OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

5 วิธีป้องกัน ไม่ให้เป็นโรคมารยาททางสังคมบกพร่อง

26181 | 22 กรกฎาคม 2564
5 วิธีป้องกัน ไม่ให้เป็นโรคมารยาททางสังคมบกพร่อง
เราอาจพบว่า คนรอบตัวเรา บางคนดูไม่เป็นมิตรกับใครเลย ซึ่งเราคิดว่าเขาก็คงเป็นแบบนั้น ไม่ได้ใส่ใจอะไร คนเราโตมาคนละแบบ แต่บางทีเรื่องราวกลับไม่ได้เป็นเพียงเท่านั้น แต่แท้ที่จริงคือ โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง  หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก "โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง" แต่ตอนนี้กำลังระบาดในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน แต่พวกเขาไม่รู้ตัว!!

ในสังคมปัจจุบัน เราจะเห็นว่าผู้คนยิ้มให้กันน้อยลง มีความเป็นมิตรกันน้อยมาก และมีความเห็นแก่ตัวมากกว่าความเห็นใจซึ่งกันและกัน จึงทำให้โรคนี้น่าเป็นห่วง อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น และสามารถระบาดส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้

อาการของโรคมารยาททางสังคมบกพร่อง
ลองสังเกตอาการคนรอบตัวเราว่ามีอาการเหล่านี้กันบ้างหรือไม่
  
ขั้นที่ 1 สำหรับอาการขั้นแรกของคนที่เป็นโรคมารยาททางสังคมบกพร่องจะมีอาการนิ่งเฉย ไม่มีปฏิสัมพันธ์ หรือการพูดคุยกับคนรอบข้าง เช่น ทักทาย ขอบคุณ หรือช่วยเหลือ และจะแสดงออกด้วยอาการรุนแรงทันทีเมื่อไม่ได้ดั่งใจ

ขั้นที่ 2 คนที่เป็นโรคมารยาททางสังคมบกพร่องขั้นที่สอง จะไม่มีมารยาทขั้นพื้นฐาน เช่น ไม่รับการทักทาย ไม่ขอบคุณ ไม่ขอโทษ ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ให้ความร่วมมือกับงานของส่วนรวม ไม่เห็นอกเห็นใจหรือมีน้ำใจต่อผู้อื่น ถ้าไม่มีผลประโยชน์และผลตอบแทน

ขั้นที่ 3 อาการในขั้นที่ 3 นี้ คือ คนที่มีอาการต่อต้านสังคมอย่างเห็นได้ชัด ความมีเหตุผลจะหายไป โดยมีสัญชาตญาณของความเห็นแก่ตัวจะเข้ามาแทนที่ หน้าตาจะบูดบึ้ง โกรธเคืองตลอดเวลา คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์รวมของจักรวาล  คิดว่าตัวเองสำคัญเกินกว่าจะลดตัวเองลงไปทำดีกับคนอื่น ไม่จำเป็นต้องเคารพกติกามารยาท กาลเทศะต่างๆ เพราะเป็นหน้าที่ของคนรอบข้างจะต้องมาเอาอกเอาใจตัวเท่านั้น

5 วิธีป้องกันและรักษาโรคมารยาททางสังคมบกพร่อง
  1. ยิ้มให้คนรอบข้างด้วยความเป็นมิตร
  2. หัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราเจอคนอื่นทำอย่างไร้มารยาทบ้างจะรู้สึกแย่อย่างไร เพื่อจะได้ไม่ทำกับคนอื่น
  3. หัดพูดคำว่าขอบคุณอย่างจริงใจให้เป็นนิสัย
  4. หัดเป็นผู้ให้อภัย ไม่โกรธ ไม่หงุดหงิดกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
  5. เปลี่ยนจากคำว่ายอม เป็นคำว่าเข้าใจ

หากไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดผลร้ายแรงจนไม่มีใครคบ สังคมรังเกียจ ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย ในรายที่เป็นหนักหนามากอาจถูกมองด้วยสายตาที่รังเกียจได้  มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้น เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว แล้วถ้าเราไม่รู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างไร สำหรับคนที่คิดว่าเพื่อนเราเป็นโรคนี้ หรือแม้แต่ตัวเราที่กำลังเป็นอยู่ ต้องรีบแก้ไข ถ้าใช้คำแนะนำทั้ง 5  ข้อ แล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรที่จะไปพบแพทย์ในทันที





ข้อมูลประกอบการเขียน
https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/474212
www.scholarship.in.th 

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)