OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

อยู่บ้านก็เรียนได้ : 10 เคล็ดลับสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เมื่อลูกต้องเรียนที่บ้าน

3533 | 8 มิถุนายน 2564
อยู่บ้านก็เรียนได้ : 10 เคล็ดลับสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เมื่อลูกต้องเรียนที่บ้าน
ในช่วงวิกฤตการณ์ที่ลูกหลานยังไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ เราในฐานะผู้ปกครองจึงต้องจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมให้เด็กๆ นั่งเรียนออนไลน์ได้อย่างมีความสุข  ลองเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของบ้านให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่ช่วยให้การเรียนออนไลน์ไม่ใช่ยาขมสำหรับเด็กๆ อีกต่อไป

1. จัดพื้นที่เฉพาะสำหรับการเรียนรู้
อย่าเพิ่งเครียด … ถ้าบ้านเรามีพื้นที่จำกัด เราไม่จำเป็นต้องสร้างห้องสำหรับการเรียนรู้โดยเฉพาะ แต่การมีพื้นที่เฉพาะสำหรับการเรียนรู้อาจจะหมายถึง พื้นที่ประจำที่เด็กๆ มักจะใช้อ่านหนังสือ หรือทำการบ้าน ถ้าเด็กๆ มีโต๊ะเรียนหรือโต๊ะวางคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว   เราสามารถจัดปรับจุดนั้นเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้เลย แต่ก็อาจจะมีเด็กบางคนที่คุ้นชินกับการทำการบ้านบนโต๊ะกินข้าว หรือม้านั่งหินที่ระเบียงหน้าบ้าน  ลองจัดพื้นที่เหล่านั้นให้เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับการเรียนรู้โดยกำหนดเวลาการใช้พื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อเด็กจะได้ใช้พื้นที่นั้นอย่างเต็มที่สำหรับการเรียนโดยเฉพาะ อย่าปล่อยให้ลูกเดินหาที่เรียนเอง หรือร่อนเร่ไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายก็จบลงบนเตียง เพราะไม่ว่าจะเป็นการเดินเรียนหรือนอนเรียน ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเรียนรู้ที่บ้าน

2. เก็บของให้เป็นระเบียบ
เมื่อเด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน แน่นอนว่า อุปกรณ์การเรียนรู้ต่างๆ ที่เด็กพกพาไปโรงเรียนจะต้องมากองรวมกันอยู่ที่บ้าน อย่าทิ้งสิ่งเหล่านั้นไว้ในกระเป๋านักเรียน หรือกองสุมรวมไว้มุมห้อง เพราะจะทำให้ยากต่อการหยิบใช้ ลองหาตู้ลิ้นชัก หรือกล่องแบ่งช่องมาจัดข้าวของให้เข้าที่ หนังสือ ตำราต่างๆ ควรวางเรียงอยู่บนชั้น อุปกรณ์เครื่องเขียน เก็บแยกส่วนพร้อมใช้อยู่ในลิ้นชักโต๊ะหรือใส่กล่องไว้บนโต๊ะเรียน จะช่วยให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินวุ่นหาข้าวของเมื่อจำเป็นต้องใช้

ในทำนองเดียวกัน  สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องและมีแนวโน้มที่จะเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการเรียนรู้ เช่น หนังสือการ์ตูน  นิยาย  เกม ของเล่น สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ควรจะวางระเกะระกะอยู่ในพื้นที่การเรียนรู้ ควรจะเก็บเข้าตู้ให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิขณะเรียน

3. จัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนรู้ให้พร้อมใช้งาน
การเรียนรู้ออนไลน์จำเป็นต้องใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต และต้องมีแอปพลิเคชันที่ทางโรงเรียนเลือกไว้ให้ เบื้องต้น เราต้องตรวจสอบสัญญาณให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ณ จุดที่เราจัดเตรียมเป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้ คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตที่ใช้สามารถรองรับแอปพลิเคชันและใช้งานได้ครบทุกฟังก์ชันสำคัญ และให้เด็กๆ ทดลองใช้งานแอปพลิเคชันก่อนเวลาเข้าใช้งานจริงตามตารางเรียน  เพื่อให้การเรียนรู้เริ่มต้นได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีการสะดุดจนเป็นเหตุให้สูญเสียสมาธิและอารมณ์ใฝ่เรียนรู้

4. สร้างกายภาพที่แสนสบาย
ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็ชอบนั่งเรียนหรือนั่งทำงานสบายๆ ด้วยกันทั้งนั้น  ลองเลือกเก้าอี้ที่เด็กๆ นั่งได้สบาย อาจเสริมหมอนอิง หรือเบาะรองนั่งนุ่มนิ่มเป็นตัวช่วยให้การนั่งนานๆ ไม่เป็นเรื่องทรมานเกินไป พื้นที่เรียนรู้ควรมีความเป็นส่วนตัวพอสมควร ไม่มีผู้คนเดินเข้าออกจนดูวุ่นว่าย มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ อากาศถ่ายเทสะดวก  ไม่มีเสียงเอะอะอึกทึกครึกโครม  ไม่มีแสงแดดส่องรบกวนสายตา ขณะเดียวกันก็ต้องมีแสงสว่างเพียงพอ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น ความสบายทางกายภาพจะช่วยยืดระยะเวลาความจดจ่อต่อการเรียนรู้ได้ยาวนานขึ้น 

5. สร้างบรรยากาศกระตุ้นการเรียนรู้แบบไม่ตั้งใจ
ถ้าเราเคยสังเกตการจัดพื้นที่และการตกแต่งห้องเรียนที่โรงเรียน เราจะพบว่า บนผนังห้องมักจะมีโปสเตอร์ แผนภาพ หรือข้อความที่แขวนหรือติดไว้เพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ  ด้วยการรับรู้ข้อมูลทางอ้อมและไม่เป็นทางการ เราสามารถจำลองแบบอย่างในห้องเรียนมาไว้ในพื้นที่การเรียนรู้ที่บ้านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อที่กระตุ้นการเรียนรู้ผ่านการมองเห็น อย่างเช่น  บัตรภาพ-บัตรคำศัพท์ภาษาอังกฤษ  ตารางธาตุ  แผนที่โลก  โปสเตอร์ภาพวาดบุคคลสำคัญของโลกในสาขาต่างๆ หรือแม้กระทั่งผลงานที่เด็กเป็นผู้ลงมือทำเอง โดยเลือกขนาดและจำนวนของสื่อให้พอเหมาะกับพื้นที่ ไม่มากเกินไปจนลายตา และเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับความสนใจ หรือเรื่องที่เด็กๆ กำลังเรียนรู้ ณ ช่วงเวลานั้น

6. มีแสงสว่างเพียงพอ
แสงสว่างที่ไม่เพียงพอนอกจากจะทำร้ายสายตาแล้วยังทำให้เกิดความเหนื่อยล้า ง่วงซึม แสงธรรมชาติดีที่สุดทั้งต่อสุขภาพและต่อการเรียนรู้ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกพื้นที่ที่ได้รับแสงธรรมชาติอย่างเพียงพอ ถ้าแสงจ้าเกินไปอาจหาม่าน หรือบังตามาช่วยลดความจ้าของแสงลงบ้าง หรือหากที่บ้านมีข้อจำกัด เช่น ในห้องค่อนข้างทึบ มีหน้าต่างน้อย ก็อาจจะใช้แสงไฟเป็นตัวช่วยได้เช่นกัน  

7. หนังสือคือครูชั้นดี
ถึงแม้ว่าการเรียนรู้ยุคนี้จะพึ่งพาข้อมูลดิจิทัลค่อนข้างมาก แต่การมีหนังสือที่น่าสนใจไว้ใกล้มือ ให้เด็กๆ ได้เห็นและเลือกหยิบพลิกอ่านจะเป็นการปลูกฝังนิสัยช่างค้นคว้าและรักการอ่านให้ติดตัวไปจนโต เพราะการอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มนั้นใช้ผัสสะและการเคลื่อนไหวมากกว่าการอ่านข้อมูลบนจอคอมพิวเตอร์หรือบนจอโทรศัพท์  หนังสือที่ต้องพลิกอ่านทีละหน้ามีส่วนช่วยให้สมองจัดเรียงข้อมูลได้เป็นระบบระเบียบมากกว่าการอ่านข้อความที่ยาวต่อกันเป็นพืด และการจะค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือแต่ละเล่มนั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและสมาธิอย่างมาก ทั้งหมดนี้ ช่วยพัฒนาทักษะที่ใช้ในการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การจัดวางหนังสือบนชั้นให้น่าสนใจ  โชว์ภาพปกบางปก จะช่วยกระตุ้นและดึงดูดความสนใจให้เด็กๆ เลือกหยิบหนังสือมาอ่านได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อพึงระวังสำหรับการจัดวางหนังสือในพื้นที่การเรียนรู้ก็คือ ควรแยกหนังสือหมวดบันเทิงออกไปไว้ในมุมอื่น ไม่นำมาปะปนกับหนังสือหมวดวิชาการ เพื่อลดการเบี่ยงเบนความสนใจจากความรู้ออกไปสู่สิ่งเร้าที่สนุกสนานและผ่อนคลายกว่า

8. รักษาเวลา
เมื่อต้องเรียนรู้ออนไลน์อยู่ที่บ้าน ตารางการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ และเด็กๆ ควรปฏิบัติตามตารางเรียนออนไลน์ อย่างเคร่งครัด เราอาจช่วยเด็กๆ ด้วยการตั้งสัญญาณเตือนเวลาเข้าเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนวินัยในการรักษาเวลา ถึงแม้จะเป็นการเรียนออนไลน์ที่สามารถดูย้อนหลังได้ก็ตาม นอกจากนี้ การตรงต่อเวลายังช่วยให้เด็กรู้จักวางแผนกิจกรรมในแต่ละวันของตนเองได้อย่างไม่สับสน และไม่นำกิจกรรมที่ทำที่บ้านมาทำในเวลาเรียน

9. คงความสมดุลระหว่างเรียนกับเล่น 
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า การเรียนออนไลน์ของเด็กๆ นั้นค่อนข้างเครียด เพราะเด็กๆ ต้องพยายามเรียนตามให้ทัน และยังต้องแบกรับการบ้านหลังเรียน เพื่อฝึกฝนเพิ่มเติม ดังนั้น เราควรแนะนำให้เด็กๆ จัดสรรเวลาให้เหมาะสม หลังเลิกเรียน ควรเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างอิสระ อาจจะออกไปวิ่งเล่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง  เล่นเกม หรือใช้เวลากับงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เช่น การวาดภาพ การอ่านหนังสืออ่านเล่น การฟังเพลง การดูละครหรือรายการโทรทัศน์ 

10. เบรกเป็นระยะ 
ระหว่างคาบการเรียนรู้ออนไลน์ ควรมีช่วงพักเบรกเช่นเดียวกับคาบเรียนปกติ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีเวลาสำหรับธุระส่วนตัว เช่น ดื่มน้ำ ไปเข้าห้องน้ำ หรือเปลี่ยนอิริยาบถ เด็กๆ สามารถลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย  หรือนั่งพัก ผ่อนคลาย  พักสายตาที่อ่อนล้าจากการจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ระหว่างคาบเรียน ควรวางขวดน้ำไว้ใกล้มือเด็ก เพื่อเขาจะสามารถหยิบมาดื่มได้เมื่อกระหายน้ำ การพักเบรกสั้นๆ ระหว่างคาบเรียนเพียงห้าถึงสิบนาทีจะช่วยให้เด็กมีสมาธิในการเรียนคาบต่อไป และสามารถเรียนต่อเนื่องไปได้จนจบวัน 

การเรียนออนไลน์นับเป็นภาวะที่ไม่ปกตินักสำหรับเด็กที่คุ้นเคยกับการไปโรงเรียน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเครียดตามมาได้ ดังนั้น การสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ที่บ้านจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความตึงเครียดที่เด็กต้องเผชิญ พร้อมกับฝึกฝนวินัยในการเรียนรู้ด้วยตนเอง  และเมื่อเด็กรู้สึกเชื่อมั่นว่าเขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือโรงเรียน สถานที่ก็คงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้อีกต่อไป
 




ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.khanacademy.org/khan-for-educators/resources/parents-mentors-1/khan-academy-accounts/a/s...
https://www.austinlocal.com/10-tips-for-creating-a-successful-at-home-learning-environment.html
https://www.waterford.org/resources/how-to-create-an-at-home-learning-space/
https://www.scientificamerican.com/article/reading-paper-screens/

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)