OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

บรรจุภัณฑ์อาหารกินได้

5646 | 23 สิงหาคม 2564
บรรจุภัณฑ์อาหารกินได้
เมื่อเราซื้ออาหารตามท้องตลาด คงหลีกเลี่ยงที่จะรับแพ็คเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์บรรจุสินค้าได้ยาก เพราะผู้ขายมักจะใช้ถุงพลาสติกหรือกล่องพลาสติกในการปกป้องอาหารให้คงสภาพและไม่ให้เกิดการหกเสียหายในการขนส่ง แต่พลาสติกใส่อาหารเหล่านี้จะถูกใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกในระยะเวลาสั้นๆ และถูกทิ้งหลังจากที่ใช้เพียงครั้งเดียว หรือเรียกว่า พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ส่งผลให้เกิดขยะบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก

นิตยสาร National Geographic ฉบับเดือนสิงหาคม 2019 เปิดเผยว่า จากจำนวนบรรจุภัณฑ์พลาสติก 78 ล้านเมตริกตัน ที่ผลิตทั่วโลกในแต่ละปี มีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล และมีพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมไหลลงสู่มหาสมุทร มากถึง 9 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะมากขึ้นเรื่อยๆ 

ทำให้ผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ และใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจเกี่ยวกับอาหารให้ต้องมีการปรับตัว เช่น ออกแคมเปญให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นแก้วกาแฟ กล่องใส่อาหาร ปิ่นโตมาเอง ลดการแจกถุงพลาสติก และปรับเปลี่ยนใช้บรรจุภัณฑ์อาหารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถช่วยลดพลาสติกเป็นการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่กินได้ ซึ่งแนวคิดเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่กินได้ หรือ Edible Packaging เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตเป็นอย่างมาก 

บรรจุภัณฑ์อาหารที่กินได้ คืออะไร?
บรรจุภัณฑ์อาหารกินได้เป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่ออกแบบให้รับประทานได้หรือมีความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับอาหาร บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้มีหลายรูปแบบและมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผลิตจากสารหลายชนิด 

บรรจุภัณฑ์อาหารกินได้ที่เราคุ้นเคยกันมานานแล้ว นั่นก็คือโคนไอศกรีมวาฟเฟิล หรือเปลือกผลไม้ อย่างเช่น แอปเปิ้ล องุ่น ฝรั่ง ที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้นมาเพื่อห่อหุ้มตัวเอง ซึ่งเป็นตัวอย่างของบรรจุภัณฑ์อาหารกินได้อีกหลายชนิดตามมา เช่น ปลอกไส้กรอกที่ทำจากคอลลาเจนและเซลลูโลส กระดาษห่อขนมที่ทำจากกระดาษข้าว ถ้วยกาแฟที่ทำมาจากคุกกี้ เป็นต้น ซึ่งการใช้บรรจุภัณฑ์ที่กินได้จะช่วยให้ลดการใช้พลาสติกลงได้ และแม้ว่าบรรจุภัณฑ์กินได้บางชนิด คนจะยังไม่กล้ากินจนต้องกลายเป็นขยะ แต่ก็สามารถย่อยสลายได้รวดเร็วกว่าพลาสติกมาก

และจากรายงานของบริษัทวิจัยระดับโลกอย่าง Transparency Market Research พบว่า ความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่กินได้อาจเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6.9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ไปจนถึงปี 2024 และอาจกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ทั่วโลก ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าผู้บริโภคยุคใหม่ให้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และพร้อมจะสนับสนุนบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมากขึ้น

ในต่างประเทศเริ่มมีการใช้บรรจุภัณฑ์กินได้อย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่างเช่น Ooho แคปซูลบรรจุของเหลวไว้ในฟิล์มกันน้ำที่ทำจากสาหร่ายทะเล ผลิตโดยบริษัท NOTPLA ในประเทศอังกฤษ เป็นบรรจุภัณฑ์แบบยืดหยุ่นสำหรับบรรจุเครื่องดื่มและซอส ที่สามารถกลืนเครื่องดื่มและกลืนบรรจุภัณฑ์ได้ หรือย่อยสลายได้ภายใน 4-6 สัปดาห์ ทำให้เหมาะสำหรับการบริโภคขณะเดินทาง ซึ่งได้นำไปใช้ให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอน London Marathon 2019 ได้ทดลองดื่มน้ำจากแคปซูล และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ปลอกหุ้มอาหารทำจากส่วนผสมจากผลไม้ เมล็ดธัญพืชกับสารสกัดจากเปลือกกุ้ง มีลักษณะคล้ายผิวองุ่นหรือแอปเปิ้ล ใช้ใส่โยเกิร์ต ไอศกรีม และชีส ทำเป็นขนาดพอดีคำให้สามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก นับเป็นนวัตกรรมที่สะดวกสบายและสร้างประสบการใหม่ในการรับประทาน จากบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส Wikifoods กับ Stonyfield Yogurt 

หลอดดูดน้ำ/เครื่องดื่มจากสาหร่ายสีแดง ที่สามารถใช้งานได้เหมือนกันหลอดพลาสติกทั่วไป แต่ใช้ระยะเวลาย่อยสลายเพียง 2 เดือนเท่านั้น ผลิตโดยบริษัท LOLIWARE ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

แก้วกินได้ บรรจุภัณฑ์ห่อเบอร์เกอร์ ซองใส่เครื่องปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และซองกาแฟ จากสาหร่ายทะเลที่สามารถละลายได้ในน้ำอุ่น ซึ่งบริษัท Evoware ในประเทศอินโดนีเซีย ที่มองว่านอกจากจะเป็นการลดการใช้พลาสติกแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกสาหร่ายในท้องถิ่นอีกด้วย

ถ้วยใส่อาหาร ทำจากแป้งมันฝรั่งและอบในอุณหภูมิสูงเพื่อให้ถ้วยอยู่ทรงแข็งแรง จากบริษัท Asahi Group Holdings ผู้ผลิตเบียร์แบรนด์อาฮาซีของญี่ปุ่น
 
ส่วนในประเทศไทยเองก็มีการคิดค้นบรรจุภัณฑ์อาหารกินได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ฟิล์มห่ออาหารจากแครอท หลอดกินได้จากพืชตามธรรมชาติ กระดาษห่อลูกอมจากข้าว ถ้วยกาแฟจากคุกกี้ เป็นต้น ซึ่งบางผลิตภัณฑ์ได้ผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว และบางผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัยและพัฒนาก่อนผลิตในเชิงพาณิชย์  

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีข้อโต้แย้งจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารอยู่ว่า บรรจุภัณฑ์ที่กินได้ แม้จะสามารถห่อหุ้มอาหารได้ แต่ก็ยังจะต้องมีบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกเพื่อรักษาความสะอาดและถูกสุขอนามัย เช่นเดียวกับโคนไอศกรีมที่ยังจะถูกห่อด้วยกระดาษและบรรจุมาในกล่องเพื่อจำหน่าย รวมถึงต้นทุนการผลิตบรรจุภัณฑ์กินได้นี้ ยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่มากเมื่อแปรียบเทียบกับการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในรูปแบบอื่น ซึ่งนักวิจัยบางกลุ่มก็ให้ความเห็นว่า บรรจุภัณฑ์ภายนอกสามารถใช้กระดาษหรือไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่ายทดแทนพลาสติกได้ ส่วนในเรื่องต้นทุนการผลิตนั้น เห็นว่าในปัจจุบันยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทำให้ต้องมีการลงทุนสูง แต่จะมีความคุ้มทุนและคุ้มค่าได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมและธุรกิจอาหารให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม มีความตั้งใจในการลดปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ และปรับเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์อาหารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 





ที่มาของข้อมูล:
https://cen.acs.org/food/food-science/time-edible-packaging/98/i4
https://impacx.io/blog/edible-food-packaging/
https://plasticsmartcities.org/products/edible-packaging
https://www.nationalgeographic.com/environment/future-of-food/food-packaging-plastics-recycle-soluti...
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642005
https://www.bangkokbankinnohub.com/th/edible-packaging/
https://www.petromat.org/home/2020/03/03/edible-packagings/
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2037841
https://www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/oceans/plastic-in-blue-oceans/
https://www.greenpeace.org/thailand/explore/resist/plastic1/single-use-plastic/ 
https://m.mgronline.com/smes/detail/9620000087425

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)