OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

คน vs หุ่นยนต์ การแข่งขันแห่งโลกอนาคต

4386 | 18 สิงหาคม 2564
คน vs หุ่นยนต์ การแข่งขันแห่งโลกอนาคต
ปัจจุบันเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติหุ่นยนต์ที่แท้จริง จะเห็นว่าปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทั้งหลายได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบผู้ช่วยอัจฉริยะบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน เอไอวิเคราะห์การรักษาโรค หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิต หุ่นยนต์สำรวจ หุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์บาริสต้า หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย หุ่นยนต์ตำรวจลาดตระเวน หุ่นยนต์ส่งของ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีอยู่จริง ทำงานได้จริง ที่สำคัญหุ่นยนต์เหล่านี้ได้รับการพัฒนาและป้อนโปรแกรมให้เรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง จนทุกวันนี้มีหลายตำแหน่งงานของคนถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ในแทบทุกสาขาอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น
  • พนักงานในสายการผลิต
  • พนักงานขายทางโทรศัพท์ 
  • พนักงานเสิร์ฟอาหาร
  • คนขับรถบรรทุก
  • เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
คน “ไม่พอดี” หรือ “ดีไม่พอ” กับงานยุคใหม่
แนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติต่างๆ อยู่ในช่วงขาขึ้นมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จากการศึกษาของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่าวิกฤติโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563 ยิ่งเป็นเสมือนตัวเร่งให้บริษัทต่างๆ หันมาใช้งาน และ/หรือ ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้งานแทนที่มนุษย์มากขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

นอกจากนี้ โลกการทำงานในอนาคตเกิดขึ้นก่อนกำหนด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลให้ตำแหน่งงานจำนวน 85 ล้านตำแหน่งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ต้องถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และคาดว่าจะครอบคลุม 15 อุตสาหกรรม และ 26 ระบบเศรษฐกิจในอีก 4-5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะงานด้านการประมวลผลข้อมูลและงานประจำวันที่ทำซ้ำๆ เช่น งานเสมียน งานบัญชี งานธุรการ โอเปอเรเตอร์และคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงงานวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดและการโฆษณา ที่ต้องจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาลบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ และแอปพลิเคชันต่างๆ เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่าย และความผิดพลาดอันเกิดจากข้อจำกัดของมนุษย์ลงได้มาก หรือแม้แต่กลุ่มงานที่มีกระบวนการทำซ้ำ มีความสกปรก เสี่ยงอันตราย หรือมีความเปราะบางสูง ก็มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานแทนมนุษย์เพื่อความปลอดภัยของแรงงานและยกระดับสุขอนามัยในการทำงาน

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถแทนที่แรงงานมนุษย์ได้ในทุกอาชีพ  เพราะมีงานหลายอย่างที่มนุษย์มีความได้เปรียบกว่าหุ่นยนต์ เช่น งานให้คำปรึกษา การตัดสินใจ การใช้เหตุผล การสื่อสารและการสร้างปฏิสัมพันธ์ รวมถึงงานที่ต้องใช้ทักษะของมนุษย์ เช่น งานจิตอาสา งานด้านจิตวิทยา งานเจรจา ตลอดจนงานที่ใช้ทักษะขั้นสูงอย่างเช่น แพทย์ ทนายความ ศิลปิน นักเขียน นักดนตรี จิตรกร แต่ในอนาคตอันใกล้อาชีพเหล่านี้ก็อาจถูกแทรกแซงโดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ได้เช่นกัน หากหุ่นยนต์ได้รับการพัฒนาให้สามารถรองรับการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าอีกไม่นานเราน่าจะได้เห็นหุ่นยนต์ผ่าตัดที่มีความแม่นยำในการผ่าตัดสูง หรือแม้แต่หุ่นยนต์นักร้องนักดนตรีที่ไม่มีข้อจำกัดในการใช้เสียงแบบมนุษย์  

รับมืออย่างไรไม่ให้ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คงพอมองเห็นภาพแล้วว่า ไม่นานต่อจากนี้อาจไม่มีอาชีพใดที่จะปลอดภัย 100% จากการถูกหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์แทรกแซง การเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานร่วมกับผู้ช่วยอัจฉริยะเหล่านี้โดยไม่ถูกแทนที่ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด คือทางรอดของคนทำงานยุคใหม่ที่ต้องทำให้สำเร็จ โดยเริ่มจาก 9 ข้อต่อไปนี้  
  1. ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น อย่าวิตกกังวลจนเกิดความเครียด เพราะนี่คือสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเผชิญในอนาคต เตรียมพร้อมที่จะปรับตัวและสนุกสนานไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในชีวิต 
  2. ฝึกทักษะความชำนาญขั้นสูงเฉพาะด้าน เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อประเมินผล การคิดแบบ Original Ideas หรือการคิดนอกกรอบที่ยากแก่การเลียนแบบ รวมถึงทักษะการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ยากจะเลียนแบบ
  3. ฝึกทักษะความสามารถในการตรวจสอบและเลือกใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาหรือรับมือกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน เพราะมนุษย์ย่อมเข้าใจปัญหาของมนุษย์ได้ดีกว่าจักรกล ที่จะทำตามเหตุและผลจากข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นหลัก    
  4. เพิ่มความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ รู้จักนำเอาเทคโนโลยีหลายอย่างมารวมกัน และการประยุกต์นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและองค์กร 
  5. ฝึกทักษะทางสังคม เนื่องจากมนุษย์มีเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก มารยาททางสังคม คุณธรรมจริยธรรม และขนบธรรมเนียมต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง การพัฒนาทักษะทางสังคมช่วยให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์และเครือข่ายที่ดีที่เชื่อมต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องกันให้มาสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน 
  6. ติดตามข่าวสาร นวัตกรรม และความรู้ใหม่ในโลกดิจิทัลอย่างสม่ำเสมอ นำเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการทำงานและการพัฒนาตนเอง 
  7. กระหายการเรียนรู้และลงมือพัฒนาศักยภาพของตนอยู่เสมอ ในขณะที่หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ยังไม่สามารถพัฒนาตนเองได้หากปราศจากมนุษย์คอยป้อนข้อมูล   
  8. ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับโลกการทำงานยุคใหม่ เช่น จัดการฝึกอบรมด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพและการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร รวมถึงการ Reskill หรือการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน และ Upskill หรือการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น 
  9. ปรับการศึกษารูปแบบใหม่ เน้นเสริมสร้างความรู้ทางด้านวิชาการควบคู่ไปกับทักษะทางอาชีพ ที่เด็กและเยาวชนยุคใหม่พึงมี ความรู้ยุคใหม่ต้องไม่ใช่แค่การท่องจำแต่เน้นการลงมือทำและเรียนรู้ทักษะจากการทำงานจริง
หากว่าอาชีพของคุณมีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ สิ่งที่ต้องเริ่มทำในตอนนี้คือการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้ตัวเอง จงใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เพื่อทุ่นแรงและประหยัดเวลา ประยุกต์การทำงานของเหล่าสมองกลเข้ากับสมองมนุษย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของงานที่ทรงพลังและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่แน่ว่าในอนาคตคุณอาจจะมีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เป็นคู่หูในการคิด วิเคราะห์และทำงาน เช่นเดียวกับตัวเองในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่เคยดูกันมาก็เป็นได้





ข้อมูลอ้างอิง
www.okmd.or.th/upload/pdf/2564/pdf/The_Knowledge_vol_18.pdf 

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)