OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

“สอนวิทย์” อย่าเพิ่งคิดว่ายาก: วิทยาศาสตร์ปฐมวัย เคล็ดลับฉบับผู้ปกครอง

31934 | 25 สิงหาคม 2564
“สอนวิทย์” อย่าเพิ่งคิดว่ายาก: วิทยาศาสตร์ปฐมวัย เคล็ดลับฉบับผู้ปกครอง
ในบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยตั้งแต่วัยเตาะแตะเตรียมอนุบาลไปจนขึ้นชั้นประถมศึกษา การอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานเป็นหน้าที่ที่ทุกคนพร้อมรับมือเต็มที่ แต่พอเหลือบตามองไปทางฝั่งการให้ความรู้ที่ต้องช่วยคุณครูถ่ายทอด หลายคนอาจเริ่มขยับตัวด้วยความรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย อ่านนิทานให้ฟังก็พอได้ สอนการบ้านคณิตศาสตร์อนุบาลก็พอไหว สอนภาษาอังกฤษนี่เริ่มคิดหนัก พอถึงตอนต้องสอนวิทยาศาสตร์ หลายคนถึงกับส่ายหน้าและหันมาบอกว่า “คืนครูไปหมดแล้ว”  อย่าเพิ่งสร้างความท้อแท้ให้กับตัวเองขนาดนั้น ก่อนอื่น ลองมองไปรอบตัวแล้วจะพบว่า วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก แท้ที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์ก็คือธรรมชาติ เด็กๆ เรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการสัมผัสสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กเล็กคือความจริงที่สัมผัสจับต้องได้ เนื้อหาตรงไปตรงมา ไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่เน้นที่กระบวนการค้นหาความจริง และคิดแก้ไขปัญหาให้ได้มาซึ่งคำตอบ ดังนั้น หน้าที่ของเราย่อมไม่ใช่การเป็นผู้รู้ที่คอยบอกคำตอบ แต่คือผู้ช่วยกระตุ้นให้เด็กหาคำตอบด้วยตนเอง ถ้าพร้อมแล้ว มาร่วมเรียนรู้เทคนิคการหาคำตอบไปด้วยกันเลย

ให้ความสำคัญกับคำถาม
“แม่ครับ/พ่อขา ทำไมดาวหางถึงมีหาง แล้วทำไมดาวธรรมดาไม่มีหางครับ/คะ” คุณจะทำอย่างไรเมื่อเจอคำถามนี้ กับแววตาใสแจ๋วของเจ้าตัวน้อยที่มองมาอย่างรอคอยคำตอบ ไม่ว่าคุณจะรู้หรือไม่รู้คำตอบ เหนือสิ่งอื่นใด ในฐานะผู้ปกครองควรดีใจที่เด็กๆ มีคำถาม เพราะคำถามของเด็กๆ เกิดจากความสนใจใฝ่รู้ เมื่อเขาเอ่ยปากถาม แสดงว่าเขากำลังคิด อาจจะเพิ่งเริ่มคิด หรือคิดใคร่ครวญหาคำตอบมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ผู้ปกครองไม่ควรดับไฟใฝ่รู้ในใจเด็กๆ ด้วยการบอกปัดง่ายๆ “ไม่รู้เหมือนกัน ไปถามครูสิ” หรือ “แม่ยุ่งอยู่ ไปเล่นตรงโน้นก่อน” แทนการบอกปัด เราสามารถโต้ตอบในลักษณะที่ส่งเสริมความคิดทางวิทยาศาสตร์ของเด็กได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้คำตอบ ด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับคำถาม กระตุ้นให้เด็กแบ่งปันมุมมองและสิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็น การที่เราให้ความสำคัญกับคำถามของเด็กๆ ทำให้เขารับรู้ได้ว่าสิ่งที่เขากำลังคิดอยู่นั้นมีความหมาย สมองของเขาจะสนใจที่จะหาคำตอบและเรียนรู้ในสิ่งที่มีความหมาย ตรงกันข้ามกับคำถามที่ถูกบอกปัดบ่อยๆ สิ่งนั้นก็จะถูกลดทอนความน่าสนใจลงไป จนเด็กอาจจะเลิกสนใจไปในที่สุด

สำรวจและค้นหาคำตอบด้วยกัน



เราไม่จำเป็นต้องเป็นสารานุกรมมีชีวิตสำหรับเด็กๆ และพยายามตอบคำถามทั้งหมดของพวกเขาได้ในทันที แต่ลองใช้วิธีย้อนถาม “หนูคิดอย่างไรล่ะ” หรือจุดประกายให้ติดตาม “เอ ... พ่อก็ไม่รู้สินะ แต่พ่อเคยเห็นในหนังสือ เดี๋ยวไว้พ่อหาหนังสือเล่มนั้นมา แล้วเรามาดูด้วยกันดีมั้ยจ๊ะ” เท่านี้ก็จะช่วยกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ ได้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เขาคิดได้รับการตอบสนองในเชิงบวก และมีสิ่งที่จะต้องติดตามต่อไป จริงอยู่ ที่การบอกคำตอบสามารถปิดประเด็นได้เบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียว แต่การร่วมสำรวจและค้นคว้าหาคำตอบไปด้วยกันคือกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถต่อยอดได้ไม่รู้จบ

ให้เวลาและพื้นที่ในการสำรวจ
เด็กๆ เรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการลองผิดลองถูก ดังนั้น พวกเขาจึงต้องการเวลาในการสำรวจตรวจสอบ ทดลองสิ่งต่างๆ และคิดใคร่ครวญหาคำตอบด้วยตนเอง เราต้องใจเย็น อดทนรอคอย อย่าเพิ่งรีบร้อนกระโดดข้ามขั้นไปที่คำตอบที่ "ถูกต้อง" ควรให้เวลาและพื้นที่ในการสำรวจและให้เด็กได้ค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง

ยอมรับความเลอะเทอะ



เราต้องยอมรับว่า บางครั้งการเรียนรู้ก็ต้องแลกมาด้วยความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนบ้าง การค้นคว้าทดลองก็เหมือนการผจญภัยขนาดย่อม เด็กๆ อาจจะคาดเดาไม่ได้ว่าเขาจะต้องเจอกับอะไร เช่น การเล่นน้ำ เล่นทราย เล่นสี การออกไปสำรวจธรรมชาติกลางแจ้ง เด็ก ๆ อาจจะทำให้เนื้อตัวและเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่สกปรกไปบ้าง ดังนั้น ผู้ปกครองสามารถเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ได้โดยให้เด็กๆ สวมเสื้อผ้าเก่าๆ ที่ยอมให้เลอะได้ แล้วบอกหนูน้อยว่า ไม่เป็นไรถ้าเขาจะทำเสื้อเปื้อน เพียงเท่านี้ เด็กๆ ก็สามารถสนุกกับเรียนรู้สำรวจตรวจค้นได้อย่างเต็มที่โดยไร้กังวลว่าจะถูกดุ ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมไปถึงพื้นที่บริเวณที่เด็กเล่นทดลองด้วย ถ้าเป็นไปได้ การปูพื้นด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ก็อาจจะช่วยให้การทำความสะอาดพื้นที่หลังเล่นเป็นเรื่องง่ายขึ้น และอย่าลืมใช้โอกาสนี้ฝึกฝนวินัยการจัดเก็บพื้นที่หลังเล่นให้กับเด็กๆ ไปพร้อมกัน

เรียนรู้จากความผิดพลาดไปด้วยกัน
อย่ากลัวความผิดพลาด หากการทดลองผิดพลาดหรือไม่ได้ผลตามที่ควรจะเป็น ให้ใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดนั้น ร่วมกันตรวจสอบกับเด็กๆ เพื่อดูว่ามีจุดไหนที่ผิดพลาด เปิดโอกาสให้เด็กได้ปรับแต่งความคิด ความเข้าใจ และสมมติฐาน เมื่อพบจุดที่สงสัยว่าผิดพลาด ลองทำการทดลองซ้ำโดยแก้ไขจุดที่พบ พร้อมกับใช้โอกาสแห่งความผิดพลาดสอนเด็กๆ ว่า การค้นหาคำตอบอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จในครั้งแรก จึงต้องค่อยๆ หาจุดบกพร่อง ปรับปรุงแก้ไข และลองทำใหม่ซ้ำๆ ซึ่งอาจจะต้องทำหลายครั้งกว่าจะสำเร็จ สอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดพลาด และมองความผิดพลาดเป็นสัญญาณแห่งการปรับปรุงแก้ไขและเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ความล้มเหลวที่นำไปสู่การล้มเลิก

เชื้อเชิญความอยากรู้
ดังที่ทราบกัน การเรียนรู้วิทยาศาสตร์นั้นเริ่มต้นด้วยความอยากรู้ การสังเกต และการตั้งคำถามสามารถสร้างบรรยากาศของการค้นพบ ซึ่งเป็นกุญแจสู่การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เด็กๆ สามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ทุกที่ทุกเวลา แม้กระทั่งในเวลาอาบน้ำ ลองให้ลูกตั้งคำถามตามความสงสัยของเขาเอง โดยเราอาจจะแอบกระตุ้นความอยากรู้ได้แบบเนียนๆ  เช่น เวลาลูกเล่นเป็ดเหลืองลอยน้ำในอ่างอาบน้ำ ลองเปรยๆ ถามขึ้นว่า “เอ๊ะ เป็ดเหลืองลอยน้ำได้ แล้วสบู่นี่ลอยน้ำได้รึเปล่านะ” แล้วดูปฏิกิริยาของลูก ว่าเขาจะทำอย่างไรเมื่อได้ยินคำถามของเรา

สนับสนุนการสำรวจค้นคว้าเพิ่มเติม
การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ปกครองกับเด็กๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กๆ หันมาสนใจการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เราสามารถทำให้ความสนใจนั้นสิ้นสุดลง หรือกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ต่อยอดขยายผลความสนใจให้กว้างและก้าวหน้าต่อไปได้ การเสนอแนะแนวทางหรือให้คำแนะนำเพื่อขยายขอบเขตการสำรวจค้นคว้าของเด็กๆ ออกไป ด้วยเรื่องเล่าที่ชวนติดตาม หรือคำถามที่ท้าทาย เช่น “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรา ...” หรือ “หนูคิดว่า (ชื่อตัวละครในนิทาน) จะแก้ปัญหา/ปริศนานี้อย่างไร” และเมื่อเด็กๆ เกิดความสงสัยใคร่รู้คำตอบ ก็เป็นโอกาสที่เราจะสนับสนุนให้เขาทำการสำรวจหรือค้นคว้าทดลองตามข้อสงสัยของเขา และอย่าลืมแบ่งปันสิ่งที่คุณพบขณะสำรวจ เช่น ก้อนหินที่มีลวดลายสวยงามแปลกตา หรือเปลือกหอยที่มีรูปทรงและลวดลายแตกต่างกัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ ตระหนักว่า มีบางสิ่งที่ควรค่าแก่การเอาใจใส่และการสืบเสาะสำรวจตรวจสอบของเราอยู่เสมอ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะการสังเกตของเด็กให้ดียิ่งขึ้น

ส่งเสริมให้เด็กบันทึกข้อสังเกตหรือข้อค้นพบของตน



การเขียนบรรยาย การวาดภาพ การถ่ายภาพนิ่งและคลิป และการบันทึกเสียงล้วนเป็นวิธีบันทึกการสังเกต ซึ่งเป็นทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ บันทึกดังกล่าวช่วยให้เด็กสามารถติดตามสิ่งที่พวกเขาเห็น ได้ยิน หรือค้นพบ หากเราสังเกตว่าลูกสนใจอะไรบางอย่าง เช่น ดวงจันทร์ ใบไม้ที่เปลี่ยนสี หรือวงจรชีวิตของผีเสื้อ เราสามารถแนะนำวิธีให้พวกเขาบันทึกสิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็นได้ “หนูอยากวาดรูปดวงจันทร์มั้ย” หรือ “ลูกอยากถ่ายรูปหนอนผีเสื้อมั้ย” หรือ “อยากให้พ่อช่วยเขียนสิ่งที่ลูกสังเกตเห็นมั้ยครับ” นอกจากนี้ การบันทึกอย่างต่อเนื่องยังสามารถช่วยให้เด็กเปรียบเทียบสิ่งที่เขาพบเห็น ได้ยิน และสัมผัสได้อีกด้วย

ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์
ปัจจุบันนี้ โทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งสามารถทำอะไรได้มากมาย เราสามารถใช้ประโยชน์ฟังก์ชั่นต่างๆ ในโทรศัพท์เพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ร่วมกันกับลูกได้ เช่น ถ่ายภาพผีเสื้อลายสวย บันทึกเสียงกบหลังฝนตก หรือถ่ายคลิปการเปลี่ยนสีของน้ำคั้นดอกอัญชัน นอกจากนี้ เรายังสามารถหาข้อมูลและสื่อการเรียนรู้จากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ได้อีกมากมายไม่รู้จบ ข้อสำคัญคือเลือกที่เหมาะกับวัยและความสนใจของลูกๆ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น National Geographic Kids, Science Kids, Discovery Kids 

ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในบ้าน
อย่าเพิ่งกังวลเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ มีการทดลองวิทยาศาสตร์หลายกิจกรรมที่เราสามารถทำร่วมกับเด็กๆ ที่บ้านได้ โดยอาศัยเพียงวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในครัวเรือน ตัวอย่างเช่น
ตัวอย่างที่ 1 ขึ้นฉ่ายเปลี่ยนสี
สิ่งที่ต้องใช้ : ขึ้นฉ่ายฝรั่ง 1- 2 ก้าน แก้วทรงสูง หรือแจกันใส 1 ใบ น้ำ และสีผสมอาหาร (สีแดง)
วิธีเล่น : ให้เด็กๆ ผสมสีแดงกับน้ำ รินใส่ลงในแจกันใส ปักกิ่งขึ้นฉ่ายฝรั่งลงไป แล้วนำแจกันไปตั้งทิ้งไว้ในทีมีแสงแดดส่อง 1 ชั่วโมง สังเกตและบันทึกสิ่งที่เห็น
คำถามก่อนเล่น : เด็กๆ คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น
หลักการ : พืชลำเลียงน้ำขึ้นไปสู่ยอดผ่านท่อยาวเล็กๆ ในลำต้น
ตัวอย่างที่ 2 ลอยหรือจม
สิ่งที่ต้องใช้ : ถังหรือกะละมังก้นลึก น้ำ ของเล่นพลาสติก หุ่นยาง ช้อนโลหะ ฟองน้ำล้างจาน ไม้ไอศกรีม ฯลฯ
วิธีเล่น : ให้เด็กๆ รินน้ำใส่ถัง ประมาณ 2 ใน 3 ของความสูง หย่อนสิ่งของต่างๆ ลงไปในน้ำ สังเกตและบันทึกสิ่งที่เห็น
คำถามก่อนเล่น : เด็กๆ คิดว่าสิ่งของที่ใส่ลงไปแต่ละชิ้นจะลอยหรือจมน้ำ
หลักการ : วัตถุจะลอยหรือจมขึ้นกับความหนาแน่น วัตถุที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำจะลอยน้ำ ส่วนวัตถุที่มีความหนาแน่นมากกว่าน้ำจะจมน้ำ
ทั้งสองกิจกรรมที่ยกตัวอย่างมานี้ ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ก็สามารถเล่นได้ลองได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้เด็กได้ลงมือทำ โดยมีผู้ใหญ่เป็นคนชวนคิดชวนเล่นให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก และยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่เราสามารถเล่นสนุกกับเด็กๆ ได้ โดยใช้เพียงอุปกรณ์ง่ายๆ ที่มีอยู่แล้วในบ้านของเราเอง

ทั้งหมดนี้คงพอจะเป็นแนวทางกว้างๆ ให้ท่านผู้ปกครองนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กอนุบาลในความดูแลของท่านได้ไม่ยากจนเกินไป  





อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก: 
https://www.educatorstechnology.com/2018/01/5-great-science-websites-for-kids-and.html
https://funlearningforkids.com/science-activities-preschoolers/
https://www.naeyc.org/our-work/families/support-science-learning

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)