OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

สนามเด็กเล่น OKMD กับการพัฒนา PQ (Play Quotient)

2934 | 29 ธันวาคม 2564
สนามเด็กเล่น OKMD กับการพัฒนา PQ (Play Quotient)
การเล่นของเด็ก คือการใช้เครื่องมือในการเรียนรู้จักโลก ตนเอง และธรรมชาติ เป็นกระบวนการที่ต้องทำและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พ่อแม่ควรต้องเข้าใจว่า เด็กหยุดเล่นไม่ได้ เพราะทุกๆ กิจกรรมในชีวิตประจำวันของเด็กนำไปสู่การเล่นได้หมด จริงๆ แล้วการเล่นของเด็กเป็นกระบวนการสื่อสารสิ่งที่เด็กได้เห็น ได้เรียนรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสของตนเองกับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อม เด็กควรได้มีโอกาสในการเล่นอย่างอิสระ เพื่อพัฒนาทักษะสมองอย่างรอบด้าน การที่เด็กสามารถบริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ รู้จักการวางแผน มีความมุ่งมั่น จดจำสิ่งต่างๆเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถือว่าเป็นความสามารถของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก หรือที่เราเรียกว่า สมอง EF (Executive Functions)
 
สิ่งสำคัญ พ่อแม่ต้องมองว่า การเล่นของเด็กไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ตรงกันข้ามกลับเป็นเรื่องที่มีสาระอย่างมาก การเล่นในเด็กเล็กกับกิจวัตรประจำวันที่เด็กต้องทำ เช่น กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน สวมใส่เสื้อผ้า ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน พ่อแม่สามารถทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นการเล่นที่เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองจนพัฒนามาเป็นทักษะในการช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่ต้องบังคับ

 

สนามเด็กเล่น OKMD ตามหลักการพัฒนาสมอง ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือ และสื่อกลางในโลกการเล่นของเด็ก ช่วยส่งเสริมพัฒนาการสมองอย่างสมดุล ผ่านเครื่องเล่น สนาม บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อม โดยการนำแนวคิดเรื่อง Brain – based Learning (BBL) การจัดการเรียนรู้ที่เข้าใจในธรรมชาติของสมองทั้งในเรื่องโครงสร้างและหน้าที่ มาใช้ในการออกแบบพื้นที่และกระบวนการเล่น เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง และช่วยทำให้สมองส่วนอารมณ์ หรือระบบลิมบิก (limbic system) ได้ทำงาน ซึ่งในเด็กเล็กสมองส่วนนี้กำลังทำงานอย่างเบิกบานอย่างเต็มที่ จึงถือว่าเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่ที่มีลูกในวัยเด็กเล็กควรส่งเสริมการเล่นอย่างอิสระและได้ออกแบบการเล่นด้วยตนเอง บนพื้นที่ๆ ปลอดภัย พ่อแม่อาจมีส่วนร่วมในการช่วยแนะนำบ้างแต่ไม่ใช่ผู้กำหนดการเล่นของเด็กทั้งหมด 

เล่นอะไร...เล่นอย่างไร ในสนามเด็กเล่น OKMD 
ภาพสนามเด็กเล่นที่พ่อแม่เห็นกับสิ่งที่เด็กเห็นอาจจะแตกต่างกัน สำหรับเด็กสนามเด็กเล่นคือพื้นที่แห่งจินตนาการ เป็นพื้นที่แห่งความมหัศจรรย์ที่เด็กสามารถจะปล่อยพลัง สำรวจสิ่งต่างๆ อย่างอิสระ รับรู้และเรียนรู้ที่จะค้นพบความสามารถของตนเอง สนามเด็กเล่น OKMD จึงออกแบบพื้นที่เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาเด็ก ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่สนุกสนานและมีความสุข ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้และฝึกฝนตนเองจากการเล่น โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น
 
บ้านต้นไม้  ต้นไม้และธรรมชาติจะช่วยทำให้เด็กผ่อนคลาย ประสาทสัมผัสตื่นตัว ทำให้มีสุขภาพกายดี อารมณ์ดี อ่อนโยน และมีความสุข การเล่นจึงเป็นการพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการทรงตัว โหน จับ มุด ลอด และปีนป่าย

ลานดิน ทราย เป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้เด็กมีสุนทรียภาพที่ละเอียดอ่อน กระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัส เป็นการเล่นอิสระไร้รูปแบบ ช่วยสร้างสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการ หยิบ จับ ขยำ ปั้น ขุด ก่อ และตัก

ลานนิทาน การที่เด็กได้ร้องเพลง เต้นเคลื่อนไหวร่างกาย และเล่านิทานเรื่องราวต่างๆ อย่างอิสระ เป็นการส่งเสริมความสามารถทางภาษาของเด็กด้วยกิจกรรมที่สนุกสนาน ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ง่ายโดยไม่ต้องบังคับ

ลานเล่นน้ำ น้ำช่วยสร้างสมาธิ และลดความเครียด ความเย็นของน้ำจะทำให้เด็กรู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวา และสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
 
ลานกิจกรรม/สวนปลูกผัก พื้นที่ที่พ่อแม่และเด็กสามารถทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหรือการปลูกต้นไม้ ปลูกผัก เพื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัว
  
การเล่นของเด็กโดยใช้พื้นที่สนามเด็กเล่นเป็นเครื่องมือ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากที่จะเรียนรู้ สังเกต สำรวจและฝึกฝนตนเอง พ่อแม่จึงต้องเป็นผู้คอยสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า สนามเด็กเล่นที่ออกแบบอย่างมีเป้าหมายสอดคล้องกับพัฒนาการเด็กและมีความปลอดภัยมีค่อนข้างจำกัด  ทางเลือกหนึ่งที่พ่อแม่จะสามารถช่วยสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้ คือการทำพื้นที่เล่นเพื่อการเรียนรู้ภายในบริเวณบ้าน อาจจะไม่ต้องมีครบตามองค์ประกอบของสนามเด็กเล่น OKMD ที่กล่าวมาข้างต้น แต่อย่างน้อยให้เด็กได้มีพื้นที่ว่างในการเคลื่อนไหวร่างกาย ได้ออกแรงใช้พลังงานอย่างอิสระในพื้นที่ที่ปลอดภัย มีสื่ออุปกรณ์การเล่นที่หลากหลาย เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ โดยไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง อาจจะเป็นสิ่งของเหลือใช้ภายในบ้านแต่ต้องเล่นได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดอันตราย  และที่สำคัญในพื้นที่นั้นต้องไม่เป็นที่ลับตา พ่อแม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง 

การเล่นในสนามเด็กเล่นกับการพัฒนา PQ (Play Quotient)  
PQ (Play Quotient) ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น การเล่นในสนามเด็กเล่น OKMD จะช่วยพัฒนาความสามารถของเด็กในหลายด้านทั้งพัฒนาการทางด้านร่างกาย ความฉลาดทางการคิดตัดสินใจ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม การที่เด็กได้เล่นกับเพื่อนในสนามเด็กเล่นเป็นการฝึกทักษะทางสังคม เรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ การที่พ่อแม่เล่นกับลูกในสนามเด็กเล่นและได้สอดแทรกความรู้เรื่องต่างๆ ในการเล่นด้วยกัน เช่น การสังเกตต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้  แมลง ฯลฯ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการเล่นสนุก ถือว่าเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการให้เกิดขึ้นกับลูกได้เป็นอย่างดี อย่าลืมว่ายิ่งเด็กเล่นมาก ยิ่งฉลาดมาก สนามเด็กเล่นจึงไม่ใช่พื้นที่เล่นที่มีเพียงความสนุกสนาน เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป 





ข้อมูลเพิ่มเติม 
คู่มือสนามเด็กเล่น OKMD ตามหลักการพัฒนาสมอง 
https://www.okmd.or.th/knowledgebox/177/1277/
https://www.kidactiveplay.com/kidactiveplay/index.php/content_detail?id=542

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)