OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การจัดการชั้นเรียนอนุบาลออนไลน์

4694 | 30 สิงหาคม 2564
การจัดการชั้นเรียนอนุบาลออนไลน์
เมื่อถึงเวลาที่เด็กอนุบาลต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน คุณครูสร้างห้องเรียนเรียบร้อยแล้ว แผนและสื่อการการสอนก็เตรียมไว้แล้ว และนักเรียนก็มากันพร้อมแล้ว 

เอาล่ะ มาเริ่มเรียนกันเลยดีกว่า และนี่คือ 7 ข้อชวนคิดในการจัดการชั้นเรียนออนไลน์เบื้องต้นสั้นๆ ง่ายๆ ที่จะช่วยให้ชั้นเรียนออนไลน์ของคุณครูเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุขของทั้งผู้สอนและผู้เรียน (รวมทั้งเผื่อแผ่ไปถึงผู้ปกครองที่บ้านอีกด้วย)



1. จัดการเรียนรู้ทีละขั้นตอน
  • คุณครูควรแบ่งบทเรียนออกเป็นส่วนย่อยๆ แยกสอนเนื้อหาแต่ละส่วนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในแต่ละขั้นตอนควรมีกิจกรรม แบบฝึกหัดให้นักเรียน ได้ทำซ้ำ ย้ำ ทวน ไม่ควรสอนเนื้อหารวดเดียวจบแล้วจึงค่อยให้ทำแบบฝึกหัด เพราะนอกจากจะน่าเบื่อแล้ว ยังเป็นการยากสำหรับคุณครูที่จะตรวจสอบว่านักเรียนไม่เข้าใจตรงจุดใด 
  • ในการสอนออนไลน์ คุณครูควรให้คำแนะนำสั้นๆ ชัดเจน และตรวจสอบกับนักเรียนบ่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจคำแนะนำของคุณครู และสามารถปฏิบัติตามได้
  • พักด้วยกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เช่น เล่นเกม เต้นตามจังหวะเพลง แสดงท่าทางต่างๆ และสร้างโอกาสให้นักเรียนได้พูดคุยและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ
  • จัดกิจกรรมตามตารางเรียน ไม่ควรรวบกิจกรรม เพราะอาจจะทำให้เกิดความสับสน หรือจัดประสบการณ์ไม่ครบถ้วนตามจุดประสงค์
  • ในการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ คุณครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็น การอ่านนิทาน ขับร้องบทเพลง บทร้องเล่น และเล่นเกม ตลอดทั้งวันและตลอดทั้งสัปดาห์
  • คุณครูควรให้การเสริมแรงในเชิงบวกอย่างเฉพาะเจาะจงแก่นักเรียนทุกคนบ่อยๆ 
  • จัดกิจกรรมทักทาย และการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะทางสังคม 
2. เตรียมปรับแผนการจัดประสบการณ์ตามบริบทของชั้นเรียนออนไลน์
นักเรียนอนุบาลหลายคนอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตและเครื่องมือในการสนทนาออนไลน์แล้ว แต่ก็คงมีอีกหลายคนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้และยังติดขัดกับการติดตั้งและใช้งานอุปกรณ์ คุณครูต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ ต้องเผื่อเวลาในการเริ่มต้นของแต่ละขั้นตอน เช่น การเข้าสู่ระบบ การเปิดเอกสาร การเปิดวิดีโอ การโต้ตอบ และต้องลองหากลยุทธ์ที่จะหลีกเลี่ยงความกดดันด้านเวลา เช่น จัดหากิจกรรมเกมพัฒนาทักษะให้นักเรียนทำขณะที่รอเพื่อน แล้วเก็บกิจกรรมเมื่อทุกคนพร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ในขั้นต่อไป 

การปรับจังหวะกิจกรรมในช่วงแรกของการสอนออนไลน์ต้องอาศัยการสังเกตและการเก็บข้อมูลของคุณครู แล้วนำมาปรับเวลาในแผนการจัดกิจกรรม อาจจะดูเหมือนขลุกขลักและทำให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ล่าช้าไปบ้าง ซึ่งคุณครูอาจต้องใช้ความอดทน ความเต็มใจในการทดลอง และอารมณ์ขันเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อนักเรียนเริ่มปรับตัวเข้ากับการใช้เครื่องมือแล้ว จังหวะในชั้นเรียนออนไลน์ก็จะค่อยๆ ราบรื่นขึ้น

3. ทำกิจวัตรประจำวันให้สม่ำเสมอ
หลักการง่ายๆ ของการจัดการชั้นเรียนอนุบาลคือความสม่ำเสมอ ชั้นเรียนออนไลน์ก็เช่นกัน นักเรียนอนุบาลจะทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความคาดหวัง รอคอย และคาดเดาสิ่งที่จะพบเจอในแต่ละวัน ถ้าคุณครูสร้างระบบในชั้นเรียนออนไลน์ที่นักเรียนจดจำและปฏิบัติตามได้ นักเรียนจะรู้สึกสบายใจและมั่นใจในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบใหม่นี้ 

ในขั้นแรก คุณครูลองเริ่มให้นักเรียนฝึกฝนอย่างช้าๆ โดย
  • จัดเตรียมและสอนให้นักเรียนรู้จักคลิกไฮเปอร์ลิงก์ (Hyperlink) เพื่อไปยังสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาต้องการ เช่น การเข้าสู่ระบบ การเปิดเอกสาร (หนังสือนิทาน แบบฝึกหัด ฯลฯ) การเปิดดูคลิปวิดีโอ จะช่วยให้นักเรียนรู้ว่าเขาจะค้นหาสิ่งต่างๆ ที่ต้องการได้จากที่ไหน 
  • จัดทำ check list รายสัปดาห์ ระบุกิจกรรม การบ้าน และงานที่มอบหมาย นอกจากจะช่วยให้นักเรียนสามารถรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายแล้ว ยังสามารถสื่อสารให้ผู้ปกครองทราบความก้าวหน้าและพัฒนาการของบุตรหลานได้อีกทางหนึ่งด้วย
  • มอบหมายงานให้ชัดเจนและสอนวิธีส่งงาน รวมทั้งการตั้งกฎกติการ่วมกันในการพูดคุยโต้ตอบออนไลน์ เช่น ก่อนถามคำถามหรือตอบคำถามของครู ให้คลิกหรือใช้ภาพสัญลักษณ์ยกมือหรือโบกมือ เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้ทดลองปฏิบัติตาม เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีนักเรียนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
  • ตรวจงานและการบ้าน ส่งคืนให้กับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ จัดให้มีคาบแสดงผลงานรายสัปดาห์ที่นักเรียนทุกคนจะมีโอกาสเห็นผลงานของเพื่อนและนำเสนอผลงานของตนเอง
  • จัดให้กิจกรรมทักทาย กิจกรรมกลุ่ม เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน 
4. ส่งเสริมอิสระในการเรียนรู้
ในชั้นเรียนปกติ เด็กอนุบาลส่วนใหญ่จะพึ่งพาและขอคำแนะนำจากครูว่าต้องทำกิจกรรมอย่างไร ที่ไหน และเมื่อใด และต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมเมื่อเริ่มทำงาน แต่การเรียนรู้ออนไลน์ให้อิสระในการเรียนรู้มากขึ้น ดังนั้นคุณครูควรจะทำความเข้าใจกับนักเรียนเกี่ยวกับความท้าทายนี้ ชวนคุยให้นักเรียนลองคิดและวางแผนว่าพวกเขาจะเรียนรู้ที่บ้านได้อย่างไร ซึ่งอาจรวมถึงการร่วมมือกับผู้ปกครองเพื่อจัดพื้นที่การเรียนรู้ของบุตรหลานและจัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น ในการลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เด็กอนุบาลมักจะรอฟังคำอนุญาตและความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ ดังนั้นควรให้กำลังใจในเชิงบวกและเฉพาะเจาะจงบ่อยๆ เมื่อใดก็ตามที่คุณครูเห็นว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างอิสระ เช่น การระบายสีดอกไม้ หนูจะเลือกใช้สีตามที่เคยเห็นหรือสีที่ชอบก็ได้ หนูจะได้มีดอกไม้สีสวยเป็นของตัวเอง

5. ให้เด็กอนุบาลทำสิ่งที่ชอบ ซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ
“คุณครูคะ ขออีกรอบ” “ร้องอีก ร้องอีก” “ครูเล่าอีกรอบนะครับ” คุณครูอนุบาลจะชินกับคำรบเร้าของนักเรียนที่ร้องขอทำกิจกรรมซ้ำๆ แบบนี้อยู่เสมอ เด็กอนุบาลมีความสุขในการทำซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทาน การร้องเพลง การแสดงบทบาทสมมติ การท่องกลอนหรือบทร้องเล่น เหล่านี้เป็นสิ่งที่สมองเด็กอนุบาลเรียกร้องเพื่อที่จะเรียนรู้ จดจำ และทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่ๆ รอบตัว การทำซ้ำคือการตอกตรึงความรู้ใหม่ๆ ลงในความจำของนักเรียน และช่วยให้เขามั่นใจในการแสดงออก และสามารถเชื่อมโยงต่อยอดความรู้ที่มีอยู่กับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่รับเข้ามาในแต่ละวัน 

ในชั้นเรียนปกติ คุณครูอาจจะต้องทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน ทุกสัปดาห์ แต่ในชั้นเรียนออนไลน์ คุณครูมีเครื่องมือช่วยสอนมากมายที่จะทำให้การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กเป็นเรื่องง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกเสียง หรือวิดีโอ คุณครูสามารถเล่นซ้ำและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักเรียนได้ทุกวัน  ทำให้เด็กอนุบาลเพลิดเพลินไปกับการเล่นซ้ำที่พวกเขาต้องการได้โดยที่คุณครูไม่ต้องเสียเสียง ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองก็สามารถนำคลิปเสียงหรือวิดีโอมาใช้จัดกิจกรรมที่คุ้นเคยให้กับบุตรหลานที่บ้านเมื่อเด็กๆ ต้องการและร้องขอ ช่วยให้เด็กๆ สามารถเพลิดเพลินกับการทำซ้ำได้อย่างอิสระนอกเวลาเรียน

6. ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและการโต้ตอบกับนักเรียน
เด็กอนุบาลต้องการการสนับสนุนและคำแนะนำจากคุณครูอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้จะมีคำแนะนำที่ชัดเจนแล้ว แต่พวกเขาก็มักมีคำถาม และต้องการการยืนยันจากคุณครู ดังนั้นคำตอบที่รวดเร็วทันใจของคุณครูจะสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียนในการทำกิจกรรมต่อไปได้ เด็กอนุบาลเคยชินกับการให้ความช่วยเหลือของคุณครูในการจัดระเบียบและทำงาน ในชั้นเรียนออนไลน์ก็เช่นกัน นักเรียนยังคงต้องพึ่งพาคุณครูในเรื่องนี้ ดังนั้นคุณครูจึงต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และการโต้ตอบกับนักเรียน การตอบกลับอย่างรวดเร็วและเฉพาะเจาะจงจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนอนุบาลอย่างมาก เชื่อว่า คุณครูอนุบาลคงไม่ต้องการชั้นเรียนออนไลน์ที่เงียบสงบและมีเสียงบรรยายของคุณครูอยู่เพียงลำพังคนเดียวเป็นแน่

7. จัดการพฤติกรรมในชั้นเรียนออนไลน์
ในชั้นเรียนอนุบาลทั่วไป นักเรียนอยู่ระหว่างปรับตัวเข้ากับกิจวัตรของโรงเรียน เรียนรู้การเข้าสังคมและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้น และสร้างสัมพันธ์กับคุณครู ในชั้นเรียนออนไลน์ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างเสริมทักษะทางสังคมและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้แก่นักเรียนด้วยเช่นกัน คุณครูควรจัดสรรเวลาให้กับการจัดปรับพฤติกรรมของนักเรียนเพื่อให้มีอุปนิสัยตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่น กิจกรรมที่นำมาใช้ในชั้นเรียนออนไลน์ควรจะสอดแทรกการพัฒนาและฝึกฝนทักษะทางสังคมเหล่านี้ไว้ด้วย เช่น การใช้วาจาสุภาพ ไม่หยาบคาย การเคารพกฎ กติกา และข้อตกลงร่วมกัน การรับผิดชอบต่องานกลุ่มตามที่ได้รับมอบหมาย การรับฟัง การโต้ตอบ และแสดงความคิดเห็น  นอกจากนั้น คุณครูยังจะต้องวางแผนในการเก็บเด็กในชั้นเรียนออนไลน์ มีวิธีรับมือกับสิ่งที่จะเบี่ยงเบนสมาธิของนักเรียน มีวิธีจัดการกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในชั้นเรียนอนุบาลออนไลน์ รวมไปถึงแผนการที่จะรองรับและจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ 

ในชั้นเรียนออนไลน์ การจัดการชั้นเรียนมีความสำคัญพอๆ กับการถ่ายทอดเนื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่ต้องการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง การจัดประสบการณ์ผ่านจอจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างใหญ่หลวงสำหรับคุณครูอนุบาล ข้อได้เปรียบก็คือ คุณครูอนุบาลมีความเข้าใจธรรมชาติของเด็กเล็กอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นจึงสามารถออกแบบชั้นเรียนออนไลน์ให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนได้ไม่ยากนัก และ 7 ข้อชวนคิดที่ได้กล่าวมาก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การจัดการชั้นเรียนอนุบาลออนไลน์เป็นไปได้อย่างราบรื่น และขอส่งกำลังใจให้คุณครูอนุบาลที่กำลังสอนออนไลน์อยู่ในช่วงนี้ ให้มีความสุขและสนุกกับการสอนรูปแบบใหม่ จนกว่าจะถึงวันที่ได้ชั้นเรียนทางกายภาพคืนกลับมาอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง 





สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก:
https://www.weareteachers.com/kindergarten-online-teaching-tips/
https://www.pearson.com/ped-blogs/blogs/2020/03/9-strategies-for-effective-online-teaching.html
https://theconversation.com/coronavirus-14-simple-tips-for-better-online-teaching-133573

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)