OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ถึงจะโตแล้ว ก็จงอย่าหยุดเรียนรู้ : กลยุทธ์สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้สำหรับวัยทำงาน

2380 | 1 พฤศจิกายน 2564
ถึงจะโตแล้ว ก็จงอย่าหยุดเรียนรู้ : กลยุทธ์สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้สำหรับวัยทำงาน
“การเรียนรู้” ไม่ใช่คำศัพท์เฉพาะสำหรับนักเรียนเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่คนทุกวัยเข้าถึงได้เสมอ เพราะสมองของเราเป็นอวัยวะมหัศจรรย์ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ขอเพียงแค่เรารู้วิธีเรียนที่สอดคล้องกับกลไกการทำงานของสมอง ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยใด เราก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจในเรื่องที่ต้องการเรียนรู้ได้ไม่ยากนัก

แต่การนำคนวัยทำงานที่มีประสบการณ์เข้าสู่การเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อยไปกว่าการสอนเด็กที่อ่อนประสบการณ์ เนื่องจากคนในวัยนี้จะมีความสนใจที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องของตัวเอง สิ่งที่ต้องการเรียนรู้ของคนวัยทำงานจะต้องเป็นเรื่องที่ท้าทายและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละคนได้ ดังนั้น การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้สอนหรือผู้รับผิดชอบงานพัฒนาบุคลากรต้องเข้าใจและใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ เพื่อจะดึงให้คนวัยนี้หันมาสนใจและมุ่งสู่การเรียนรู้ที่จำเป็นได้ โดยใช้หลักการเรียนรู้ของสมองมาเป็นแนวคิดในการออกแบบกิจกรรมหรือบทเรียนให้จูงใจคนวัยทำงานได้ ดังนี้

1) ออกแบบการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับงานหรือหน้าที่รับผิดชอบ 
คนวัยทำงานจะมีความสนใจที่เฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะเรื่องความถนัดในงานที่ทำ การเรียนรู้นั้นต้องสามารถเชื่อมโยงไปสู่ผลสัมฤทธิ์หรือความก้าวหน้าในการทำงานได้ ดังนั้นหากออกแบบการเรียนรู้ให้ยึดโยงกับการทำงาน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญทั้งในแง่คุณค่าและมูลค่าได้อย่างเป็นรูปธรรม มีหัวข้อ วัตถุประสงค์ และกำหนดเวลาที่ชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาทักษะฝีมือในการทำงาน ก็จะสามารถจูงใจให้คนในวัยนี้หันมาสนใจเข้าร่วมเรียนรู้ได้มากขึ้น

2) ออกแบบกิจกรรมกลุ่มที่ส่งเสริมการค้นพบสิ่งใหม่จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 
คนวัยทำงานจะมีการสั่งสมองค์ความรู้ได้ดี ก็ต่อเมื่อเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างมีส่วนร่วม การออกแบบกิจกรรมต้องอิงเป้าประสงค์การเรียนรู้และจากประสบการณ์ของแต่ละคน มีการใช้คำถามนำไปสู่การค้นพบการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองกับคนในกลุ่ม ทั้งนี้การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง บรรยากาศของกัลยาณมิตร ความเอื้ออาทร ใส่ใจ เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จะสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนรู้แบบต่างคนต่างเรียน

3) ทำความรู้จักผู้เรียน 
เราอาจพิจารณาจากประสบการณ์และภูมิหลังทางการศึกษา คนวัยทำงานผ่านประสบการณ์ต่างๆ มามากมาย ดังนั้น ในการออกแบบการเรียนรู้จึงต้องยึดถึงภูมิหลังประสบการณ์การศึกษาเดิมของผู้เรียนเป็นสำคัญ ในทางกลับกัน ผู้สอนก็จำเป็นต้องประเมินตัวผู้เรียนอย่างถี่ถ้วนถึงระดับความรู้ ทักษะ และความชำนาญ โดยเฉพาะความรู้หลักที่ผู้เรียนใช้กับการทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าสำนวนหรือศัพท์แสงที่ใช้ตรงกับธรรมชาติการทำงานของผู้เรียน และควรพึงตระหนักว่าการใช้ภาษาหรือคำศัพท์ที่ยากต่อการทำความเข้าใจจะลดทอนแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้เรียนลงได้

4) ให้ผลตอบกลับทันที 
เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจและเรียนรู้จากความผิดพลาด การให้ผลตอบกลับการเรียนรู้อย่างทันทีในจังหวะที่ผู้เรียนมีอารมณ์และส่วนร่วมต่อการเรียนรู้ ถือเป็นช่วงที่ผู้เรียนจะสามารถซึมซับและเข้าถึงการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ความสำเร็จจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจ และท้าทายให้ก้าวไปสู่ลำดับที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ความผิดพลาดก็จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขในทันที
 
5) สร้างอารมณ์ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการเรียนรู้ 
อารมณ์ของผู้เรียนสามารถเป็นได้ทั้งตัวขับเคลื่อนและปิดกั้นการเรียนรู้ ผู้เรียนที่มีอารมณ์เบิกบาน แจ่มใส ตื่นตัว และผ่อนคลายจะเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีกว่าผู้เรียนที่อยู่ในภาวะวิตกกังวล หวาดกลัว เบื่อหน่าย หรือเคร่งเครียด เพราะอารมณ์สนุกสนาน เพลิดเพลิน และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนก้าวเดินต่อไปโดยไม่ท้อแท้ หมดแรง หรือสิ้นหวัง

6) ยึดโยงอยู่กับประโยชน์ที่ได้บนโลกความเป็นจริง 
ผู้เรียนจำเป็นต้องตระหนักก่อนเริ่มเรียนว่าเรียนแล้วได้อะไร ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร และผลสัมฤทธิ์เมื่อการเรียนรู้สิ้นสุดลงคืออะไร ให้ผู้เรียนสามารถเห็นภาพร่างเส้นทางการเรียนรู้และความสำเร็จของตนเองได้ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่น่าตื่นเต้นในการเรียน

7) ไม่บีบอัดความรู้ที่มากเกินไป 
แบ่งเนื้อหาออกเป็นชิ้นย่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาจะไม่มากเกินไปในการเรียนรู้แต่ละช่วง แบ่งช่วงเวลาการเรียนรู้ ให้มีช่วงพักที่ยืดหยุ่นได้ เมื่อสังเกตเห็นว่าผู้เรียนเริ่มเหนื่อยล้าหรือสูญเสียสมาธิ ในการออกแบบการเรียนรู้จึงควรเตรียมกิจกรรมที่ใช้เพื่อการเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างเรียนไว้ด้วย

8) ใช้สื่อและเทคนิคการเล่าเรื่องในการดึงดูดผู้เรียน 
การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำมักจะมีการใช้สถานการณ์จำลอง และการสาธิตให้เห็นจริง ดังนั้นการใช้สื่อ เรื่องเล่า และการเล่นบทบาทสมมติจะช่วยนำผู้เรียนเข้าสู่ประเด็นต่างๆ ในการเพิ่มพูนความรู้ ช่วยให้เข้าใจและจดจำได้ดีขึ้น การเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จำลองหรือการผูกเรื่องราวจะช่วยดึงความสนใจผู้เรียนให้เชื่อมโยงเข้าสู่การเรียนได้อย่างสมจริง ผู้สอนหรือผู้ออกแบบกิจกรรมควรจดจำไว้ว่าการสร้างตัวละครในเรื่องราวต้องอยู่บนฐานความเป็นจริงที่สัมผัสได้จะช่วยให้ซึมซับในเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ซึ่งแตกต่างจากการเล่นบทบาทสมมติของเด็กเล็กที่เน้นจินตนาการ)

9) สร้างการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่าย 
คนวัยทำงานจะเรียนรู้ได้ตลอดเวลา แม้ในขณะที่ทำกิจกรรมอื่น เช่น ระหว่างเดินทาง ออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งระหว่างรับประทานอาหาร นั่นหมายความว่ารูปแบบของความรู้ต้องเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะการเข้าถึงผ่าน Smartphone การสร้างเนื้อหาที่กระชับ ทำความเข้าได้ง่ายในระยะเวลาสั้นจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้เรียนซึมซับความรู้ได้ในทุกที่ ทุกเวลาตามที่ต้องการ

10) พึงระลึกไว้เสมอว่าการได้ปฏิบัติจริงนั้นสำคัญที่สุด 
ระหว่างและหลังการเรียนรู้ ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทดลองปฏิบัติจริง การฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริงจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า ผู้เรียนได้ซึมซับและเข้าใจความรู้ที่เรียนไปอย่างถ่องแท้จนสามารถนำไปใช้ได้ในสถานที่และสถานการณ์จริง และการทำซ้ำคือกุญแจสำคัญในการทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาความเข้าใจและทักษะในระดับที่สูงขึ้น

11) ออกแบบการเรียนรู้บนฐานความชื่นชอบและสุนทรียะ 
การเรียนรู้อย่างมีความสุขจะช่วยหลอมรวมผู้เรียนกับเนื้อหาวิชาง่ายขึ้น ลองสร้างความน่าสนใจด้วยประสบการณ์เสมือน ผ่านการใช้ภาพ คลิปวีดิทัศน์  อินโฟกราฟิก โมชันกราฟิก หรือแอนิเมชันที่มีสีสัน รูปลักษณ์ และการนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจ ช่วยดึงความสนใจของผู้เรียนเข้าสู่แกนหลักของสาระการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ง่ายขึ้นด้วย

เมื่อเริ่มต้นด้วยแรงจูงใจในการเรียนรู้ที่มุ่งสู่ความสำเร็จ พร้อมทั้งมองเห็นเป้าหมายและเส้นทางที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ สมองของคนในวัยทำงานก็พร้อมที่จะเปิดรับการเรียนรู้และปลดปล่อยศักยภาพในการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของตนเองออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ



เรียบเรียงจาก รายงานการศึกษาสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับสมองและการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เรื่อง สมองผู้ใหญ่กับการเรียนรู้: แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง. สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้, 2559

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)