OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ลูกไม่กินผัก...ต้องทำอย่างไร

8784 | 22 มิถุนายน 2564
ลูกไม่กินผัก...ต้องทำอย่างไร
คุณพ่อคุณแม่หรือคุณผู้ปกครองหลายๆ บ้านอาจจะกำลังเผชิญกับปัญหาชวนปวดเศียรเวียนเกล้ากับการพยายามโน้มน้าวให้ลูกหลานรับประทานผัก แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งหลอกล่อก็แล้ว บังคับก็แล้ว เด็กๆ ก็ยังส่ายหน้าหรือหาโอกาสเขี่ยผักทิ้งทุกทีไป

ข่าวดี...คุณไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหานี้ มีพ่อแม่และผู้ปกครองจำนวนมากทั่วทุกมุมโลกที่ต้องต่อสู้กับปัญหา “เด็กเมินผัก” ที่ท้าทายนี้เช่นเดียวกับคุณ และแน่นอนว่า ปัญหานี้มีทางแก้ 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะรับประทานผัก สาเหตุหลักที่พอจะอธิบายปรากฏการณ์เด็กไม่กินผักนี้ได้ก็คือ
  1. ภาวะการกลัวอาหารชนิดใหม่ หรือที่ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า Food neophobia คือพฤติกรรมที่เด็กจะกลัวการหยิบสิ่งที่มีรูปร่างหน้าตาไม่คุ้นเคยเข้าปาก ซึ่งก็รวมไปถึงอาหารหน้าตาแปลกใหม่ที่ไม่เคยรับประทานด้วย พฤติกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการวัยเตาะแตะ (18 – 30 เดือน) เป็นกลไกป้องกันตัวตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กวัยซนหยิบจับสิ่งที่เป็นอันตรายเข้าปาก และจะพัฒนาไปถึงขีดสูงสุดเมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 2 - 6 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กกำลังเริ่มเลือกรับประทานอาหารและรสชาติที่ตัวเองชอบ เมื่อผนวกทั้งสองปัจจัยเข้าด้วยกัน ผลที่ตามมาคือ เด็กเลือกที่จะไม่รับประทานอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบ 
  2. ผักมีรสขม เด็กๆ มักจะปฏิเสธรสขมเพราะไม่ถูกปาก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบรรพบุรุษมนุษย์เราก็มีสัญชาติญาณที่จะหลีกเลี่ยงรสขมและรสเปรี้ยวอยู่แต่เดิม รสขมของผักนี้เกิดจากสารอาหารในพืชที่เรียกว่า  Phytonutrient ซึ่งได้แก่สารจำพวก ฟีนอลส์ (phenols) โพลีฟีนอลส์ (polyphenols) ฟลาโวนอยด์ส (flavonoids) ไอโซฟลาโวนส์ (isoflavones) เทอร์ปีนส์ (terpenes) and กลูโคซิโนเลตส์ (glucosinolates) ซึ่งพืชสร้างขึ้นเป็นกลไกป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกแมลงศัตรูพืชกัดกิน แต่สารเหล่านี้ได้รับการยืนยันจากผลงานวิจัยหลากหลายชิ้นว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา ทั้งในแง่ของการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเกิดมะเร็ง และยังช่วยยับยั้งการเกิดเนื้องอกอีกด้วย ดังนั้น อาหารที่อุดมไปด้วยพืชผักใบเขียวและผักสีสันต่างๆ จึงมีคุณประโยชน์ ช่วยชะลอการเกิดโรค และส่งผลดีต่อร่างกายของเราอย่างยิ่ง 
พอรู้ถึงสาเหตุที่เด็กไม่กินผักกันแล้ว คำถามต่อมาก็คือ แล้วถ้าลูกไม่ยอมกินผักเลย หรือเลือกกินไม่กี่ชนิดจะเกิดผลเสียหรือไม่ อย่างไร คำตอบก็ค่อนข้างชัดเจนในตัวเอง เพราะเด็กที่กำลังเจริญเติบโตต้องการสารอาหารไปใช้ในการพัฒนาเสริมสร้างระบบต่างๆ ในร่างกาย สารอาหารสำคัญบางอย่างจะพบมากเฉพาะในผักผลไม้ เช่น กรดโฟลิค วิตามินเอ วิตามินซี รวมไปถึงกากใยอาหารที่สำคัญต่อการขับถ่าย ถ้าเด็กไม่ได้รับสารอาหารเหล่านี้อย่างเพียงพอก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตตามวัย เป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน ท้องผูก และแคระแกร็น 

เช่นนั้น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองจะทำอย่างไรให้เด็กๆ หันมายินยอมพร้อมใจรับประทานผัก ลองมาดูวิธีเหล่านี้ด้วยกัน คุณอาจจะพบว่ามีบางวิธีที่เหมาะสม และสามารถนำไปปรับใช้กับเด็กๆ ที่บ้านของคุณก็ได้
  1. อดทนรอคอย กระบวนการเปลี่ยนแปลงต้องค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ และมั่นคง เด็กๆ มักกลัวที่จะลองอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอาหารไม่อร่อยตั้งแต่แรก ดังนั้นจึงไม่แนะนำวิธีการบังคับ คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับผู้ปกครองคือให้เริ่มด้วยการนำเสนอเมนูผักหลากหลายชนิดให้ลูกทุกวันในช่วงขวบปีแรกถึงขวบครึ่ง ไม่ใช่แค่อาหารที่ลูกชอบ และไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งรสอาหารจนไม่เหลือรสชาติตามธรรมชาติของวัตถุดิบ อย่ากังวลหากเด็กๆ ปฏิเสธหรือกินอาหารจานใหม่เพียงเล็กน้อยในครั้งแรก สิ่งสำคัญคืออย่ายอมแพ้ มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าโดยทั่วไปจะต้องใช้เวลา 10 – 15 ครั้ง ก่อนที่เด็กจะยอมรับอาหารใหม่ หรืออาจจะต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้นสำหรับเด็กบางคน
  2. สร้างประสบการณ์ที่มีความสุขให้กับการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ความหงุดหงิดของพ่อแม่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มีแต่จะนำไปสู่ความวิตกกังวลและความคับข้องใจให้กับเด็กๆ มากขึ้น และอาจนำไปสู่พฤติกรรมเลือกกิน
  3. เป็นแบบอย่างที่ดี เด็กเป็นผู้เลียนแบบที่ดี ดังนั้นหากลูกของคุณเห็นคุณกินและเพลิดเพลินกับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลาย โอกาสที่ลูกของคุณจะเพลิดเพลินกับอาหารของเขาก็จะสูงขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้เด็กเห็นและเกิดความมั่นใจว่าอาหารจานใหม่นั้น “กินได้” ไม่เป็นอันตราย 
  4. กระตุ้นการมีส่วนร่วมของเด็กๆ การส่งเสริมให้ลูกหลานมีส่วนร่วมในการจ่ายตลาดหรือการเตรียมอาหารอาจจะเป็นกุญแจไขปัญหาของคุณก็ได้ ตัวอย่างเช่น การขอให้เด็กเลือกผักหรือผลไม้ที่เขาชอบระหว่างเดินซื้อของด้วยกัน หรือช่วยเตรียมอาหารง่ายๆ ที่บ้าน เช่น การช่วยล้างและจัดจานผักผลไม้ต่างๆ อาจทำให้เด็กสนใจอาหารเหล่านี้  ระหว่างนั้นก็เป็นโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองได้แนะนำให้เด็กๆ รู้จักและรู้ถึงประโยชน์ของผักผลไม้ได้ชัดเจนลึกซึ้งยิ่งขึ้น
  5. หลีกเลี่ยงการใช้อาหารเป็นรางวัลหรือสินบน ข้อผิดพลาดประการหนึ่งของพ่อแม่บางครอบครัวคือการตั้งเงื่อนไขกับลูกว่าจะให้ของโปรดถ้าเด็กกินผัก วิธีนี้ดูเหมือนจะได้ผลในระยะแรก แต่ไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะเด็กจะเรียนรู้ที่จะจัดการกับพ่อแม่ได้อย่างรวดเร็ว โดยตั้งเงื่อนไขกับพ่อแม่เพื่อเขาจะได้รับประทานสิ่งที่เขาต้องการ เช่น หนูจะไม่กินผัก ถ้าแม่ไม่ให้หนูกินช็อกโกแลต ดังนั้นการติดสินบนด้วยของโปรดไม่เพียงแต่ทำให้เด็กเสียนิสัยในเลือกกินเท่านั้น แต่ยังจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาในภายหลังอีกด้วย
  6. ลองเสิร์ฟผักและทำอาหารในรูปแบบที่หลากหลาย ผู้ปกครองควรตระหนักว่าเด็กแต่ละคนมีรสนิยมและความชอบเนื้อสัมผัสของอาหารที่แตกต่างกัน เด็กที่ชอบอาหารเนื้อสัมผัสนุ่มๆ อาจชอบผักที่ปรุงสุกอย่างดี และในทางกลับกันเด็กที่ชอบความกรุบกรอบ ชุ่มฉ่ำ อาจจะชอบรับประทานผักสด 
นอกจากนี้ การเพิ่มความหลากหลายในรสชาติเช่นการเสิร์ฟผักที่มีรสหวาน เช่น ฟักทอง ข้าวโพดหวาน หรือกะหล่ำดอกควบคู่ไปกับผัก      (ชนิดใหม่) ก็อาจจะช่วยเพิ่มความรื่นรมย์ในการรับประทานอาหารมากขึ้น การเสิร์ฟผักหลากสีด้วยกันก็น่าดึงดูดใจไม่น้อย ถ้าเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงการเสิร์ฟน้ำผักปั่นให้ลูกของคุณ เพราะนอกจากเด็กจะไม่ได้เห็นรูปลักษณ์และลิ้มลองรสชาติที่แตกต่างของผักแต่ละชนิดแล้ว ก็ยังบอกไม่ได้ด้วยว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะเนื้อสัมผัสและรสชาติของผักถูกปั่นผสมกลมกลืนกันไปหมดแล้ว 

วิธีที่ดีกว่าก็คือ ทดลองเสิร์ฟเมนูใหม่แบบจานเล็กๆ ให้ลูกได้ลิ้มรสเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับผักที่หลากหลายและหลีกเลี่ยงกันบังคับที่ก่อให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจไปด้วย และอย่าลืมให้กำลังใจและชื่นชมที่เด็กๆ รักที่จะทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับคุณ

เมื่อได้แนวทางในการส่งเสริมให้ลูกกินผักกันแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะลงมือทำให้สำเร็จ แต่อย่าลืมว่า ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ทิ้งความหงุดหงิดกังวลใจไว้ข้างหลัง ค่อยๆ เปิดโอกาสให้เด็กปรับตัวให้คุ้นชินกับสิ่งใหม่ แล้วสิ่งที่จะได้ตามมาก็คือสุขภาพกายและใจที่ดีของทุกคนในครอบครัว

อย่าลืมว่า พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างในการกินผักให้ลูกดูซะก่อน และเริ่มตั้งแต่วันนี้!! 





ติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก :
https://www.carlsbadfoodtours.com/blog/my-children-dont-eat-vegetables-why-consequences-smart-soluti...
https://oss.adm.ntu.edu.sg/schong011/research-my-children-dont-eat-vegetables-why-consequences-smart...
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17997196/

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)