่สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่ยังเด็ก ผ่านการลงมือทำ  ซ้ำ ย้ำ ทวน

ความฉลาดทางปัญญาหรือ IQ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม 50 % และสิ่งแวดล้อมที่เด็กได้รับจากการอบรมเลี้ยงดู และประสบการณ์ต่างๆ อีก 50 % แต่จะมีเพียง IQ อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ

มีงานวิจัยพบว่า EQ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงานหรือประกอบอาชีพ เพราะทำให้สามารถควบคุมอารมณ์และเข้ากับคนอื่นได้ดี แต่แค่ IQ กับ EQ ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเรายังควรต้องมีความสามารถในการปรับตัว มีความกล้าเผชิญปัญหา เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมายโดยไม่ท้อแท้ หรือล้มเลิกกลางทางอีกด้วย สิ่งนี้นี่เองที่คือ AQ

การพัฒนาทักษะ AQ จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาควบคู่กับ IQ และ EQ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก 

ทำอย่างไรให้เด็กมี AQ 
ปัจจุบันนี้ เด็กต้องเติบโตในสังคมที่มีการแข่งขันสูง เด็กจึงควรต้องเรียนรู้ที่จะอดทน และเอาตัวรอดจากเรื่องยากๆในสังคมให้มากขึ้น การพัฒนาทักษะ AQ สำหรับเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการพัฒนาพื้นฐานที่สำคัญ นั่นคือ “การอบรมเลี้ยงดู”  ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยพัฒนาทักษะ AQ ได้ด้วยการ
  1. เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอารมณ์ดี โดยธรรมชาติแล้วเด็กต้องการทั้งอาหารกายและอาหารใจ อาหารกายคือสารอาหารที่ครบ 5 หมู่  น้ำ และอากาศที่บริสุทธิ์  อาหารใจคือความรัก การดูแลเอาใจใส่ การโอบกอด การที่พ่อแม่เข้าใจและเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย จะทำให้ลูกเป็นเด็กยิ้มง่าย จิตใจแจ่มใส และเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ 
  2. พยายามให้ลูกมองโลกในแง่บวก  ฝึกให้รู้จักการสังเกต มองสิ่งต่างๆรอบตัว พูดคุยกับลูกในสิ่งดีๆ ที่ลูกพบเห็นหรือได้ลงมือทำ เช่น การเก็บของเล่น สวมเสื้อผ้า เก็บกระเป๋า  รองเท้า ด้วยตนเอง การให้คำชมเชยในสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ จะเป็นการสร้างกำลังใจ และความภาคภูมิใจ 
  3. ให้ลูกได้เล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อเรียนรู้การปรับตัว และเมื่อลูกเจอปัญหาอุปสรรค ฝึกให้ลูกมองว่าปัญหานั้นเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขและต้องผ่านไปให้ได้ โดยให้ลูกได้เรียนรู้ วิเคราะห์ปัญหา  ทำความเข้าใจปัญหา และพยายามหาทางแก้ไขด้วยตนเอง  
  4. ส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ที่จะลงมือทำสิ่งใดให้สำเร็จด้วยความพยายาม ไม่ท้อแท้ง่ายๆ  เช่น การเล่นต่อเลโก้  จิ๊กซอว์  ที่ต้องใช้ความอดทนเพื่อไปสู่ความสำเร็จตามเป้า
  5. ฝึกให้ลูกรู้จักการควบคุมอารมณ์ การรู้จักและเข้าใจตนเองว่ารู้สึกอะไร อย่างไร จะทำให้ลูกสามารถแสดงออกทางอารมณ์อย่างสร้างสรรค์ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น 
การฝึกฝนให้เด็กรู้จักทักษะการเอาตัวรอดจากปัญหาอุปสรรคต่างๆ ด้วยตัวของเด็กเอง โดยใช้วิธีการคิด กลั่นกรองปัญหาที่เกิดขึ้น จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าจริงๆแล้วปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ความคิดที่ยืดหยุ่นจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ และใช้ความอดทนเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างมีสติ   

ที่สำคัญ ทักษะเหล่านี้ควรต้องถูกฝึกฝนตั้งแต่ยังเล็ก ควบคู่ไปกับการฝึกฝนทักษะด้านอื่นๆ ให้ทำงานไปร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น IQ EQ MQ ฯลฯ ที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และนำไปสู่ความสำเร็จในการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ 





ที่มาข้อมูล   
https://aboutmom.co/features/adversity-quotient-for-child/19903/  
https://www.parentsone.com/how-to-improve-5q-in-kids/ 
https://aboutmom.co/features/practice-kids-positive-thinking/8869/ 
https://www.amarinbabyandkids.com/pre-school/aq-adversity-quotient/

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)