OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง

208338 | 7 ตุลาคม 2564
ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง
คุณอาจสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร "คุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง"  ทั้งๆ ที่เค้าไม่ได้เป็นคนพูดเก่งเลยด้วยซ้ำ แต่เรากลับรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และอยากคุยด้วย ตรงกันข้ามกับบางคนที่พูดเก่งมาก แต่เรากลับไม่อยากคุยกับเค้าเลยซักนิดเดียว ดังนั้น วันนี้เราจะนำเทคนิคการพูดให้จับใจคน เทคนิคที่ทำให้คนที่คุยกับเราเล้วรู้สึกสบายใจ มาเล่าให้ฟังกัน   อ่านบทความนี้จนจบ จะช่วยแก้ปัญหาความไม่มั่นใจในการพูดของเราได้ 

คุณโยะชิดะ ฮิซะโนะริ นักจัดรายการวิทยุชื่อดังของญี่ปุ่น เคยเป็นคนที่มีความบกพร่องด้านการสื่อสาร รู้สึกประหม่าทุกครั้งเวลาที่เจอคนแปลกหน้า ไม่กล้าแม้แต่สบตาคนที่กำลังคุยด้วย แต่เมื่อคุณโยะชิดะ ฮิซะโนะริ ได้ค้นพบเทคนิคในการสื่อสารที่ทำให้เค้าก็กลายเป็นคนที่ใครๆ ก็อยากคุยด้วย ไม่ว่าจะเป็น ดารา นักร้อง เซเลบริตี้คนดัง แม้ว่าเค้าจะยังเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่งเหมือนเดิมก็ตาม ซึ่งก็น่าเเปลก ถ้าเราแค่เริ่มที่การคิดบวก ก็เป็นการให้กำลังใจให้ตัวเองได้เเล้ว อย่างการรู้ตัวเองมีข้อบกพร่องในเรื่องของการสื่อสาร ก็นับว่าเป็นเรื่องดี ดังนั้น เริ่มต้นฝึกฝนกัน ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
 
และหัวใจหลักในการสนทนาก็คือ การรักษาบรรยากาศ ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และสบายใจ เปรียบการสนทนา เหมือนการเล่นเกมชนิดหนึ่ง แต่เป็นการเล่นกันเป็นทีม  ผู้เล่นต้องร่วมมือกัน เป็นทีมเดียวกัน เล่นตามกติกา และเป็นผู้ชนะร่วมกัน

คุณโยะชิดะ ฮิซะโนะริรวบรวมตัวอย่างเทคนิคและการฝึกฝนเอาไว้ช่วยให้คนที่พูดไม่เก่งสามารถกลายเป็นนักสื่อสารชั้นยอด อยู่ 14 ข้อ ที่สั้น กระชับ ได้ใจความ ดังนี้
  
1. สบตากับคู่สนทนา 
เราควรสบตาคู่สนทนาระหว่างที่พูดคุยบ้าง แต่การสบตาตลอดเวลานั้นก็ไม่ดี (เป็นเหมือนการข่มขวัญคู่ต่อสู้ของซูโม่) เราจึงควรเน้นมองตาคู่สนทนาเฉพาะตอนที่ตัวเองเป็นฝ่ายพูด

2. รู้จักปล่อยวาง ให้เราคิดว่า บางทีการไปทักคนอื่นแล้วคนอื่นไม่ทักตอบ เป็นเรื่องธรรมดา การที่เขาไม่ใส่ใจเราเป็นเรื่องธรรมดา เราควรรู้จักปล่อยวางบ้าง พอคิดแบบนี้เราจะรู้สึกผ่อนคลาย

3. หัดใช้กลยุทธ์ เมื่ออยู่ในเกมการพูดคุย  ถ้าเรามีกลยุทธ์ เราก็จะเล่นเก่งขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อมีกติกา ก็จะช่วยให้เรารู้ว่า ควรฝึกซ้อมเรื่องใดบ้าง ได้อย่างตรงจุด

รายละเอียดอยู่ 4 ข้อใหญ่ๆ คือ
  • เป็นเกมที่ไม่มีคู่ต่อสู้ เพราะทุกฝ่ายต้องร่วมมือ เป้าหมายของการพูดคุย ไม่ใช่การเอาชนะ แต่เป็นการทำให้รู้สึกดี เวลาที่เถียงกันเพื่อเอาชนะ ไม่มีใครรู้สึกดี และความสัมพันธ์หลังจากนั้น จะทำให้รู้สึกไม่ดี

  • สิ่งที่ต้องเอาชนะในเกมนี้ คือ ความรู้สึกอึดอัด ข้อปฏิบัติ คือ คุณแค่คิดว่า ตัวเองเป็นพวกเดียวกับคู่สนทนาและจะทำให้การพูดคุยนั้นพ้นจากความอึดอัดได้

  • เป็นเกมที่จำเป็นต้องเล่น ถ้าเราต้องมองว่า การฝึกพูดคุยสนทนาเป็นสิ่งที่จำเป็นหากเราไม่ยอมเล่น หรือพัฒนา เราจะไม่สามารถพัฒนาได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเล่น

  • มีวิธีเอาชนะหลายอย่าง ขอเพียงเรารู้สึกดีกับการพูดคุย ก็ถือว่าชนะแล้ว เราสามารถแสดงความรู้สึกดีได้หลายแบบ เช่น หัวเราะ ชื่นชอบ ตื่นเต้น สนุกสนานกับคู่สนทนา มีหลักการพื้นฐานที่จะช่วยให้การเล่นเกมพูดคุยนั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น คือ คุณต้องพยายามทำให้ผู้สนทนาเป็นฝ่ายพูดมากที่สุด ทำให้เขาได้พูดในสิ่งที่เขาคิด
4. เป้าหมายของการพูดคุย ไม่ใช่การแสดงความโดดเด่น
บางที เราอาจเตรียมประเด็นที่จะมาพูด แต่บรรยากาศการสนทนาไม่เอื้ออำนวยที่จะหยิบขึ้นมาพูด เราก็ไม่ควรดันทุรังที่จะเอามาพูด เราต้องประเมินสถานการณ์ แล้วปรับเปลี่ยนให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

5. เน้นการส่งต่อ ไม่ใช่การถ่ายทอด 
รูปแบบของการสื่อสารมีอยู่ 2 แบบ คือ การถ่ายทอดกับการส่งต่อ การถ่ายทอด เช่น การบอกเล่าข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ฟังได้เข้าใจ อย่างเช่น ผู้ประกาศข่าว ส่วนการส่งต่อ เป็นการแบ่งปันความรู้สึกนึกคิดที่เราตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เกมการพูดคุยควรให้ความสำคัญกับการส่งต่อเป็นหลัก พยายามส่งต่อความรู้สึกออกไปอย่างจริงใจ และไม่เก็บมาเป็นอารมณ์เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น

6. ดีใจเวลาโดนล้อ
เราควรปรับทัศนคติที่ดีต่อการถูกล้อก่อน ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นคนไม่กล้าพูดไม่กล้าทำ ให้เราลองเปลี่ยนเป็นความรู้สึกดีใจแทน ให้ลองคิดดูว่าคนเรา ถ้าไม่รู้สึกสนิทใจกับคนอื่น จะกล้าพูดล้อเล่นกันหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคนอื่นมาพูดล้อคุณ นั่นหมายความว่า เขารู้สึกสนิทใจ และคิดว่าน่าจะเป็นเพื่อนกับคุณได้

7. เชื่อมั่นว่า ไม่ได้ถูกเกลียด หรือไม่ชอบ
เพราะถ้าเรากลัวคนอื่นเกลียด หรือไม่ชอบเรา เราจะเอามาเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราไม่กล้าพูดออกมา การตีตนไปก่อนไข้ ไม่มีประโยชน์ หากเรามัวแต่คิดว่าการพูดแบบนี้ เขาจะไม่ชอบเราหรือเปล่านะ เป็นการคิดลบกับตัวเอง เราต้องเชื่อมั่นว่า ตราบใดที่คุยกับคนอื่นด้วยความปรารถนาดี เขาย่อมไม่มีทางเกลียดเราอย่างแน่นอน

8. ฝึกอ่านบรรยากาศในการสนทนา
ปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม การปรับตัวในด้านการวางตัว และกาลเทศะ ปกติเราพอจะสัมผัสได้คร่าวๆ ว่า อีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไร โดยดูจากสีหน้าแววตาหรือน้ำเสียง เราเพียงใส่ใจกับคู่สนทนา สังเกตภาษากายของเขา แล้วปรับอารมณ์ตามเท่านั้นเอง

9. สร้างบรรยากาศที่ดี
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า การสร้างบรรยากาศ ไม่ได้ทำด้วยตัวคนเดียว จะต้องร่วมมือกันให้เริ่มต้นจากการเข้าหาคนอื่นด้วยอารมณ์กลางๆ ไม่เคร่งเครียด และก็ไม่ร่าเริงจนเกินไป และจะต้องเข้าหาอย่างสุภาพ สังเกตจากสีหน้าท่าทางของอีกฝ่าย แล้วค่อยๆ ปรับอารมณ์ และพยายามชักนำให้บรรยากาศในการสนทนา เป็นไปในทิศทางบวก

10. ให้ความสำคัญกับการคุยเล่น
การถ่ายทอดเป็นการคุยเรื่องจริงจัง ส่วนการส่งต่อหรือแชร์เป็นการคุยเล่นมากกว่า การคุยเล่นมีโอกาสที่จะมีความสุขมากกว่า ให้เลียนแบบการคุยจุ๊กจิ๊กของผู้หญิง ที่บางทีเรามองเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กแต่ว่าจะคุยได้นาน จึงอยากจะให้เข้าใจว่า การคุยเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีสาระ ขอแค่สามารถส่งต่อความรู้สึกดีๆให้กันก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

11. หาเรื่องคุย
บางทีเราไม่รู้ว่าจะคุยเรื่องอะไรดี แนะนำว่าให้เริ่มที่ถามคำถาม โดยการถามคำถามนั้น ไม่ควรเอาคำถามของตัวเองเป็นที่ตั้ง ให้คำนึงถึงคู่สนทนาเป็นหลัก ให้หาคำถามที่เป็นกลางๆ ไม่ชวนให้เกิดความขัดแย้ง สามารถตอบได้อย่างง่าย
 
เพราะถ้าอีกฝ่ายตอบมา เราก็สามารถที่จะเปิดคำถามใหม่ๆ ตามมาได้อีกเยอะ และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ประเด็นที่คุย ควรเป็นเรื่องของคู่สนทนาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการใช้คำถาม ไม่มีใครรู้สึกไม่ดี เวลาที่คนอื่นแสดงออกอย่างจริงใจ ว่าสนใจในเรื่องตัวเรา

12. ให้สนใจในตัวคู่สนทนา
เมื่อเราใส่ใจในตัวคู่สนทนาของเรามากๆ มันจะเกิดประเด็นหรือเรื่องใหม่ๆ อีกมาก ที่ชวนให้เราสงสัยอื่นๆตามมา

13. โอนอ่อนผ่อนตามไว้ก่อน
ในกรณีนี้ เพียงแต่ต้องทำด้วยท่าทีที่อ่อนโอน ผ่อนตาม หลีกเลี่ยงการยัดเยียดความเห็นส่วนตัวให้คนอื่น เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การชนะคนเดียว แต่เป็นการชนะไปด้วยกัน

14. ไม่พยายามอยู่เหนือคนอื่น
ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบให้ใครอยู่เหนือตัวเองอยู่แล้ว วิธีการคือลดทิฐิและอีโก้ของตัวเอง ฝึกชื่นชมคู่สนทนา แสดงความรู้สึกทึ่งเขา และรู้สึกสนุกเข้าไว้ เพราะคู่สนทนา ก็ไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนน่าเบื่อแน่นอน   มันเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี และทำให้การสนทนาจะได้ลื่นไหล

ส่วนพฤติกรรมไม่ดี ที่ไม่ควรทำในการสร้างบทสนทนานั่นก็คือ 
  • การโกหก เราสามารถแต่งเติมเสริมแต่งความเป็นจริงให้ดูน่าสนใจ แต่ไม่ควรปั้นน้ำเป็นตัวโดยเด็ดขาด

  • การโอ้อวด เป็นแนวทางทำให้คนอื่นต้องเห็นด้วยกับตัวเอง คนที่ฟังเขาจะรู้สึกว่าเหมือนถูกบีบให้เห็นด้วยว่า เค้าเป็นคนพิเศษมากๆ มันทำให้ต้องเออออตาม แต่ในใจอยากรีบให้จบการสนทนา

  • การพูดขัดคอ ตรงนี้ต้องระวัง เพราะอาจจะสร้างบรรยากาศในการสนทนาที่ไม่ดี ให้แย่ลง อาจเปลี่ยนเป็นความโกรธและกลายมาเป็นความเกลียดได้

  • การลดคำพูดว่า "ไม่" ในบางทีถ้าเราไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคู่สนทนา เราควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าไม่ แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นมากกว่า เช่น แต่ส่วนตัวแล้วเราคิดว่า, แต่เราเคยได้ยินมาว่า การใช้คำว่า "ไม่" เป็นการแสดงถึงความรู้สึกด้านลบ
และนี่ คือ เคล็ดไม่ลับ สำหรับคนที่พูดไม่เก่ง ให้สามารถพูดได้แบบจับใจคนฟัง

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)