OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

บุกแดนดึกดำบรรพ์ ‘สตูล’ เที่ยวไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย

1992 | 20 มกราคม 2565
บุกแดนดึกดำบรรพ์ ‘สตูล’  เที่ยวไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย
เทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม คือ ‘การเดินทางเชิงความรู้’ หรือ Knowledge-based Tourism ซึ่งหมายถึงเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน หย่อนใจ แสวงหา และเรียนรู้ไปตามที่ต่างๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งแตกต่างจากการเดินทางท่องเที่ยวแบบที่เราคุ้นเคย ที่มีเป้าหมายเพียงเพื่อการพักผ่อนเท่านั้น โดย OKMD ได้ทำการปักหมุดสุดยอดแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ประจำปี 2565 จำนวน 12 แหล่ง ตามความเหมาะสมของฤดูกาล สถานที่ตั้ง เทศกาล อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน มีทั้งแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ เกษตรกรรม ชาติพันธุ์วิทยา เพื่อเป็นไกด์ ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปสัมผัสกับไฮไลท์ในแต่ละที่ตลอดปี 2565
 
เปิดฉาก 1 ใน 12 สุดยอดแหล่งเรียนรู้ฯ ส่งเสริมยกระดับให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงความรู้ “แหล่งแรก” ในช่วงเดือนมกราคมของปี พ.ศ. 2565 คือ ‘จ.สตูล’ อุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geoparks) ที่ยูเนสโกประกาศรับรอง ที่ทั้งสายเที่ยวและสายกินไม่ควรพลาด!
 
สำหรับสายเที่ยว ด้วยความเป็น ‘ดินแดนดึกดำบรรพ์’ ทำให้สตูลมี ‘ทรัพยากรทางธรณี’ หลายแห่งสวยงาม จนกระทั่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดตระการตา อาทิ ‘เกาะเขาใหญ่’ เกาะหินปูนกลางทะเล อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ห่างจากชายฝั่งบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 10 ก.ม. และอยู่ห่างจากท่าเรือปากบารา เพียงแค่ประมาณ 3-5 ก.ม. เท่านั้น


ปราสาทหินพันยอด
ภาพ : www.satun-geopark.com

อีกแห่งที่ต้องยกให้เป็นจุดห้ามพลาดของการมาเยือนอุทยานธรณีโลก คือ ‘ปราสาทหินพันยอด’ สิ่งมหัศจรรย์สุดอันซีน ที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นจากการกัดเซาะหินของน้ำฝน จนกลายเป็นแท่งหินแหลมรูปร่างสวยงามแปลกตาคล้ายกับยอดปราสาทในเทพนิยาย ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า ปราสาทหินพันยอด ที่นี่เป็นแหล่งพบฟอสซิลอายุมากกว่า 480 ล้านปี


ถ้ำเล สเตโกดอน (Tham Le Stegodon)
ภาพ : www.satun-geopark.com

นอกจากนี้ยังมี ‘ถ้ำเล สเตโกดอน’ ที่ต้องล่องเรือคายัคผ่านถ้ำยาวประมาณ 2.5 ก.ม. นับว่ายาวที่สุดของเมืองไทย โดยใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เพื่อชมประติมากรรมถ้ำที่สวยงามตระการตา ไม่ว่าจะเป็นหลอดกาแฟ หินงอก หินย้อย เสาหิน ม่านหินย้อย จนถึงโล่หิน


เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย
ภาพ : www.satun-geopark.com

ไม่ไกลกันนัก คือ ‘เขาโต๊ะหงาย’ เขาลูกนี้ตั้งอยู่ลูกเดียวโดด ๆ มีพื้นที่ประมาณ 600×300 ตารางเมตร ด้านเหนือจรดพื้นที่ราบ ส่วนด้านใต้เป็นลักษณะของหัวแหลมผาชันยื่นออกไปในทะเล ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ อ่าวบริเวณนี้ มีลักณะเป็นหาดทรายโค้งเว้าเข้าไปในแผ่นดิน และเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีลักษณะเป็นผาชันติดทะเลทางด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านตะวันออก มีสะพานเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเลียบไปตามชายฝั่งผาชันด้านตะวันออก แล้วโค้งไปทางตะวันตกผ่านเขตรอยต่อระหว่างหินปูนสีเทากับหินทรายสีแดง

แม้จะไม่มีหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ แต่จาก ‘การเปรียบเทียบลำดับชั้นหิน’ กล่าวได้ว่า หินปูนสีเทานั้นเป็นหินปูนกลุ่มหินทุ่งสูงยุคออร์โดวิเชียน ส่วนหินทรายสีแดงเป็นหินกลุ่มตะรุเตายุคแคมเบรียน โดยระนาบสัมผัสระหว่างกลุ่มหินทั้งสองนั้นเป็นระนาบรอยเลื่อนที่มีการวางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันออก และจากการที่ชั้นหินทรายสีแดงมีการวางตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือด้วยมุมเอียงเท 22 องศาแล้วค่อยๆ เพิ่มการเอียงเทมากขึ้นๆ จนอยู่ในแนวตั้งฉากที่บริเวณด้านใต้ของระนาบรอยเลื่อนนั้น หากนักท่องเที่ยวถ้าเดินบนสะพานจากด้านหินปูนสีเทาข้ามระนาบรอยเลื่อนไปยังด้านหินทรายสีแดง ก็เปรียบเสมือนกำลังมีอายุมากขึ้นจากยุคออร์โดวิเชียนไปเป็นยุคแคมเบรียนโดยผ่านระนาบรอยเลื่อนที่ถือว่าเป็น ‘เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย’ นับเป็นการท่องเที่ยวทางธรณี ที่ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน ไปกับความสวยงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมาช้านาน
 


บ่อเจ็ดลูก
ภาพ : www.satun-geopark.com

สตูลยังมีแหล่งท่องเที่ยว บริเวณใกล้เคียงให้ได้สัมผัสอีกมากมาย เช่น ‘โบราณสถานบ่อเจ็ดลูก’ หรือที่ภาษามาลายูเรียกว่า ‘ลากาตูโยะ’ มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า คนกลุ่มแรกที่เข้าไปอาศัยอยู่เป็นพวกชาวเลหรือชาวน้ำที่อพยพมาจากเกาะซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่งออกไป พวกเขาได้ขุดบ่อน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำดื่มน้ำใช้ แต่ปรากฏว่าไม่มีน้ำออกมา ขุดๆจนกระทั่งถึงบ่อที่เจ็ดจึงพบน้ำ  ปัจจุบันบ่อทั้งเจ็ดลูกยังมีปรากฏให้เห็น เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ‘บ้านบ่อเจ็ดลูก’

หากนั่งเรือออกไปกลางทะเล นอกจากจะมีเกาะแก่งมากมายอันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่หลายคนรู้จักกันดี อาทิ ‘เกาะหลีเป๊ะ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา แน่นอนว่าความสวยงาม น้ำทะเลใสๆ หาดทรายขาวๆ รวมถึงบรรยากาศของชุมชนชาวเล คือเสน่ห์ที่ทำให้หลายคนอยากไปสัมผัส


หาดสันหลังมังกร ตันหยงโป  (Had San Lang Mangkorn Tan Yong Po)
ภาพ : www.satun-geopark.com

ไม่เพียงเท่านั้น ที่กลางทะเลในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะได้พบกับ ‘สันหลังมังกร’ หรือทะเลแหวกจนเกิดเป็นดอนทราย เป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาน้ำลงสันดอนทรายนวลละเอียดจะโผล่จากน้ำเป็นแนวยาวจนเกือบจะเป็นทางเดินจากเกาะสู่เกาะ


Photo by Calum Lewis on Unsplash

บางคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากพริกไทยจันทบูร ที่สตูลยังเป็นแหล่งปลูกและค้าขาย ‘พริกไทย’ ขึ้นชื่อด้วย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ชุมชนสุไหงอุเป ถึงขนาดว่าในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ที่นี่ปลูกพริกไทยและส่งออกล่องไปมลายูสู่ยุโรปเลยทีเดียว ปัจจุบัน ‘พริกไทยสุไหงอุเป’ ยังเป็นที่ต้องการของตลาด จนกระทั่งมีการตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้พริกไทยสุไหงอุเป’ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรื่องราวต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์และเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนแห่งนี้ด้วย

สำหรับสายกิน คงเคยได้ยินกิตติศัพท์ของ ‘ชาชักเมืองสตูล’ ทั้งความเข้มข้น หอม มัน โดยเฉพาะร้านดัง ‘กัมปงชาชัก’ ร้านโรตีชาชักสุดคึกคักเพราะทุกค่ำคืนจะมีผู้คนมาลิ้มรสความอร่อยของเมนูชาชักรวมทั้งโรตีที่ทุกคนต้องยกนิ้วให้

เมนูเด็ดของร้านนี้ไล่เรียงไปตั้งแต่จิบชาอพอลโลให้ชุ่มคอ แล้วต่อด้วยโรตีหวานๆ แกล้มกับชาชักอีกสักแก้ว หากยังไม่หนำใจจะกินโรตีแบบต่างๆ เพิ่ม หรือเติมด้วยเมนูของคาวอย่างมะตะบะรสชาติกลมกล่อมถึงเครื่องเทศก็เป็นทางเลือกที่ดี
 
นอกจากนี้ ยังมี ‘ขนมพื้นถิ่นสตูล’ จาก ‘กลุ่มผู้ผลิตขนมพื้นถิ่นเมืองสตูล’ ที่ OKMD เข้าไปร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ ‘ของว่างมรดกสยามอันดามัน’ เป็นที่รู้จัก และเป็นของที่เหมาะสำหรับการของฝากประจำ จ.สตูล 3 ชนิด ได้แก่ ‘ข้าวเหนียวอัดสังขยา’ ขนมพื้นเมืองของชาวสตูลเชื้อสายจีน ที่ทำจากข้าวเหนียวหุงผสมน้ำดอกอัญชัน กะทิ และเกลือ นำมาอัดแล้วหานชิ้นพอดีคำ รับประทานคู่กับสังขยา รสชาติจะเข้ากันได้ดี ‘บำบะ’ ขนมพื้นเมืองโบราณของชาวสตูล แป้งเหนียวนุ่ม ไส้เป็นมะพร้าวอ่อนผัดกับน้ำตาลอ้อย นำไปต้มในน้ำใบเตยจนสุก คลุกเคล้ากับถั่วเขียวกะเทาะเปลือกและมะพร้าวคั่วบดแล้วตีเบาๆ ให้แบนซึ่งเป็นที่มาของชื่อขนม และ ‘ตาหยาบ’ ขนมท้องถิ่นภาคใต้ สีสันสวยงามน่ารับประทาน แผ่นแป้งด้านนอกมีสีเขียวและกลิ่นหอมจากใบเตยและนำไปห่อไส้ขนมที่ทำจากมะพร้าวผัดกับน้ำตาลอ้อย  เหมาะสำหรับรับประทานกับน้ำชาหรือกาแฟ

   

ช่วงต้นปีเป็นฤดูกาลการท่องเที่ยวของทะเลอันดามัน แหล่งเรียนรู้พื้นที่ ‘สตูล’ จึงเหมาะแก่การเดินทางไปสัมผัสความงดงามของท้องทะเลพร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีและธรณีวิทยายังดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งนี้

ส่วนอีก 11 สุดยอดแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ประจำปี 2565 ที่ OKMD ได้คัดสรร ใน 11 เดือนที่เหลือ ได้แก่ 

  1. กุมภาพันธ์ : อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท จ.อุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีที่แสดงพัฒนาการทางสังคมและศาสนาของมนุษย์ ช่วงเดือนนี้อากาศเย็นเหมาะกับการเดินทางเที่ยวชม

  2. มีนาคม :  พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จ.ชลบุรี  พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ริมทะเล เดือนนี้เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอ่าวไทย ผู้เข้าชมจะได้ชื่นชมกับจุดชมวิวในมุมสูง

  3. เมษายน : โฮงเฮียนสืบสานล้านนา จ.เชียงใหม่ เมษายนตรงกับเทศกาลสงกรานต์ นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวเชียงใหม่ นอกจากจะได้องค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านล้านนาแล้วยังมีกิจกรรมพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย

  4. พฤษภาคม :  อุทยานธรรมชาติวิทยาสิริรุกขชาติ และพฤกษาดุริยางค์ (พิพิธภัณฑ์ต้นไม้ดนตรี) ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ต้นไม้เริ่มเขียวขจี สวยงาม และยังเป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพรอีกด้วย

  5. มิถุนายน : Space Inspirium อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ จ.ชลบุรี ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ในร่ม ดังนั้นแม้เป็นช่วงฤดูฝน นักท่องเที่ยวก็สามารถเข้าชมได้

  6. กรกฎาคม : โครงการชั่งหัวมันตามแนวพระราชดำริ จ.เพชรบุรี  ก่อตั้งขึ้นในเดือนนี้ โครงการนี้ตั้งอยู่กลางหุบเขาที่งดงาม เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการมาหาความรู้ด้านเกษตรกรรมและพลังงาน

  7. สิงหาคม : สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ จ.เชียงใหม่  มีทางเดินลอยฟ้าที่ออกแบบให้กลมกลืนกับการชมธรรมชาติ สถานที่แห่งนี้มีการจัดกิจกรรมพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในเดือนนี้
     
  8. กันยายน : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์  เดือนนี้เป็นหนึ่งในสี่ช่วง ที่เหมาะแก่การชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ปราสาทพนมรุ้ง

  9. ตุลาคม : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร ถือเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย เป็นช่วงที่เหมาะแก่การศึกษาเรื่องสุขภาวะ และเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวด้วย

  10. พฤศจิกายน : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย ตรงกับเทศกาลลอยกระทง ซึ่งสุโขทัยถือเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ จึงเหมาะกับการมาเยือนในช่วงเวลานี้อย่างยิ่ง

  11. ธันวาคม : หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย ที่นี่ให้ความรู้และมีความน่าตื่นเต้น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาวที่นักท่องเที่ยวมักนิยมมาเยือนภาคเหนือ

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)