OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

สนุกกับงานบ้าน...ช่วยสร้างสมองด้วยการลงมือทำ

5082 | 6 มกราคม 2565
สนุกกับงานบ้าน...ช่วยสร้างสมองด้วยการลงมือทำ
หากพูดถึง “งานบ้าน” อาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็กในยุคนี้ นั้นอาจเป็นเพราะทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กในยุคนี้อยู่ในโลกที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งส่งผลให้พ่อแม่เห็นว่าเด็กควรมุ่งแต่เรียน เพื่อให้มีโอกาสในการทำงานที่ดีในสังคม ในขณะที่พ่อแม่ก็อาจจะมองว่างานบ้านคืองานของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นสำหรับเด็ก สุดท้ายงานบ้านจึงตกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ แม่บ้าน หรือพี่เลี้ยงแทน

มีคำถามว่า “ทำไมเด็กต้องทำงานบ้าน” ถ้าพ่อแม่เข้าใจในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กแล้ว เราจะพบคำตอบว่า การเล่นและการทำงานของเด็กเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าพ่อแม่สังเกตการเล่นของลูกโดยเฉพาะในเด็กเล็ก การเล่นส่วนใหญ่มาจากการใช้สถานการณ์จำลองในสิ่งที่เด็กได้พบได้เห็นในชีวิตประจำวัน เช่น เล่นทำกับข้าว เล่นขายของ เล่นเลียนแบบเป็นพ่อแม่ ฯลฯ  ดังนั้น ถ้าเราสามารถทำให้งานบ้านนั้นเป็นเรื่องสนุก และให้เด็กได้มีโอกาสลงมือทำงานบ้านด้วยตนเอง จะเป็นการช่วยเสริมสร้างทักษะสมอง EF เพราะเด็กต้องมีการคิดและวางแผนเพื่อให้การทำงานบ้านนั้นทำได้เร็วขึ้น ดีขึ้น และเกิดความสำเร็จ ทั้งงานบ้านยังช่วยพัฒนาทักษะทางร่างกายและทักษะการใช้ชีวิตของเด็กได้เป็นอย่างดี
  
ตามหลักพัฒนาการแล้วเด็กแต่ละช่วงวัยมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน การพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็กสามารถเริ่มต้นได้จากการทำงานบ้านที่สนุก เด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปก็เริ่มทำงานบ้านได้ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มฟังคำสั่งง่ายๆ ได้แล้ว การที่พ่อแม่หัดให้ลูกทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ยังเล็ก จะทำให้พ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีความถนัด ชอบที่จะทำอะไรแบบไหน มีความมุ่งมั่นหรือรอบคอบอย่างไร ซึ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อตัวของลูกในอนาคต เพราะงานบ้านจะช่วยฝึกหน้าที่ และความรับผิดชอบให้กับลูก พ่อแม่จึงควรฝึกฝนให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำงานบ้านอาจเริ่มต้นด้วยเรื่องง่ายๆ ที่เหมาะสมตามวัย เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าอยากจะลงมือทำ และเชื่อว่าตนเองสามารถทำได้ 

งานบ้านอะไรที่เหมาะสมตามช่วงวัย 
เด็กอายุ 2-3 ปี : ฝึกให้รับผิดชอบในส่วนของตัวเอง เช่น รู้จักเก็บของเล่นให้เข้าที่  เอาเสื้อผ้าที่ใส่แล้วไปใส่ไว้ในตะกร้าผ้า หรือเมื่อตื่นนอนพ่อแม่จัดเตียงและพับผ้าห่ม อาจจะให้ลูกช่วยจัดวางหมอนให้เรียบร้อยซึ่งเป็นการเริ่มต้นให้ลูกได้มีส่วนร่วมไปทีละเล็กละน้อย
 
เด็กอายุ 4-5 ปี :  ฝึกให้เก็บกระเป๋า อุปกรณ์การเรียนต่างๆให้เข้าที่ และควรเพิ่มงานบ้านที่เป็นส่วนรวมมากขึ้น เช่น ช่วยจัดโต๊ะอาหารด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ตกแตก นำขยะไปทิ้ง รดน้ำต้นไม้ ดูแลให้อาหารสัตว์เลี้ยง  (ถ้ามี) หรือฝึกทำอาหารง่ายๆ ร่วมกับพ่อแม่
 
เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป : ฝึกการทำงานบ้านที่มีความละเอียด ซับซ้อนขึ้น เช่น พับผ้าห่มเอง รดน้ำต้นไม้ เมื่ออายุ 8-11 ปี ก็สามารถกวาดบ้าน ถูบ้าน ตากผ้า เก็บผ้า ล้างจาน หัดล้างห้องน้ำ หรือเริ่มฝึกทำอาหารง่ายๆได้เอง 

7 เคล็ดลับสอนให้ลูกทำงานบ้าน
  1. เมื่ออยากให้ลูกเรียนรู้และฝึกฝนตนเองจากงานบ้าน พ่อแม่ก็ต้องลงมือทำเพื่อการเป็นแบบอย่างที่ดี

  2. การทำงานบ้านในทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ลูกต้องการเวลาในการได้ทดลอง เรียนรู้และฝึกฝน
     
  3. ควรให้ลูกเริ่มต้นจากงานบ้านที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ใช้เวลานานในการทำจนลูกรู้สึกเบื่อและท้อ เพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกอยากทำ แล้วต่อมาค่อยเพิ่มงานที่มีความซับซ้อนภายหลัง

  4. ช่วงแรกของการฝึกให้ลูกทำงานบ้าน ควรเริ่มต้นไปทีละงาน ให้ลูกได้ทำซ้ำๆ จนทำได้คล่องขึ้น เก่งขึ้น แล้วค่อยฝึกและสอนงานบ้านอื่นๆ ต่อไป

  5. สร้างบรรยากาศในการทำงานบ้านให้เป็นเรื่องสนุก เปิดเพลง ร้องเพลง ร่วมกันทำเป็นทีม หรือแข่งขันการทำงานบ้านด้วยกัน เช่น แม่กับน้องชาย พ่อกับพี่สาว
     
  6. ในการรับผิดชอบงานบ้านของลูก บางคนอาจต้องใช้เวลาในการลงมือทำให้สำเร็จ พ่อแม่จึงควรรอก่อนจะเร่ง หรือตำหนิ

  7. การให้กำลังใจของพ่อแม่ ถือว่าเป็นอาหารใจที่สำคัญที่จะทำให้ลูกอยากที่จะลองทำ เรียนรู้และฝึกฝน
ดังนั้น พ่อแม่จึงควรมาสร้างบรรยากาศการทำงานบ้านให้เป็นการเล่น ที่ทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยบรรยากาศที่มีความสุข สนุกสนาน การทำงานบ้านทำให้สมองของลูกเรียนรู้ได้ดี การลงมือทำซ้ำๆจะเป็นการสะสมและพัฒนาทักษะในทุกมิติ ทั้งความรู้(HEAD) ทักษะ(HAND) จิตสำนึกที่ดี(HEART) ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ทั้งยังช่วยในการฝึกทักษะการคิดวางแผน และฝึกความจำใช้งาน (Working memory)  เช่น ต้องจำว่าเวลาถูบ้านจะต้องถูหันด้านไหน จะได้ไม่เหยียบซ้ำให้เลอะเทอะ
 
การทำงานบ้านจึงมีประโยชน์อย่างมากในช่วงระหว่างการเติบโตของเด็กในทุกช่วงวัย เพราะนอกจากสิ่งที่เรากล่าวมาข้างต้นแล้ว งานบ้านยังสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า “การนับถือตนเอง” (Self-esteem) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตเมื่อเด็กต้องเติบโตขึ้น การนับถือตนเองจะถูกสะสมจากความสำเร็จของการที่เด็กได้ลงมือทำงานบ้านด้วยตนเองทีละเล็กละน้อย เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กมีความมุมานะ ตั้งใจ และเห็นถึงคุณค่าในตนเองว่า “ฉันทำได้” ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดีในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมต่อไป  





ข้อมูลเพิ่มเติม
https://th.theasianparent.com/houseworks-are-good-for-child-brain-development
https://www.roong-aroon.ac.th/?p=8856
https://bit.ly/3n0p6QM

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)