OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

เที่ยวทิพย์: สัมผัส ‘อารยธรรมเจงกิสข่าน’

1702 | 11 มิถุนายน 2564
เที่ยวทิพย์: สัมผัส ‘อารยธรรมเจงกิสข่าน’
การได้ไปยืนอยู่ในเทศกาลอินทรีทอง หรือ Golden Eagle Festival บนพื้นที่ราบสูงของทุ่งหญ้าสเต็ปป์ (Steppe) ณ เมืองอูลันบาตอร์ (Ulanbator)  และบายัน เอลกิ (Bayan-Ölgii) ของประเทศมองโกเลียนั้น ทำให้รู้สึกราวกับได้ย้อนยุคไปอยู่ท่ามกลางนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นเชื้อสายของ ‘เจงกิสข่าน’ หรือ ‘จักรพรรดิผู้เกรียงไกร’ และถือเป็นหนึ่งในโอกาสดีที่สุดในการเรียนรู้วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมภายใต้การรับรองของ UNESCO 

ที่สามารถดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยวและผู้ชอบผจญภัยที่รักและสนใจในศึกษาวิถีชีวิตโบราณ คือการได้เห็น ‘อินทรีทอง’ โบยบินบนท้องฟ้า และโฉบลงมาสังหารเหยื่อก่อนจะนำกลับมาให้เจ้าของที่นั่งอย่างสง่างามอยู่บนหลังม้า

นี่คือภาพที่สวยงาม ทั้งท่วงท่าในการขี่ม้าที่องอาจ ฝีมือการยิงธนูขณะอยู่บนหลังม้า และทักษะเฉพาะในการฝึกนกอินทรี ที่ได้รับการขนานนามว่าราชาแห่งท้องฟ้า ให้สามารถเชื่อฟังและทำตามคำสั่งได้อย่างน่ามหัศจรรย์ของชาวมองโกล ผู้มีสายเลือดของนักรบจากพื้นที่ราบสูง ส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างไร วิถีชีวิตเป็นอย่างไร

เทศกาลอินทรีทอง หรือ Golden Eagle Festival 
ภายในงานเทศกาลจะเริ่มต้นด้วยขบวนพาเหรดของบรรดานักล่าชาวมองโกลเชื้อสายคาซัค (Qazaqstan) ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นกลางที่มาพร้อมกับอินทรีทองที่เกาะอยู่บนแขน พร้อมกับเสียงดนตรีแบบโบราณที่ดังกึกก้องไปทั่วพื้นที่ราบสูงแห่งทุ่งหญ้าอันเลืองชื่อ นักล่า และผู้คนหนุ่มสาวมารวมตัวกันโดยการแต่งกายแบบโบราณที่งดงามที่สุด พรั่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบเทคนิคการสื่อสารที่ดีที่สุดระหว่างอินทรีทองและนักล่า การแข่งขันอินทรีทองล่าเหยื่อ การแสดงตามคำสั่งของเจ้าของ และการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมอีกมากมาย 

มีการร้องเพลงแบบดั้งเดิม การเต้นรำพื้นถิ่น การชกกันบนหลังม้า การยิงธนู การแข่งม้า หรือแม้แต่ของที่ระลึกทำมือจากคนพื้นเมืองมากมาย จึงทำให้ในทุกๆ ครั้งที่มีการจัดงาน คือช่วงเดือนมีนาคม กันยายน และตุลาคม ที่เมืองอูลันบาตอร์ และเมืองบายัน เอลกิ จะมีทั้งบรรดานักทองเที่ยวและนักผจญภัยจากต่างแดนกว่า 10,000 คน โดยเฉพาะช่างภาพและทีมงานสารคดีต่างๆ เดินทางไปถ่ายทำและเก็บเกี่ยวภาพสวยๆ มาถ่ายทอดเรื่องราวผู้คนในซีกโลกได้เห็นกัน  

ราชาแห่งท้องฟ้า
นกอินทรีเป็นสัตว์ที่รักอิสระ มีความหยิ่งผยอง ไม่ฟังคำสั่งใคร และไม่เป็นมิตรไม่ว่าจะกับทั้งสัตว์และคน แม้เราจะเห็นว่ามีคนนำเลี้ยงนกอินทรีอยู่บ้าง แต่ก็จะเป็นการเลี้ยงแบบผูกเชือกหรือขังไว้ในกรง แต่สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ คือ ชาวมองโกลสามารถเลี้ยงอินทรีทองเป็นสัตว์คู่ใจ โดยปล่อยให้อินทรีทองเหล่านั้นโบยบินได้อย่างอิสระ แถมยังเชื่อฟังคำสั่งในการล่าสัตว์ขนาดเล็ก พวกกระต่าย สุนัขจิ้งจอก เพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงชีพ ยิ่งได้เห็นกับตา ทำให้รู้สึกได้ว่า นกอินทรีเชื่อฟังคนมากกว่าสุนัขหรือแมวที่เราเลี้ยงไว้ที่บ้านด้วยซ้ำ 

ชาวมองโกลมีวัฒนธรรมในการเลี้ยงนกอินทรีมานานกว่า 4,000 ปีแล้ว เรียกว่าเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นหลายชั่วอายุคน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ชาวมองโกลจะยึดวิถีในการล่าสัตว์ เพื่อนำมาทำเป็นอาหารหรือขายเพื่อเลี้ยงชีพ  มองโกเลียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและสัตว์ป่า ดังนั้น การฝึกนกอินทรีซึ่งในห่วงโซ่อาหารมีตำแหน่งเป็นผู้ล่า ให้รู้จักการล่าเหยื่อมาให้นายพราน จึงเป็นสิ่งที่ชาวมองโกลทำมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

วิถีผู้ฝึกราชาแห่งท้องฟ้า 
วิถีของชาวมองโกล คือการใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน มีอาชีพด้านปศุสัตว์อย่างเลี้ยงม้าและแกะ จึงใช้กระโจมทรงกลมๆ หรือเกอร์ (Ger) ซึ่งสร้างจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นที่พักอาศัย ทำจากไม้ หุ้มด้วยหนังสัตว์ หรือผ้าใบเคลือบไขมันสัตว์ เคลื่อนย้ายได้สะดวก เพราะภายใน 1 ปี จะมีการย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาล ปีละ 3 ครั้ง อย่างในฤดูหนาวจะตั้งเกอร์หลบลมหลังภูเขา ฤดูฝนย้ายขึ้นพื้นที่สูง และฤดูร้อนจะตั้งอยู่บริเวณริมลำธาร ภายในมีสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างที่นอน ผ้าห่ม เตาผิง สำหรับเรื่องของห้องน้ำโด่งดังที่สุดในเรื่องวิวหลักล้าน เพราะจะเปิดโล่งให้เห็นทัศนียภาพอันงดงาม เมื่อเข้าห้องน้ำก็จะได้ชมวิว ภูเขา ต้นไม้ ลำธาร หรือสัตว์ที่เดินผ่านไปมาอย่างเพลิดเพลินเลยทีเดียว  

ปัจจุบัน มีนักล่าอินทรีทองอยู่ประมาณ 200-300 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยกลางคน และบางส่วนเป็นเหมือนจอมยุทธ์ที่ปลีกวิเวกอยู่ในป่าเขา ไม่ชอบสังคม ไม่ชอบความพลุกพล่าน หรือสิ่งที่ทำให้การฝึกอินทรีทองยากไปกว่าเดิม เช่น เสียงรถ เสียงผู้คน ดังนั้น จึงมีการย้ายเข้าไปต้องอยู่ในที่ลึกยิ่งกว่าเดิม ซึ่งว่ากันว่ามีสภาพอากาศที่หนาวติดลบถึงกว่า 40 องศาเซลเซียส  และแม้แต่งานที่มีชื่อเสียงอย่าง Golden Eagle Festival ก็ยากที่จะได้เห็นเหล่าจอมยุทธ์เหล่านั่นปรากฏตัว 

การฝึกราชาแห่งท้องฟ้า
วิธีล่านั้นมีไม่กี่ขั้นตอน กลุ่มนายพรานนักล่า หรือนักรบมองโกลเชื้อสายคาซัค จะขึ้นไปอยู่บนหลังม้าเพื่อมองหาสัตว์ป่าที่ต้องการ และเมื่อเจอแล้ว ก็จะปล่อยอินทรีทองโบยบินขึ้นไปบนฟ้า และด้วยความเร็วกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อินทรีทองจะโฉบลงมาจับเหยื่อ และนำมันมามอบกับนายพรานผู้สั่งการภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาจดูเหมือนง่าย แต่กว่าที่จะสามารถบังคับอินทรีทองได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 
  • พวกเขาต้องเรียนรู้วิธีการจับอินทรีทองตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ยากที่สุด
  • ผู้ที่ต้องการฝึกอินทรีทองจะต้องจับอินทรีทองมามัดขาไว้ 1 ข้าง และผูกติดกับตัวเอาไว้ เพื่อให้สามารถบินได้ในระยะความยาวของเชือก 
  • การฝึกตัวเองให้เคยชินกับการถูกจิกถูกข่วน 
  • การทำความเข้าใจธรรมชาติของอินทรีทองที่จะบินหนีจนกระทั่งหมดแรง และเชื่องในที่สุด 
  • ในระหว่างนั้นจะมีวิธีการ ‘กล่อม’ อินทรีทองให้เชื่อฟัง ด้วยการใช้ ‘เสียงพูดคุย’ และ ‘บทเพลงขับกล่อม’ จากเจ้าของอินทรีทอง เพื่อให้เกิดการจดจำเสียงในฐานะของ ‘เจ้านาย’
  • ระยะเวลาที่อินทรีทองจะสามารถแยกเสียงของคนทั่วไปกับเจ้านายได้ อาจใช้เวลาภายใน 2 วัน
  • ในช่วงนี้อินทรีทองจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและอ่อนโยนมาก 
  • เมื่อรับสภาพว่าตัวเองถูกจับ จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อินทรีทองจะเชื่องและรู้จักผู้เลี้ยงในฐานะเจ้านาย 
  • จากคำบอกเล่าของชาวมองโกล แม้ว่าคนจะเป็นฝ่ายจับอินทรีทองมาได้ แต่อินทรีทองจะเลือกเจ้าของด้วยตัวของมันเอง ...เหมือนกับว่าถ้าเคมีไม่ตรงกัน พยายามฝึกแค่ไหน ระยะเวลายาวนานเพียงใด อินทรีทองก็จะไม่ยอมฟังคำสั่ง
  • เจ้านายจะต้องดูแลประคบประหงมอินทรีทองอย่างดี ต่อเนื่อง โดยไม่มีวันหยุด 
  • การเริ่มฝึกให้นกบินไปล่าสัตว์และบินกลับมาหาเจ้าของภายหลังจากที่เชื่องแล้ว อาจต้องใช้เวลา 3-4 ปี กว่าที่อินทรีทองจะกลายเป็น ‘นักล่ามืออาชีพ’ ที่แค่เจ้าของให้ดมกลิ่นขนสัตว์ที่เป็นเหยื่อ อินทรีทองก็พร้อมที่จะบินไปหาและนำกลับมาให้อย่างสุดความสามารถแล้ว 
กล่าวกันว่า ตัวที่เชี่ยวชาญมากๆ จะโฉบเหยื่อแบบให้เหยื่อเจ็บ และมีบาดแผลน้อยที่สุด เพื่อให้เจ้านายสามารถนำชิ้นส่วน อย่างขน หรือหางไปขายได้ในราคาที่ดีกว่าเดิม

โด่งดังเพราะโซเชียลมีเดีย
กระแสของโซเชียลมีเดียกระตุ้นให้ภาครัฐใช้เทศกาลอินทรีทอง นำเสนอภาพลักษณ์ทางด้านการท่องเที่ยวของมองโกเลีย ทำให้วิถีชีวิตการใช้นกอินทรีล่าสัตว์ที่หาดูได้ยากกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง 

ชาวมองโกลรุ่นหลังหันมาสนใจฝึกฝนอินทรีทองอันเป็นมรดกล้ำค่า และเป็น signature เฉพาะที่สืบทอดมาอย่างยาวนานจากชาวมองโกลเชื้อสายคาซัค อีกทั้งยังเป็นช่องทางสร้างอาชีพให้กับนักฝึกอินทรีทองอีกด้วย กล่าวกันว่า มีผู้สนใจซื้ออินทรีทองในราคาตัวละกว่า 400,000 บาท ถูกปฏิเสธ เพราะเมื่อถึงเวลาอันสมควร นายพรานจะปล่อยอินทรีทองโบยบินอย่างอิสระกลับคืนสู่ป่า แต่ด้วยความผูกพันอินทรีทองก็มักจะบินกลับมาหานายพรานอยู่เสมอ และนั่นเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาหลายพันปี 

ถ้าอยากลืมวัน เวลา และเรื่องราวอันยุ่งเหยิงของโลกปัจจุบัน 
ต้องการใช้เวลาอยู่กับตัวเอง เรียนรู้โลกแห่งอารยธรรมยุคโบราณ 
‘เทศกาลอินทรีทอง’ มรดกจากลูกหลานเจงกิสข่านรอให้ทุกคนได้ไปสัมผัส





ขอบคุณรูปภาพจากคุณวสันต์ วาณิชกร  www.facebook.com/wason.wanichakorn 

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)