OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

5 วิธี “อ่านใจคน”

261729 | 31 สิงหาคม 2564
5 วิธี “อ่านใจคน”
ตามหลักทฤษฎีของนักจิตวิทยา 90 เปอร์เซ็นต์ของความรู้สึกในใจจะแสดงออกมาในรูปแบบบุคลิกและท่าทาง การ “อ่านใจคน” ให้ออก จะทำให้เราเป็นต่อในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรักหรือการงาน ด้วยความที่เราไม่สามารถใช้วัจนภาษาในการสื่อสารเพียงอย่างเดียว อวัจนภาษาก็ต้องสอดคล้องควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังสื่อสารออกไป เราจำเป็นต้องฝึกใช้ท่าทางและอ่านท่าทางของฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้สามารถรับมือและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอีกฝ่าย อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจก่อนว่า วิธีที่เรากำลังจะบอกต่อไปนี้ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะต้องถูกต้องเสมอไป เพราะแม้แต่นักจิตวิทยาเองก็สามารถอ่านความคิดด้วยวิธีนี้ได้ถูกต้องเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น มาดูกันว่าเราจะสามารถ “อ่านใจคน” จากการสังเกตบุคลิกและท่าทางได้อย่างไร จาก 5 ข้อที่เราได้รวบรวมมา ดังนี้ 

1. สังเกต “การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแก้ม”
บางครั้งเราก็ต้องยิ้มเพื่อเอาใจเจ้านายเวลาที่ฟังเรื่องแสนน่าเบื่อ เจอคนที่ไม่ชอบหน้าที่ทำงาน หรือเวลาเจอตลกฝืด วิธีสังเกตคนเวลาที่ยิ้มอย่างไม่เต็มใจนั้นให้ดูที่ “แก้ม” เพราะเวลาที่หัวเราะหรือยิ้มจากใจจริง ๆ “กล้ามเนื้อตรงแก้ม” ที่เรียกว่า “ไซโกมาติคัสเมเจอร์” จะยกขึ้น เช่น เวลาเห็นใครเล่าตลกฝืด แต่อีกฝ่ายยิ้มยกแก้มขึ้น นั่นแปลว่าเขาตลกกับมันจริง ๆ แต่ถ้าต่อให้หัวเราะดังแค่ไหนแต่แก้มไม่ยกขึ้นเลย นั่นคือการแสร้งยิ้ม และเขาคิดว่าสิ่งนี้มันน่าเบื่อ ถ้าเราอยากรู้ว่าคนรอบตัวของเรายิ้มออกมาจากใจหรือไม่ ให้เราสังเกตการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแก้ม นอกจากนี้ ยังสามารถสังเกตได้จากการมองไปทั่วทั้งใบหน้า ถ้ายิ้มแล้วปรากฏรอยย่นบนใบหน้า นั่นแสดงถึงการยิ้มออกมาจากใจ

2. อ่านใจคนจาก “การแสดงออกทางสีหน้า”
การแสดงออกทางสีหน้าที่บ่งบอกถึงความไม่สบายตัวหรือหดหู่ มีทั้งการขมวดคิ้ว ขบกราม เม้มปาก ใบหน้าตึงและอาการคอแข็ง หากคู่สนทนาของคุณหลับตาลงชั่วครู่ ที่ไม่ใช่การกระพริบตา กระแอมในคอ หรือพูดทวนคำถาม นั่นหมายถึง เขากำลังถ่วงเวลาเพื่อหาข้อแก้ตัว รวมไปถึงอาการไม่สบตา กระพริบตาถี่ หรือ ท่าทางหลุกหลิก อ่านได้ว่าเขากำลังโกหก ในขณะเดียวกันก็อาจหมายถึงความวิตกกังวล ส่วนในการยกคิ้วสูงอาจหมายถึง อาการประหลาดใจ กังวลใจ และกลัว อีกวิธีง่ายๆ ในการจับสังเกตว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกไม่สบายใจ หรือเครียดกับสิ่งที่เรากำลังพูด คือถ้าคู่สนทนาขบขากรรไกรแน่น จนคอตึง หน้าผากย่น อาการเหล่านี้แสดงว่าภายในใจของอีกฝ่ายกำลังว้าวุ่น

3. มอง "ทิศทางของร่างกาย" ให้ออก บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด
ภาษากายเป็นสิ่งที่ยากจะโกหกได้ สมมติว่าเราอยู่ต่อหน้าคนที่รู้สึกดีด้วย เราจะอยากอยู่ใกล้เขา โดยร่างกายจะโน้มตัวไปข้างหน้าเองโดยธรรมชาติ ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่ต่อหน้าคนที่เราเกลียด จิตใต้สำนึกจะบอกว่าเราต้องอยู่ห่างจากคนนี้เท่าที่เราจะห่างได้ โดยที่ร่างกายเราจะเอนเอียงออกห่างไปเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่คู่สนทนาเอนตัวออกห่างขณะพูด สามารถอ่านได้ว่า ณ ขณะนั้น เขากำลังรู้สึกเครียดหรือกดดัน 

การข่มขวัญทางจิตวิทยาส่งผลในเรื่องการเจรจาธุรกิจอยู่ไม่น้อย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม สำหรับการเจรจาธุรกิจสำคัญ เทคนิคที่เราสามารถทำได้ทันทีคือ การเอนไปข้างหลังแล้วยืดอก การเอนไปข้างหลังนั้นเป็นการแสดงออกอย่างธรรมชาติและมีความหมายว่ากำลังโกรธอยู่อีกด้วย เมื่อเราเอนไปข้างหลัง อีกฝ่ายจะเริ่มแสดงอาการกังวลออกมาและยอมประนีประนอมให้เอง แต่ถ้าอยากแสดงความเป็นมิตร ให้เราโน้มตัวมาข้างหน้า
 
ทั้งหมดนี้ต้องดูตามสถานการณ์เพื่อให้ใช้ได้ถูกต้อง ในขณะเดียวกันลักษณะท่าทางอย่าง การถูมือเข้ากับต้นขา การกุม การถูหน้าผาก ก็หมายความถึงภาวะตึงเครียดหรือกดดันเช่นกัน เมื่อเรากำลังคิดอะไรอยู่ ดวงตาอาจจะหันไปมองด้านซ้ายหรือด้านขวาในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง การทำแบบนี้สามารถทำให้เราอ่านนิสัยได้ด้วย มีผลวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า คนที่มองด้านขวาขณะคิดจะเป็นคนที่แน่วแน่ พุ่งชนกับปัญหา แต่ถ้ามองไปทางซ้ายคือคนที่เมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่ชอบใจจะเลือกอดทน และมีพฤติกรรมที่กลุ้มใจง่าย สรุปแล้วคนที่มองไปทางขวาคือชอบคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา ส่วนคนที่มองทางซ้ายจะมีแนวโน้มยอมแพ้ตั้งแต่ต้นนั่นเอง

4. อ่านความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วย “การมองตา”  
“ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” นั่นเป็นคำพูดที่จริง เพราะเราสามารถอ่านความคิดของคนได้ผ่านดวงตา เพราะดวงตาเป็นจุดที่แสดงความรู้สึกได้ดีที่สุด สังเกตได้ว่าเมื่อเราสนใจในบทสนทนา ตาของเราจะเบิกกว้างและเป็นประกายมากขึ้น แต่ถ้ารู้สึกเบื่อ ไม่น่าสนใจ ตาของเราก็จะหรี่ลง เรายังสามารถรู้ได้ด้วยว่าอีกฝ่ายชอบเราหรือไม่ผ่านดวงตา ถ้าอีกฝ่ายชอบเราดวงตาจะโตเพราะจับจ้องมาที่เรา แต่ถ้าเกลียดจะหรี่ตาเล็กนั่นเอง 

การจับโกหกผ่านดวงตาเรามักจับโกหกจากอาการหลบสายตา แต่วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะหลายคนเริ่มจับทางได้ หันมากลบเกลื่อนอาการโกหกด้วยการไม่หลบสายตาอีกแทน เพราะฉะนั้นวิธีจับโกหกจากดวงตาเลยเปลี่ยนเป็นการสังเกตว่าคนที่พยายามประสานสายตาระหว่างสนทนาด้วยนั้นดูจงใจ หรือจ้องตานานเกิน 10 วินาที ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าอาจกำลังพยายามปกปิดความจริงบางอย่างอยู่ เพราะจากการศึกษาโดยเฉลี่ยคนจะประสานสายตากับคู่สนทนาเพียง 7-10 วินาทีเท่านั้น 

อาการอื่น ๆ อย่างอาการรูม่านตาขยาย หรือการหลับตาแน่น แสดงให้รู้ว่าคนๆ นั้นถูกรบกวนด้วยภาพที่กำลังมองอยู่ได้ด้วย

5. อ่านนิสัยและความคิดจาก “ท่าทาง”
คนที่มีนิสัยต้องจับของตลอดเวลา เช่น ควงปากกา เล่นมือถือ พอไม่ได้จับก็จะรู้สึกหงุดหงิด มักมีนิสัยต่อต้านคนอื่น เป็นพวกปากไม่ตรงกับใจ เวลาที่จะชวนคนประเภทนี้ไปไหน ควรชวนซ้ำสัก 2 – 3 รอบ เพื่อป้องกันการโดนปฏิเสธ แต่ที่จริงนิสัยของคนประเภทนี้เป็นคนที่คบหาด้วยง่าย ส่วนการกอดอก หรือไขว้ขาเป็นประจำนั้น  เป็นการสร้างกำแพงขึ้นมาขวางกั้นระหว่างคู่สนทนา
 
ผลการศึกษาการเจรจาต่อรองจำนวน 2,000 คู่ พบว่าคู่เจรจาที่ฝ่ายหนึ่งแสดงอาการไขว้ขาล้วนลงเอยด้วยความล้มเหลวทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้ในเชิงจิตวิทยาอธิบายว่า การที่คนเราแสดงท่าทางดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังพยายามกันตัวเองจากสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า 

บางคนเชื่อว่าท่าทางที่แสดงออกนั้นสำคัญ เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมเราเห็นคนบางคนแค่วินาทีแรกที่เจอก็เหมือนมีพลังดึงดูดบางอย่าง แต่สำหรับบางคน แค่ก้าวแรกที่ปรากฏตัว ก็ชวนให้ตัดสินว่าไม่น่าคบหา ทั้งหมดนี้เป็นเพราะภาษากายที่แสดงออก แน่นอนว่าหากเดินด้วยท่าทางมั่นใจ อกผายไหล่ผึ่ง ย่อมสะท้อนถึงบุคลิกของคนที่มีความมั่นใจ

การเรียนรู้ในการอ่านท่าทางของผู้คน ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ต้องหมั่นฝึกใช้เทคนิคในการอ่านความคิดหรือท่าทางของผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการสื่อสารและเจรจาต่อรองได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในทุกสถานการณ์ 

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ยังคงจริงอยู่เสมอ





CREDIT : 
“วิธีอ่านใจคนด้วยเทคนิคจิตวิทยาของ FBI” 
“วิธี “อ่านใจคน” จากบุคลิกท่าทาง ดูคนให้ออกแล้วเราจะเป็นต่อ”
 “อ่านใจคนได้ในเสี้ยววินาที” โดยโยชิฮิโตะ ไนโต 
www.talentsmart.com 
www.terrabkk.com/articles/190562

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)